ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

ประเทศไทยกำลังอยู่ในห้วงที่มีการเดิมพันสูง จากความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางมายาวนาน ประชาชนในสังคมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ขาดศรัทธาต่อรัฐบาล นักการเมือง และกระบวนการยุติธรรม เมื่อเจาะลึกให้เห็นรากของปัญหา พบว่าจุดอ่อนที่บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและความเชื่อมั่นของประชาชน ก็คือ ปัญหาเรื่องหลักนิติธรรม 

 

หลักนิติธรรมมีความสำคัญอย่างไร? เหตุใดรัฐบาลจึงกำหนดให้การฟื้นฟูหลักนิติธรรมเป็นวาระแห่งชาติ?สถานการณ์หลักนิติธรรมในประเทศไทยในปี 2566 เป็นอย่างไร? และหลักนิติธรรมเกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในแง่มุมใดบ้าง ? จึงเป็นคำถามตั้งต้นสำหรับเวทีสาธารณะด้านหลักนิติธรรม “Rule of Law Forum: Investing in the Rule of Law for a Better Future” ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ Word Justice Project (WJP) และสำนักข่าว THE STANDARD เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 เพื่อสื่อสารประเด็นสู่สาธารณะและเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการฟื้นฟูหลักนิติธรรมในประเทศไทยให้เข้มแข็งขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม   

 

หลักนิติธรรมมีความสำคัญอย่างไร?

 

หลักนิติธรรม (Rule of law) คือ หลักการปกครองที่กฎหมายเป็นใหญ่และบังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาคคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานของประชาชน ตัวกฎหมายมีความเป็นธรรม ทันสมัย มีที่มาชอบธรรม บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีความเที่ยงธรรม ประชาชนเข้าถึงและได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา จาก IMD World Competitiveness Index พบว่า ประเทศไทยเคยมีอันดับสูงสุดในปี 2562 โดยอยู่อันดับที่ 25 ของโลก จนกระทั่งปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่อันดับ 33 ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมาเล็กน้อยมาอยู่อันดับที่ 30 ในปีที่ผ่านมา ประเด็นที่เป็นจุุดอ่อนคือประสิทธิภาพของรัฐบาล สะท้อนผ่านตัวชี้วัดย่อยด้านโครงสร้างของสถาบัน (Institutional Framework) ซึ่งครอบคลุมหลักนิติธรรม คอร์รัปชัน และความเป็นประชาธิปไตย และตัวชี้วัดย่อยด้านโครงสร้างทางสังคม (Societal Framework) ซึ่งครอบคลุมด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน 

 

การสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักนิติธรรม จึงนับเป็นการติดกระดุมเม็ดแรกที่จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านธรรมาภิบาล ส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุน และอาจเป็นหนึ่งในคำตอบที่ทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูง

 

การขับเคลื่อนหลักนิติธรรมให้เข้มแข็ง มิได้เป็นความท้าทายเฉพาะประเทศไทย แต่เป็นความท้าทายของนานาประเทศทั่วโลก เพราะนับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 สหประชาชาติได้ประกาศให้หลักนิติธรรมเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายใต้เป้าหมายที่ 16 ซึ่งมีความสำคัญทั้งในฐานะเป็นเป้าหมายในตัวเองและเป็นปัจจัยเอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายอื่น ๆ ด้วย

 

Word Justice Project (WJP) ได้จัดทำดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินความมีนิติธรรมของแต่ละประเทศในทุกปี ประกอบด้วย 8 ปัจจัยชี้วัดหลัก ได้แก่ การจำกัดอำนาจรัฐอย่างเหมาะสม การปราศจากการคอร์รัปชัน รัฐบาลโปร่งใส สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง การบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

 

