“ถ้าครูยังไม่รู้จะเริ่มยังไง ขอให้เริ่มที่การฟังให้เป็น ฟังปัญหา เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา” - วิธีเปลี่ยนครูธรรมดาให้เป็น ‘ครูนางฟ้า’
“เด็กติดยาเสพติด” กำลังเป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “อายุ” ของเด็กที่เสพ กระแสสังคมที่เกี่ยวข้องกับเด็กเสพยานั้นอาจเพิ่มขึ้นได้จากการแพร่หลายของสื่อออนไลน์ รวมทั้งการมีของใหม่ที่ทำให้เด็ก ซึ่งอยู่ในวัยอยากรู้อยากลอง ก้าวเข้าสู่วงจรการเสพ แต่เบื้องหลังความอยากลองนั้นคืออะไร และเราจะมีวิธีการอย่างไรบ้างในการจัดการปัญหายาเสพติดที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศมาอย่างยาวนาน แม้จะมีการทำสงครามยาเสพติด การเปลี่ยนมาตรการเป็นผู้เสพเป็นผู้ป่วย แต่ก็ยังไม่พบคำตอบที่แน่ชัด
ในกิจกรรมคู่ขนานในรูปแบบการเสวนา หัวข้อ “ฝ่าวิกฤตยาเสพติด: Justice in Action” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโครงการ RoLD in Action การขับเคลื่อนความยุติธรรมในภาคปฏิบัติ จึงได้นำเสนอถึงแง่มุมของสถานการณ์การเสพติด พฤติกรรมการเสพติด และแนวปฏิบัติที่อาจนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาได้
ทำไมเด็ก ถึงเสพติดง่าย?
“แรกเริ่มที่สัมผัสยาเลยคืออายุ 12 ขวบ แต่กว่าจะได้เข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือ เด็กอายุ 18 แล้ว ช่วงเวลาระหว่างนั้นเด็กอยู่ที่ไหน”
พญ.ดวงดาว ศรียากูล รอง.ผอ. รพ.เพชรบูรณ์และรองเลขานุการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ผู้คร่ำหวอดในวงการดูแลเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาด้านยาเสพติดมานานกว่า 10 ปี กล่าวถึงจุดริเริ่มของโครงการที่มีชื่อว่า ครูนางฟ้า
แม้โครงการนี้จะไปทำให้เกิดกระบวนการทำงานที่ “ครู” แต่จุดเริ่มต้นของโครงการมาจาก “หมอ”
“เราพบว่า มีเยาวชนจำนวนมาก กว่าจะมาเจอหมอก็กลายเป็นผู้ป่วยสีแดงไปซะแล้ว ซึ่งหมายถึงเป็นผู้ป่วยวิกฤตไปแล้ว ดังนั้นเราต้องคิดว่า ทำอย่างไรเราจึงจะเจอเขาได้ตั้งแต่ยังเป็นสีเหลือง หรือถ้าให้ดีคือตั้งแต่ที่เขาเริ่มป่วยเล็กน้อยหรือเป็นผู้ป่วยสีเขียว ... ดังนั้น เราจึงคิดว่า เราต้องไปร่วมมือกับโรงเรียน ด้วยการไปให้ความรู้เรื่องสาธารณสุขและจิตวิทยาเด็กกับ ครู โดยเฉพาะพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติด จึงเกิดเป็นโครงการ ครูนางฟ้า โดยร่วมมือกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติที่มีหมออีกหนึ่งคน คือ นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผอ.รพ. ท่าวุ้ง เป็นเลขานุการ”
พญ.ดวงดาว ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การเสพติดมีเหตุจากปัจจัยทางชีวภาพ (Biology) ปัจจัยทางพฤติกรรม (Behavior) และที่มีอิทธิพลมากคือ ความปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ที่กระตุ้นให้ใช้ยาเสพติดเป็นเครื่องมือในการเผชิญปัญหา
“ปัจจัยทางชีวภาพ หรือ ความเสี่ยงทางพันธุกรรม เช่น ยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับระบบให้รางวัลในสมอง (reward system) พัฒนาการของสมองที่ไม่สมบูรณ์ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจหรือควบคุมตนเองได้อย่างเต็มที่ การตอบสนองทางร่างกายเมื่อใช้สารเสพติดต่างประเภทกัน บางคนอาจจะเสพติดบุหรี่และบางคนเมื่อลองแล้ว อาจจะไม่ติดก็ได้ ... ต่อมาคือปัจจัยทางพฤติกรรม วัยรุ่นชอบความท้าทายและสิ่งแปลกใหม่ มีความอยากรู้อยากลอง ไม่ประเมินความเสี่ยงถึงปัญหาที่จะตามมา ยังขาดทักษะในการใช้ชีวิตอย่างการควบคุมตนเอง การรับมือกับความเครียด และทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหา”
“ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือ การใช้ยาเสพติดเป็นกลไกในการเผชิญปัญหา กลุ่มนี้พบว่า เกิดจากความกดดันจากสิ่งแวดล้อม เช่นอิทธิพลจากกลุ่มเพื่อน การต้องการเป็นที่ยอมรับ ความสัมพันธ์ในครอบครัว อย่างรูปแบบการเลี้ยงดู การมีแบบอย่างการใช้ยาเสพติดในครอบครัว หรือในชุมชน รวมทั้งความยากง่ายในการเข้าถึงยาเสพติด การแพร่หลายของสารเสพติดในพื้นที่”
ด้าน นพ.สันติ เสริมว่า การจัดการปัญหาเด็กติดสารเสพติด จะต้องทำตั้งแต่ต้นทาง โดยโครงการครูนางฟ้าได้เริ่มจากไปดูที่โรงเรียนในเพชรบูรณ์ สำรวจพบว่ามีเด็กในกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยงถึงประมาณ 30%
“เราต้องใช้วิธีการคัดกรองเด็ก ... โดยกลุ่มแพทย์ที่ร่วมกันทำโครงการนี้ได้ชวน ครู ในโรงเรียนมาร่วมทำกระบวนการที่เรียกว่า MI/ Li-CBT หรือการเรียนรู้ทักษะการสื่อสาร ด้วยการใช้ใบงานดูแลจิตใจ เมื่อพบว่าแนวทางดังกล่าวสามารถช่วยเหลือเด็กได้ จึงได้ร่วมกับเครือข่ายได้แก่โรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ และโรงพยาบาลชุมชน จัดอบรมเสริมศักยภาพครูในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน จนปัจจุบันมีโรงเรียนเครือข่ายครูนางฟ้าแล้ว 110 แห่ง ครอบคลุม 42 จังหวัดทั่วประเทศ” เลขานุการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ อธิบาย
โครงการ “ครูนางฟ้า” ยังได้ขยายไปสู่โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัย ผ่านการปฏิบัติตามแนวทาง “เด็กเป็นศูนย์กลาง” (Integrated Child – Centered Active Learning Project – ICAP) โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กอายุระหว่าง 0-7 ปี ซึ่งเป็นพัฒนาการช่วงทองของชีวิต เพื่อให้เด็กได้เติบโตสมวัย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ อันจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดพัฒนาการทางสมองและสังคมตามวัยของเด็ก โดยเฉพาะในส่วนของสมองส่วนหน้าให้ได้รับการพัฒนาเต็มที่ อันจะช่วยลดแนวโน้มของพฤติกรรมเสพติดในอนาคต
“ศ. เจมส์ เจ เฮคแมน นักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบล ปี 2000 เผยผลวิจัยไว้ว่า การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะให้ผลตอบแทนนสูงถึง 6.3 ดอลลาร์สหรัฐ”
นพ.สันติ ยกข้อมูลนี้ขึ้นมาอธิบายให้เห็นถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ หากจะลงทุนใช้งบประมาณไปกับการแก้ปัญหายาเสพติด
“ครูนางฟ้า” จึงไม่ใช่การแก้ปัญหายาเสพติดด้วยการส่งเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดไปเข้ารับการลงโทษ และต้องมาลุ้นต่อว่า พวกเขาจะหาทางกลับคืนสู่สังคมในอนาคตของตัวเองได้หรือไม่ ... แต่นี่เป็นโครงการที่พยายามมองลึกลงไปถึงต้นตอที่แท้จริงของปัญหาว่า “เราต้องทำอะไรบ้าง เพื่อปกป้องเด็กคนหนึ่ง ก่อนที่เขาจะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเข้าไปใช้ชีวิตช่วงเวลาหนึ่งในเรือนจำในฐานะ อาชญากร”
