ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

ในสายตาของคนทั่วไปแล้ว “คุก” เป็นสถานที่ที่ช่วยชำระบาปให้กับผู้กระทำความผิดด้วยการลงทัณฑ์อย่างสาสม เพื่อที่จะแก้ ผิด ให้เป็น ถูก ได้ ความเชื่อนี้ดูจะไม่ได้เป็นเพียงมายาคติที่ปรากฏอยู่ในสังคม เพราะสถิติปริมาณนักโทษหญิงไทยในเรือนจำก็บ่งบอกว่าระบบยุติธรรมเองก็ยังยึดมั่นในการใช้เรือนจำเป็น “คำตอบ” สำหรับ “ปัญหา” เช่นกัน[1]

แต่ “คำถาม” ที่สังคมยังถามไม่มากพอคือ แล้วตกลงเรือนจำได้ช่วยทำให้ผู้กระทำความผิดดีขึ้นไหม?

งานวิจัยหลายชิ้นบ่งบอกว่า มาตรการลงโทษแบบดั้งเดิมและการนำคนมาคุมขังในคุกไม่เพียงแต่นำไปสู่สภาวะนักโทษล้นคุก ซึ่งยิ่งสาหัสมากขึ้นเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 แต่ยังสร้างอุปสรรคต่อการเยียวยาและการกลับคืนสู่สังคมของผู้ต้องขังอีกด้วย สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำที่แออัดยัดเยียด ระบบตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ไม่สามารถรองรับชีวิตในเรือนจำได้ หรือบทบาทของเรือนจำที่ยังไม่แปรเปลี่ยนจากการเป็นที่ลงโทษไปสู่สถานที่ฟื้นฟูคนที่ติดอยู่ในเรือนจำ เหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่วังวง ออกจากคุก-กระทำผิดซ้ำ-หวนกลับสู่เรือนจำอีก

เมื่อเรากลับมามองผู้ต้องขังหญิงในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่แค่นักโทษที่มีหมายเลขประจำตัว และสวมเสื้อผ้าสีฟ้าหรือสีน้ำตาลตามระเบียบข้อบังคับเป็นประจำทุกวัน ผู้หญิงจำนวนมากที่เข้าสู่เรือนจำต่างเคยประสบความรุนแรงมาก่อน หลายคนเป็นชาวต่างชาติที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย หรือมาจากชุมชนที่มีรายได้ต่ำ ต้องแบกรับหน้าที่การเป็นเสาหลักของครอบครัว กำลังตั้งครรภ์ และมีลูกหลานที่ต้องคอยดูแล ผู้ต้องขังในเรือนจำผู้หญิงบางส่วนยังมาจากกลุ่มความหลากหลายทางเพศ และมีความจำเป็นทางจิตใจและทางร่างกายต่าง ๆ ที่อยู่นอกเหนือไปจากกรอบบรรทัดฐานทางเพศที่ราชการยึดนำมาใช้เป็นกฎระเบียบดูแลเรือนจำ การต้องใช้ชีวิตหลังกำแพงเรือนจำจึงเท่ากับการตัดขาดผู้ต้องขังในเรือนจำจากชุมชนและชีวิตอื่น ๆ ที่สำคัญกับพวกเขา และทำให้ผู้ต้องขังในเรือนจำหญิงติดอยู่ในสภาพแวดล้อมอันแออัด ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของพวกเธอได้ในที่สุด

ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเลย และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
เราจึงมาถึงคำถามที่สองว่า แล้วต้องทำอย่างไร ถึงจะให้ความเป็นธรรมกับชีวิตผู้หญิงที่กระทำผิดกฎหมายได้?

การฟื้นฟูผู้กระทำความผิดหญิงนอกเรือนจำ ต้องทำร่วมกับผู้หญิง และชุมชนของผู้หญิง โดยมีผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง

หนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการแผ้วทางให้กับหนทางฟื้นฟูและพาอดีตผู้กระทำความผิดคืนสู่สังคมคือ ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ซึ่งเน้นย้ำการสร้างระบบเรือนจำที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการและเงื่อนไขชีวิตของผู้คนในเรือนจำผู้หญิง และโอกาสในการฟื้นฟูผู้กระทำความผิดหญิงโดยไม่ต้องพึ่งพิงการลงโทษทัณฑ์ด้วยการจองจำ

