ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เมื่อเด็กคนหนึ่งกระทำความผิด ..

เส้นทางสู่กระบวนการยุติธรรมและการให้ความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย

 
 
กฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนสากล มองว่า เด็กและเยาวชนยังมีความสามารถในการตัดสินใจหรือวิเคราะห์ประมวลผลได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ ทั้งด้วยเหตุผลทางชีววิทยาอย่างฮอร์โมนและพัฒนาการด้านสมอง และเหตุผลด้านประสบการณ์ที่มีน้อยกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเจริญเติบโตต่อมาเด็กอาจไม่ได้มีลักษณะการกระทำผิดเป็นนิสัยหรือเป็นสันดาน กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กจึงเป็นการให้โอกาสในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้
 
 
เมื่อเด็กคนหนึ่ง กลายเป็นผู้กระทำความผิด ...
ทำความเข้าใจกันก่อนว่า กฎหมายอาญา แบ่งผู้กระทำความผิดที่อายุน้อยออกเป็น 4 กลุ่ม ตามอายุ
• อายุไม่เกิน 12 ปี ถ้าทำผิด ศาลจะ “ยกเว้นโทษ” ให้
• อายุ 12-15 ปี ถ้าทำผิด ยังคงได้รับการ “ยกเว้นโทษ” แต่ศาลมีอำนาจสั่งมาตรการพิเศษสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เช่น ว่ากล่าวตักเตือน ส่งไปสถานฝึกอบรมหรือคุมประพฤติ
• อายุ 15-18 ปี ถ้าทำผิด ศาลอาจตัดสินลงโทษหรือไม่ก็ได้ ถ้าลงโทษ ให้ลงโทษกึ่งหนึ่ง แต่ถ้ายกเว้นโทษก็ให้กำหนดมาตรการฟื้นฟู
• อายุ 18-20 ปี ถ้าทำผิด ต้องรับโทษ แต่ศาลอาญาลดโทษ 1/3 หรือกึ่งหนึ่ง
 
 
“แต่ถ้าเป็นความผิดที่สร้างความเสียหาย ถือเป็นการละเมิดต่อผู้อื่น ก็ยังคงมี “ความผิดทางแพ่ง” ที่ต้องชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหาย ซึ่งผู้ปกครองจะต้องมาร่วมรับผิดด้วย
 
 
กระบวนการยุติธรรมจึงมีบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็ก ไม่ใช่ “ไม่ลงโทษ” เลย
 
 
ดังนั้น “ถ้าเด็กทำความผิดร้ายแรง” สิ่งที่จะถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก จึงกลายเป็น “การมุ่งค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของการกระทำความผิดให้ได้ก่อน” ว่ามีเหตุปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งเสริมให้เด็กคนนั้นมีพฤติกรรมที่ขัดแย้งต่อกฎหมาย ซึ่งมักจะพบว่า บางปัญหาที่พบอาจอธิบายไม่ได้ด้วยหลักทางกฎหมาย แต่ต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์มาอธิบาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งหมายความว่า เด็กก็ยังจำเป็นต้องได้รับโทษ แต่การรับโทษ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบของการลงโทษทางอาญาเพียงอย่างเดียว
 
 
เมื่อพบสาเหตุแล้ว จึงจะสามารถกำหนดวิธีการให้รับโทษให้เหมาะสมกับพฤติกรรมที่กระทำผิดได้ แต่หากไม่ทำกระบวนการนี้ ก็อาจกลายเป็นการลงโทษที่ไม่สอดคล้องกับความผิด เช่น การตีเด็กเพราะไม่ตัดผมตามระเบียบ เป็นต้น
 
 
กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก จึงต้องถูก “ออกแบบขึ้น” โดยประเทศไทย ก็ใช้แนวทางเดียวกับหลักการสากล คือ การใช้ระบบศาลเยาวชน มีมาตรการเฉพาะสำหรับเยาวชน มีทีมสหวิชาชีพ มีอัยการและผู้พิพากษาที่ผ่านการฝึกอบรมเพื่อการทำงานกับเด็กมาร่วมออกแบบวิธีการแสวงหาสาเหตุที่แท้จริงของการกระทำผิดในแต่ละกรณี โดยเรียกว่า แผนบำบัดฟื้นฟูพฤติกรรม
 
 
ถ้าพบว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากสารเคมีในสมอง ภาวะการเสพติดยา ความต้องการเชิงสังคม อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy)
 
 
หรือหากพบว่ามีภาวะถูกกระทำซ้ำหรือประสบเหตุความรุนแรงที่ฝังใจมาก่อน จะใช้วิธีการดูแลหลังประสบเหตุรุนแรง (Trauma Informed Care) ร่วมในการออกแบบด้วย
 
