ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

ผู้เชี่ยวชาญ มั่นใจ ชีวิตวิถีใหม่ อยู่ภายใต้ภัยคุกคามทางไซเบอร์ แนะทุกหน่วยงานต้องออกแบบระบบที่ทำงานได้แม้ถูกโจมตี

 

“ไม่ต้องถามแล้วว่าจะโดนแฮกหรือเปล่า แต่ควรถามว่าจะโดนแฮกเมื่อไหร่ดีกว่า ดังนั้นหน่วยงานต่างๆควรเปลี่ยนวิธีคิดในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ จากที่เคยคิดเพียงระบบป้องกันการถูกแฮก ไปเป็นการทำให้ระบบต่างๆยังสามารถทำงานต่อไปได้ แม้จะถูกแฮกไปแล้ว”

 

นี่เป็นทั้งคำเตือนและคำแนะนำจาก อาจารย์ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งกล่าวในในการประชุมทางไกล RoLD Virtual Forum : Living with COVID-19 ตอน ภัยคุกคามไซเบอร์ ชีวิต(ไม่)ปกติใหม่ ยุคโควิด-19 ที่จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ เมื่อ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา

 

“อาชญากรรมทางไซเบอร์ ไม่มีพรมแดน กลายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ และพัฒนาไปเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ คนร้ายใช้วิทยาการที่ก้าวหน้า การจัดการกับปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และยังต้องไปอาศัยความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆตามประเภทของอาชญากรรมอีกด้วย”

 

ประเด็นเหล่านี้ ทำให้อาจารย์ปริญญา ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทุกหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนในประเทศไทยต้องหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิด New Normal ทางไซเบอร์ ซึ่งบังคับให้คนส่วนใหญ่ต้องหันมาใช้โลกออนไลน์เป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน

 

อาจารย์ปริญญา ยังชี้ให้เห็นว่า การประชุม World Economic Forum ครั้งที่ผ่านมา ได้ยกปัญหาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นหัวข้อใหญ่ในการประชุม เพราะมีข้อมูลที่ค้นพบว่า กลุ่มอาชญากรทางไซเบอร์ มีความพร้อมที่รอจะโจมตีระบบต่างๆอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นในฐานะที่ประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ “น่าลงทุน” ในสายตาของต่างชาติ ก็ต้องตระหนักกับประเด็นนี้ เพราะความปลอดภัยจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ จะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของนักลงทุน ในการตัดสินใจว่าจะมาลงทุนหรือไม่

 

ส่วนเครื่องมือทางกฎหมายที่ประเทศไทยมีอยู่ในขณะนี้ อาจารย์ปริญญา มั่นใจว่า ไทยมีกฎหมายที่ทันสมัย คือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สร้างขึ้นมาเพื่อคุ้มครองระบบโครงสร้างๆต่างให้มั่นคงปลอดภัย ระบบไม่ล่ม โดยยืนยันไม่ใช่กฎหมายที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเนื้อหาต่างๆที่ถูกส่งต่อในโลกออนไลน์ อีกหนึ่งฉบับ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยปกป้องให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้อื่นนำข้อมูลส่วนตัวที่อยู่ในโลกออนไลน์ไปใช้ประโยชน์

 

