ประวัติองค์กร

ประวัติองค์กร

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ Thailand Institute of Justice (TIJ) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศด้านการวิจัยและการพัฒนากระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือกับสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา เชื่อมโยงแนวคิดตามหลักสากลสู่การปฏิบัติในระดับประเทศ และในภูมิภาคอาเซียน

ภารกิจสำคัญของ TIJ ประการหนึ่ง คือการส่งเสริมให้เกิดการอนุวัติ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (UN Bangkok Rules) รวมถึงส่งเสริมมาตรฐานสหประชาชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านเด็กและสตรีในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งยังทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเด็นสำคัญต่างๆ ในเวทีระหว่างประเทศ เช่น หลักนิติธรรม การพัฒนา สิทธิมนุษยชน สันติภาพ และความมั่นคง

นอกจากนี้ TIJ ยังได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติในฐานะหน่วยงานที่มีความเป็นเลิศด้านการวิจัยและมีศักยภาพด้านการป้องกันอาชญากรรม การพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญา และส่งเสริมหลักนิติธรรม โดยในวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) ได้รับรองสถานะให้ TIJ เป็นสถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Programme Network Institutes – PNIs) โดยเป็นสถาบัน PNI ลำดับที่ 18 ของโลก และเป็นสถาบันแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ PNI

TIJ ถือเป็นองค์การมหาชนที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล แต่ปฏิบัติงานขึ้นตรงกับคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในหลายแขนง และผู้บริหารองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลและกำหนดนโยบาย กรอบยุทธศาสตร์ แผนงานของสถาบันฯ และมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นประธานคณะที่ปรึกษาพิเศษ

สมาชิกเครือข่าย PNI

สมาชิกเครือข่าย PNI

สถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Programme Network Institutes – PNIs) เป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการแก่คณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice – CCPCJ) โดยนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการส่งเสริมการปฏิบัติของประเทศสมาชิก ควบคู่ไปกับการพัฒนางานศึกษา วิจัย ฝึกอบรม และเข้าร่วมการประชุมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น หลักนิติธรรม การพัฒนาอย่างยั่งยืน สิทธิมนุษยชน และสันติภาพและความมั่นคง ที่องค์การสหประชาชาติจัดขึ้น 

ในปี 2561 มีสถาบัน PNI รวมทั้งสิ้น 18 แห่ง ในจำนวนนี้สถาบันที่เก่าแก่ที่สุดที่เข้าร่วมในเครือข่าย ได้แก่ สถาบันป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดของสหประชาชาติภาคพื้นเอเชียและตะวันออกไกล (UNAFEI) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2505 โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล สำหรับสถาบันล่าสุดที่ได้เข้าร่วมเป็นสถาบัน PNI ประกอบด้วย Korean Institute of Criminology (KIC) สาธารณรัฐเกาหลีใต้ College for Criminal Law Science of Beijing Normal University (CCSL) สาธารณรัฐประชาชนจีน และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

 

ประโยชน์ต่อประเทศไทย

  • ช่วยสร้างบทบาทนำของไทยในเวทีระหว่างประเทศและในเวทีอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้เสาหลักประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในระยะยาว
  • เป็นปัจจัยในการสร้างเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการให้แก่หน่วยงานของไทย โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่าย PNI ทั่วโลก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบงานยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและการพัฒนาด้านศักยภาพของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
วิสัยทัศน์ พันธกิจ และอำนาจหน้าที่

วิสัยทัศน์ พันธกิจ และอำนาจหน้าที่

“เป็นผู้ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลง (Promoter of Change) ด้านการยกระดับกระบวนการยุติธรรม และเชื่อมโยงหลักนิติธรรมกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย อาเซียน และระดับสากล"

 

อำนาจหน้าที่

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2564 มาตรา 9 เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 8 ให้สถาบันมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

1. ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ

2. ก่อตั้งสิทธิหรือทำนิติกรรมทุกประเภท เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสถาบัน

3. ทำความตกลงและร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน

4. จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบัน

5. เข้าร่วมทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบัน

6. ถือหุ้นหรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในกิจการของนิติบุคคลอื่นเพื่อส่งเสริมกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบัน โดยต้องไม่มีวัตถุประสงค์หลักในการมุ่งแสวงหากำไร

7. กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน

8. เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการกำหนด

9. เป็นตัวแทน หรือมอบหมาย หรือว่าจ้างให้บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นประกอบกิจการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน

10. กระทำการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสถาบัน

11. ปฏิบัติงานหรือดำเนินการอื่นใดตามที่คณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย

การเข้าร่วมทุนตาม (5) การถือหุ้นหรือเข้าเป็นหุ้นส่วนตาม (6) และการกู้ยืมเงินตาม (7) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ยุทธศาสตร์และแผนงาน

ยุทธศาสตร์และแผนงาน

“เชื่อมแนวทางปฏิบัติภายในประเทศให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติและบรรทัดฐานระหว่างประเทศและสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรม ความยุติธรรมทางอาญา และหลักนิติธรรม”

เพื่อนำไปสู่การสร้างความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันในสังคมเพื่อเป็นพื้นฐานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ประเด็นยุทธศาสตร์ (Strategic Agenda)

  • ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1
    การอนุวัติมาตรฐานและบรรทัดฐานของสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาในกลุ่มผู้เปราะบาง โดยเฉพาะข้อกำหนดกรุงเทพ และการส่งเสริมสิทธิของผู้หญิงและเด็ก
  • ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2
    การส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านหลักนิติธรรมเพื่อรองรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3
    การพัฒนานวัตกรรมและเผยแพร่องค์ความรู้สำหรับหน่วยงานเครือข่ายภายในประเทศเพื่อยกระดับการดำเนินการด้านการป้องกันอาชญากรรมและระบบยุติธรรมทางอาญาภายใต้บริบทที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคม
  • ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4
    การสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานในสถาบันเครือข่าย UN-PNI ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินนโยบาย นักวิชาการและกลุ่มเยาวชน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
  • ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5
    การปรับระบบการพัฒนาองค์กร และการบริหารจัดการให้เข้มแข็งทันสมัย และมีประสิทธิภาพ สามารถสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจในระดับนานาชาติ
 

เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์

  • ประเทศไทยมีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับหลักนิติธรรม การป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากลและสามารถเผยแพร่ได้ในระดับนานาชาติ
  • มีหน่วยงานเครือข่าย UN-PNI และเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินนโยบาย รวมทั้งกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่เพื่อเป็นแนวร่วมในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงในสังคม
  • สถาบันฯ เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในระดับสากล กลายเป็นองค์กรเป้าหมายของนักวิชาการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สามารถดึงดูดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้มาทำงานร่วมกับ TIJ
 

กิจกรรมหลัก (Key Activities)

ในแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์ จะต้องให้ความสำคัญกับกิจกรรมเชิงวิชาการแบบหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำงานของ TIJ ในภาพรวม ดังนี้

  • งานวิจัย (Research and Development)
    เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านงานวิจัยและฐานข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลักนิติธรรม การป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาให้สอดคล้องกับหลักสากล และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่มีคุณภาพ