 
เมื่อเด็กคนหนึ่ง กลายเป็นผู้กระทำความผิด จึงมีวิธีการปฏิบัติที่ต่างออกไปจากผู้ใหญ่ ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง
 
 
มาถึง ขั้นตอน ... การจับกุมและควบคุมตัว
เมื่อจับกุมเด็กหรือเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมตามหมายจับ หมายค้น หรือการจับกุมโดยไม่ใช้หมาย หากผู้กระทำผิดเป็นเด็กหรือเยาวชนที่มีอัตราโทษไม่เกิน 3 ปี จะต้องได้รับการแจ้งสิทธิตามกฎหมายทันที
- สิทธิในการได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา
- สิทธิในการได้รับการแต่งตั้งทนายความ
- สิทธิในการได้รับการประกันตัว
- สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล
 
 
ขั้นตอน ... การสอบสวน
การสอบสวนเด็กและเยาวชน จะยึดหลักการที่สำคัญ คือ “งดเว้นการดำเนินการที่อาจทำให้ได้รับความอับอายหรือเสียหาย”
- เด็กและเยาวชนต้องได้พบกับผู้ปกครองหรือบุคคลไว้วางใจ
- ต้องมีพนักงานอัยการ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสางเคราะห์เข้าร่วมสอบสวนด้วย
- ต้องบันทึกภาพและเสียงที่สามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้ เผื่อสำหรับกรณีที่อาจไม่สามารถนำเด็กมาเบิกความได้ในชั้นศาลเพราะเหตุจำเป็นต่าง ๆ
- ศาลอาจรับฟังบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวเหมือนการเบิกความด้วยตัวเอง
 
 
ขั้นตอน ... ก่อนฟ้องคดีต่อศาล
กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สามารถใช้มาตรการพิเศษเผื่อผันคดีออกจากกระบวนการได้ในชั้นก่อนฟ้อง โดยจะทำหน้าที่ประเมินและคัดกรอง ก่อนจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเสนอต่ออัยการ และประชุมร่วมกับครอบครัว ด้วยการ ...
- พบพนักงานคุมประพฤติเพื่อประเมินความเสี่ยง
- พบนักจิตวิทยาเพื่อประเมินสุขภาวะทางจิต
- พบนักสังคมสงเคราะห์เพื่อพูดคุย
- เปิดโอกาสให้เด็กได้รับความคุ้มครองและพัฒนาด้านจิตสังคมแทนการดำเนินคดีอาญา
- นำไปสู่การทำให้เด็กที่กระทำผิดสำนึกในสิ่งที่กระทำ และทำให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสม
- หากพนักงานอัยการเห็นชอบกับแผน สามารถมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือยุติคดีได้
- หากพนักงานอัยการไม่เห็นชอบสามารถมีคำสั่งให้แก้ไขแผนใหม่ หรือสั่งดำเนินคดีต่อไป
 
 
ในชั้นนี้ จะเห็นว่า มีเป้าหมายหนึ่งของการออกแบบแผนที่สำคัญมาก
การทำให้เด็กคนหนึ่งที่กระทำความผิด ได้สำนึกในสิ่งที่กระทำ และทำให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสม
 
 
นั่นคือ การเปิดช่องทางให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งพ่อแม่เด็กที่กระทำความผิด ผู้เสียหาย ครอบครัวผู้เสียหาย จิตแพทย์ ทีมสหวิชาชีพ สามารถเข้าสู่กระบวนการเชิงฟื้นฟูเยียวยาร่วมกันได้ ทำให้ฝ่ายผู้เสียหายสามารถแจ้งได้ว่าต้องการการชดใช้เยียวยาต่อความเสียหายอย่างไร สามารถออกแบบได้ว่าจะมุ่งปรับพฤติกรรมของเด็กที่กระทำผิดอย่างไรเพื่อให้สำนึกในความผิด กำหนดเป็นเป้าหมายร่วมกัน มีการติดตามผลร่วมกันทุกฝ่าย แม้จะต้องดำเนินการในระหว่างที่เด็กรับการบำบัดรักษาหรือรับโทษก็ตาม
 
 
จะเห็นว่า วิธีการเช่นนี้ “เป็นประโยชน์กับผู้เสียหายมากกว่า” การมุ่งเน้นไปที่การลงโทษกับเด็กที่ทำความผิด เพราะมีโอกาสที่ฝ่ายผู้เสียหาย จะได้รับการชดใช้เยียวยาอย่างแท้จริงมากกว่า
 