อาจารย์ปริญญา เห็นว่า แม้ไทยจะมีเครื่องมือทางกฎหมายที่ดีพอสมควรแล้ว แต่สิ่งที่น่าน่าเป็นกังวล คือ “ไทย ไม่มีอธิปไตยทางไซเบอร์” เพราะหากมองในมุมด้านความมั่นคง จะพบว่า พื้นที่ทางไซเบอร์ อยู่นอกเหนือไปจากเขตแดนต่างๆ ทั้ง บก น้ำ อากาศ และอวกาศ หมายความว่า คนไทยกำลังใช้ Platform ส่วนใหญ่จากต่างประเทศ และเจ้าของ Platform เหล่านี้ สามารถดึงข้อมูลจากผู้ใช้ไปได้มากยิ่งกว่ารัฐบาลไทย และยังมีกลุ่มเว็บไซต์ที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง ทั้ง Deep Web คือการเข้าถึงข้อมูลเฉพาะต่างๆ และ Dark Web คือพวกที่นำเสนอเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย เป็นกลุ่มที่น่าเป็นกังวล เพราะไม่สามารถใช้เบราว์เซอร์เข้าไปได้ ต่างจากเว็บไซต์ทั่วไปที่เข้าผ่านเบราว์เซอร์ได้ อย่าง Chrome Safari หรือ Internet Explorer ดังนั้น โลกปัจจุบันเป็นโลกที่ใครสามารถควบคุมข้อมูลได้ ก็จะมีอำนาจ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ข้อมูลเกือบทั้งหมดถูกควบคุมไว้โดย Platform อย่าง Google หรือ Facebook นั่นทำให้เห็นว่า ในขณะที่เทคโนโลยีถูกอัพเกรด แต่ความเป็นมนุษย์กำลังถูกลดความสำคัญลง ดังนั้นไทยจึงต้องเร่งเพิ่มองค์ความรู้ทางไซเบอร์ให้กับประชาชน

 

พ.ต.ท.พัฒนะ ศุกรสุต ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ชี้ให้เห็นว่าอาชญากรรมไซเบอร์เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของประชาชนมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องมองอาชญากรด้วยแนวคิดที่เปลี่ยนไปด้วย เพราะ “อาชญากรทางไซเบอร์” เป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถใช้เทคโนโลยีในการก่ออาชญากรรม จึงถือเป็นอาชญากรรมในอีกระดับหนึ่ง ที่ผู้ก่อเหตุมีความสามารถสูง

 

พ.ต.ท.พัฒนะ ให้คำนิยามใหม่ของอาชญากรทางไซเบอร์ โดยเรียกว่า “Smart โจร” เป็นอาชญากรที่ฉลาดมากขึ้น สามารถใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าเจ้าหน้าที่ไปหลายก้าว จึงไม่ควรประเมินความสามารถของคนกลุ่มนี้ต่ำเกินไป และยังเป็นอาชญากรรมที่ไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีขอบเขตของประเทศ จึงยากลำบากต่อการติดตาม เมื่อการกระทำผิดกฎหมายในประเทศหนึ่ง เกิดขึ้นจากอีกประเทศหนึ่ง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความซับซ้อนมากขึ้น ในแต่ละครั้งต้องไปดูว่ามีสนธิสัญญาระหว่างกันหรือไม่ มีรายละเอียดในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายในคดีอาชญากรรมไซเบอร์ ยังเป็นปัญหาที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจาก DSI สะท้อนให้เห็น เพราะคดีประเภทนี้แทรกซึมไปเกี่ยวพันกับคดีอื่นๆ เพียงแต่เปลี่ยนเป็นการทำความผิดผ่านระบบของคอมพิวเตอร์ ดังนั้น จึงมีความเชื่อมโยงไปถึงการเก็บพยานหลักฐานที่อยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าเจ้าหน้าที่ที่เก็บรวบรวมพยานหลักฐานยังไม่เข้าใจระบบ ก็จะไม่สามารถค้นหาพยานหลักฐานได้ หรืออาจเก็บได้ไม่ครบถ้วน และหากหลักฐานถูกเข้ารหัสจนค้นหาไม่เจอ ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไป ก็จะไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาใช้ได้ แม้จะยึดคอมพิวเตอร์มาได้ก็ตาม

 

“หากลองนึกภาพตำรวจจับโจร โจรนำหน้าตำรวจ คือการติดตามในทิศทางเดียวกัน ถ้าตำรวจแข็งแรงกว่าก็จับโจรได้ แต่ปัจจุบันยากกว่านั้น เพราะไม่รู้ว่าโจรวิ่งไปทิศทางไหน ต่อให้ตำรวจแข็งแรง แต่ถ้าไม่รู้ทิศทางของโจรก็ตามไม่ทัน เพราะวิ่งไปผิดทาง”

