ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

บ่อยครั้งที่เราเห็นข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้กระทำความผิด หลายคนตั้งคำถามว่า ทุกวันนี้เด็กไทยมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ หลายคนตั้งคำถามเชิงประณามพ่อแม่ผู้ปกครองว่าอบรมสั่งสอนลูกหลานดีพอหรือยัง และหลายกรณีมักจะเกิดประเด็นถกเถียงกันในสังคมว่า สมควรหรือไม่ ที่พวกเขาจะได้รับการผ่อนปรนให้รับโทษสถานเบาเพียงเพราะเป็นผู้เยาว์ หรือควรได้รับโทษแบบเดียวกับผู้ใหญ่ให้สาสมกับการกระทำที่ดูอุกอาจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

 

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ Rethinking Myths of Justice ยุติธรรม... ตามที่คุณเชื่อ (?) ในหัวข้อ “เด็ก x ความรุนแรง” ตกผลึกบทบาทของสังคมกับความรุนแรงในเด็ก เพื่อพูดคุยถึงปัญหาความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูล มุมมอง และแบ่งปันประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในการทำงานคลุกคลีกับเด็ก เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่าเด็กกระทำความรุนแรงมากขึ้นจริงหรือไม่ ถ้าจริงเป็นเพราะสาเหตุใด และที่สำคัญคือ เราทุกคนในฐานะสมาชิกของสังคมจะช่วยกันป้องกันปัญหาและสร้างสังคมที่ปลอดความรุนแรงร่วมกันได้อย่างไร

 

เยาวชนคนรุ่นใหม่ก่อความรุนแรงมากขึ้น?

 

คุณโชติมา สุรฤทธิธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการเด็กและเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ให้ข้อมูลว่า จากสถิติคดีของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในช่วงปี 2560-2564 พบว่า เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มก่อความรุนแรงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564 

 

รายงานสถิติคดีของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนระบุว่า ในช่วงปี 2562-2564 มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ จำนวน 20,842 คดี 19,470 คดี และ 14,593 คดี ตามลำดับ เมื่อจําแนกตามฐานความผิดของคดีในปี 2564 พบว่า เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษมากที่สุด จํานวน 6,943 คดี คิดเป็นร้อยละ 47.58 รองลงมาเป็นคดีที่มีฐานความผิดอื่น ๆ เช่น พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และพ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 เป็นต้น คดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ คดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย คดีเกี่ยวกับเพศ และคดีความมั่นคง ความสงบสุข เสรีภาพ และการปกครอง ตามลำดับ

 

คุณโชติมา สุรฤทธิธรรม
ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการเด็กและเยาวชน กรมพินิจ
และคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม

 

วงเสวนาได้ตั้งข้อสังเกตว่า สถิติความรุนแรงที่ลดลงนั้น เป็นเพราะมาตรการเคอร์ฟิวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การก่อเหตุรุนแรงในลักษณะปะทะกันลดลงแต่ไปเพิ่มขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์หรือไม่ ส่วนการที่สังคมรับรู้ว่ามีความรุนแรงมากขึ้นหรือพบอุบัติการณ์ถี่ขึ้น อาจเป็นเพราะสื่อฉายภาพข่าวความรุนแรงซ้ำ ๆ ผนวกกับการส่งต่อข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทำได้ง่ายมากขึ้น และอาจเกี่ยวกับความเข้าใจของคนในสังคมด้วยว่าตีกรอบความรุนแรงอย่างไร เนื่องจากสถิติของกรมพินิจฯ นับเฉพาะความรุนแรงที่เป็นความผิดทางอาชญากรรมเท่านั้น 

 

ความรุนแรงคืออะไร มีขอบเขตแค่ไหน?

 

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้นิยามความรุนแรงไว้ว่า หมายถึง การจงใจใช้กำลังหรืออำนาจทางกายเพื่อข่มขู่หรือกระทำต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อกลุ่มบุคคล หรือชุมชน ซึ่งมีผลทำให้เกิดหรือมีแนวโน้มที่จะมีผลให้เกิดการบาดเจ็บ ตาย หรือเป็นอันตรายต่อจิตใจ รวมถึงการยับยั้งการเจริญงอกงาม การกีดกันหรือปิดกั้น ทำให้สูญเสียสิทธิบางประการหรือไม่ได้รับในสิ่งที่สมควรจะได้รับ 

 

