ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ จับมือ World Justice Project ผลักดันให้ไทยใช้คะแนน “ตัวชี้วัดหลักนิติธรรม” เป็นเครื่องมือปฏิรูปหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม

 

หลักนิติธรรม (Rule of Law) ถูกจัดเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ที่จะใช้ไปถึงปี พ.ศ. 2573 ภายใต้ความเชื่อที่ว่า หากสังคมใดขาดการยึดหลักนิติธรรมเป็นพื้นฐานในการพัฒนา จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอื่นๆ ได้ เพราะหลักนิติธรรม คือ เครื่องมือพื้นฐานที่จะช่วยจำกัดการใช้อำนาจของรัฐให้ไม่มีอำนาจเหนือประชาชน ช่วยให้คนในสังคมได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาค เท่าเทียม มีสิทธิเสรีภาพ และเคารพสิทธิของผู้อื่น

 

จากผลคะแนน “ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม” (Rule of Law Index) ที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยองค์กร World Justice Project (WJP) ซึ่งทำการวัดและจัดลำดับหลักนิติธรรมทั่วโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ได้เปิดเผยผลคะแนนการวัดหลักนิติธรรมของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2565 พบว่า ประเทศไทยได้ 0.50 คะแนน เป็นอันดับที่ 80 จาก 140 ประเทศทั่วโลก เป็นอันดับที่ 10 จาก 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นอันดับที่ 25 จาก 42 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง หรือ upper middle income โดยแม้คะแนนของประเทศไทยจะไม่ลดลง แต่มีอันดับต่ำลงเรื่อยๆ

 

ตัวชี้วัดหลักนิติธรรมที่ WJP นำมาใช้ แบ่งเป็น 8 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ การควบคุมอำนาจของรัฐบาล (Constraints on Government Powers) การปราศจากการคอร์รัปชัน (Absense of Corruption) การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government) สิทธิขั้นพื้นบาน (Fundamental Rights) ระเบียบและความมั่นคง (Order and Security) การบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Enforcement) กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (Civil Justice) และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice) 

 

 

ข้อมูลนี้ถูกนำมาเปิดเผยในการประชุม “ASEAN Justice Innovation 2023 - งานนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมแห่งอาเซียน” หรือ งานนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมอาเซียน 2566: หลักนิติธรรม ข้อมูล และอนาคตของระบบยุติธรรมในอาเซียน จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับองค์กร World Justice Project (WJP) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566

 

 

ดร.ศรีรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก World Justice Project (WJP) นำเสนอผลการให้คะแนน “ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม” ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2565 ผ่านเวทีนี้ โดยมีทั้งหน่วยราชการในกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายการเมือง นักวิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก ซึ่งแม้ผลการให้คะแนนจะชี้ให้เห็นว่า คะแนนด้านหลักนิติธรรมของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่คงที่ แต่กลับมีอันดับที่แย่ลงเรื่อยๆ มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 

ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก WJP ชี้แจงผลการวิจัยว่า เมื่อดูในเชิงลึกลงไปใน 8 ปัจจัยที่นำมาใช้เป็นตัวชี้วัดจะพบว่า มี 4 ปัจจัย ที่ประเทศไทยได้คะแนนที่มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าในภูมิภาคอาเซียน นั่นคือ ปัจจัยด้านการควบคุมอำนาจรัฐ ปัญหาคอร์รัปชัน การบังคับใช้กฎหมาย และการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา

 

ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ได้คะแนนต่ำ เช่น ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน การเผยแพร่กฎหมาย สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐ การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศ การปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาในกระบวนการยุติธรรม ยังพบการซ้อมทรมาน บังคับให้สูญหาย มีกระบวนการยุติธรรมที่กฎหมายเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจค่อนข้างมาก มีกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการที่มีผู้พ้นโทษจากเรือนจำจำนวนมากกลับไปกระทำความผิดซ้ำเพราะขาดโอกาสในการเริ่มต้นใหม่” ดร.ศรีรักษ์ กล่าว

 

แต่ก็ยังมีบางปัจจัยที่ประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดีกว่าค่าเฉลี่ย คือ ความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอยู่ในระดับที่พอรับได้ และความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง

 

จากแนวคิดที่จะผลักดันให้เกิดระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Centred Justice) สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะสถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (United Nations Programme Network Institutes – PNIs) แห่งเดียวในอาเซียน จึงเห็นโอกาสสำคัญที่จะร่วมมือกับ WJP ด้วยการนำข้อมูลคะแนนดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของประเทศไทย มาเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ผ่านเวทีเสวนาเชิงนโยบาย (policy dialogue) เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเริ่มต้นสู่การพัฒนาให้เป็นประเทศที่มีหลักนิติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ให้ภาครัฐสามารถใช้ผลการประเมินนี้ไปศึกษาและวางแผนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักนิติธรรม ส่วนภาคเอกชนก็สามารถนำผลการประเมินนี้ไปใช้เพื่อประกอบการพิจารณาการตัดสินใจลงทุนได้เช่นกัน

