“เรือนจำไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของปัญหายาเสพติด”
ในทุก ๆ ปี มีผู้คนจำนวนมากถูกจับกุมในคดียาเสพติด ไม่ใช่แค่ผู้ค้ายารายใหญ่ แต่รวมถึงผู้เสพ ผู้ครอบครองในปริมาณเล็กน้อย ไปจนถึงคดีลหุโทษอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และพวกเขาเหล่านี้กลับเป็นกลุ่มใหญ่ในระบบคุมขังของทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังพิจารณาคดี
แม้รัฐจะมีหน้าที่จัดให้มีระบบบำบัดและฟื้นฟูตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อความแออัดในเรือนจำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การดูแลอย่างทั่วถึงก็ยิ่งเป็นไปได้ยาก ระบบบำบัดและฟื้นฟูเพื่อการคืนคนสู่สังคมนั้นอาจไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างเสริมทักษะการใช้ชีวิตให้แก่ผู้ที่กำลังจะพ้นโทษ การเข้าสู่ระบบเรือนจำยังได้สร้างตราบาปที่ตามหลอกหลอน ทำลายโอกาส และกีดกันพวกเขาออกจากระบบเศรษฐกิจและสังคมเมื่อออกจากเรือนจำด้วย
นี่จึงไม่ใช่แค่เรื่องของ “คนในคุก” หรือ "คนเสพยา" แต่คือคำถามใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันหาคำตอบว่า เราจะสร้างระบบยุติธรรมที่ให้โอกาส ฟื้นฟู และไม่ผลักคนให้ย้อนกลับไปสู่วงจรเดิมได้อย่างไร
ศาลบำบัดยาเสพติด (Drug Courts) คืออะไร
เมื่อยาเสพติดเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่การก่อเหตุอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หลายประเทศจึงได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพในการให้คำปรึกษาทางด้านจิตสังคม นำไปสู่การ “ศาลบำบัดฟื้นฟู” เพื่อลดการใช้โทษจำคุกและการตีตราจากโทษที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
ศาลบำบัดยาเสพติดหรือศาลยาเสพติด (Drug Courts) เอื้อให้มีการบำบัดยาเสพติดแก่ผู้เสพติด ผ่านการควบคุมดูแลของศาล โดยหากผู้ต้องโทษเข้าสู่ระบบศาลบำบัดยาเสพติดแล้ว จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลนี้ มิเช่นนั้นจะต้องโทษจำคุก
ยกตัวอย่างศาลบำบัดยาเสพติด รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย การรับการพิจารณาคดีในศาลบำบัดยาเสพติด ถือเป็นมาตรการลงโทษที่ใช้แทนการคุมขังได้ และผู้เข้าร่วมโครงการจะไม่ถูกบันทึกประวัติอาชญากรรมด้วย อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับประวัติอาชญากรรมของผู้กระทำผิด
ศาลบำบัดยาเสพติด เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1989 ที่สหรัฐอเมริกา และปัจจุบันมีศาลยาเสพติดมากกว่า 2,800 แห่ง ใน 50 รัฐทั่วประเทศ รวมทั้งในประเทศอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม แคนาดา ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศในแถบละตินอเมริกา
เป้าหมายหลักของศาลยาเสพติดมุ่งไปที่การลดการกระทำผิดซ้ำ ลดการใช้ ลดการใช้สารเสพติดในกลุ่มผู้เข้าร่วมการพิจารณาคดีจากศาลยาเสพติด และการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ปลอดภัยจาก “ภัย” ของยาเสพติดต่อไป
ศาลบำบัดยาเสพติดทำหน้าที่อะไรบ้าง
- การคัดกรองและประเมินความเสี่ยง ความจำเป็น และการตอบสนอง (Risk, Need, Responsivity - RNR) ทำการคัดกรองและประเมินผู้กระทำผิดเพื่อระบุระดับความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำ ความจำเป็นที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเสพยา และลักษณะเฉพาะบุคคลเพื่อเลือกแนวทางการบำบัดที่เหมาะสมที่สุด
- การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้พิพากษา (Judicial Interaction) ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องพบและรายงานต่อผู้พิพากษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ การให้กำลังใจ รวมถึงการลงโทษหรือให้รางวัลตามพฤติกรรม
- การติดตามและควบคุมดูแล (Monitoring and Supervision) มีการติดตามพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง เช่น การตรวจสารเสพติด การรายงานตัว และกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ
- การใช้บทลงโทษและรางวัลแบบขั้นบันได (Graduated Sanctions and Incentives) มีระบบการลงโทษและให้รางวัลที่เหมาะสมตามพฤติกรรม เช่น ลงโทษเมื่อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือให้รางวัลเมื่อมีความก้าวหน้า เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก
- การให้บริการด้านการบำบัดและฟื้นฟู (Treatment and Rehabilitation Services) จัดให้มีการบำบัดยาเสพติด การให้คำปรึกษา และการฟื้นฟูด้านอื่น ๆ เช่น การศึกษา ทักษะอาชีพ หรือสุขภาพจิต เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงลึกและลดโอกาสกลับมากระทำผิดซ้ำ
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในศาลบำบัดยาเสพติด
ปัญหาจากการใช้ยาเสพติดและอาชญากรรมนั้นเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลากหลาย ไม่สามารถมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแก้ไขปัญหานี้ได้ ศาลยาเสพติดจึงต้องพึ่งพิงการสื่อสารและความร่วมมืออย่างสม่ำเสมอระหว่างผู้พิพากษา ทนายความฝ่ายจำเลย เจ้าหน้าที่ศาล เจ้าหน้าที่คุมประพฤติ ผู้ให้บริการบำบัดฟื้นฟู นักสังคมสงเคราะห์ รวมไปถึงการสนับสนุนจากครอบครัวและชุมชนในการเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด ภายใต้คำสั่งของศาลยาเสพติด
ความท้าทายของศาลบำบัดยาเสพติด
การเข้าร่วมโครงการบำบัดยาเสพติดสำหรับผู้กระทำผิดที่มีความผิดเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมักประสบปัญหาไม่สามารถเข้าร่วมการบำบัดในโครงการได้ เนื่องจากประวัติอาชญากรรมรุนแรง อาทิ ความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว และเงื่อนไขส่วนตัว เช่น ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง การไม่สามารถเข้าถึงการเดินทางสาธารณะเพื่อเดินทางไปรับการบำบัด ไม่สามารถหยุดงานหรือขาดงานได้ เป็นต้น ทำให้ไม่สามารถร่วมบำบัดได้อย่างต่อเนื่อง งานวิจัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาบ่งชี้ด้วยว่า ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมโครงการศาลบำบัดยาเสพติดมักเป็นผู้ที่มีงานทำ รายได้มั่นคง และในบางกรณี สีผิวก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างได้
ข้อค้นพบที่น่าสนใจอีกประการคือ แม้ศาลบำบัดยาเสพติดจะมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย แต่กลับยังมีการลงโทษผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งศาล ด้วยการจำคุกเช่นเดียวกัน และสุดท้ายอาจถึงขั้นยุติการให้เข้าร่วมโครงการ เพราะผู้เข้าร่วมไม่สามารถหยุดการใช้ยาได้ในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งสะท้อนว่าศาลบำบัดยาเสพติดยังไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญของการปรับปรุงสุขภาพโดยรวม เช่นการลดการใช้ยา ขณะที่ผู้ที่ตอบสนองต่อการรักษาในบริบทของศาลยาเสพติดมักเป็นคนที่ไม่ได้มีปัญหายาเสพติด ส่วนคนที่ยังคงเสพติดอยู่มักจบลงที่การถูกจำคุก และหลายครั้งเป็นการจำคุกในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าศาลปกติ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมที่มีปัญหายาเสพติดยังประสบกับข้อเสียจากการเข้าถึงการรักษาที่ไม่เหมาะสม เช่น เจ้าหน้าที่ขาดความรู้ในการตัดสินใจเรื่องการรักษา และมีบริการรักษาคุณภาพดีหรือเหมาะกับวัฒนธรรมอย่างจำกัด
“คลินิกจิตสังคม” แนวทาง “ศาลยาเสพติด” ประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทย ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรม ได้มีการนำแนวทางบำบัดทางจิตวิทยามาใช้ร่วมกับการพิจารณาคดียาเสพติด เริ่มจากการมีคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยา เรียกว่า คลินิกจิตสังคม หรือโครงการ “พัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในคดียาเสพติดและคดีอื่นที่เกี่ยวข้องในระบบศาล” เป็นหนึ่งในกระบวนการแก้ไขและฟื้นฟูเด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมไปถึงผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวหรือรอการลงโทษจำคุกในคดียาเสพติดหรือมียาเสพติดให้โทษไว้ในความครอบครองจำนวนเล็กน้อย และคดีอื่นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการใช้สารเสพติด