    คุณลักษณะของงานวิจัยที่ TIJ ให้ความสำคัญจะครอบคลุมถึง งานวิจัยเชิงประจักษ์ (Evidence-based) ที่มีกลุ่มผู้ใช้ชัดเจน (Users) งานวิจัยเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระดับนโยบาย งานวิจัยเพื่อผลักดันให้เกิดมาตรฐานระหว่างประเทศที่ยังไม่มี (Standard and Norms) งานวิจัยเพื่อปรับปรุงมาตรฐานระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น งานวิจัยเพื่อส่งเสริมมาตรฐานที่ดีอยู่แล้วให้สามารถนำมาปฎิบัติใน Local practices ได้ทั้งในประเทศไทยและหรือประเทศอื่นๆ ซึ่งการทำวิจัยลักษณะดังกล่าวจะเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตและสั่งสมองค์ความรู้ของ TIJ ในการนำไปขยายผลและต่อยอดให้กิจกรรมด้านอื่นๆสามารถกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • งานผลักดันเชิงนโยบาย (Policy Advocacy)
    TTIJ สามารถนำองค์ความรู้ที่มีเป็นเครื่องมือในการเสนอให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและให้คำปรึกษากับหน่วยงานด้านนโยบายและปฏิบัติทั้งภายในประเทศและในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวสามารถยกระดับการทำงานด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ผ่านโครงการลักษณะต่างๆ อาทิ การทำโครงการรณรงค์เพื่อความตระหนักรู้ด้านการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก โครงการพัฒนาเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ การสัมมนาแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับนโยบายด้านยาเสพติดในต่างประเทศ เป็นต้น
  • งานพัฒนาศักยภาพบุคลากร (Capacity Building)
    TIJ สามารถนำองค์ความรู้ที่มีมาเผยแพร่สู่กลุ่มบุคลากรเป้าหมายในกระบวนการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา พร้อมกับมุ่งพัฒนาองค์ความรู้และความสามารถของบุคลากรภาคส่วนอื่นในวงกว้าง ผ่านรูปแบบโครงการลักษณะต่างๆ อาทิ การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรฝึกอบรม และการแลกเปลี่ยนความคิดกันในระดับผู้ปฏิบัติงานทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในลักษณะ Technical Assistance แก่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
ค่านิยมองค์กร

ค่านิยมองค์กร

เพื่อให้บุคลากรมีความตื่นตัวและตระหนักถึงพฤติกรรมที่พึงแสดงออกให้สอดคล้องกับค่านิยมขององค์กรและบทบาทหน้าที่ของตนเอง เป็นจุดร่วมในการทำงานอย่างยืดหยุ่น และนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต ประกอบด้วย

  • ซื่อตรงต่อตนเอง 
  • เคารพให้เกียรติกัน 
  • เปิดใจรับความหลากหลาย 
  • ทำงานเป็นทีม 
  • มุ่งผลเลิศ 
การกํากับดูแลกิจการที่ดี

การกํากับดูแลกิจการที่ดี

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการบริหารงานตาม
หลักธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีเพื่อประโยชน์ของประชาชน ผู้บริหารจึงได้วางนโยบายด้านการสร้างคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงาน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

 
  • เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
  • เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ
  • เพื่อให้การดำเนินงานของภาครัฐเป็นที่ศรัทธา มั่นใจ และไว้วางใจจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
 

นโยบายตามกรอบคุณธรรมและความโปร่งใส 6 ด้าน ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