วงจรของ “การเสพยา – ถูกจับ – กลับไปเสพยา” สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรบ้าง
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโทษรุนแรงในการลงโทษผู้เกี่ยวข้องในคดียาเสพติด โดยประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ผู้ต้องขังร้อยละ 70 เป็นผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่อออกจากเรือนจำ พวกเขามักจะถูกตีตรา มีปัญหาสุขภาพทั้งกายและใจ ไม่ได้รับโอกาสในการกลับเข้าสู่สังคมปกติ หลายคนกลับไปอยู่ในชุมชนหรือบ้านเกิดที่ยังคงมีปัญหายาเสพติด ทำให้ไม่สามารถหลีกหนีจากความกดดันในสังคม และสุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้กลับไปเสพติด และอาจต้องกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง
ขัตติยา รัตนดิลก ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม (สกธ.) กล่าวถึงสถิติในภาพรวมของกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดของประเทศไทยขณะนี้ว่า ปีนี้ผ่านมาไม่ถึง 6 เดือน ประเทศไทยมีคดีเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว 1 แสนคดี รวมจำนวนเม็ดยาที่จับกุมได้มากกว่า 500 ล้านเม็ด
“แต่ยังมีคำถามว่า การจับผู้ยาเสพติดได้จำนวนมาก ช่วยให้ยาเสพติดหมดไปจริงหรือไม่ เพราะการผลิตยาเสพติดทำได้ง่ายมาก เมื่อถูกจับได้แล้วก็ผลิตใหม่ ... ข้อมูลเชิงสถติยังบอกด้วยว่า ในจำนวนคดียาเสพติดทั้งหมดที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นับเป็นผู้ต้องขังในฐานคดี “ผู้ค้ารายใหญ่” คือ นำเข้า ส่งออก หรือผลิตยาเสพติด คิดเป็นจำนวน 25% เท่านั้น ส่วนอีก 25% เป็นกลุ่มที่ถูกจับฐานการครอบครองเพื่อเสพ และคดีเสพยาเสพติด”
“ไม่มีใครเกิดมาแล้วตั้งใจจะเป็นผู้เสพ”
นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผอ.ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ ม.เชียงใหม่ กล่าวสนับสนุนว่า การเสพติด มีเหตุมาจากปัจจัยหลักทั้งในส่วนของผู้เสพ ปัญหา กาย จิตใจ สังคม ครอบครัว เพื่อน ชุมชน และสารที่ทำให้เสพติด
นพ.อภินันท์ให้ความเห็นว่า ปัญหายาเสพติดที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นั้นมีปัจจัยทั้งด้านความจำเป็นที่จะต้องใช้ยา ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ด้านสิ่งแวดล้อมจากครอบครัวและสิ่งแวดล้อม และมีจุดเชื่อมที่เห็นได้ชัดว่าเป็นต้นเหตุในภาพรวมคือพฤติกรรมการเริ่มเสพยา เกิดในช่วงวัยรุ่น เพราะเป็นวัยที่ควบคุมอารมณ์ได้ยาก เกิดจากสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนที่จะเติบโตแข็งแรงได้ช้าที่สุด ส่วนผู้ที่เสพยาในช่วงที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะเป็นเหตุจากทางสังคม ถ้าเหตุไม่หายไป เช่นต้องการหนีความเครียด ต้องใช้ยาเพื่อใช้แรงงานก็จะเกิดการใช้ซ้ำ ไม่ต่างจากการติดกาแฟ ดังนั้นการจะลงโทษด้วยบทลงโทษทางอาญาจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดในสังคมได้
“ที่ผ่านมาหลายฝ่ายได้ร่วมกันทำงานเชิงรุก โดยมีกระบวนการคัดกรองและแยกแยะผู้เสพ ผู้เสพติด ผู้ครอบครองเพื่อเสพ ผู้ค้า ผู้ผลิต ขณะที่ในส่วนของชุมชน เรียกว่า การบำบัดยาเสพติดบนฐานชุมชนมีส่วนร่วม (Community-based Drug Treatment and Care – CBTx) มีแนวทางบำบัดยาเสพติดในระบบสาธารณสุข ครอบคลุมกระบวนการทั้งการเข้าถึง การป้องกัน การบำบัดทั้งกายและจิต ด้วยการให้คำปรึกษาทางจิตสังคม การประเมินวินิจฉัยและคัดกรอง และการฟื้นฟูสภาพ ทั้งกระบวนการนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายหน่วยงาน เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่เสพติดเรื้อรัง ... ก็ถือเป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาที่ต้นทาง”