การนำผู้กระทำความผิดหญิงมาเป็นศูนย์กลางของแผนงานปฏิบัติบังคับให้ระบบยุติธรรมต้องหันไปเผชิญหน้ากับความมืดบอดทางเพศและภาวะขาดความเข้าใจประสบการณ์ของผู้หญิงของเจ้าพนักงานในระบบ ซึ่งนำไปสู่การจองจำผู้หญิงและภาวะนักโทษหญิงล้นคุกในที่สุด นับตั้งแต่มีการผลักดันเรื่องมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าการปฏิบัติงานด้านยุติธรรมที่คำนึงถึงปัจจัยด้านเพศภาวะมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินงานในอดีต ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมจึงควรมีกลไกในการรับฟังเรื่องราว ภูมิหลัง ปัจจัย ที่นำไปสู่การกระทำความผิดของผู้หญิง เพื่อส่งเสริมการลงโทษทางอาญาที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง


ในประเทศอาร์เจนตินา การตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านเฟมินิสต์และกลุ่มเพศหลากหลายในสำนักงานทนายความรัฐได้เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาอธิบายการกระทำผิดผ่านมุมมองที่มีความละเอียดอ่อนทางเพศ และช่วยพิทักษ์สิทธิของผู้หญิง และแนวทางการพิจารณาคดีของศาลที่ไม่เน้นการจองจำนั้นช่วยลดปัญหานักโทษหญิงล้นคุกและปัญหากระทำผิดซ้ำได้ นี่ถือเป็นด่านแรกในการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของผู้หญิงไปสู่โปรแกรมความช่วยเหลือและฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ การใช้มาตรการอื่นแทนการจำคุกในประเทศไทยที่ขับเคลื่อนโดยศาล ก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่สะท้อนการส่งเสริมให้คุกเป็นทางเลือกสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นในชั้นก่อนการตัดสินคดี ขั้นการพิจารณากำหนดโทษ  โดยเฉพาะผู้กระทำผิดในกลุ่มเปราะบาง รวมถึงผู้กระทำผิดหญิง

การฟื้นฟูผู้กระทำผิดผู้หญิงนอกรั้วเรือนจำนั้นอาศัยปัจจัยภายนอกหลายมิติ เช่น การให้โอกาสในการศึกษา การฝึกฝนด้านอาชีพที่มีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการของปัจเจกบุคคล การจัดหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม การอำนวยความสะดวกในการเลี้ยงบุตร การสนับสนุนด้านการเงิน และการประสานงานร่วมกับชุมชนที่ให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นหนึ่งในหน้าที่ของระบบยุติธรรมอาญาด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้แล้ว การออกแบบแผนการฟื้นฟูโดยมีผู้กระทำความผิดหญิงมาเป็นศูนย์กลางนั้นยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงแต่ละคน โดยเฉพาะประสบการณ์ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ และการใช้สารเสพติด และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้ทางเลือกกับผู้หญิงว่าหนทางไหนจะช่วยเยียวยาและสนับสนุนตนได้ดีที่สุด

เพราะหากผู้กระทำผิดไม่มีปากเสียงในระบบแล้ว เราก็จะมีแต่ระบบกฎหมายที่ไม่มีความยุติธรรมสถิตอยู่ในนั้น[2]

 


[1] กานต์ธีรา ภูริวิกรัย. แลนด์มาร์คใหม่ หญิงไทยแห่เช็คอิน (เข้าคุก) จนล้น. [ออนไลน์]. จาก The101.world เว็บไซต์: https://www.the101.world/thai-women-in-the-criminal-justice-system/. (สืบค้นข้อมูล: 7 มิถุนายน 2563)

 

[2] บทความชิ้นนี้มีเนื้อหาที่กลั่นกรองมาจากงาน  2nd webinar on ‘Promoting Alternatives to Imprisonment for Women in Conflict with the Law’ ในวันพฤหัสที่ 4 มิถุนายน 2020 ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่

  • Sven Pfeiffer ผู้ดำเนินรายการ และ Crime Prevention and Criminal Justice Officer, UNODC
  • Dr. Barbara Owen ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
  • Nicolás Laino ทนายความจำเลยของรัฐ, Argentina Board Member, The International Legal Foundation
  • ดร.สุธาทิพ ยุทธโยธิน ผู้พิพากษาประจำสำนักประธานศาลฎีกา
  • Tamar Chanturia ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ Penal Reform International (PRI) in South Caucasus
     

งานสัมมนาออนไลน์นี้จัดเป็นซี่รีย์ส์ และจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 

Back

Most Viewed