Ms. Elizabeth Andersen ผู้อำนวยการ WJP เล่าถึงวิธีคิดในการจัดทำดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมว่าเป็นการสะท้อนประสบการณ์และการรับรู้ของประชาชนและผู้เชี่ยวชาญของประเทศนั้น ๆ โดยในปี 2566 ได้ทำการสำรวจ 149,000 ครัวเรือน ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย 3,400 คน ใน 142 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศหรือสังคมใด ๆ ที่มีระดับการพัฒนาด้านหลักนิติธรรมที่ดีมักจะมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีชี้วัดด้านเศรษฐกิจหรือสังคมต่าง ๆ ขณะที่ปัจจัยความสำเร็จในการผลักดันหลักนิติธรรม จำเป็นต้องอาศัยภาวะความเป็นผู้นำของผู้บริหารประเทศในทุกระดับชั้น มีการวางแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและมีเอกภาพ มีตัวชี้วัด กลไกการติดตาม และการตรวจสอบที่เหมาะสม ที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม

 

สถานการณ์หลักนิติธรรมในไทยถดถอยต่อเนื่อง

  

สำหรับประเทศไทยในปี 2566 ได้คะแนนดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม 0.49 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 82 จาก 142 ประเทศทั่วโลก ถดถอยลงจากปี 2565 ที่ได้คะแนน 0.50 และต่ำที่สุด นับตั้งแต่ปี 2558 ที่ประเทศไทยเข้าสู่การสำรวจ เมื่อเจาะลึกพบว่า การบังคับใช้กฎหมาย การปราศจากคอร์รัปชัน และประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็น 3 ตัวชี้วัดที่ประเทศไทยได้คะแนนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลกและค่าเฉลี่ยในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกค่อนข้างมาก

 

รัฐบาลประกาศฟื้นฟูหลักนิติธรรมเป็นวาระแห่งชาติ

 

นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย เมื่อฝ่ายบริหารประเทศแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวัน 11 กันยายน 2566 ว่า “รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สําคัญของประเทศ เป็นการลงทุนทําให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือที่ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดในการพัฒนาประเทศ”

 

คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้ส่งสาสน์มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการฟื้นฟูหลักนิติธรรมให้เป็นวาระแห่งชาติผ่านเวทีสาธารณะครั้งนี้ว่า หลักนิติธรรมถูกพูดถึงในเวทีโลกโดยสหประชาชาติว่ามีความสำคัญและควรบรรจุไว้เป็นเป้าหมายหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แม้ระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาลอาจไม่นานนักเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหา แต่มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะปักหมุดการทำงานและเริ่มทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจน และต่อเนื่องไปในอนาคต

 

ในวันนี้ รัฐบาลได้รับเกียรติจาก WJP องค์กรนานาชาติที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งนอกเหนือจากสหประชาชาติ มาทำให้หลักนิติธรรมสามารถกำหนดประเด็นที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ วัดผลได้ ด้วยการสำรวจค่าคะแนนดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะกลายเป็นผลตอบรับกลับมาหาหน่วยงานรัฐและหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อสะท้อนถึงเสียงของประชาชนและองค์กรชั้นนำอีกมากมาย

 

การฟื้นฟูหลักนิติธรรมจะทำประเทศไทยมีความง่ายในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) เป็นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เพราะนักลงทุนจะได้รับการปฏิบัติบนหลักกฎหมายที่เป็นธรรม อีกด้านหนึ่ง การมีหลักนิติธรรมจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยขจัดปัญหาคอร์รัปชันให้หมดไปสร้างแรงจูงใจให้ข้าราชการ นักการเมือง ประชาชน กล้าที่จะร้องเรียน เป็นการสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชันไปพร้อม ๆ กัน 

 

อีกประเด็นที่ช่วยเสริมความโปร่งใสได้ คือการนำเทคโนโลยี Open Government มาเสริมความโปร่งใสให้กับส่วนราชการ ซึ่งรัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและการเปิดชุดข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่ทำให้เข้าถึงได้แบบ Open Data ทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึง วิเคราะห์ และสะท้อนเสียงกลับมา เปรียบเสมือนการเป็นหุ้นส่วนกับภาครัฐในการพัฒนา 

 

“การทำงานเพื่อพัฒนาหลักนิติธรรมให้มีประสิทธิภาพนั้นเป็นเรื่องที่ยาก ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และต้องใช้เวลา แต่วันนี้เราได้เริ่มทำแล้ว เริ่มจุดประกายให้เกิดขึ้นได้ ขอให้เวทีในวันนี้ประสบความสำเร็จ ทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและยินดีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเพื่อฟื้นฟูหลักนิติธรรมไปด้วยกัน”

