ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม
ประเด็นสำคัญ:
  1. การนำพาผู้หญิงที่เคยโดนจองจำกลับสู่สังคม จะสำเร็จได้ต่อเมื่อมีการวางแผน ทำความเข้าใจความต้องการและประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงแต่ละคน ตั้งแต่สภาพสังคม เงื่อนไขชีวิตที่ผลักให้เธอต้องเผชิญหน้ากับระบบยุติธรรม ช่วงเวลาในเรือนจำ และการปรับตัวกับชีวิตหลังพ้นโทษ ทั้งหมดนี้คือการคำนึงถึงโทษที่ได้รับ ระยะเวลาที่อยู่ในเรือนจำ อายุ สุขภาวะทางกาย-ใจ ความพิการ และสภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่จะรองรับผู้หญิงคนนั้นหลังจากพ้นโทษ
  2. สายสัมพันธ์ของครอบครัวหรือคนสนิทนั้นสำคัญอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับตัวกับชีวิตหลังพ้นโทษคือการเตรียมความพร้อมครอบครัวและชุมชนที่ต้องรองรับผู้หญิงคนนั้น หรือตรวจสอบว่าครอบครัวและชุมชนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและยินดีที่จะดูแลผู้หญิงคนนั้นหรือไม่
  3. แผนการช่วยให้ผู้หญิงปรับตัวกับชีวิตหลังออกจากเรือนจำนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลนอกระบบยุติธรรม เช่น หน่วยงานภาคประชาสังคมและชุมชน ซึ่งการทำงานของกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นไปได้หากมีกลไกสนับสนุนระดับชาติคอยรองรับ และได้รับเงินสนับสนุนการทำงานมากขึ้น
 
สำหรับระบบยุติธรรมที่ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาว่า “การใช้เวลาชีวิตในเรือนจำ” คือการรับผิดชอบต่อการกระทำผิด  ระบบยุติธรรมมีหนึ่งคำถามที่ต้องตอบสังคมให้ได้: 
 
ระบบยุติธรรมจะรับผิดชอบต่อชีวิตมหาศาลที่เข้ามาในเรือนจำได้อย่างไร  โดยเฉพาะชีวิตของผู้หญิง ซึ่งนับวันยิ่งเพิ่มจำนวนในเรือนจำ?
 
เมื่อบทบาทและความจำเป็นของเรือนจำถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง เราจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงการอภิปรายถึงหน้าที่ของรัฐในการช่วยให้อดีตผู้ต้องขังปรับตัวกับชีวิตหลังพ้นโทษ “ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้คนที่เคยโดนจองจำต้องกลับไปรับโทษ และกลับเข้าคุกอีก” กลายมาเป็นคำถามสำคัญที่ประเทศไทย และทุกแห่งหนบนโลกที่มีระบบจองจำคนกำลังเผชิญ 
 
 
ในระดับนานาชาตินั้น การฟื้นฟูผู้กระทำผิดและการช่วยอดีตนักโทษให้มีชีวิตหลังพ้นโทษอย่างปลอดภัย หลุดจากวงจรการกระทำผิดซ้ำ ได้รับการสนับสนุนโดย กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) หรือ ข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) และ ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-Custodial Measures for Women Offenders) หรือ ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules)
 
การฟื้นฟูผู้กระทำความผิดนั้น เริ่มต้นได้ตั้งเมื่อผู้กระทำความผิดเข้าสู่ระบบยุติธรรม โดยหลีกเลี่ยงการคุมขังผู้กระทำผิดที่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสังคม และปรับโทษให้เหมาะสมกับความผิด ระหว่างการรับโทษในเรือนจำ เจ้าหน้าที่ต้องจัดโปรแกรมฟื้นฟูโดยคำนึงถึงความต้องการของปัจเจก เช่น นักโทษบางคนอาจต้องการการฟื้นฟูสภาพจิตใจ บางคนอาจต้องการการบำบัดสารเสพติด หรือต้องการฝึกอาชีพที่เป็นประโยชน์และทำให้ตั้งหลักได้เมื่อออกจากเรือนจำ เพื่อที่จะไม่ต้องกระทำผิดซ้ำอีก โปรแกรมต่างๆ สำหรับการฟื้นฟูผู้กระทำความผิดนั้นจึงควรออกแบบโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง โดยหลักแล้วประกอบด้วย 
 
1) ประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงก่อนเข้าเรือนจำ 
2) ประสบการณ์ระหว่างรับโทษในเรือนจำ และ
3) อุปสรรคในการใช้ชีวิตหลังพ้นโทษ  
 
