ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ Public Forum เวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 10  (Part 1)

 

“หลักนิติธรรม เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้สังคมมีความเป็นธรรม เป็นรากฐานไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ถ้าไม่มีหลักนิติธรรม อย่าว่าแต่จะทำให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้า แค่จะทำให้สังคมสงบสุขก็เป็นเรื่องยาก ดังนั้นผู้นำรุ่นใหม่ ต้องใช้หลักนิติธรรม สร้างความร่วมมือร่วมใจไปสู่การฝ่าฟันวิกฤต เพราะการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว”

 

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ปาฐกถาหัวข้อ “หลักนิติธรรม ช่วยผู้นำฝ่าวิกฤต” ในเวที TIJ Public Forum ที่จัดขึ้นผ่านการอบรมหลักสูตรเครือข่ายหลักนิติธรรมและการพัฒนา หรือ RoLD 2020 : The Resilient Leader (Rule of Law and Development 2020) โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

 

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าวว่า หลายภาคส่วนในเวทีโลก พยายามผลักดันให้ “หลักนิติธรรม” เป็นหนึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) จนสำเร็จเป็นเป้าหมายที่ 16 คือ “ส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพราะมีความเชื่อร่วมกันว่า “กฎหมาย” ต้องไม่ใช่เพียงแด่กฎเกณฑ์ที่ถูกบังคับใช้โดยผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่ต้องเป็นกฎระเบียบเพื่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ถูกบังคับใช้อย่างเสมอภาค ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และยึดโยงกับหลักประชาธิปไตย ซึ่งในเวทีโลกมีบทเรียนจากการแลกเปลี่ยนกันและพบว่า หัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดหลักนิติธรรมขึ้นมาได้ คือ สังคมต้องมีความเชื่อถือต่อระบบยุติธรรม ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ด้วยบุคคลใดเพียงคนเดียว

 

 

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายด้านของโลกในช่วงปี 2020 เป็นตัวอย่างที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ แสดงให้เห็นว่า ผู้นำรุ่นใหม่ จำเป็นต้องปรับตัวให้รวดเร็วตามไปด้วย ตั้งแต่การเปลี่ยนดุลยภาพอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ไปถึงการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ที่จะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์ เช่น Metaverse หรือ Cryptocurrency ซึ่งอาจทำให้บริษัททางดิจิทัล มีอำนาจมากกว่าประเทศต่างๆได้ เพราะมีพลเมืองเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลเยอะมาก ในขณะที่บางประเทศกลับกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ หรือบางประเทศยังมีเด็กที่ขาดสารอาหารอยู่ พร้อมยกตัวอย่างปัญหาที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้เห็นความร่วมมือร่วมใจในการเปลี่ยนแปลง คือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก ซึ่งทำให้กลุ่มธุรกิจต่างๆจับมือกันเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงทุนให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

 

 

ส่วนความท้าทายในประเทศไทย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ เห็นว่า ไทย ยังย่ำอยู่กับที่เหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน ด้วยปัญหาหลายด้าน ตั้งแต่การที่ยังไม่สามารถก้าวผ่านความขัดแย้งทางการเมืองได้ และยังพบปัญหาเพิ่มขึ้นจากความแตกต่างของ Generation ซึ่งต่อไปคนรุ่นเก่าอาจต้องมีคู่มือไว้เพื่อใช้ในการคุยกับคนรุ่นใหม่ ยังมีปัญหาคุณภาพของระบบการศึกษา ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น เมื่อมาบวกกับการพบวิกฤตจาก COVID-19 ก็ยิ่งทำให้ประเทศไทย อยู่ในภาวะ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ดังนั้นเราจึงเห็นคำว่า Resilient มากขึ้นในปัจจุบัน เพราะเป็นคุณสมบัติที่ผู้นำรุ่นใหม่ในองค์กรต่างๆต้องมี คือ ผู้ที่สามารถพาตนเอง หมู่คณะ องค์กร หรือประเทศก้าวผ่านไปจากความยากลำบาก มีความสามารถฟื้นตัวกลับมาจากวิกฤตได้โดยไม่ถอดใจ

 

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ รวบรวมคุณสมบัติของผู้นำในภาวะเช่นนี้ไว้ดังนี้