 

กระทรวงยุติธรรม… ขับเคลื่อนความยุติธรรมนำประเทศ

 

ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชน กระทรวงยุติธรรมสนองรับนโยบายรัฐบาลประกาศสร้างหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมให้เข้มแข็งภายใน 4 ปีนับจากนี้

 

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวปาฐกถาในประเด็นบทบาทของกระทรวงยุติธรรมกับการส่งเสริมหลักนิติธรรมในประเทศไทย เน้นย้ำถึงความสำคัญของคำว่า “ความยุติธรรม” ว่าหากประเทศหรือสังคมใดขาดซึ่งความยุติธรรมย่อมนำไปสู่ความแตกแยก

 

ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงมีนโยบายหรือวิธีคิดไปข้างหน้า มุ่งทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งสันติภาพและสันติสุข ประการแรก ทำให้ประชาชนดี หมายถึงประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากปัจจัยสี่แล้ว ต้องมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประการที่ 2 ต้องมีรัฐธรรมนูญและมีกฎหมายที่ใช้ในการบริหารประเทศที่ดี เป็นกฎหมายที่ประชาชนเชื่อมั่น ศรัทธา และยอมรับ อีกประการที่มีความสำคัญคือเราจะต้องมีผู้นำที่ดี คือผู้นำที่ให้ความยุติธรรมกับประชาชน มีพลัง มีภาวะผู้นำ และมีความซื่อสัตย์

 

พ.ต.อ. ทวี กล่าวอีกว่า กระทรวงยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่หลักคือบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมและอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ฉะนั้นความยุติธรรมต้องเข้าถึงประชาชนทุกคน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่เป็นภยันตรายต่อสังคมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ผู้ก่ออาชญากรรมหรืออาชญากรในที่นี้ไม่ได้หมายความเฉพาะผู้ที่เป็นผู้ที่ทำผิดกฎหมาย แต่หมายรวมถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ทั้งตัวกฎหมาย ผู้ใช้กฎหมาย และผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงความไม่รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ก็เป็นการคอร์รัปชันรูปแบบหนึ่ง

 

“ถ้าพิจารณาจากตัวชี้วัดที่ประเทศไทยเราได้คะแนนต่ำที่สุด คือ ประสิทธิภาพของราชทัณฑ์ จะเห็นว่ามีสาเหตุมาจากการที่เรามีนักโทษในเรือนจำเป็นจำนวนมาก พอพ้นโทษออกมาแล้วก็มีอัตราการกลับไปกระทำผิดซ้ำสูง ขณะเดียวกันนานาชาติยังมองว่าในราชทัณฑ์มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างเช่นในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินจะปฏิบัติต่อผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ แต่ปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่ถูกฝากขังในระหว่างการพิจารณาคดี”

 

สำหรับแนวทางในการยกระดับหลักนิติธรรมของกระทรวงยุติธรรมนั้น รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมมองว่าควรขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ทั้งนี้ เชื่อว่าถ้าทำบ้านเมืองให้มีหลักนิติธรรมตามที่รัฐบาลแถลงนโยบายได้ สังคมไทยย่อมดีขึ้น สามารถเป็นรากฐานที่ดีสำหรับคนรุ่นต่อไป

 

ปฏิรูปกฎหมาย ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

ในมุมมองของตัวแทนภาคเอกชน คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า ปัญหาของโลกที่เป็นประเด็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยนั้นมีหลายประการ ไม่ว่าจะเรื่องของภาวะโลกร้อน การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงมาเป็นเวลานาน ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาคอร์รัปชัน หนี้ภาคครัวเรือนหนี้สาธารณะ หนี้ภาคธุรกิจ หนี้ภาคเกษตร รวมถึงหนี้นอกระบบที่เป็นปัญหาฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย

 

ขณะที่ความท้าทายต่อภาคอุตสาหกรรมโดยตรงนั้น มีทั้งเรื่องกฎหมายที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรค ต้นทุนวัตถุดิบที่แพง การขาดแคลนแรงงาน การขาดแคลนเทคโนโลยีนวัตกรรม ต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูง และค่าเงินบาทที่มีความผันผวนเนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีปัญหา

 

อย่างไรก็ดี ประธานสภาอุตสาหกรรมได้เน้นย้ำถึงใจกลางของปัญหาว่า ประเด็นที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันเรียกร้องมาตลอด ก็คือเรื่องการปฏิรูปกฎหมายโดยการลดทอนกฎหมายที่ไม่จำเป็นหรือ Regulatory guillotine อย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง เพราะประเทศไทยมีกฎหมายมาเป็นเวลาช้านานและออกกฎหมายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีการทบทวน ปรับปรุง หรือตัดทอนกฎหมายที่ล้าสมัยออกไป ทำให้ปัจจุบันมีกฎหมายประเภทต่าง ๆ รวมกว่าแสนฉบับ ซึ่งเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชันได้ เพราะเวลาขอทำธุรกิจจะต้องอยู่ในดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ทุกขั้นตอนล้วนมีต้นทุนแฝงและต้นทุนเวลา  

 

“เกาหลีใต้ที่เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมที่สุด เขาตัดลดทอนกฎหมายไปประมาณครึ่งหนึ่ง และแก้ไขอีกประมาณ 25% ปรากฏว่าสามารถลดกระบวนงานได้ล้านกระบวนงาน ลดต้นทุนการประกอบธุรกิจ ทำให้ GDP พุ่งขึ้นมา 4.4% และที่สำคัญกว่านั้นคือ ช่วยปลดล็อกศักยภาพ ทำเกาหลีผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำทางธุรกิจในวันนี้”

 

สำหรับประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำการศึกษาโดยยกตัวอย่างเฉพาะกฎหมายสำคัญ ๆ ประมาณ 1,000 กว่ากระบวนงาน พบว่าหากยกเลิกหรือแก้ไขกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ จะช่วยให้สามารถประหยัดเงินให้กับประเทศได้ปีละ 2 แสนล้านบาทต่อปี

 

คุณเกรียงไกร กล่าวอีกว่า นอกจากกฎหมายเก่าที่ต้องตัดลดทอนแล้ว ต้องมีกฎหมายใหม่ ๆ ที่ทันสมัย พร้อมรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง รวมทั้งเป็นความหวังให้กับธุรกิจ Startup ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศในยุคต่อไป

 

หลักนิติธรรมกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

 

ในมิติด้านสังคม คุณพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนจากองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่เป็นแกนหลักฟังเสียงความเดือดร้อนของประชาชนและภาคประชาสังคมได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของหลักสิทธิมนุษยชนและความเชื่อมโยงกับหลักนิติธรรมอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้

 

หลักสิทธิมนุษยชนเป็นภารกิจของรัฐ ครอบคลุมตั้งแต่การเคารพสิทธิของประชาชน การคุ้มครอง ช่วยเหลือและเยียวยาเมื่อประชาชนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเติมเต็ม เผยแพร่ เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ขณะที่เรื่องของหลักนิติธรรม นอกจากจะเป็นกฎหมายที่ต้องเป็นกรอบกติกาแล้ว ในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นที่ยอมรับหรือสามารถขับเคลื่อนได้ ก็จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน

 

ปัจจุบันรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดได้บรรจุเรื่องหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังมีกฎหมายที่ละเมิดสิทธิประชาชน ยกตัวอย่างเช่น การประกาศเขตอุทยานที่ส่งผลให้ประชาชนที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นต้องถูกไล่ที่ออกไป หรือกลายเป็นคนผิดกฎหมาย ถูกลงโทษ ถูกจับเข้าคุกหรือโรงงานที่สระบุรีมีฝุ่นควันออกมาตลอดเวลา แต่เมื่อไปตรวจสอบจากการร้องเรียนแล้ว ก็ปรากฏว่าทุกโรงงานตั้งอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่กำหนด กรณีนี้ก็จะเห็นชัดว่ากฎหมายทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข

 

อีกเรื่องที่กรรมการสิทธิฯ ได้รับการร้องเรียนเป็นประจำคือ เรื่องของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เช่น ถูกจับโดยไม่เป็นธรรม ถูกทำร้าย ถูกทำให้สูญหาย หรือในเรื่องของการชุมนุมทางการเมือง ปัจจุบันมีประชาชนที่ถูกจับด้วยเหตุผลทางการเมืองเกือบ 3,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนเกือบ 300 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องดูแลว่าจะทำให้เหตุการณ์เหล่านี้ได้รับการแก้ไขอย่างไร เพราะการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