ในแง่ของประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงก่อนเข้าเรือนจำ เราต้องทำความเข้าใจปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้หญิงกระทำผิดกฎหมาย ว่าอาจมีตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การใช้สารเสพติดและแอลกอฮอล์เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิต และการเป็นเหยื่อความรุนแรง จนถึงการแบกรับภาระในการดูแลบุคคลในครอบครัว ในบริบทของประเทศไทย ผู้หญิงที่กระทำความผิดต้องโทษคดียาเสพติด โดยมากเกิดจากความจำเป็นทางการเงินที่บีบให้ต้องหาเลี้ยงชีพอย่างผิดกฎหมาย และตกอยู่ในสภาวะที่โดนแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม หรือโดนกระทำรุนแรง  2 ใน 3 ของผู้ต้องขังหญิงไม่ได้สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ และมากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ต้องขังผู้หญิงคือแม่ที่มีภาระเลี้ยงดูบุตร 1-2 คน  
 
ในแง่ของประสบการณ์ระหว่างรับโทษในเรือนจำ เมื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ผู้ต้องขังหญิงแต่ละคนมีโอกาสในการเข้าถึงโปรแกรมฟื้นฟูไม่เท่ากัน และสภาพแวดล้อมของเรือนจำเองก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไป เช่น เรือนจำนั้นอยู่ในภาวะคนล้นคุกไหม มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดประเภทผู้ต้องขังรุนแรงเกินกว่าความเป็นจริง (overclassification) หรือเปล่า เรือนจำตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ความช่วยเหลือและบุคคลต่าง ๆ เข้าถึงได้สะดวกไหม และมีโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะหรือเปล่า  
 
สำหรับประเทศไทย การเตรียมความพร้อมนักโทษก่อนกลับสู่สังคมนั้นมีในรูปแบบของโปรแกรมฟื้นฟูผู้กระทำผิดและโปรแกรม pre-release (ก่อนปล่อยตัว) ซึ่งมีศูนย์ CARE (Center for Assistance to Reintegration and Employment) รองรับ นอกจากนี้ ภาคส่วนเอกชนและวิสาหกิจเพื่อสังคมยังสร้างความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานสังกัดระบบยุติธรรม เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ กับผู้ต้องขังที่เข้าโปรแกรม pre-release ด้วย
 
 
ในเรือนจำอยุธยา ซึ่งเป็นเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ  ผู้ฝึกสอนจากภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคมได้เข้ามาให้ความรู้ในด้านการจัดการเงินและการวางแผนธุรกิจ ให้คำแนะนำในด้านการสร้างเส้นทางอาชีพ พร้อมกับเสริมสร้างพลังทางใจ และให้การสนับสนุนการปรับตัวกับชีวิตหลังพ้นโทษ ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 50 กว่าคนที่มีส่วนร่วมในโปรแกรม pre-release นั้นมาจากคณะทำงานทั้งหมด 9 กลุ่ม ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้นำชุมชนจากตำบลต่าง ๆ ในจังหวัดอยุธยา บริษัท เดอะ มันนีโค้ช มูลนิธิบ้านพระพร ทีมงานนางฟ้าซาลอนบริษัทจัดหางานอเด็คโก้ กลุ่ม “เสียงจากผู้หญิงหลังกำแพง” สมาคมการค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย และศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม ซึ่งแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ช่วยฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับคืนสู่สังคมได้
 
การรักษาสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ต้องขังหญิงและครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดก็เป็นเรื่องสำคัญมาก 
 
ในประเทศกัมพูชา องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ชื่อว่า This Life Cambodia ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเดินทางและการเงินสำหรับครอบครัวที่ต้องการมาเยี่ยมญาติในเรือนจำ 
 
ในประเทศสิงคโปร์ แผนฟื้นฟูผู้กระทำผิดได้พิจารณาถึงแรงสนับสนุนจากครอบครัว ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูผู้กระทำผิด 
 
ในประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่ดูแลนักโทษที่จะได้รับการปล่อยตัว จะเข้าไปประเมินศักยภาพของครอบครัวของผู้กระทำผิดก่อน และหลังจากผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัว ก็จะเข้าไปเยี่ยมอดีตผู้ต้องขัง ณ ที่พักอาศัยและที่ทำงาน พร้อมกับให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง 
ในประเทศอินโดนีเซีย เรือนจำมีจัดทำโครงการ “Homework with mom” สนับสนุนให้ลูกๆ ในวัยเรียน ซึ่งโดยปกติจะไม่สามรถมาเยี่ยมแม่ได้เนื่องจากเวลาให้เยี่ยมตรงกับช่วงที่ต้องไปโรงเรียน มาเยี่ยมแม่ในเรือนจำสัปดาห์ละครั้ง และสามารถนำการบ้านมานั่งทำกับแม่ เพื่อรักษาสายสัมพันธ์แม่-ลูกและความต่อเนื่องของการศึกษาของลูก 
ในประเทศเซียร์ราลีโอน องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ชื่อว่า AdvocAid จะแจ้งรายละเอียดการปล่อยตัวให้ครอบครัวทราบ และช่วยพัฒนาแผนปรับตัวและชีวิตหลังพ้นโทษ พร้อมทั้งดูแลด้านการเดินทางและที่พักอาศัยในช่วงแรกหลังผู้ต้องขังพ้นโทษ 
 
แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 การเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำถูกจำกัดลง สืบเนื่องมาจากข้อบังคับในการลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทำให้การฝึกฝน ความรู้ และการทำงานในเรือนจำหลายแห่งทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง ทั้งผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เรือนจำเองก็ตกอยู่ในสภาวะกดดัน เนื่องจากว่าพื้นที่ในเรือนจำคือพื้นที่เสี่ยงเนื่องจากความแออัด 
 
สิ่งสุดท้ายที่ควรคำนึงในการฟื้นฟูผู้กระทำความผิด คืออุปสรรคในการใช้ชีวิตหลังพ้นโทษ  ขวากหนามที่ผู้ต้องขังหญิงเผชิญหลังจากพ้นโทษอย่างการถูกสังคมตีตรา ก็เป็นหลุมบ่อที่สังคมยังกลบไม่มิด ผู้หญิงที่เคยโดนจองจำมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับปัญหาความมั่นใจในตัวเองต่ำเพราะถูกตีตราว่าเป็น “ผู้หญิงขี้คุก” หรือเมื่อออกจากคุกมาครอบครัวก็แตกสลาย ไม่มีที่อยู่อาศัยถาวร หรือไม่ได้รับโอกาสให้ประกอบอาชีพอย่างถูกกฎหมาย เหล่านี้คืออุปสรรคในการปรับตัวกับชีวิตหลังพ้นโทษของอดีตผู้ต้องขังหญิงทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ การทำความเข้าใจความต้องการของผู้หญิง และประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงแต่ละคน ตั้งแต่สภาพสังคมและเงื่อนไขชีวิตที่ผลักให้เธอต้องเข้าสู่ระบบยุติธรรม ช่วงเวลาในเรือนจำ และอุปสรรคในอนาคตจึงสำคัญมากต่อการพัฒนาแผนฟื้นฟูอดีตผู้กระทำผิดให้กลับคืนสู่สังคมได้
 
 
ณ ปัจจุบัน นักโทษหญิงในเรือนจำของประเทศไทยมีทั้งหมด 47,905 คนจากจำนวนนักโทษทั้งหมด 378,732 คน คิดเป็นร้อยละ 12..6 ของจำนวนประชากรผู้ต้องขังทั้งหมด หลังจากที่เวลาในเรือนจำหมดลง ผู้หญิงที่เคยโดนจองจำเหล่านี้จะต้องออกไปเผชิญกับการถูกตีตราว่าเป็น ‘คนคุก’  สำหรับคนที่เคยมีประวัติโดนจองจำมาก่อน สังคมที่ไม่ต้อนรับและไม่เชื่อใจอดีตผู้ต้องขังได้สร้างอุปสรรคในการดำรงชีวิตอย่างถูกกฎหมาย อดีตผู้ต้องขังมักถูกผลักไปสู่ชายขอบของสังคม ขาดโอกาสในการทำงาน ดังนั้น จึงไม่ยากเลยที่เส้นทางชีวิตหลังพ้นโทษของผู้หญิงจำนวนมากจะกลายเป็นวงจร “ออกคุก-ทำผิด-เข้าคุกอีกรอบ” 
 
ฉะนั้นแล้ว คำถามที่ระบบยุติธรรมกำลังดิ้นรนหาคำตอบจึงตกมาที่สังคมด้วย:
 
เมื่อไหร่กันที่สังคมจะแสดงความรับผิดชอบต่อชีวิตผู้หญิงที่พวกเราผลักกลับไปสู่สถานะของอาชญากร? 
 
การยุติการกระทำผิดซ้ำไม่ใช่ภาระของอดีตผู้กระทำผิดเพียงคนเดียว โปรดอย่าทอดทิ้งเธอ
 
ด้วยความเคารพและเชื่อมั่นในมนุษยชาติ
 

บทความชิ้นนี้เรียบเรียงมาจากงานสัมมนาออนไลน์ "Promoting the Social Reintegration of Women After Release" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Global Webinar Series on "Gender-Responsive Criminal Justice and Prison Reform" โดยงานสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563 และมีผู้เข้าร่วมพูดคุยทั้งหมด ดังนี้

  • Muriel Jourdan-Ethvignot Crime Prevention and Criminal Justice Officer, United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)
  • Rob Allen นักวิจัยอิสระและที่ปรึกษา United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)
  • ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice - TIJ)
  • Aisyah Q. Yuliani Criminal Justice Programme Coordinator, United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)
  • Julie Mariama Sesay Programmes Manager, AdvocAid Sierra Leone
 
ดำเนินรายการโดย Prarthana Rao Policy and Research Officer, (Thailand Institute of Justice - TIJ)
Back

Most Viewed