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีและอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่านิยามของ WHO ได้กำหนดขอบเขตของความรุนแรงไว้กว้างขวางหลายระดับ ครอบคลุมถึงการทำร้ายตัวเอง การทำร้ายผู้อื่นแม้จะไม่ได้มีความผิดทางกฎหมาย และความรุนแรงในโลกไซเบอร์ ซึ่งหากนิยามความรุนแรงให้ครอบคลุมก็จะอาจเห็นว่าความรุนแรงในเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์
คณบดีและอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

วงเสนาได้เสริมประเด็นนี้ว่า การที่เด็กเล่นกันหรือแกล้งกันแรง ๆ พูดล้อชื่อพ่อแม่ ล้อเลียนเรื่องรูปร่าง หน้าตา สีผิว หรือแม้แต่การเพิกเฉยต่อกัน เช่น “เคสของเด็กผู้หญิง ignore กัน ห้ามเพื่อนในกลุ่มไม่ให้ไปเล่นกับคนนั้น ห้ามไปยุ่งกับคนนี้” ก็ถือว่าเป็นความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ ความรุนแรงยังสามารถส่งผ่านจากการเป็นพยานในการรับรู้เหตุการณ์นั้น แม้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงกับตัวเอง ก็ถือว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเช่นกัน 

 

เพราะฉะนั้น ทัศนคติ การรับรู้ และการนิยามความรุนแรงของคนในสังคม จึงมีผลอย่างมากต่อการทำความเข้าใจและค้นหาสาเหตุเบื้องลึกที่ทำให้เด็กก่อความรุนแรง และมีส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การแสวงหาแนวทางป้องกันและแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป  

 

ภูมิหลังของเด็กที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรง

 

งานวิจัยจากหลายแหล่งชี้ชัดไปในทางเดียวกันว่า เด็กที่มีแนวโน้มเป็นผู้ใช้ความรุนแรงทั้งต่อตนเองและผู้อื่น มักมีภูมิหลังว่าเคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย ทางเพศ ทางอารมณ์และจิตใจ รวมถึงการถูกทอดทิ้งละเลยไม่ดูแลให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างเหมาะสม 

 

คุณโชติมา ให้ข้อมูลสนับสนุนในประเด็นนี้ว่า เด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและอยู่ในความดูแลของกรมพินิจฯ ซึ่งหมายถึงกลุ่มเด็กที่กระทำผิดแล้วนั้น มีหลายปัจจัยร่วมที่ส่งอิทธิพลให้เด็กกระทำผิด โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมในครอบครัวที่มีความขัดแย้งและมีความเครียดสูง พ่อแม่ผู้ปกครองใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา ทำให้เด็กเติบโตและเรียนรู้วิธีการจัดการปัญหาด้วยความรุนแรง รวมถึงครอบครัวที่มีการควบคุมจัดการเรื่องระเบียบวินัยกับเด็กในลักษณะไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับอารมณ์และความพร้อมของพ่อและแม่ เช่น “อารมณ์ดีก็อนุญาตผ่อนปรน แต่เวลาหงุดหงิดก็จะเข้มงวด” และครอบครัวที่ละเลย ไม่กำกับดูแลเมื่อเด็กมีปัญหา โดยเฉพาะปัญหาความล้มเหลวทางด้านการศึกษาเป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้เด็กออกมาอยู่นอกระบบ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเพื่อนหรือชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมเสี่ยงต่อการกระทำความผิด  

 

อีกปัจจัยที่อาจพบไม่มาก แต่ก็มีความสำคัญคือ ความรุนแรงที่เกิดจากพยาธิสภาพของเด็กตั้งแต่กำเนิดซึ่งมีลักษณะเป็นเด็กที่มีพื้นฐานเลี้ยงยาก งอแง ถูกกระตุ้นทางอารมณ์ได้ง่าย ทำให้พ่อแม่มีความลำบากในการจัดการควบคุมให้เด็กนิ่ง หยุดร้อง หรือเชื่อฟัง ซึ่งอาจต้องใช้ความรุนแรงบ้าง ทำให้เด็กถูกเลี้ยงดูด้วยวิธีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมและเรียนรู้การปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกโดยเลือกใช้ความความรุนแรงที่สั่งสมมา

 

คุณวรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยและบริหารการวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 PUB) และนักวิจัยจาก “รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว” โดยศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว หรือ “คิด for คิดส์” ให้ข้อมูลเสริมว่า จากงานวิจัยพบว่า เด็กที่กระทำผิดและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมักมีภูมิหลังคล้ายกันคืออยู่ภายใต้พันธนาการบางอย่าง เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำความรุนแรงในครอบครัว หรืออยากปลดพันธนาการจากความคาดหวังของครอบครัวหรือคนรอบตัวจนกระทั่งก้าวพลาดไป