 

กลุ่มอาชญากร เริ่มขยายเป็นองค์กรข้ามชาติมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน เพียงแค่สามารถทำงานและมีผลประโยชน์ร่วมกันก็สามารถก่ออาชญากรรมได้ เป็นอีกประเด็นที่พ.ต.ท.พัฒนะ ชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ต้องพัฒนาทักษะให้รู้เท่าทันอาชญากรไซเบอร์ จึงมีความจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน มาต่อการกับคดีอาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่มีความซับซ้อนในการดำเนินคดีมากขึ้น แต่ก็มั่นใจว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐในนประเทศไทยมีความสามารถเพียงพอ เพราะที่ผ่านมาก็สามารถดำเนินคดีได้ทุกครั้ง เพียงแต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้เปิดเผยวิธีการเท่านั้น

 

ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยกข้อมูลจาก Internet Crime Report ของ FBI ในช่วงปี 2016 – 2017 เพื่อระบุให้เห็นว่า เหยื่อของอาชญากรรมทางไซเบอร์ คือ คนทุกกลุ่ม แม้คนทุกเพศทุกวัยจะใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นเช่นเดียวกัน แต่การรับรู้และระดับการรักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ของแต่ละวัยไม่เหมือนกัน ยิ่งในช่วงนี้ประชาชนใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทำงานที่บ้านมากขึ้น ก็สามารถตกเป็นเหยื่อได้มากขึ้น โดยมีอีกหนึ่งตัวเร่ง คือ การทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ ที่ดึงดูดให้อาชญากรไซเบอร์เข้ามาล่อลวงเหยื่อมากขึ้น

 

ด้าน ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เห็นว่า การใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ จะต้องย้อนกลับไปมองว่ามีข้อแตกต่างจากอาชญากรรมแบบเดิมอย่างไร มีเครื่องมือใดจะสามารถปิดช่องโหว่เหล่านั้นได้ ดังนั้น จึงจำแนก ลักษณะและธรรมชาติของอาชญากรรมไซเบอร์ ออกเป็น 5 ประเด็น คือ

 

1.ความเป็นนิรนาม (Anonymity) จะเห็นได้ว่าผู้ที่เข้ามาสร้างปัญหาในโลกออนไลน์ สามารถปิดบังตัวตนได้ มีความเป็นนิรนาม การมีกฎหมายอย่างเดียวจึงอาจจะไม่เพียงพอ ต้องใช้ความรู้ความสามารถของผู้บังคับใช้กฎหมาย ฝ่ายสืบสวนสอบสวน เพื่อที่จะค้นหาว่า ใคร คือผู้ที่ใช้เข้ามาสร้างปัญหาในโลกออนไลน์

 

2.ความปลอดภัย (Security) เมื่ออาชญากรทางไซเบอร์ เริ่มพุ่งเป้ามาโจมตีที่ข้อมูล หรือระบบของหน่วยงาน ทำให้ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยของระบบที่ดี แต่บ่อยครั้งพบว่า อาชญากรไซเบอร์ ในหน่วยงานขนาดใหญ่ เป็นคนในองค์กรหรืออดีตคนในองค์กร ที่เข้าใจระบบรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานนั้นเป็นอย่างดี ดังนั้น กฎหมายอาจต้องคำนึงด้วยว่า อาชญากร อาจจะมาในรูปแบบผู้เชี่ยวชาญได้เช่นกัน

 

3.ความเป็นส่วนตัว (Privacy) จะเกิดขึ้นในลักษณะที่เจ้าหน้าที่รัฐพบผู้ต้องสงสัยและต้องการที่จะดักรับข้อมูลของผู้ต้องสงสัย แต่มีข้อมูลส่งไปให้ผู้คนรอบตัวผู้ต้องสงสัยด้วย ก็จะเกิดคำถามต่อมาว่า รัฐไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้คนที่อยู่รอบข้างผู้ต้องสงสัย หรือไม่

 