มองเห็นโอกาสในปัญหา - การไม่ถอดใจกับปัญหาและพยายามมองหาโอกาสจากปัญหา ถือเป็น “วิธีคิด” ที่สำคัญ ของผู้นำยุคใหม่

มีความสามารถในการดึงศักยภาพสูงสุดจากทีมงาน – ผู้นำต้องเปลี่ยนวิธีคิดจาก “Me เป็น We” จาก “ตัวเรา เป็น พวกเรา” เป็นเหมือนคอนดักเตอร์ที่สามารถรีดศักยภาพสูงสุดออกมาจากนักดนตรีแต่ละคนในวง ให้บรรเลงเพลงเป็นที่ไพเราะออกมา

รับฟังและเรียนรู้สิ่งใหม่ – ผู้นำต้องเปลี่ยนจากการเป็นผู้พูดกลายเป็นผู้ฟังให้มากขึ้น เพื่อจะได้เปิดรับสิ่งใหม่ๆจากคนรุ่นใหม่ได้ เช่น Metaverse เป็นสิ่งที่คนรุ่นเก่าอาจไม่เข้าใจเลย ถ้าไม่เปิดใจรับฟัง ก็จะยิ่งไม่มีทางเข้าใจ ไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้

เห็นความแตกต่างเป็นความสวยงาม - ผู้นำต้องไม่ปฏิเสธความเห็นต่าง แต่ต้องพยายามหาทางเชื่อมประสานให้ความเห็นที่หลากหลายมีจุดร่วมที่จะนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันได้

เป็นที่เชื่อถือศรัทธาและสามารถสร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกัน - ผู้นำต้องสร้างบรรยากาศร่วมที่ทำให้คนที่หลากหลายอยากเข้ามาช่วยทำงาน

เป็นผู้นำบนพื้นฐานของคนดีมากกว่าอำนาจ - หากผู้นำใช้อำนาจเป็นตัวนำ ผู้คนจะตั้งคำถามต่อการใช้อำนาจ แต่หากผู้นำพยายามสร้างความน่าเชื่อถือเป็นตัวนำ ก็จะมีคนอยากเดินตามเอง

 

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ สรุปว่า การสร้างสังคมที่เป็นธรรม ต้องมีหลักนิติธรรมเป็นเครื่องมือที่สำคัญ และผู้นำองค์กรต่างๆต้องมีวิธีคิดที่พร้อมจะทลายปัญหาอุปสรรคทุกด้านโดยไม่ถอดใจ เพื่อนำไปสู่การสร้างความร่วมมือของทุกฝ่ายเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

 

 

จากนั้น จึงเข้าสู่ช่วงอภิปราย โดยเริ่มจากหัวข้อ “เทคโนโลยีกับการส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงความเป็นธรรม” และ “การพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยี (Open Data & Technology for Better Living)” กลไกการรวมศูนย์ข้อมูลที่จะช่วยการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกดิจิทัลของพื้นที่นำร่องในจังหวัดฉะเชิงเทราให้กลายเป็นพื้นที่นำร่องทางเศรษฐกิจที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและธุรกิจ มีความปลอดภัยสูง และลดโอกาสการเกิดอาชญากรรม

 

 

ประเด็นอภิปรายหัวข้อ “เทคโนโลยีกับการส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงความเป็นธรรม”

 

 

คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทยและประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีในการส่งเสริมโอกาสเข้าถึงความเป็นธรรมในประเทศไทยว่า หลักคิดที่จะขับเคลื่อนให้โลกก้าวไปอย่างยั่งยืนคือ ความเป็นธรรม (Fairness) ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงการปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอภาค แต่ต้องคำนึงถึงผลจากการปฏิบัตินั้นว่าก่อให้เกิดความเท่าเทียมหรือไม่ เพราะต้นทุนหรือบริบทของแต่ละกลุ่มคนและภาคส่วนล้วนแตกต่างกัน ความสำคัญของเรื่องนี้เด่นชัดมากในวิกฤตโควิด 19 ที่ชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นบ่อเกิดของความไม่เป็นธรรม และมีอยู่สูงระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่เล็ก กลุ่มคนต่างฐานะ หรือธุรกิจหรือกลุ่มคนที่เก่งเทคโนโลยีสมัยใหม่กับธุรกิจดั้งเดิม