คลินิกจิตสังคมนั้นจะทำหน้าที่ในการประเมิน คัดกรอง ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา แก้ไขบำบัด และติดตาม นับเป็นบริการเชิงรุกและป้องกันของศาลไทย เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเป็นกลไกหนึ่งในการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีไม่ร้ายแรง อย่างไรก็ดี ผู้เข้ารับบำบัดจากคลินิกฯ สามารถเป็นได้ทั้งผู้กระทำผิดที่ถูกส่งต่อมาจากศาล เด็ก เยาวชน และผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเสพติด หรือมีภาวะทางจิตเวช รวมทั้งประชาชนทั่วไป
ล่าสุด จากเอกสารคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2567 มีใจความสำคัญในการมุ่งเน้นการบำบัดรักษาและฟื้นฟูยาเสพติดอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติดดังกล่าว
ยกตัวอย่างในข้อ 1 ระบุว่า ในคดีที่จำเลยถูกฟ้องว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดเพื่อเสพ ศาลพึงคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งเน้นการสงเคราะห์ให้จำเลยเข้ารับการบำบัดรักษายิ่งกว่าการลงโทษ หรือในข้อ 5 ระบุถึงกรณีที่ไม่สามารถส่งผู้กระทำผิดเข้ารับการรักษาได้ ศาลอาจพิพากษารอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษแก่จำเลย โดยกำหนดให้การบำบัดรักษาเป็นเงื่อนไขหนึ่งเพื่อคุมความประพฤติ หรือจะพิพากษาโดยใช้การบำบัดรักษาเป็นเงื่อนไขในการคุมประพฤติแทนการลงโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติดก็ได้
นอกจากนั้น กระทรวงยุติธรรมยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำแนวคิดศาลบำบัดยาเสพติดมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพด้วย
โดยสรุปแล้ว ศาลบำบัดยาเสพติด เป็นแนวคิดการใช้โทษแทนการจำคุกสำหรับผู้กระทำผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือคดีที่เป็นผลต่อเนื่องจากการเสพยาเสพติด โดยศาลบำบัดยาเสพติดมุ่งไปที่การลดการกระทำผิดซ้ำ ลดการใช้ ลดการใช้สารเสพติดในกลุ่มผู้เข้าร่วมการพิจารณาคดีจากศาลยาเสพติด และการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สังคมปลอดภัยจากยาเสพติด และลดการจำคุกผู้กระทำผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในคดีที่มีโทษเล็กน้อย อย่างไรก็ดี การนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นยังคงต้องการการศึกษาต่อไป และขึ้นอยู่กับบริบทและเงื่อนไขของแต่ละประเทศและพื้นที่
อ้างอิง
- เอกสารคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2567
https://library.coj.go.th/th/pdf-view.html?fid=52114&table=files_biblio&main=legal-information-center&category=legal-database - TIJ-ศาลยุติธรรมร่วมมือด้านวิชาการประเมินประสิทธิภาพ “คลินิกจิตสังคม” https://www.tijthailand.org/what-we-do/detail/mou-tij-justice-court-psychology-clinic-evaluation
- National Treatment Court Resource Center https://ntcrc.org/
- National Treatment Court Resource Center, What are drug courts? https://ntcrc.org/what-are-drug-courts/
- The State of Queensland, Queensland Courts, Drug and Alcohol Diversion Programs https://www.courts.qld.gov.au/services/court-programs/drugalcohol
- Justice Policy Institute. ADDICTED TO COURTS: How a Growing Dependence on Drug Court Impacts People and Communities https://justicepolicy.org/wp-content/uploads/justicepolicy/documents/jpi_addicted_to_courts_factsheet_final.pdf
- Drug Policy Alliance. Drug Courts Are Not the Answer: Toward a Health-Centered Approach to Drug Use: https://drugpolicy.org/wp-content/uploads/2023/09/Drug-Courts-Are-Not-the-Answer_Final2.pdf