4.โลกาภิวัตน์ (Globalization) เห็นได้ชัดว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์ มีลักษณะไร้พรมแดน ผู้กระทำความผิดอยู่ที่หนึ่ง แต่ผลของการกระทำความผิดมาปรากฏอีกที่หนึ่ง การอาศัยเพียงกฎหมายภายในของประเทศใดประเทศหนึ่งจึงไม่เพียงพอ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

5.สิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล ระหว่างการป้องกันและปราบปรามในขณะเดียวกันต้องไม่ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินไป

 

ผศ.สาวตรี จัดกลุ่มความท้าทายต่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ (pure computer crimes) ซึ่งมุ่งหมายกระทำต่อตัวระบบหรือกับตัวข้อมูลเป็นหลัก และกลุ่มที่สอง อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา (Crime about content) ที่เผยแพร่ในพื้นที่ออนไลน์ต่างๆ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม มีสถิติเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ประชาชนอยู่บ้านจากภัยของโควิด-19

ดังนั้นจึงมองว่า กฎหมายในประเทศไทย คือ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ได้ออกแบบมาครอบคลุมต่อการดำเนินการกับกลุ่มของอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ทั้ง 2 กลุ่มในทุกด้านแล้ว แต่การดำเนินคดีกับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา ก็ยังมีคำถามถึงความสมดุลระหว่าง การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กับ การป้องกันและปราบปรามเนื้อหาในโลกอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกมองว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เปิดช่องให้กับการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่มากเกินไปหรือไม่ มีความสุ่มเสี่ยงที่จะล่วงละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนมากเกินไปหรือไม่ รวมถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

 

ผศ.สาวตรี ยังยกตัวอย่างการศึกษาทางอาชญาวิทยา ซึ่งวิเคราะห์องค์ประกอบหลักของการเกิดอาชญากรรม 3 ส่วน คือ มูลเหตุจูงใจของการเป็นอาชญากร เหยื่อมีความเหมาะสม และเหยื่อขาดการคุ้มครอง ซึ่งจากการทดสอบพบว่า อาชญากรไซเบอร์จะมุ่งโจมตีเหยื่อที่ขาดการคุ้มครองมากที่สุด ดังนั้น หากรัฐมีระบบการป้องกันที่ดี ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชนจากอาชญากรกลุ่มนี้ได้มากขึ้น  

 

นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติด และอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC ซึ่งร่วมกล่าวนำในเวทีนี้ เปิดเผยว่า ระหว่างที่รัฐบาลต่างๆ ประกาศมาตรการปิดเมืองในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ประชาชนต้องพึ่งพาการใช้ช่องทางดิจิทัลในการทำงานและใช้ชีวิต กลายเป็นช่องทางให้อาชญากรแสวงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะในกลุ่มคนเปราะบาง เช่น เด็กที่ต้องอยู่บ้านและมีปริมาณการใช้แอปพลิเคชั่นสังคมออนไลน์สูงขึ้น และผู้สูงอายุที่ใช้สังคมออนไลน์เพื่อสื่อสารกับครอบครัว เมื่อประกอบกับการพัฒนาของพื้นที่ออนไลน์อย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ จึงกลายเป็นช่องทางการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ ด้วยรูปแบบการก่ออาชญากรรมไร้พรมแดน

 

ข้อมูลของ UNODC ระบุว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เปลี่ยนแปลงรวดแร็วและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ แฮกเกอร์ มัลแวร์ แรนซัมแวร์ เครือข่าย Botnet การโจมตีแบบ Distributed Denial of Service หรือการโจมตีโดยปฏิเสธการให้บริการแบบกระจาย การใช้เทคนิค Romance Scam หรือการหลอกลวงเหยื่อโดยใช้ความเสน่หา การประกอบกิจการผิดกฎหมายของอาชญากรข้ามชาติออนไลน์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต Darknet เพื่อขายสินค้าผิดกฎหมาย

 