 

“ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนจะช่วยให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้หากเราช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้การมีหลักนิติธรรมเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของประเทศ และทบทวนกฎหมายทุกฉบับที่อาจจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือกฎหมายบางฉบับยังไม่ครอบคลุมในการให้ความคุ้มครองสิทธิของประชาชน และเมื่อประเทศของเรามีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ดีและมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง จะช่วยส่งเสริมบรรยากาศ สร้างแรงดึงดูดการค้าการลงทุนได้มากขึ้น”

 

 

เสริมสร้างหลักนิติธรรมเพื่อธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง

 

 

คุณวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับเรื่องหลักนิติธรรมโดยตรง เห็นได้จากสถิติดัชชีชี้วัดหลักนิติธรรมและดัชนีการรับรู้การทุจริตย้อนหลังไป 5 ปี ที่มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน คือ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก

 

ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนถึงปัญหาสำคัญของประเทศที่ควรได้รับการแก้ไขมากที่สุด พบว่าประชาชนอยากเห็นการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปัญหาอื่น ๆ นั่นเพราะหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นต้นน้ำที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ คุณภาพชีวิต ปัญหายาเสพติด หรือปัญหาปากท้อง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าประชาชนคนไทยเห็นความจำเป็นและยังมีความคาดหวังให้มีการแก้ไขปัญหานี้

 

ปัจจุบัน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน รวมถึงองค์กรและวิสาหกิจเพื่อสังคมต่าง ๆ ได้ดำเนินการเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น มีการสร้างฐานข้อมูลเพื่อให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส การสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาแพลตฟอร์มแจ้งเหตุให้ช่วยกันเฝ้าระวัง หรือใน พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐก็ให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการที่เรียกว่าข้อตกลงคุณธรรม

 

อย่างไรก็ดี ในมุมมองของคุณวิเชียร สิ่งที่ทำมาแล้วนั้นยังไม่เพียงพอ พร้อมทั้งเสนอสิ่งที่สามารถทำได้ทันทีใน 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ ผู้กำหนดนโยบายผลักดันให้การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส (Open Deta และ Open Government) เป็นวาระสำคัญของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เรื่องที่ 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ปฏิบัติมีกระบวนการรับฟังเสียงของประชาชน เพื่อนำมาปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

 

เรื่องสุดท้ายคือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นผู้ร่วมลงทุนตัวจริง โดยต้องมีกระบวนการให้องค์ความรู้เพื่อติดอาวุธให้เกิดความเข้าใจ ควบคู่ไปกับการสร้างพื้นที่ในการแสดงความเห็น เพื่อให้คนรุ่นใหม่เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังที่มีศักยภาพ มีพลัง และมีส่วนร่วมผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง

 

“ถ้าทำทั้ง 3 เรื่องนี้ เชื่อว่าตัวชี้วัดต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงดีขึ้นในปี 2-3 ปีข้างหน้าได้แน่นอน และอีกเรื่องที่อยากฝากไว้คือ อยากให้การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ เสนอกลไกว่าควรมี War room ในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง”

 

 

การส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนหลักนิติธรรม

 

ในฐานะตัวแทนองค์กรร่วมจัดงาน ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เริ่มจากการชี้ให้เห็นนิยามของหลักนิติธรรมในแบบง่าย ๆ ว่าคือการที่ทุกคนยอมรับและเคารพการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่หัวใจสำคัญคือ กฎหมายที่บังคับใช้นั้นต้องมีที่มาที่ชอบธรรม มีกระบวนการที่ถูกต้อง เป็นประชาธิปไตย มีรูปแบบที่เข้าถึงและเข้าใจได้ และต้องมุ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของประชาชน

 

ในการลงทุนในหลักนิติธรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยให้ดีขึ้นนั้น แม้ในบริบทของประเทศไทยจะไม่ได้เริ่มต้นนับจากศูนย์ แต่ยังมีลักษณะเป็น Unending Business และ Unfinished Business กล่าวคือ ทำมาบ้างแล้วแต่ยังไม่ถึงขั้นที่ทำให้เกิดการอำนวยผล ไม่สามารถทำให้หลักนิติธรรมเปล่งศักยภาพได้เต็มที่

 

ขณะที่การทำให้หลักนิติธรรมเข้มแข็งต้องใช้วิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม สาระสำคัญมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือต้องอาศัยความเป็นเจ้าโครงการของร่วมกันของทุกภาคส่วน เป็นภารกิจใหญ่มากที่ทุกองคาพยพในสังคมต้องทำงานร่วมกัน ไม่มีองค์กรใดทำภารกิจนี้ให้สำเร็จได้โดยลำพัง

 

อีกส่วนที่เป็นกุญแจสำคัญให้การทำงานในครั้งนี้แตกต่างไปจากเดิมคือ ต้องมีกรอบการทำงานร่วมกันในรูปแบบที่สามารถคิดบัญชีได้ (Accountability Framework) โดยมีการแบ่งหน้าที่ พร้อมตกลงเป้าหมาย ลำดับความสำคัญ และประเด็นที่มุ่งเน้น เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบ ประเมินผล และขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่องเพราะเป็นวิธีการทำงานที่ทำให้ทุกคนรู้ว่าใครกำลังทำอะไร ทำได้ดีแล้ว ยังต้องแก้ไข หรือกระตุ้นให้ดีขึ้นได้อีก

 

ในส่วนของกลไกระดับชาติเพื่อการขับเคลื่อนหลักนิติธรรม จะประกอบด้วย กลไกภาครัฐและกลไกภาคประชาชน (Civic Movement) ซึ่งในมุมมองของ ดร.พิเศษ กลไกภาคประชาชนผ่านการเปิดพื้นที่เพื่อระดมทรัพยากรที่กระจายอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ นับเป็นหัวใจสำคัญที่จะเป็นตัวช่วยให้การทำงานในภาครัฐเกิดความรอบคอบ รอบด้าน เกิดการคิดใหม่ ทำใหม่ และเกิด Accountability Framework ได้อย่างแท้จริง

 

ทั้งนี้ TIJ ขอปวารณาตัวและให้คำมั่นที่จะทำหน้าที่สนับสนุนกลไกภาครัฐ ในฐานะที่ปรึกษา นำองค์ความรู้ที่มีอยู่ในนานาชาติ องค์กรที่เป็นสากล มาแปลงให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และทำหน้าที่วิเคราะห์ตัวชี้วัดหลักนิติธรรมเพื่อนำมาแสวงหาลำดับความสำคัญ (Priority Area) และร่วมมือกับกลไกต่าง ๆ ที่รัฐบาลจะได้จัดตั้งขึ้น เพื่อทำให้การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้เป็นไปได้อย่างเต็มที่และขับเคลื่อนได้อย่างสอดคล้องกับบริบทสังคมไทย 

 

 

ในแง่ของภาคประชาสังคม TIJ จะใช้องค์ความรู้ผสานเครือข่ายที่เข้มแข็ง เข้าไปช่วยทำหน้าที่เป็น Facilitator ร่วมในการกำหนดโจทย์ กำหนดประเด็น และนำการพูดคุยมาประมวลข้อคิดเห็นให้เกิดประโยชน์ แต่ในหลาย ๆ สาขาที่สถาบันฯ ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ ก็พร้อมเป็นผู้สังเกตการณ์และเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับทุกฝ่าย

 

“สุดท้าย TIJ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างกลไกรัฐและภาคประชาชน เพราะทั้งกลไกภาครัฐและภาคประชาสังคมต่างมีพลัง แต่ปัญหาสำคัญ คือ 2 ส่วนนี้อาจจะไม่ค่อยจะไว้วางใจกันอย่างที่ควรเป็น ด้วยภูมิหลังด้วยข้อจำกัดนานับประการ แต่ TIJ เราเป็นองค์กรที่มีคุณลักษณะพิเศษ เป็นองค์กรในกำกับการดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่มีบอร์ดที่ให้นโยบาย และมีสถานะเป็นองค์กรในเครือข่ายของสหประชาชาติ เอกลักษณ์แบบนี้ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการตอบสมการนี้ ในการทำหน้าที่เป็นกาวใจเชื่อมให้เกิดความไว้ใจซึ่งกันและกัน”