 
ขั้นตอน ... การส่งฟ้องศาล
เด็กหรือเยาวชนที่ถูกฟ้องในคดีอาญา จะต้องถูกพิจารณาคดีในศาลเยาวชนและครอบครัว โดยเมื่อผ่านชั้นสอบสวน ส่งสำนวนการสอบสวนต่อพนักงานอัยการแล้ว
- พนักงานอัยการอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เด็กได้รับการฟื้นฟู คุ้มครอง หรือได้รับการช่วยเหลือทางสังคมและสุขภาพจิต
- ในระหว่างนี้ ผู้พิพากษามักไม่ควบคุมตัวเด็ก
- หากครอบครัวยังสามารถดูแลเด็กได้ ก็จะพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว
- ต้องไปพบเจ้าหน้าที่ตามกำหนดนัด
- แต่ ... หากผู้พิพากษา เห็นว่า เด็กผู้ก่อเหตุ มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยอย่างร้ายแรง ก็มีคำสั่งให้ต้องอยู่ในความดูแลของกรมพินิจฯได้
 
 
ดังนั้น เมื่อเด็กคนหนึ่งกระทำผิด จึงมีบทลงโทษเสมอ
การที่เด็กกระทำผิด ไม่ได้หมายความว่า เด็กจะต้องไม่รับโทษเสมอไป
ข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2566 ประเทศไทยมีเด็กที่เข้าสู่ศูนย์ฝึกเยาวชน และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จำนวน 2,811 คน และยังมีแนวทางการลงโทษที่ควบคู่ไปกับการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมของผู้กระทำผิดในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการลงโทษจะถือเป็นแนวทางอันดับท้ายๆ ในกระบวนการและใช้โทษเพื่อมุ่งผลในเชิงปรับเปลี่ยนวิธีคิด ทัศนคติ พฤติกรรม ที่สอดคล้องกับหลักสิทธิเด็กตามอนุสัญญา CRC รวมทั้งสามารถใช้กระบวนการเชิงฟื้นฟูเยียวยาเข้ามาร่วมในการแก้ไขปัญหาอีกด้วย
 
 
ขั้นตอน ... พิจารณาคดี
ในการพิจารณาคดีที่ผู้กระทำผิดเป็นเด็ก ผู้พิพากษาจะใช้คำพูดที่จำเลยเข้าใจได้ง่าย
- มักเรียกชื่อจริงหรือชื่อเล่นแทนคำว่าจำเลย
- สร้างบรรยากาศในห้องพิจารณานั้นให้เป็นกันเอง เพื่อให้เด็กและเยาวชนวางใจ และกล้าเล่าเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการกระทําผิด
- อาจแต่งตั้งผู้พิพากษาสมทบมาช่วยเหลือศาลในการพิจารณาคดี
- อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนมาช่วยเหลือศาลในการพิจารณาคดีช่วยเหลือศาลในการพิจารณาคดี
- อาจพิจารณามีคำสั่งให้เด็กและเยาวชนได้รับการฟื้นฟู
 
 
ในขั้นตอนนี้ ... ยังมีบทบาทของ “สถานพินิจฯ”
- ทำหน้าที่สืบเสาะและวิเคราะห์ประวัติของเด็กที่กระทำผิด
- วิเคราะห์ไปถึงสภาพแวดล้อม เพื่อหาเหตุแห่งการกระทำผิด
- จัดทำรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กที่กระทำผิด เสนอต่อศาล
- ให้ความเห็นต่อศาลว่าควรพิจาณาลงโทษอาญา หรือใช้มาตรการพิเศษใดที่เหมาะสมกับความผิดมาแทนการลงโทษ เพื่อประกอบการพิจารณา
 
 
ส่วนการลงโทษทางอ้อมจากสังคม เมื่อเด็กคนหนึ่งกระทำผิดร้ายแรง ด้วยการประจานหรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของผู้กระทำผิด จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 27 คือ
"ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศ ประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือ ผู้อื่นโดยมิชอบ"
 
 
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะกฎหมายมีเจตนารมณ์ไม่ให้เกิดกระบวนการตอกย้ำบาดแผลในจิตใจของเด็ก ซึ่งจะนำไปสู่ความเกลียดชัง ไม่เคารพตนเอง ต่อต้านสังคม ภาวะซึมเศร้า
 
 
และที่สำคัญคือ การเปิดเผยข้อมูลของเด็กที่กระทำผิด อาจส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมเข้าไปช่วยเจรจากับฝ่ายผู้ก่อเหตุเพื่อเรียกร้องสิทธิในการการชดเชยเยียวยาให้ผู้เสียหายได้ยากยิ่งขึ้น
Back

Most Viewed