 

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่มีคำว่า “หลักนิติธรรม” เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่สามารถทำให้จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นการที่เรามีตัวชี้วัดหลักนิติธรรมที่ WJP ทำไว้มาเป็นเวลาถึง 15 ปีแล้ว ถือเป็น Game Changer ที่สำคัญซึ่งควรนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาให้เกิดหลักนิติธรรมขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง

 

ดังนั้นการที่ TIJ ร่วมมือกับ WJP นำข้อมูลจากดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมมาจัดเวทีเสวนาเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาหลักนิติธรรมในครั้งนี้ขึ้น ไม่ได้แต่มีเป้าหมายเพื่อจะหวังเพิ่มคะแนนในดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของประเทศไทย แต่ต้องการให้เวทีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดกระบวนการหารือเชิงนโยบายที่ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมกับการให้ข้อเสนอเพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยมีนโยบายที่ส่งเสริมหลักนิติธรรมอย่างจริงจัง จึงเลือก 4 เรื่องหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนกันมาอย่างต่อเนื่อง และเป็น 4 ปัจจัยของดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมที่ประเทศไทยได้คะแนนไม่ดีนัก มาเป็นจุดเริ่มต้นในการพูดคุยกันก่อน ได้แก่ ปัญหาการคอร์รัปชัน การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การปฏิรูปกฎหมายโดยลดทอนกฎหมายที่ไม่จำเป็นหรือการกิโยตินกฎหมาย และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา  

 

 

ขณะที่ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการกฎหมายและกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นการปฏิรูปกฎหมายด้วยการลดทอนกฎหมายที่ไม่จำเป็น หรือการทำกิโยตินกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมายังไม่สามารถผลักดันให้เกิดผลสำเร็จได้เป็นอย่างดีในประเทศไทย เป็นเพราะประเทศไทยยังคงใช้กระบวนการเดิมๆ ในการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งใช้เวลานานมาก ไม่ทันต่อบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ประธานคณะอนุกรรมการกฎหมายและกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเปรียบเทียบกับประเทศเกาหลีใต้และเวียดนาม ที่สามารถปฏิรูปกฎหมาย หรือ ยกเลิกกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นได้สำเร็จ เป็นเพราะมีกระบวนการที่รัฐสร้างหน่วยงานขึ้นมาทำงานนี้เป็นการเฉพาะ มีบุคลากรที่ทำงานเต็มเวลา มีอำนาจในการพิจารณาและตัดสินใจ ซึ่งต่างจากกระบวนการในประเทศไทยที่ใช้รูปแบบเดิมๆ คือ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณายกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ไม่มีหน่วยงานเฉพาะ ไม่มีบุคลากรที่ทำงานต่อเนื่อง และยังทำได้เพียงให้ข้อเสนอแนะส่งต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีงานล้นมือมากอยู่แล้วให้เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ ดังนั้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงปฏิรูปกฎหมายไปได้น้อยมาก

 

 

นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีทั้งคะแนนชี้วัดหลักนิติธรรมและคะแนนความโปร่งใสอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก แต่ยังเห็นความหวังบางอย่างจากผลคะแนนความโปร่งใสที่ไทยได้รับครั้งล่าสุด นั่นคือ ประเทศไทยมีคะแนนที่สูงขึ้นมาก จากการสำรวจการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชัน โดยพบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 ไม่ยอมรับกับการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบอีกต่อไป และมีถึงกว่าร้อยละ 70 ที่ระบุว่าต้องการมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหา รวมทั้งยังมีผลสำรวจอีกว่า ปัญหาหลักๆ ในประเทศไทยที่ประชาชนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือ ปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงเป็นอันดับแรก มากกว่าความต้องการเห็นการแก้ปัญหาปากท้องด้วยซ้ำ

ดังนั้นเมื่อประชาชนมีความตื่นตัวอย่างมากต่อการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน นายวิเชียร จึงขอเสนอแนวทางที่จะเพิ่มอำนาจให้ประชาชน ด้วยการเปิดช่องทางในการติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทุกรูปแบบได้ง่ายขึ้น ต้องเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้ประชาชน