 

คุณวรดร เลิศรัตน์
นักวิจัยและบริหารการวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 PUB) 
และนักวิจัยจาก “รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว”
โดยศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว หรือ “คิด for คิดส์”

 

ผศ.ดร.ณัฐสุดา ขยายความให้เห็น “สาเหตุและปัจจัยที่บีบคั้นให้เด็กก่อความรุนแรง” ว่าในทางจิตวิทยามองความรุนแรงมาจากเหตุปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ 1) เพื่อแสดงออกถึงอารมณ์โกรธ ความไม่พอใจจากภายใน เนื่องจากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ 2) ต้องการควบคุมหรือจัดการ และเมื่อใช้ความรุนแรงหยุดเหตุการณ์ได้แล้วรู้สึกว่าตัวเองจัดการได้ และ 3) เรียนรู้จากตัวแบบ โดยเฉพาะคนใกล้ตัว เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง คนในครอบครัว รวมถึงสื่อซึ่งเป็นอีกตัวแบบที่มีอิทธิพลต่อเด็ก  

 

ป้องกันเด็กก่อความรุนแรง ต้องลงโทษด้วยความรุนแรง?

 

จากเหตุผลและหลายปัจจัยร่วมที่ส่งผลให้เด็กก่อความรุนแรง เท่ากับว่า การใช้กฎหมายเพื่อลงโทษด้วยรุนแรงอาจไม่ใช่ทางออกที่จะช่วยป้องกันปัญหาได้…   

 

คุณธนะชัย สุนทรเวช ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ก้อนเมฆ ผู้จัดการอาวุโส ด้านการพัฒนาหุ้นส่วนทางสังคมและการมีส่วนร่วม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และผู้พิพากษาสมทบศาลครอบครัวกลาง ให้มุมมองว่าในสังคมไทยมีคำกล่าวที่ว่า “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” ซึ่งเป็นวิธีการลงโทษด้วยความรุนแรง แต่ถ้าเป็นเทรนด์ใหม่ ๆ จะหันมาใช้พลังบวกในการป้องกันปัญหาแทน เช่น “การให้คำชม ให้กำลังใจ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น ยิ่งต่อว่า จะยิ่งต่อต้าน แต่ถ้าทำให้พวกเขารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนและพร้อมจะรับฟัง เขาก็จะเปิดใจพูดคุยกับเรา”  

 

คุณธนะชัยยังได้แบ่งปันประสบการณ์ที่เคยเข้าไปให้คำปรึกษาในโรงเรียนแห่งหนึ่งว่า ได้ใช้นิทานทั้งของไทยและต่างประเทศมาช่วยปรับพฤติกรรมความรุนแรงในเด็ก ซึ่งอยากแนะนำสำหรับคนที่ทำงานเกี่ยวกับการดูแลเด็ก เพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้ง่าย นอกจากให้ความบันเทิงแล้ว ยังสามารถสอดแทรกคติสอนให้เข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมทั้งเป็นได้ทั้งรางวัลและการลงโทษ เช่น “ใช้เป็นเงื่อนไขว่าถ้าทำผิดกฎจะอดฟังนิทาน” เป็นต้น แม้จะต้องใช้เวลาแต่สุดท้ายเด็กจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้

 

คุณธนะชัย สุนทรเวช
ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ก้อนเมฆ ผู้จัดการอาวุโส
ด้านการพัฒนาหุ้นส่วนทางสังคมและการมีส่วนร่วม
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

 

คุณโชติมาเสริมว่า สิ่งที่จะมาหักล้างความรุนแรงในเด็กได้ ก็คือปัจจัยเชิงบวก “การที่เด็กรู้สึกว่ามีผู้ใหญ่ที่ผูกพันหรือมีสัมพันธภาพที่ดี คอยเกื้อหนุนทางจิตใจ ให้กำลังใจ ให้คำชี้แนะ ให้คำปรึกษา” จะช่วยลดทอนอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงที่เด็กเผชิญในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ พฤติกรรมเสี่ยงในช่วงวัยรุ่นเป็นธรรมชาติของพัฒนาการทางสมองในส่วนการคิด วิเคราะห์ และมองการณ์ไกล ซึ่งจะเจริญเต็มที่เมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไป ดังนั้น เมื่อผ่านช่วงนี้ไปพฤติกรรมความรุนแรงจะลดลงเอง จะมีคนเพียงส่วนน้อย ประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น ที่พฤติกรรมความรุนแรงส่งผ่านจากช่วงวัยรุ่นเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ 

