ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม
โลกหลังกำแพงของผู้ต้องขังที่เราได้ฟังกันใน Podcast รายการ the Second Wall [กำแพงที่สอง] ตอนคน(คุก)พิการ...ตัดโอกาสชีวิต เผยถึงความท้าทายในการกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขของผู้ก้าวพลาดที่นอกจากจะถูกตีตราว่าเป็น “คนคุก” แล้ว ยังมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตด้วยความพิการ ที่ไม่ได้มีมาแต่กำเนิดซ้ำเข้าไปอีก
 

การใช้ชีวิตในเรือนจำของผู้พิการมีข้อจำกัดอย่างไร มีใครให้ความช่วยเหลือได้บ้าง ออกจากเรือนจำมาต้องเผชิญกับอะไร TIJ ชวนมาทำความเข้าใจสถานการณ์นี้ร่วมกับพี่ปลา หรือ อันธิกา อ่อนพร้อม ผู้อำนวยการกลุ่มงานสวัสดิการและสงเคราะห์ผู้ต้องขัง กองพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์

การไม่มีงาน ทำให้ติดคุก

 

เวลามองผู้พิการที่พบเห็นในสังคม ส่วนใหญ่เราจะเห็นว่าพวกเขาพยายามหาเลี้ยงชีพด้วยการประกอบอาชีพสุจริตอย่างการขายล็อตเตอรี่ ทั้งๆ ที่บางคนอาจต้องใช้มือเข็นวีลแชร์ไปตลอดทางหลายกิโลเมตร ท่ามกลางแสงแดดจ้าและไอร้อน โดยทั้งวันอาจจะขายล็อตเตอรี่ได้ไม่กี่บาทเท่านั้น แต่ก็ยังคงเพียรพยายามที่จะเลี้ยงตัวเองให้ได้
 
 
อย่างไรก็ดี หลายคนก็เลือกที่จะทำสิ่งผิดกฎหมายเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงชีพ อย่างพี่เอ (นามสมมติ) ซึ่งยอมรับตามตรงว่า แม้ก่อนหน้านี้จะเป็นผู้มีงานทำ มีอาชีพที่ดี แต่พอประสบเหตุทำให้ต้องเป็นผู้พิการ การหางานสุจริตทำกลายเป็นเรื่องลำบาก และไม่สามารถอยู่โดยไม่หาเลี้ยงตัวเองได้ เพราะเป็นผู้ชายคนเดียวในบ้าน และไม่อยากรู้สึกไม่ดีที่จะต้องขอเงินพี่น้อง เพียงเพื่อจะซื้อของใช้ส่วนตัว สุดท้ายจึงต้องเข้าสู่วังวนของการกระทำผิด
 
 
สอดคล้องกับที่ พี่ปลา คุยกับเราว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้พิการหันมากระทำความผิดคือการ “ไม่มีงานทำ”
 
 
พี่ปลา ผู้คร่ำหวอดทำงานในกรมราชทัณฑ์มานานกว่า 25 ปีแล้ว เล่าด้วยว่า ผู้พิการที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำส่วนใหญ่ต้องโทษในคดียาเสพติด ลักทรัพย์ และคดีทางเพศ
 
 
“แม้จะนอนติดเตียงอยู่ แต่เพียงแค่มีโทรศัพท์เครื่องเดียว ก็สามารถกระทำผิดได้ หรือบางคนอยู่ในครอบครัวหรือสังคมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่ออยู่ในบ้านเดียวกัน ตำรวจมา ไม่สามารถหนีได้ ด้วยข้อจำกัดทางร่างกายก็จะถูกจับ”
 

ก้าวแรกของผู้พิการในเรือนจำ

 
กระบวนการแรกรับผู้พิการของแต่ละเรือนจำจะสอดคล้องกับข้อกฎหมายและมาตรฐานสากลอย่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ที่ให้ผู้พิการได้รับสิทธิในการรับสิ่งอำนวยความสะดวก และสวัสดิการ และความช่วยเหลือจากรัฐ เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ และพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ
 
“เรามีแนวทางในเรือนจำที่ไม่ขัดแย้งกับ พรบ. ผู้พิการ และพยายามให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายและให้เท่าทันกับมาตรฐานภายนอก” พี่ปลา กล่าว โดยมาตรฐานภายนอกนั้นยังรวมไปถึงข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดแมนเดลา) พ.ศ. 2558 และข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพ) พ.ศ. 2553 ด้วย
 