เข้าถึงได้ง่าย ต้องเปิดพื้นที่ให้เกิดความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างใกล้ชิดกันมากขึ้น และปลูกฝังในเรื่องหลักนิติธรรมให้กับประชาชน

 

 

สำหรับ ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง ปัญหา “การกระทำผิดซ้ำ” ที่เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมไทยอยู่ในระดับต่ำมาก โดยระบุว่าปัญหาการกระทำผิดซ้ำของผู้ที่เคยต้องโทษมาก่อน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปกับปัญหาความแออัดของนักโทษในเรือนจำ จนทางกรมราชทัณฑ์ไม่สามารถฟื้นฟูผู้ต้องขังเหล่านี้ให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างที่หวังไว้ โดยปัญหาที่สำคัญ คือ กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ส่งคนจำนวนมากเข้าไปอยู่ในเรือนจำทั้งไม่มีความจำเป็น

 

ดังนั้น หากกระบวนการยุติธรรม ยังไม่มีการใช้มาตรการทางเลือกอื่นในการลงโทษที่มิใช่การคุมขัง กลับยังคงส่งคนเข้าสู่เรือนจำเป็นจำนวนมากเช่นนี้ เรือนจำก็จะยังคงมีคนเข้ามามากเกินศักยภาพการรองรับ และรัฐต้องใช้งบประมาณมากมายไปกับการดูแลความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังแทนที่จะใช้เพื่อการฟื้นฟูให้เขากลับคืนสู่สังคม ทำให้ทุกๆ 3 ปี ผู้พ้นโทษร้อยละ 30 จะกลับเข้ามาสู่เรือนจำอีก และเมื่อนำข้อมูลนี้มาเทียบกับผลดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของ WJP จะวิเคราะห์ต่อไปให้เห็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมได้ในหลายประเด็น เช่น การที่ประเทศไทยไม่ค่อยหาวิธีการเบี่ยงเบนคดีอาญาออกไปจากกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการที่ประเทศไทยยังมีประวัติอาชญากรรมติดตัวไปกับผู้ต้องโทษที่ชดใช้ความผิดไปแล้ว ทำให้เขาไม่สามารถไปหางานทำเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ จนต้องกลับมากระทำผิดซ้ำอีก

 

 

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของ WJP เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เรามีกรอบที่ชัดเจนในการใช้พูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาหลักนิติธรรมในประเทศไทยแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการจัดงานนี้ขึ้น โดยยังหวังด้วยว่า เวที ASEAN Justice Innovation 2023 ซึ่งเป็นเวทีแรกในภูมิภาคที่พยายามขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อความยุติธรรมในภูมิภาคอาเซียน จะทำให้เกิดการใช้ข้อมูลเพื่อออกแบบนวัตกรรมใหม่ๆ ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรม และนำไปสู่การขยายเครือข่ายของนวัตกรเพื่อแก้ปัญหาความยุติธรรมในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะทำให้เกิดพลังในการเดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาหลักนิติธรรมอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

 

ความร่วมมือระหว่าง TIJ และ WJP ในการจัดงานครั้งนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านหลักนิติธรรมและการยกระดับคุณภาพของระบบยุติธรรมในอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศไทยเพื่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ไม่สามารถทำได้โดยหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความมุ่งมั่นและเจตจำนงจากภาคการเมือง

 

ในวันที่สองของการจัดงาน นวัตกรจากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้เข้ามาร่วมกันนำเสนอแนวทางใหม่เพื่อพัฒนาหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมผ่านเทคโนโลยี เพื่อสร้างให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความยุติธรรมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยหลังจากการเปิดเผยภาพรวมดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมในภูมิภาคอาเซียน จาก WJP ซึ่งระบุว่า ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมทั่วโลกกำลังอยู่ในห้วงแห่งการถดถอย ถึงร้อยละ 61 และภูมิภาคอาเซียนก็ตามหลังภูมิภาคอื่นๆ อยู่ โดยมีการถดถอยถึงร้อยละ 71 มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่ทำคะแนนรวมได้ค่อนข้างดี นวัตกรแต่ละท่านได้แสดงผลงานนวัตกรรมด้านหลักนิติธรรม อาทิ ริชาร์ด มาลันจุม อดีตประธานศาลฏีกา มาเลเซีย กล่าวในปาฐกถาพิเศษว่า “การเข้าถึงความยุติธรรม – ปัจจัยสำคัญสู่การมีหลักนิติธรรม”  โดยระบุว่า การเข้าถึงความยุติธรรมจะช่วยให้ประชาชนสามารถดำรงศักดิ์ศรีในการใช้ชีวิต เป็นวิธีที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่ารัฐบาลมีประสิทธิภาพ ช่วยพัฒนาภาคประชาสังคมและยุติความยากจน การเข้าถึงความยุติธรรมเป็นทุกอย่างสำหรับประชาชนเมื่อต้องอยู่ในสภาวะวิกฤติ พร้อมทั้งยกตัวอย่างโครงการศาลเคลื่อนที่ (Mobile Court) ในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกล

 

ด้านประเทศไทย TIJ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดทำแบบสำรวจความต้องการในกระบวนการยุติธรรม ในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2565 ด้วยตระหนักว่าเมื่อระบบยุติธรรมเป็นพื้นฐานความมั่นคงในชีวิตของประชาชนที่แต่ละคนต้องพบเจอเรื่องราวที่แตกต่างกัน การทำความเข้าใจความต้องการของประชาชนต่อระบบยุติธรรมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยอาจนำนวัตกรรมด้านความยุติธรรม ดังที่กรมสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทยได้นำร่องโครงการ เช่น การนำข้อมูลอาชญากรรมไปวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์คดี การใช้ Chatbot ในโครงการ MySis Chatbot มาช่วยแก้ไขปัญหาของประชาชนได้

 

 

อย่างไรก็ดี ร.ต.อ. เกริกไกรวัล ขจรกุลชลธร จากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุไว้ด้วยว่า โครงการนวัตกรรมนั้นก็มีหลุมพรางที่ต้องระวัง คือ ต้องไม่มองโลกในแง่ดีเกินไป เพราะเทคโนโลยียังต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์ ที่อาจต้องทำงานหนัก หรือได้รับค่าตอบแทนไม่คุ้มกับการลงแรงที่เสียไป การออกแบบเทคโนโลยีหรือแพลทฟอร์มโดยไม่คำนึงถึงผู้ใช้งาน เน้นที่การผลิตนวัตกรรมใหม่แต่ไม่คำนึงถึงการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และการหวังผลเร็ว ทั้งๆ ที่นวัตกรรมอาจต้องใช้เวลาในการที่จะเปลี่ยนแปลง ทั้งตัวผู้นำไปใช้ และผู้รับบริการ

 

 

 

สอดคล้องกับที่ ดร. ลีโอนาร์ด และ อิงฮงลี ผู้แทนจากศูนย์ยุติธรรมชุมชน สิงคโปร์ ระบุไว้ว่า การจะนำนวัตกรรมเข้ามาสร้างหลักนิติธรรมและอำนวยความยุติธรรมได้ จะต้องมีแผนการทำงาน เริ่มจากการเข้าใจว่าผู้มีบทบาทร่วมคือใคร มีวัตถุประสงค์ในที่จะนำนวัตกรรมนั้นมาใช้ทำอะไร มีการออกแบบและทดลองใช้ มียุทธศาสตร์ในการนำไปใช้ ก่อนจะนำไปใช้จริง โดยสิงคโปร์นั้นมีโครงการเช่น Co-Parenting Application การใช้ Automated Court Documents Assembly System เป็นต้น

 

นอกจากนี้ พิพากษา ไมดัส มาเคส จากศาลสูงสุดของฟิลิปปินส์ นำเสนอนวัตกรรมในระบบยุติธรรม โดยมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เรียกว่า Strategic plan for judicial innovations 2022-2027 ขณะที่ อาซา อิลมี บูดีอาตี นักวิจัย จากศูนย์วิจัยตุลาการ อินโดนีเซีย ได้ทำการจัดเก็บข้อมูลจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ และวิเคราะห์จากข้อมูลฝ่ายบริหารของภาครัฐเพื่อการปรับปรุงระบบยุติธรรม และนวัตกรรมด้านยุติธรรมยังเริ่มได้จากภาคประชาสังคม โดย แซม เวน จากกัมพูชา นำเสนอองค์การ This Life ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

 

 

TIJ เชื่อว่าองค์ความรู้และเครือข่ายจากการจัดงานครั้งนี้ จะมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการสร้างหลักนิติธรรมอย่างเป็นรูปธรรมและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็นผลสำเร็จได้ในอนาคต

 

งานนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมอาเซียน 2566: หลักนิติธรรม ข้อมูล และอนาคตของระบบยุติธรรมในอาเซียน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ โดยนอกจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการเสวนากลุ่มย่อยเกี่ยวกับหลักนิติธรรม และกระบวนการยุติธรรมในไทยและภูมิภาคอาเซียนแล้ว ในวันที่ 18 สิงหาคมมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อออกแบบอนาคตของความยุติธรรม และการประมูลภาพวาด NFT ที่สร้างสรรค์โดยผู้ต้องขังจากเรือนจำกลางชลบุรี และเรือนจำพิเศษธนบุรีด้วย

Back