ผศ.ดร.ณัฐสุดา ย้ำว่า พ่อแม่มีส่วนสำคัญมากที่จะทำให้เด็กเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง การที่เด็กรู้สึกว่ามี “significant person” หรือคนสำคัญในชีวิตนั้น จะทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีค่าและใช้ชีวิตอย่างรู้ค่า รวมทั้งมีทางออกเมื่อมีปัญหาทางจิตใจ เพราะรู้สึกว่ามีแหล่งพึ่งพิง ไม่ต้องไปพึ่งสิ่งที่ไม่เหมาะสม 

 

กฎหมายเด็กและเยาวชนไทยมีความเป็นสากล 

 

ส่วนเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น ปัจจุบันจะมีกฎหมายสำหรับ “เด็ก” ซึ่งเป็นบุคคลอายุไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ และ “เยาวชน” คือ บุคคลที่อายุเกินกว่า 15 ปีบริบูรณ์แต่ไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งล่าสุดตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 73 เปลี่ยนให้ “เด็กอายุไม่เกิน 10 ปี กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ” เป็น “เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ” นอกจากนี้ ในคดีที่ยังไม่เข้ากระบวนการพิจารณาของศาล ตามมาตรา 86 หากเด็กสำนึกผิดและอัตราโทษสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ทางสถานพินิจฯ สามารถทำแผนฟื้นฟูได้ ซึ่งจะทำให้เด็กไม่มีประวัติกระทำผิด

 

 

คุณธนะชัยให้ข้อมูลว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ก็ยังมีมาตรา 90 และมาตรา 132 ที่จะช่วยเบี่ยงเบนคดีได้ โดยหากศาลเห็นว่าคดีไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกินสมควรและเด็กหรือเยาวชนอาจกลับตัวเป็นคนดีได้ ก็จะให้ใช้วิธีแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เช่นกัน ปัจจุบันยังมีทางเลือกที่น่าสนใจคือ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือ RJ ที่เข้ามาช่วยเยียวยาทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำผิด เป็นกระบวนการที่ทำให้เข้าใจเด็กมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นวิธีการที่ช่วยให้เด็กรู้สึกสำนึกผิด มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น และช่วยลดปัญหาการกระทำผิดซ้ำ 

 

คุณโชติมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อศาลพิจารณาให้มาอยู่ในความดูแลของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน จะมีกระบวนการประเมินภูมิหลังของเด็กทุกคนก่อน หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการแก้ไขให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน มุ่งให้เกิดการปรับความคิด ปรับอารมณ์ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งเป็นกระบวนการที่เน้นการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู มากกว่าการลงโทษ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เด็กได้รับการศึกษาระหว่างที่อยู่ในศูนย์ฝึกฯ ด้วยหลักสูตรการเรียนที่มีความยืดหยุ่นและหลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งให้ได้เรียนรู้ทักษะชีวิตและทักษะทางสังคม จึงกล่าวได้ว่า กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนของไทยปัจจุบันอยู่ในมาตรฐานสากล เป็นแนวทางเพื่อคืนเด็กกลับไปสู่เส้นทางการเป็นพลเมืองดีได้ในอนาคต 

 

ผศ.ดร.ณัฐสุดา ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากฝากถึงสังคมคือ สำหรับเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดไปแล้ว อยากให้มองว่าเขาเป็นวัยรุ่นมากกว่าเด็กที่ทำผิด เพราะการที่สังคมตีตราความผิดมากกว่าตัวคน “ตัวคนจะไม่เหลือ” ต่อให้ศูนย์ฝึกฯ พยายามทำมากขนาดไหน แต่หากสังคมข้างนอกไม่ให้โอกาส สุดท้ายเด็กก็ไม่สามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้เมื่อกลับเข้าสู่สังคม

 

ตกผลึกบทบาทของสังคมกับความรุนแรงในเด็ก 

 

คุณวรดรได้สรุปประเด็นจากวงเสวนาว่า “ครอบครัว” เป็นเสมือนศูนย์กลางแรกที่มีอิทธิพลต่อทิศทางและเส้นทางเดินในชีวิตของเด็กและเยาวชน เป็นสถาบันหน่วยย่อยสุดในสังคมที่จะช่วยเลี้ยงดูลูกหลานเชิงบวก เปลี่ยนค่านิยมจาก “รักลูกให้ตี เป็นรักลูกให้กอด” และเป็นตัวแบบที่ดีให้กับลูกหลาน 