 

 

คุณผยง อธิบายว่า เทคโนโลยีเป็นกุญแจที่จะช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยยกกรณีศึกษาของธนาคารกรุงไทย เพื่อให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทได้ใน 4 มิติ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา และด้านสุขภาพ

 

 

มิติที่ 1 เทคโนโลยีเพิ่มการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่พบข้อจำกัดจากการเข้าถึงระบบสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ การนำเทคโนโลยีทางเลือกและข้อมูลทางเลือก (alternative data) เช่น รูปแบบการชำระสาธารณูปโภค ข้อมูลซื้อขายสินค้าออนไลน์ มาประมวลผลด้วย มาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำมาช่วยพิจารณาการให้สินเชื่อรูปแบบใหม่ รวมทั้งการให้สินเชื่อแบบกระโดดข้ามตัวกลาง (peer to peer lending) อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำแซนด์บ็อกซ์และใบอนุญาตใหม่ในการทำธุรกิจ peer to peer lending ที่คาดว่าจะใช้ได้ในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันของธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยจัดทำ Thailand Financial Smart Infrastructure และ Platform ให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กนำใบเรียกเก็บค่าสินค้ามาเก็บเป็นเงินสดได้ เป็น e-invoice platform

 

 

รวมถึงการให้ความเป็นธรรมในด้านมาตรการเศรษฐกิจของรัฐ อย่างการพัฒนาของรัฐ อย่างแอพพลิเคชั่น “เป๋าตังค์” ด้วยหลักคิด Thailand Open Digital Platform ให้คนไทยทุกคนเข้าถึงมีส่วนร่วม ภาคประชาชน เอกชน รัฐบาล และธุรกิจได้อย่างครบถ้วน ไร้ขอบเขต จะเห็นได้ว่าเป็นการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการเข้าถึงมาตรการของรัฐ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน มาตรา33 เป็นต้น

 

 

เทคโนโลยียังมีบทบาทในการให้โอกาสทางเศรษฐกิจในมิติการออมและการลงทุน โดยธนาคารกรุงไทยได้ร่วมกับกระทรวงการคลังทำ Wallet สบม. หน่วยละ 1 บาท ลงทุนขั้นต่ำ 100 บาท ให้ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปเข้าถึงการออม ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลขายในแอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์ รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีไปต่อยอดนำตราสารอื่น ๆ หุ้นกู้ดิจิทัล เป็นต้น

 

 

มิติที่ 2 เทคโนโลยีที่เปิดโอกาสการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่สะดวกรวดเร็ว มีการปฏิรูปให้ทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น ธนาคารกรุงไทยได้ร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม นำเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาบนธุรกรรมทางการเงิน ไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการยุติธรรม เปิดให้ยื่นฟ้องได้ผ่าน e-court filing อย่างในคดีความแพ่ง สามารถยื่นฟ้อง ชำระเงิน ยื่นคำให้การ คำร้อง ตรวจสอบสถานะต่างๆ ผ่านระบบได้ โดยปัจจุบันมีการนำไปใช้ในศาล 162 แห่งทั่วประเทศแล้ว เป็นการนำมาใช้ในมิติให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งมีการขยายบริการไปสู่การนำระบบชำระเงินมาใช้ในการโอนเงินจากญาติผู้ต้องขังให้ผู้ต้องขังร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ทำให้สามารถโอนเงินได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตรวจสอบได้ เพื่อยกระดับคุณภาพผู้ต้องขังให้เรือนจำทั่วประเทศด้วย

 

 

มิติที่ 3 เทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อให้เยาวชนนับล้านเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับระบบข้อมูลให้ผู้กำหนดนโยบายค้นหาผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงการศึกษา เช่นตัวอย่างนวัตกรรมดิจิทัลที่เรียกว่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครอบคลุมข้อมูลเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ 4 ล้านกว่าคน เชื่อมโยง 6 กระทรวง ให้เห็นความเหลื่อมล้ำ จากข้อมูลที่มีอย่างละเอียด และสามารถนำข้อมูลไปบูรณาการร่วมกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาแก่ประชาชนทุกภาคส่วน

 

 