ส่วนรูปแบบที่พบเห็นได้มากในอาเซียน คือ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กบนสื่อออนไลน์ เพราะพบการถ่ายทอดสดการละเมิดเด็กทางสื่อออนไลน์ต่างๆ มีช่องทางให้ชำระเงินผ่านสกุลเงินดิจิทัลแบบไม่ระบุตัวตนเพื่อเข้ารับชม แต่ก็ชื่นชมประเทศไทย เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างแข็งขันในการจัดการกับเว็บไซต์และสื่อหลายแห่งที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก

 

นายเจเรมีสรุปว่า ความร่วมมือทางการทูตจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก อาเซียนจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเรื่องความแตกต่างภายในภูมิภาค ทั้งในเชิงปฏิบัติและเชิงกลยุทธ์ โดยเฉพาะการส่งเสริมความเป็นพันธมิตรระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานเอกชน โดย UNODC พร้อมที่จะนำประสบการณ์มาให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่รัฐบาลทุกภาคส่วนในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ในประเทศต่างๆ

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวสรุปการประชุมว่า อาชญากรรมไซเบอร์เป็นปัญหาใหญ่ต่อการพัฒนาไปสู่ความเป็น “พลเมืองดิจิทัล” จึงต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่ต้องรับมือให้ได้ในทุกมิติ ตั้งแต่ การรับมือกับความหลากหลายของรูปแบบอาชญากรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น โอกาสในการก่ออาชญากรรมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำได้ง่าย สะดวก แนบเนียน และป้องกันยากขึ้น ส่วนประเด็นเรื่องกฎหมาย ต้องพิจารณาให้มีความหลากหลายและทันสมัยมากขึ้น ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายด้วย เพราะฝ่ายอาชญากร สามารถก่อเหตุได้โดยไม่มีพรมแดน ไม่ต้องมีข้อตกลง ไม่ต้องมีสนธิสัญญา ในขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ซึ่งรวบรวมพยานหลักฐานกลับมีข้อจำกัดทั้งเรื่องพรมแดน ความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น การส่งพยานหลักฐาน ต้องมีกระบวนการในการร่วมมือที่ซับซ้อน

 

ผู้อำนวยการ TIJ ยังเห็นว่า การสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจรัฐ กับการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการจัดการกับปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพราะถ้ากลัวเกินไป ควบคุมเกินไป การพัฒนาก็ไม่เกิด ใขขณะเดียวกันถ้าปล่อยเกินไป ไม่มีการกำกับที่เหมาะสม ก็จะนำไปสู่การใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง

 

ส่วนประเด็นการเสริมศักยภาพบุคลากร การวิจัย และการพัฒนากฎหมาย ทาง TIJ กำลังประสานความร่วมมือกับ UNODC เพื่อหาทางพัฒนาบุคลากรทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาคอาเซียน โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา TIJ ได้จัดเวทีวิชาการที่เชิญบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมในอาเซียนทั้งระบบ มาร่วมแสดงความคิดเห็น ผ่านการประชุมเตรียมการเพื่อการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (ACCPCJ) ซึ่งจัดมาเป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพื่อให้หน่วยงานต่างๆและประชาชนในอาเซียนพร้อมรับมือกับอาชญากรรมทางไซเบอร์

 

การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน (Culture of Prevention) เช่นการปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ หรือ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในภาพใหญ่ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ เห็นว่า จะเป็นแนวทางที่สำคัญ ภาครัฐจึงต้องปรับตัวเช่นกัน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลเป็นประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย กลายเป็นเครื่องมือที่จะเอื้อให้ทุกคนมีโอกาสในการพัฒนา ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ทำให้ประชาชนถูกล่วงละเมิดโดยรัฐ ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน

 


ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการสัมมนา
Keynote address by Mr.Jeremy Douglas
The Global Risks Report 2020
ผลสำรวจความหวาดกลัวอาชญากรรม/ ความรุนแรงออนไลน์ 

 

 

Back

Contact :

icon

ส่วนที่รับผิดชอบ ส่วนกลาง

icon

อีเมล : info@tijthailand.org

chat