 

ขณะที่สถานศึกษาเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองที่มีหน้าที่ช่วยขัดเกลาพฤติกรรมของเด็กในโรงเรียน “แต่หนึ่งในเสียงสะท้อนจากครูในพื้นที่พบว่า สิ่งเหล่านี้หายไปในช่วงที่ต้องปิดสถานศึกษาเป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ หรือรวม ๆ แล้วเกือบปี ช่วงสถานการณ์โควิดที่่ผ่านมา” 

 

นอกจากครอบครัวและสถานศึกษาแล้ว วงเสวนาได้ร่วมกันตกผลึกบทบาทของสังคมกับความรุนแรงในเด็กว่า ทุกสถาบันในสังคมต่างมีส่วนช่วยกันป้องกันปัญหาได้ เช่น “สถานคุ้มครองและดูแลสวัสดิภาพเด็ก” ควรทำความเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานไม่เท่ากัน และสื่อสารให้เด็กอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ ไม่ใช้วิธีรุนแรงในการแก้ปัญหา “สื่อสารมวลชน” ไม่ส่งต่อความรุนแรง ช่วยกันสื่อสารทัศนคติที่เหมาะสม โดยเฉพาะรายการหรือช่องทางที่เด็กรับฟัง เช่น กลุ่ม Influencer ที่มีอิทธิพลต่อเด็ก ที่สำคัญคือ ทุกคนในฐานะสมาชิกของสังคมต้องขับเคลื่อนไปพร้อมทั้งองคาพยบ เริ่มจากการสื่อสารค่านิยม “ไม่ยอมรับความรุนแรงในทุกรูปแบบ”ขณะเดียวกันต้องมีนโยบายและกฎหมายที่เอื้อให้ทุกพื้นที่เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ไม่ใช่แค่ไม่มีคนทำร้าย แต่เป็นความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ

 

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เสริมว่า เด็กวัยรุ่นมีความต้องการแสดงออกซึ่งตัวตน (identity) การที่มนุษย์รู้สึกว่าเสียงของตัวเองมีความหมายนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ “อารมณ์ของมนุษย์เป็นสิ่งพิเศษ จะไม่หายไปจนกว่าจะถูกยอมรับ ถ้าไม่ถูกรับฟัง จะบีบ อัด กด ต้องการที่ระบายออก ความรุนแรงก็มากขึ้น” ดังนั้น หากสังคมไม่ทำอะไรเลยความรุนแรงก็จะยิ่งมากขึ้น แต่หากมีพื้นที่ให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเสรี ได้ถกเถียง ได้พูดคุยกันอย่างปลอดภัย ได้รับรู้ว่าเสียงของเขามีความหมายอย่างแท้จริง ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน และสักวันหนึ่งสังคมไทยจะเปลี่ยนไป เป็นสังคมที่มีความรุนแรงน้อยลง

 

 

 

ส่งต่อนวัตกรรมเพื่อพัฒนาทักษะรู้คิดสำหรับเด็กและวัยรุ่น 

 

ภายในงานนี้ ยังได้มีการนำเสนอนวัตกรรมและทดลองใช้ชุดเครื่องมือ Growth and Resilience Interventions หรือ GRIs ซึ่งเป็นนวัตกรรมบอร์ดเกมที่ถูกพัฒนาขึ้นจากงานวิจัย เรื่อง การพัฒนาทักษะการรู้คิดสำหรับเด็กฯ ภายใต้การสนับสนุนของ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (Thailand Institute of Justice: TIJ) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT foundation Thailand) องค์กรการช่วยเหลือเด็กระหว่างประเทศ (ประเทศไทย) (Save the Children) และ บริษัท ไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย) โดยชุดเครื่องมือ GRIs พัฒนาขึ้นจากโจทย์ที่ต้องการช่วยฟื้นฟูทักษะการนึกคิดให้กับเด็กกลุ่มเปราะบางที่เคยถูกกระทำความรุนแรง แต่สามารถนำไปใช้กับเด็กวัยรุ่นทั่วไปได้ เพราะเป็นชุดเครื่องมือที่มีถึง 26 กิจกรรม แต่ละกิจกรรมเล่นซ้ำได้ เพียงแค่เปลี่ยนโจทย์ เปลี่ยนบริบทก็เปลี่ยนความสนุกได้ หัวใจสำคัญคือ ช่วยให้เด็กมีต้นทุนในการตีความและอธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ในมุมมองที่เปลี่ยนไป เป็นการเสริมสร้างความยืดหยุ่นและแข็งแกร่งจากภายในจิตใจ ช่วยให้เด็กสามารถเปลี่ยนอุปสรรคปัญหาในชีวิตให้กลายเป็นพลังหนุนเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจได้ในระยะยาว