  • ด้านความโปร่งใส
    มีนโยบายเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร และการดำเนินการตามภารกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ในหลายช่องทางอย่างครบถ้วนเป็นปัจจุบัน โดยยึดหลักความถูกต้องและความซื่อสัตย์สุจริต เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ เกิดความคุ้มค่า สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงมีนโยบายเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในกระบวนการดำเนินงานที่สำคัญและการร่วมตรวจสอบ ตลอดจนมีระบบการจัดการกับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส รวดเร็ว โดยยึดหลักความถูกต้องและความเป็นมืออาชีพของบุคลากร
  • ด้านความพร้อมรับผิด
    มีนโยบายบริหารงานและปฏิบัติงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์อย่างเต็มกำลังความสามารถ ทุกขั้นตอนเป็นไปตามหลักนิติธรรม และหลักภาระความรับผิดชอบ โดยยึดความถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบอย่างครบถ้วน เคร่งครัด และมีมาตรฐาน กระจายผลประโยชน์อย่างถูกต้อง ชอบธรรมและเสมอภาค พร้อมรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติทุกประการ และสร้างความเชื่อมั่นแก่สาธารณชนถึงการดำเนินงาน โดยมีวิสัยทัศน์อย่างมีคุณธรรมตาม
หลักธรรมาภิบาล ยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสและพร้อมรับผิดเมื่อเกิดความไม่เป็นธรรม หรือการทุจริตในองค์กร
  • ด้านความปลอดจากการทุจริตในการปฏิบัติงาน
    มีนโยบายบริหารงานอย่างมีคุณธรรมตามหลักธรรมาภิบาล ยึดมั่นในการบริหารจัดการองค์กรให้ดำเนินงานตามภารกิจหลักด้วยความโปร่งใสและปราศจากการทุจริตเชิงนโยบายและการทุจริตในหน้าที่ โดยมีมาตรการควบคุม กำกับติดตามอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่เรียกรับเงิน สิ่งของ หรือผลประโยชน์อื่นใดจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามหลักนิติธรรม หลักความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสถาบันฯ ทุกคนให้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ตลอดจนคู่มือป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างเคร่งครัด
  • ด้านวัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร
    มีนโยบายสร้างความรู้ กระตุ้นจิตสำนึกเพื่อปลูกฝังและสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับต่อการทุจริต จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมในการร่วมต่อต้านการทุจริตได้ตามหลักนิติธรรม มีความละอายและเกรงกลัวที่จะทุจริต ตลอดจนพัฒนาระบบป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งกำหนดแผนนโยบาย การสร้างคุณธรรมและความโปร่งใสภายในหน่วยงาน ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มตรวจสอบถ่วงดุลการบริหารงานให้เกิดความถูกต้องโปร่งใสในองค์กร และมีการตรวจสอบถ่วงดุลในองค์กรอย่างมีคุณภาพ
  • ด้านคุณธรรมการทำงานในองค์กร
    มีนโยบายพัฒนามาตรฐาน ขั้นตอนการปฏิบัติงานตามภารกิจหลัก และเผยแพร่ให้ผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไปทราบอย่างชัดเจน ตลอดจนควบคุมดูแลให้นำมาตรฐานดังกล่าวไปปฏิบัติด้วยความเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และพัฒนามาตรฐานคุณธรรมการบริหารงบประมาณอย่างเป็นระบบตามหลักความโปร่งใส เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยยึดหลักความคุ้มค่าและตรวจสอบได้ รวมถึงพัฒนาการบริหารงานบุคล ซึ่งให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่และการมอบหมายงานด้วยความเป็นธรรม คำนึงถึงคุณสมบัติและประสบการณ์เพื่อประโยชน์ต่อองค์กร ประชาชน และประเทศชาติโดยรวม ตลอดจนมุ่งเน้นการส่งเสริม สนับสนุนในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงาน มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานอย่างพอเพียง
  • ด้านการสื่อสารภายในองค์กร
    มีนโยบายที่จะถ่ายทอดเกี่ยวกับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานโดยการจัดทำประกาศเจตจำนงสุจริตของผู้บริหาร และนโยบายการสร้างคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงาน ให้เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจ มีทัศนคติที่ดี เกิดแรงจูงใจร่วมกันปฏิบัติตามนโยบาย ด้วยการสื่อสารในเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์โดยใช้ทั้งรูปแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผ่านช่องทางที่หลากหลาย รวมทั้งใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามายกระดับคุณภาพการสื่อสารภายในองค์กรด้วย
การพัฒนาอย่างยั่งยืน

การพัฒนาอย่างยั่งยืน

"หลักนิติธรรม” กุญแจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

TIJ ตระหนักว่า หลักนิติธรรม กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีประสิทธิภาพ และความเชื่อมั่นของประชาชน เป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องกันที่สำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาพรวม จึงดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างหลักนิติธรรมในสังคม ผ่านการพัฒนาศักยภาพ และการเผยแพร่ความรู้ และการปลูกฝังวัฒนธรรมการเคารพกฎกติกาของสังคมผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนและกลุ่มเยาวชน