เมื่อรับตัวมาจะมีการจัดทำประวัติผู้พิการ ระบุข้อมูลเกี่ยวกับความพิการ และออกเอกสารเพื่อรับรองความพิการ จากแพทย์โรงพยาบาลที่เข้ามาทำการประเมิน เพราะกลุ่มนี้เป็นผู้ต้องขังกลุ่มพิเศษที่ต้องการการดูแลนอกเหนือจากผู้ต้องขังทั่วไป และจะได้รับการจัดสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ที่พึงได้รับตามสิทธิพื้นฐานเท่ากับผู้พิการที่เป็นบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ ถ้าเข้ามาแล้วยังไม่มีบัตรประจำตัวผู้พิการ ทางกรมราชทัณฑ์จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลในการจัดหาทำบัตรประจำตัวผู้พิการ เพื่อให้ได้เข้ารับการดูแลตามสิทธิของผู้พิการตามที่รัฐจัดหาให้ และมีการต่ออายุบัตรให้ด้วย
 
 

เรือนจำของผู้ต้องการพิเศษ

 
พี่ปลา เล่าถึงการจัดพื้นที่ให้ผู้ต้องขังพิการในเรือนจำว่า จะจัดให้เป็นสัดส่วนเฉพาะและเป็นไปตามมาตรฐานสากลของการออกแบบเรือนจำให้มีอารยสถาปัตย์สำหรับผู้พิการ หากมีพื้นที่เพียงพอก็จะจัดให้อยู่รวมกันที่ชั้นล่าง ห้องน้ำก็พยายามจัดสรรให้เป็นห้องน้ำแบบนั่ง มีทางลาดและราวจับ เพื่ออำนวยความสะดวก และขณะนี้อยู่ระหว่างการผลักดันให้มีการปรับปรุงพื้นที่เรือนจำทั่วประเทศให้เป็นไปตามแนวทางนี้ และให้สอดคล้องกับศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังพิการ ของกรมราชทัณฑ์ ได้แก่ศูนย์ผู้ต้องขังพิการชาย ที่เรือนจำกลางบางขวาง และศูนย์ผู้ต้องขังหญิงที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ซึ่งจะเป็นต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้สำหรับเรือนจำและทัณฑสถานอื่นๆ ในการนำไปปฏิบัติต่อไปด้วย
 
ส่วนการช่วยเหลือผู้ต้องขังพิการนั้น พี่ปลา เล่าว่า “ตอนรับเข้ามาก็จะมีการประเมินว่าผู้พิการแต่ละคนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากน้อยเพียงใด มีการจัดหากายอุปกรณ์ให้อย่างขาและแขนเทียม รวมทั้งเครื่องช่วยฟัง”
 
ขณะที่ในส่วนของผู้ช่วยเหลือ นอกจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย รับบริการทางการแพทย์อย่างการวัดความดัน ดูแลสุขภาพกายและจิตใจ ก็จะมีอาสาสมัครเรือนจำ หรือเรียกย่อๆ ว่า อสรจ. จำนวน 1 คน ต่อผู้ต้องขัง 50 คน ที่จะมาช่วยดูแลผู้ต้องขังที่พิการ และบางคนก็จะมีเพื่อนผู้ต้องขังที่มีน้ำใจที่คอยให้ความช่วยเหลือดูแลกัน
 
อย่างไรก็ดีการจัดหากายอุปกรณ์และเครื่องอุปโภคบริโภคเฉพาะเพื่อช่วยเหลือผู้พิการในเรือนจำให้ได้บำบัดฟื้นฟู และพัฒนาศักยภาพเป็นเรื่องที่ท้าทายและนับเป็นอุปสรรคในกระบวนการเตรียมความพร้อมของผู้ต้องขังก่อนปล่อยตัว
 
“เราได้งบประมาณจากรัฐปีงบละ 1.5 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อข้าวของเครื่องใช้สำหรับดูแลผู้ต้องขังพิการ ไม่รวมส่วนของกายอุปกรณ์ เช่น อาหารเสริม แพมเพิร์ส เท่ากับว่าแต่ละปี ผู้ต้องขังพิการจะได้งบประมาณส่วนนี้เพียงคนละ 500 บาทเท่านั้น”
 
