ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม
“ทั้งมีประวัติต้องคดี ทั้งพิการ แค่เงื่อนไขเดียวก็หางานทำเพื่อเลี้ยงดูตัวเองให้มีชีวิตปกติยากมากอยู่แล้ว แต่เมื่อมีเงื่อนไขยากๆ ทับซ้อนกันถึงสองเงื่อนไข แล้วโอกาสในการกลับสู่สังคมของคนกลุ่มนี้คืออะไร”
 

เอ (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ต้องขังพิการ ที่ต้องโทษคดียาเสพติด บอกกับเราว่า เขารู้ดีว่าการกลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เขาเคยต้องโทษคดียาเสพติดมาก่อนที่จะพิการ แต่โชคร้ายต้องประสบอุบัติเหตุหนักจนทำให้เสียขาข้างหนึ่งไป เขากลับไปทำงานเดิมในโรงงานไม่ได้ ต้องออกมาอยู่บ้าน และความรู้สึกที่ต้องมองตัวเองเป็นภาระให้คนในครอบครัวต้องมาคอยดูแลก็ทำให้เขารู้สึกไร้ค่าหมดศักดิ์ศรี จึงอยากกลับไปมีรายได้เป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดที่เคยเจอกันในเรือนจำได้กวักมือเรียก เขาจึงตัดสินใจกลับไป จนกลายเป็นผู้กระทำผิดซ้ำ
 

“ออกจากคุกรอบนี้ ผมจะไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาอีก ... แต่ผมก็ต้องหารายได้ดูแลตัวเอง ผมเป็นคนพิการ แต่ไม่อยากทำตัวเป็นภาระ ไม่ต้องการถูกดูแลเหมืนคนที่อยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ ผมดูๆ อยู่ครับ หวังว่าจะมีงานที่ผมทำได้ มีรายได้ อย่างน้อยก็ต้องดูแลตัวเองได้” เอ กล่าว
ปัญหา คือ แล้ว ผู้พ้นโทษที่มีประวัติอาชญากรรม กระทำผิดซ้ำ พร้อมๆ กับร่างกายที่พิการ จะทำงานอะไรได้บ้าง ??
 

 
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกต้องปรับตัวเข้ากับ “ชีวิตวิถีใหม่” เพื่อให้ชีวิตผู้คนและเศรษฐกิจทุกภาคส่วนเดินหน้าต่อไปได้ นั่นทำให้โลกออนไลน์ขยับเข้ามามีบทบทต่อชีวิตมนุษย์เร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ กลายเป็นความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงผู้คนให้ถึงกัน ตั้งแต่การเรียน การทำงาน ไปจนถึงการประกอบกิจการต่างๆ

 
เมื่ออนาคตเมื่อถึงเร็วขึ้น แน่นอนว่า มีคนกลุ่มใหญ่ที่กำลังจะตกรถไฟขบวนนี้ กระแสดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมมีผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มคนเปราะบาง รวมทั้งผู้พิการ และผู้ต้องขังหรือผู้พ้นโทษที่ถูกคุมขังอยู่ในช่วงที่โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งบางคนไม่สามารถสื่อสารและเดินทางด้วยตนเองได้ อาจมีฐานะยากจน ขาดสาธารณูปโภคพื้นฐาน และไม่สามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ กลุ่มคนเหล่านี้ย่อมต้องเผชิญความยุ่งยากในการหางานทำมากกว่าผู้คนทั่วไป ดังที่ผลสำรวจการจ้างงานในสหราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. 2563 พบว่าร้อยละ 42 ของบริษัทที่ทำผลสำรวจระบุว่า พวกเขาไม่อยากจ้างผู้พิการเนื่องจากกังวลถึงการต้องจัดหาสวัสดิการที่เหมาะสมให้แก่ผู้พิการระหว่างที่เกิดโรคระบาด

 
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 องค์กร Fundación ONCE, ILO Global Business and Disability Network, Disability Hub Europe ภายใต้กรอบการทำงานของ European Social Fund ได้ตีพิมพ์รายงานร่วมกันในหัวข้อ An inclusive digital economy for people with disabilities เพื่อสะท้อนผลกระทบของเศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่มีต่อผู้พิการ โดยระบุว่า เครื่องมือดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้พิการ ในทางหนึ่งมันช่วยให้ผู้พิการมีงานทำผ่านทางการสมัครงานออนไลน์ได้ ทั้งยังมีเทคโนโลยีหลายประเภทที่จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และทำงานได้อย่างสะดวกมากขึ้น แต่อีกแง่หนึ่ง หากพวกเขาไม่มีทักษะทางดิจิทัล หรือไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลได้ ก็จะไม่สามารถคว้าโอกาสการทำงานนั้นมาได้ และจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

 

แต่ในวิกฤตก็ยังสามารถพลิกเป็นโอกาส

 

รายงานฉบับเดียวกันนี้ ยังได้กล่าวถึงโอกาสสำหรับการจ้างงานคนพิการว่าตลาดแรงงานในยุคดิจิทัลทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ และหลากหลาย ผู้พิการสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อหางานที่เหมาะสมกับตนเองได้ เป็นนายตนเองได้ ซึ่งหากพวกเขาสามารถเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลได้ก็สามารถสมัครงานได้เอง หรือทำงานได้อย่างอิสระ ขณะเดียวกันการทำงานทางไกลอาจช่วยส่งเสริมให้ผู้พิการมีการใช้ชีวิตและการทำงานที่สมดุลได้ ทั้งยังเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้พิการมีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะได้รับการพิจารณาเข้าทำงานอีกด้วย