“อีกแนวทางหนึ่งที่นำมาใช้ได้คือ แนวทางลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) เพื่อให้ผู้เสพสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับชุมชนได้โดยไม่เป็นอันตรายทั้งต่อตนเองและคนรองข้าง และช่วยลดการใช้โทษจำคุก แต่การใช้แนวทางนี้ก็จะต้องมีชุมชนและผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง และต้องมีเป้าหมายร่วมกันคือการลดภัยจากการใช้ยาเสพติด ควบคู่ไปกับภารกิจของกระบวนการยุติธรรม คือ การลดจำนวนผู้ใช้ยาเสพติด ลดผู้ค้า ลดการผลิต และลดภัยจากยาเสพติดได้อย่างยั่งยืน” นพ.อภินันท์ สรุป
ศาลยุติธรรมประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งเรี่ยวแรงสำคัญในการผลักดันการแก้ปัญหายาเสพติดด้วยแนวทางนี้เช่นกันผ่าน “โครงการคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล ซึ่งดำเนินการมาหลายปีแล้วก่อนที่จะมีประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ด้วยซ้ำ
แนวทางของ “ศาล” สอดคล้องกับแนวคิดยุคใหม่คือ ถือว่า “ผู้เสพ” เป็น “ผู้ป่วย” ที่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดซึ่งไม่เข้าสู่กระบวนการสมัครใจบำบัด แต่เมื่อมาถึงชั้นศาลแล้ว ศาลก็ยังสามารถส่งเข้ารับบริการให้คำปรึกษาจากนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ผู้พิพากษา ผู้ให้คำปรึกษา และผู้รับคำปรึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาการเสพติด ควบคู่ไปกับกระบวนการภายในศาล
อภิรดี โพธิ์พร้อม ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ชี้ว่า โครงการคลินิกให้คำปรึกษานี้ มาตั้งแต่ ปี 2560 โดยมีการดำเนินงานไปในแนวทางเดียวกับประมวลกฎหมายยาเสพติดในการส่งผู้กระทำผิดในคดีเสพยาเสพติดที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดในสถานบำบัดยาเสพติด โดยยังไม่ถูกดำเนินคดี หรือหากถูกดำเนินคดีก็สามารถเลือกเข้ารับการบำบัดได้ในศาล ตามเงื่อนไขเพื่อควบคุมความประพฤติ เพื่อความปลอดภัย หรือเพื่อลงโทษ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ และในอนาคตมีนโยบายขยายงานคลินิกเพิ่มเติม รวมทั้งการจัดทำศาลนำร่องเพื่อบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และเสนอร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดียาเสพติดเพิ่มเติมด้วย
นี่เป็นกิจกรรมคู่ขนานในรูปแบบการเสวนา หัวข้อ “ฝ่าวิกฤตยาเสพติด: Justice in Action” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโครงการ RoLD in Action การขับเคลื่อนความยุติธรรมในภาคปฏิบัติ เพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างรอบด้านและยั่งยืน เป็นกิจกรรมหนึ่งในการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 22 ในหัวข้อ “ยุติธรรมกินได้” ระหว่างวันที่ 22-23 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ที่อาคาร TIJ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ จัดโดย สำนักกิจการยุติธรรม (สกธ.) ร่วมกับ TIJ