พี่ปลา บอกด้วยว่า ผู้ต้องขังพิการบางคน ก็เป็นผู้สูงอายุ มีความพิการซ้ำซ้อน และจำเป็นต้องจัดหาข้าวของเครื่องใช้เฉพาะเพื่อช่วยเหลือพวกเขาตามสิทธิที่ควรได้รับ โดยหลายครั้งก็จำต้องขอรับบริจาค
 

ว่าด้วยเรื่องของเงินทุนและทักษะ: ความหวังหลังพ้นโทษ

 
อีกหนึ่งปัญหาที่ พี่ปลา พบเมื่อถึงเวลาต้องปล่อยตัวผู้ต้องขังคือ การที่หลายคนขาดเงินทุนที่จะนำไปตั้งตัว ทั้งๆ ที่ส่วนหนึ่งน่าจะพอมีเงินเก็บอยู่บ้าง หากเป็นผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวผู้พิการ ที่จะได้รับเงินเบี้ยความพิการผ่านทางบัญชีธนาคารที่แจ้งไว้กับเรือนจำ
 
 
“บางทีลูกหลานเอาเงินเบี้ยพิการไปใช้หมด ไม่ก็ไม่ต่ออายุบัตรผู้พิการ หรือบัตรผู้สูงอายุให้” ซึ่งจุดนี้ทำให้ผู้พ้นโทษ ต้องกลายเป็นคนไร้เงิน และควบกับการไร้สิทธิไปโดยปริยาย อย่างไรก็ดี ผู้พิการก็ยังสามารถขอรับทุนจากศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ (CARE) ได้ และได้เข้าโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย หากมีกำหนดจะได้ออกจากเรือนจำภายในระยะเวลา 1 ปีถึง 6 เดือน เพื่อเสริมสร้างความรู้ พัฒนาทัศนคติ จิตใจ และเสริมสร้างอาชีพ จะได้เกิดแรงใจในการกลับสู่สังคมและไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำ
 
 
“เราวางแผนการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยให้กับผู้ต้องขังทุกคน ผู้ต้องขังพิการก็จะได้ร่วมโครงการเช่นกัน คนที่มีกายอุปกรณ์พร้อมก็จะสามารถเข้าโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยกับคนอื่นได้เลย แต่หากทำไม่ได้อย่างการพิการตั้งแต่ท่อนล่างลงไป หูไม่ได้ยิน เราก็จะประสานกับทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อหาอาชีพที่เหมาะสมให้พวกเขา เช่น งานฝีมือ งานประดิษฐ์ เช่นทำดอกไม้จันทน์ ร้อยมาลัย
 
 
“จากการติดตามผู้พ้นโทษพิการ 1 ปีหลังปล่อยตัว พบว่า ถ้าเขาออกไปแล้วมีความพร้อมทั้งด้านอาชีพและการเงิน มีวินัยในการใช้ชีวิต ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้ต้องขังและบริบทสังคมด้วย”
 
 
พี่ปลา ยอมรับว่า การจะปรับทัศนคติผู้กระทำผิดที่อยู่ในสังคมมานานหลายสิบปี เพื่อให้เปลี่ยนเป็น “คนเดิม” ก่อนจะเข้ามาในเรือนจำ ด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยากแล้ว โดยไม่ต้องหวังว่าจะพัฒนาให้ถึงขั้นเป็น “คนดี” ของสังคม
 
 
หรือจริงๆ แล้ว สังคมภายนอกต่างหาก อย่างครอบครัว ชุมชน ตลอดจนผู้คนที่พบเจอในแต่ละวัน ที่จะต้องมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ผู้พ้นโทษ ผู้พ้นโทษที่พิการ และผู้เปราะบางอื่นๆ รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิดในสังคมได้ “เปลี่ยน” ตนเองให้ทัน ก่อนจะกระทำความผิด

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายการ The Second Wall [กำแพงที่ 2]

รับฟังและติดตาม รายการ The Second Wall [กำแพงที่ 2] กด link ด้านล่าง
หรือรับฟังตอนล่าสุดของรายการได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=AsGwVIuhABI
Back

Most Viewed