 

คุณอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์

Co-founder and Positive Psychology Specialist

บริษัท ไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด

 

“ครูแก้ว” ภัสรัญ สระทองนวล ครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ โรงเรียนกำแพงแสนวิทยา ได้เล่าประสบการณ์ว่า ตนเองเป็นครูแนะแนวมากว่า 16 ปี เมื่อก่อนเด็กมีปัญหาเรื่องการศึกษาต่อค่อนข้างมาก แต่ช่วง 5 ปีให้หลังมานี้ โดยเฉพาะหลังโควิด เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) เด็กมีปัญหาความซับซ้อนทางอารมณ์ชัดเจนมากขึ้นจนรับมือแทบไม่ทัน เครื่องมือนี้จะมีชุดการ์ดคำศัพท์ที่อธิบายอารมณ์เชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้เด็กเข้าใจอารมณ์ของตัวเองและสามารถจัดการอารมณ์ตัวเองได้โดยหลังจากนำเครื่องมือนี้ไปประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่อง “ช่วยให้เด็กนิ่งขึ้น ใจเย็นขึ้น ไม่ตัดสินคนอื่นเร็วเกินไป”

 

คุณนวศร ลิ่มสกุล จากสโมสรเพื่อเด็กเคลื่อนย้ายในแม่สอด (Smile-lay Club) แบ่งปันประสบการณ์ว่าชุดเครื่องมือนี้ถูกออกแบบมาอย่างเป็นระบบ มีตัวชี้วัดที่ดี จุดเด่นอยู่ที่การสร้างความตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของตัวเอง ค้นพบและใช้จุดแข็งของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางเกมอย่าง “เกมคำถามเชื่อมใจ” จะเป็นคำถามง่าย ๆ อย่างน้อย 3 คำถามต่อเนื่องกัน เช่น ชอบกินอะไร กินครั้งแรกเมื่อไหร่ และชอบกินเพราะอะไร แต่กลับกินใจเด็ก ๆ มาก บางคนสะท้อนว่า “เขาไม่เคยได้ยินคำถามเหล่านี้ในบ้านเลย”

 

ครูแก้ว ภัสรัญ สระทองนวล

ครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ โรงเรียนกำแพงแสนวิทยา

 

คุณนวศร ลิ่มสกุล

จากสโมสรเพื่อเด็กเคลื่อนย้ายในแม่สอด (Smile-lay Club)

 

เด็กคนเดียวที่ได้ทดลองเล่นเกมภายในงานนี้บอกว่า “ตอนแรกกังวลเพราะเป็นเด็กคนเดียวที่มาเล่นกับผู้ใหญ่ แต่หลังเล่นแล้วรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทำให้รู้สึก Strong มากขึ้น” ขณะที่ผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่น ๆ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น เกมนี้ทำได้รู้จักตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น ทำให้รู้สึกตั้งใจฟังและสามารถสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ดี ที่สำคัญคือ อยากให้ส่งต่อชุดเครื่องนี้ไปยังเด็กในพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น 

 

 

สถาบันฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมปลอดความรุนแรงผ่านพื้นที่ TIJ Common Ground ด้วยกิจกรรมสำหรับเด็กที่บรรจุแน่นในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2566 ซึ่งนอกจากงานเสวนาวิชาการแล้ว ยังมีนิทรรศการ “เด็ก x ความรุนแรง” นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็กทั้งในมุมที่เด็กเป็นผู้กระทำและเป็นผู้เสียหาย กิจกรรมสำหรับเด็กวัยประถมศึกษาตอนปลายและวัยมัธยมศึกษาตอนต้นที่เน้นการปลูกฝังให้มีความตระหนักรู้เรื่องความรุนแรงและสิทธิพื้นฐานของเด็ก เพื่อให้รู้จักสิทธิของตนเองและไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น รวมถึงกิจกรรม Workshop สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็กในการดูแลเด็กเชิงบวกและการรับมือกับปัญหาการเลี้ยงลูกในสภาพสังคมปัจจุบัน

Back

Most Viewed