ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (CCPCJ) เป็นเวทีระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางและหารือเชิงนโยบายด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการป้องกันอาชญากรรม ส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญา และติดตามการปฏิบัติตามพันธกรณีในตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (United Nations Convention against Transnational Organized Crime: UNTOC) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) รวมถึงการผลักดันมาตรฐานและบรรทัดฐานของสหประชาชาติในด้านการดูแลผู้ต้องขัง และการลดการกระทำผิดซ้ำ 

 

บทบาทของ TIJ บนเวที CCPCJ ครั้งที่ 34

 

TIJ เป็นหนึ่งในสถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา  หรือ United Nations Crime Prevention and Criminal Justice Programme Network of Institutes (UN-PNI) แห่งแรกในอาเซียน โดยที่ผ่านมา TIJ ได้มีบทบาทร่วมกับรัฐบาลไทยขับเคลื่อนนโยบาย ยกระดับมาตรฐาน และส่งเสริมความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในระดับนานาชาติ และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างใกล้ชิด ด้วยเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านหลักนิติธรรม และกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้มีประสิทธิภาพ ยุติธรรม และเชื่อถือได้ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน



พันธกิจสำคัญ: 15 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ

 

สำหรับการประชุม CCPCJ สมัยที่ 34 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 พฤษภาคมนี้ เป็นการประชุมที่มุ่งเน้นความสำคัญของการรับมือกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หัวข้อหลักคือ การรับมืออาชญากรรมที่อุบัติและวิวัฒน์ใหม่ อันรวมถึงอาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การลักลอบขนสินค้าเชิงพาณิชย์ และการลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและอาชญากรรมที่กระทบต่อทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Addressing new, emerging and evolving forms of crime, including crimes that affect the environment, smuggling of commercial goods and trafficking in cultural property and other crimes targeting cultural property)

 

การประชุมนี้ TIJ มีพันธกิจสำคัญในโอกาสครบรอบ 15 ปี ของข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ ข้อกำหนดกรุงเทพ  กรอบแนวปฏิบัติฉบับแรกที่มุ่งเน้นการปฏิบัติต่อผู้หญิงในเรือนจำและการใช้มาตรการทางเลือกที่เหมาะสมกับเพศภาวะ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเปราะบาง เช่น ผู้หญิงมีครรภ์ ผู้ดูแลบุตร และผู้มีประสบการณ์ความรุนแรง อีกทั้งครอบคลุมถึงผู้หญิงที่ปฏิบัติหน้าที่ในระบบเรือนจำ

 

ในปีนี้ยังเป็นโอกาสครบรอบ 10 ปีของข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) หรือ ข้อกำหนดขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) ข้อกำหนดที่ย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยมนุษยธรรมและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งเป็นปีแห่งการครบรอบ 35 ปีของข้อกำหนดโตเกียว (Tokyo Rules) หรือ ข้อกำหนดของสหประชาชาติว่าด้วยมาตรการไม่ใช่การจำคุก (United Nations Standard Minimum Rules for Non-custodial Measures) ที่ส่งเสริมการใช้มาตรการไม่ใช่การจำคุกด้วย

 

ข้อกำหนดทั้งสามข้อนี้มีจุดร่วมสำคัญ คือ การส่งเสริมระบบยุติธรรมที่เน้นการฟื้นฟู มากกว่าการลงโทษ และมุ่งสู่การลดการกระทำผิดซ้ำผ่านการสร้างโอกาส การฟื้นฟูศักยภาพของผู้กระทำผิด และการส่งเสริมการกลับคืนสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ TIJ จึงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนและมีส่วนร่วมในการอภิปรายและแลกเปลี่ยนในแต่ละกิจกรรมเพื่อสะท้อนแนวทางการพัฒนาต่อยอดจากข้อกำหนดดังกล่าว รวมไปถึงการนำเสนอ “โมเดลลดการกระทำผิดซ้ำ” เพื่อสะท้อนถึงความสำเร็จจากความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในการให้ “โอกาส” ผู้พ้นโทษ เพื่อให้ไม่ต้องหวนกลับเข้าสู่ระบบยุติธรรมอีกครั้ง
 

 

Highlight การประชุม CCPCJ ครั้งที่ 34

 

การเปิดตัวนิทรรศการ “15 Years of the Bangkok Rules: Reimagining Success for Women” (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures for Women Offenders) นำเสนอมุมมองผ่านเลนส์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านของใช้ส่วนตัวที่มีความหมาย

 

 

การประชุมคู่ขนานแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าและความคิดเห็นร่วมกับผู้นำระดับนานาชาติด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

 

  • หัวข้อ Renewing our Promise: Strengthening Support for Women in Corrections จัดโดย TIJ มุ่งประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อผลักดันการนำข้อกำหนดกรุงเทพ และมาตรการที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ (Gender–responsive approach) ไปใช้ในระดับนานาชาติ

  • หัวข้อ High Level Event: Celebrating the Nelson Mandela Rules and the Bangkok Rules: A Call for Continued Action in the Field of Prison and Offender Management จัดโดย  Group of Friends of the Nelson Mandela Rules ประกอบด้วย ประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศไทย และประเทศเยอรมนี

 

  • หัวข้อ 2025 Global Prison Trends จัดโดย PRI เปิดตัว Global Prison Trends 2025 รายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลก โดยปีนี้มุ่งประเด็นผู้ต้องขังหญิง ปัญหาการฆ่าตัวตายในเรือนจำ และการใช้ประสบการณ์ตรงของผู้มีประสบการณ์จริงในระบบเรือนจำเพื่อประกอบการกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิรูปเรือนจำ

  • หัวข้อ Innovation in Criminal Justice Responses: Digitally and Socially จัดโดยสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอแนวคิด Social Partnership Model ซึ่งเป็นรูปแบบความร่วมมือที่รวมพลังจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

 

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในการเข้าประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีเพื่อยกระดับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในมิติอื่น ๆ เช่น New UN Model Strategies on Reducing Reoffending และ International Responses to Transnational Drug-Related Crimes on Digital Platforms รวมทั้ง ในประเด็นเรื่อง Data Collection and Analysis เป็นต้น

 

รวมทั้ง การเข้าร่วมการประชุมเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเป็นการประชุมที่เปิดโอกาสให้แต่ละองค์กรเครือข่าย ได้แลกเปลี่ยนความคืบหน้าของกิจกรรมที่กำลังดำเนินอยู่ และหาแนวทางเพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างสถาบันเครือข่ายในด้านต่าง ๆ ต่อไป และเผยแพร่ PNI Newsletter ฉบับที่ 7 

 

 

การประชุม CCPCJ ครั้งนี้ จึงเป็นการประชุมครั้งสำคัญในการทบทวนข้อกำหนดและมาตรฐานระหว่างประเทศที่มีอยู่เดิม นำเสนอความก้าวหน้าและนวัตกรรมที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี และเป็นโอกาสให้นานาประเทศได้ร่วมกำหนดทิศทางอนาคตของความยุติธรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืนอย่างแท้จริง

ติดตามรายละเอียดการประชุมได้ที่ https://www.facebook.com/tijthailand.org
Back
chat