 
ทั้งนี้ ผู้พิการย่อมต้องเผชิญความเสี่ยงในการหางานเช่นกัน อย่างการไม่มีเงินเพียงพอจะสมัครใช้งานอินเทอร์เน็ต ขาดแคลนเครื่องมือหรืออุปกรณ์เพื่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ หากรับงานหลายงานตามกระแสการทำงานในปัจจุบันก็อาจทำให้สูญเสียการควบคุมเวลา ต้องทำงานในระยะเวลายาวนานมากขึ้น และมีความเครียดสูงกว่าการทำงานในรูปแบบดั้งเดิม ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพก็อาจจะทำให้ได้รับค่าแรงน้อยกว่าหรือลักษณะงานมีความมั่นคงน้อยกว่าการทำงานรูปแบบดั้งเดิม เป็นต้น

 
รายงาน An inclusive digital economy for people with disabilities จึงได้เสนอแนะแนวทางส่งเสริมผู้พิการในการทำงานในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลไว้ว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้พิการเองต้องร่วมมือกันส่งเสริมให้ผู้พิการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและเครื่องมือดิจิทัลอย่างเท่าเทียม สนับสนุนการเรียนรู้ทักษะทางดิจิทัล และสร้างโอกาสในการทำงานดิจิทัลแก่ผู้พิการ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของสหประชาชาติซึ่งให้ข้อเสนอแนะถึงการจัดหางานให้ผู้พิการในประเทศไทยว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคเอกชนในการเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและการให้เงินสนับสนุนเพื่อกระตุ้นการจ้างงานผู้พิการ

 

แล้วผู้พิการที่เป็นอดีตผู้ต้องขังได้รับโอกาสเช่นเดียวกันหรือไม่?
 

นอกจากจะถูกตีตราจากการเป็นผู้พิการแล้ว ผู้พิการที่เพิ่งพ้นโทษยังถูกทัศนคติของสังคมซ้ำเติมไปด้วยว่าเป็น “ขี้คุก” การจะคลายความรู้สึกถูกกีดกันจากสังคมออกจากผู้พิการที่เพิ่งพ้นโทษจึงเปรียบเสมือนการแกะหนังยางที่รัดถุงไว้หลายชั้น ที่แม้แต่คนทั่วไปยังต้องใช้ความพยายามอย่างมากจึงจะสำเร็จ แต่ก็จำเป็นต้องทำ

 
สำหรับในประเทศไทยมีเรือนจำอยู่ 114 แห่ง ที่มีผู้ต้องขังที่เป็นผู้พิการ รวมจำนวนผู้พิการทั้งหมด 3,270 คน ผู้ต้องขังพิการเหล่านี้ได้รับการดูแลตามมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดแมนเดลา) พ.ศ. 2558 และข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพ) พ.ศ. 2553 ซึ่งรวมถึงการจัดหากายอุปกรณ์ เครื่องอุปโภคบริโภค รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพและฝึกอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว

 
หนึ่งในโอกาสฝึกทักษะทางดิจิทัลของผู้พิการในเรือนจำที่มีความเป็นไปได้ในเร็วๆ นี้ คือการที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ร่วมมือกับ TIJ ภายใต้การตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัย สร้างสรรค์ สร้างอาชีพ มุ่งที่การออกแบบหลักสูตรให้มีความหลากหลายและสอดคล้องความต้องการของบุคคล เนื้อหาหลักสูตรจะเกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นและการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน และหลักสูตรดิจิทัลเพื่อการประกอบอาชีพ

 
ขณะที่ “เน็ตทำกิน” โดยดีแทค ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ได้ดำเนินการสอนหลักสูตรดิจิทัลให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีมานี้ ในหลักสูตรมีทั้งการตลาดในยุคดิจิทัล การสร้างออนไลน์คอนเทนต์ การถ่ายภาพสำหรับการตลาดออนไลน์ แพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์ เป็นต้น

 
จะเห็นได้ว่า ผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึกทักษะดิจิทัลเหล่านี้จะมีอาวุธใหม่เพื่อใช้ในการต่อสู้ในตลาดหางานยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้ และนอกเหนือจากการฝึกอบรมทักษะอาชีพทางดิจิทัลแล้ว อีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการหางานทำให้แก่ผู้พ้นโทษ รวมทั้งผู้พิการ คือการที่ภาคเอกชนเปลี่ยนทัศนคติในการจ้างงานผู้พ้นโทษ โดยอาจศึกษาเพิ่มเติมได้จากคู่มือสำหรับการจ้างงาน ผู้ต้องขัง ผู้พักโทษ และผู้พ้นโทษ เพื่อการกลับคืนสู่สังคม อันจะมีส่วนช่วยให้พวกเขาได้กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างปกติสุขต่อไป

 
อ้างอิง
An Inclusive Digital Economy (ilo.org)
คู่มือสำหรับการจ้างงาน ผู้ต้องขัง ผู้พักโทษ และผู้พ้นโทษ เพื่อการกลับคืนสู่สังคม https://bit.ly/44SYSEa
---
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายการ The Second Wall [กำแพงที่ 2]
รับฟังและติดตาม รายการ The Second Wall [กำแพงที่ 2] กด link ด้านล่าง
หรือรับฟังตอนล่าสุดของรายการได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=D7zCA_tiuEg
Back

Most Viewed