 

ก้าวต่อไป… หลักนิติธรรมของไทยกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

เวทีสาธารณะในครั้งนี้ ปิดท้ายด้วยการสัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะผู้ร่วมบุกเบิกและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมายาวนานตลอดช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา

 

ในมุมมองของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ ประเมินว่าตนเองล้มเหลวที่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนหลักนิติธรรมให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ หากดูผลลัพธ์ในวันนี้ ทั้งในแง่ของตัวชี้วัดหรือความรู้สึกของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม ขณะที่การมองไปข้างหน้าเพื่อขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นต้องเรียนรู้จากบทเรียนในอดีตและทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม

 

ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงแรก ๆ ได้ทำเรื่องกฎหมายโดยตรง เพราะคิดว่าหากแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้สำเร็จ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผู้เสียหาย ผู้ต้องหา และความเป็นธรรมจะเกิดขึ้น แต่ผลปรากฏว่า กฎหมายนั้นถูกเก็บเข้าลิ้นชัก เพราะรัฐบาลขณะนั้นไม่ได้มีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

 

ในช่วงก่อนปี 2540 ยุคประชาธิปไตยเฟื่องฟู ตนเองและคณะได้มีโอกาสเข้าไปช่วยกันขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่เหตุการณ์ต่อมาทำให้รู้สึกว่าแนวคิดที่ให้รัฐบาลมีอำนาจมากขึ้น มีกลไกการตรวจสอบเข้มแข็งมากขึ้น กลับให้ผลในทางตรงกันข้าม ทำให้ระบบธรรมาภิบาลของประเทศโดยรวมอ่อนแอลงและนำไปสู่ความขัดแย้ง กลายเป็นกฎหมายคือหลักแห่งอำนาจ หรือ Rule by Law เพราะผู้มีอำนาจใช้กลไกนี้เพื่อคงอำนาจไว้ ไม่ให้คู่แข่งทางการเมืองเข้ามามีอำนาจ

 

ดังนั้น ในก้าวต่อไป จำเป็นต้องคิดให้ครบถ้วน ต้องคิดว่าหลักนิติธรรมที่ดี จะสร้างธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง และธรรมาภิบาลที่เข้มแข็งจะโยงไปสู่ประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ และทั้ง 3 เรื่องนี้ ทั้งหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ได้

 

สำหรับประเด็นหลักนิติธรรมที่ควรขับเคลื่อนเป็นวาระเร่งด่วนในทัศนะของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์คือเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศ ด้วยการตัด ลด ทอนกฎหมายที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรค พร้อมปรับปรุงให้มีความทันสมัย การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government) เป็นอีกประเด็นที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็งและสามารถทำได้ทันทีโดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่และการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

อีกเรื่องที่อาจทำได้ไม่ง่ายนัก แต่มีความจำเป็นอย่างมาก คือ เรื่องรัฐธรรมนูญ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่เขียนคำว่าหลักนิติธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2550 และปี 2560 แต่กลับไม่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่แม้ไม่ได้ระบุคำว่าหลักนิติธรรมไว้ แต่มีกลไกในธรรมนูญที่ออกแบบและคุ้มครองหลักนิติธรรมได้อย่างดี

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ ทิ้งท้ายว่า การขับเคลื่อนเรื่องหลักนิติธรรมไม่จำเป็นต้องรอรัฐบาล แต่ควรเริ่มโดยภาคประชาสังคม เริ่มจากความตื่นรู้ เท่าทัน เห็นว่าปัญหาในปัจจุบันเกิดจากหลักนิติธรรมในสังคมมีความอ่อนแอ และนำไปสู่การลงทุนสร้างหลักนิติธรรมให้เข้มแข็งเพื่ออนาคตของสังคมไทยที่ดีขึ้นกว่าเดิม “Investing in the Rule of Law for the better future”  

Back

Contact :

icon

ส่วนที่รับผิดชอบ ส่วนกลาง

icon

อีเมล : info@tijthailand.org

chat