มิติที่ 4 เทคโนโลยีเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการมีสุขภาพที่ดีเท่าเทียมกันสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ธนาคารกรุงไทย ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พัฒนาเทคโนโลยีเป็นกระเป๋าสุขภาพ เพื่อให้บริการสิทธิขั้นพื้นฐานในการตรวจสุขภาพและการฉีดวัคซีนตามวัย ตามฤดูกาลถึง 16 สิทธิ ภายในแอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์ รวมทั้งสามารถตอบโจทย์วิกฤตโควิด-19 ได้รวดเร็วและทันเวลา โดยมีโอกาสในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับโครงการ กทม. ไทยร่วมใจกรุงเทพปลอดภัย และสภาหอการค้าในการเปิดโอกาสและสถานที่ให้บุคลากรทางการแพทย์เร่งฉีดวัคซีนให้คนกรุงเทพอย่างรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเชื่อมโยง supply ของวัคซีนไปยังจุดต่างๆ และ reconcile ตลอดเวลา ทำให้กรุงเทพสามารถฟื้นจากสภาพพื้นที่สีแดงมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

 

 

คุณผยง ยังได้ยกตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรณีอื่นๆ เช่น การร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และมูลนิธิรักษ์ไทย ในการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการเงินไปช่วยเหลือชุมชนคนขับเรือและชาวประมงเกาะเต่าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรุนแรง เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว สร้างพื้นฐานต่อยอดอย่างยั่งยืน ให้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมมีโอกาสตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ SDGs ของสหประชาชาติอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยี e-donation มาให้ช่วยเหลือชุมชนเกาะเต่า เป็นต้น 

 

 

"เทคโนโลยีในโลกปัจจุบันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเป็นเครื่องมือส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงความเป็นธรรมแก่คนไทยทุกคน ต้องร่วมกันให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการใช้เทคโนโลยีเสริมสร้างชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น" คุณผยง กล่าวสรุป

 

 

ประเด็นเสวนา “การพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยี (Open Data & Technology for Better Living)

 

 

ในหัวข้อแนวคิดการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยี (Open Data & Technology for Better Living) ผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD2020: The Resilient Leader กลุ่ม T ดำเนินรายการโดย เลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้นำเสนอถึงกลไกการรวมศูนย์ข้อมูลที่จะช่วยการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกดิจิทัลของพื้นที่นำร่องในจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้กลายเป็นพื้นที่นำร่องทางเศรษฐกิจที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและธุรกิจ มีความปลอดภัยสูง และลดโอกาสการเกิดอาชญากรรม

 

 

Smart City คืออะไร

 

 

รศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดี มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวถึงหลักกว้างของ Smart City ว่าเป็นเมืองที่มีเทคโนโลยีมีระบบต่างๆ ที่ดี การจราจร การบริหารพลังงาน อุตสาหกรรม เกษตรกรรม มี AI มีความอัตโนมัติ มีบริการที่ดี มี good governance ผู้คนเข้าถึงความยุติธรรมได้ หากมองแง่เทคโนโลยี จะมีอุปกรณ์ต่างๆ sensor ขนาดเล็ก ให้ข้อมูลไหลเข้ามาใน platform ที่สร้างไว้ และบริหารจัดการข้อมูลให้เมืองเป็น smart city อย่างไรก็ดี จากการลงพื้นที่ พบว่ามีมิติซับซ้อนกว่านั้น กล่าวคือ เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ แต่ที่จริงต้องเป็นเมืองที่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของคน เมืองน่าอยู่ น้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ ได้รับบริการที่ดี มี resilient พร้อมจะก้าวไปข้างหน้าพ้นวิกฤต คนได้รับการดูแลความยุติธรรม inclusive มีการบริหารจัดการที่ดี ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทุกอย่างนี้หากทำได้ก็จะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ทำให้คนในเมืองใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข สงบ และปลอดภัย สามารถพัฒนาเมืองต่อไปได้  

 

 

แนวทางส่งเสริม “ฉะเชิงเทรา” นำร่องเมืองดิจิทัล

 

 

พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการกองตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า หลังจากลงพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่าประชาชนจะมีความสุข หากเมืองปลอดภัย โดยได้ข้อมูลจากหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือหลายหน่วยงาน ปัญหาหลักที่พบในจังหวัดเป็นปัญหาอาชญากรรมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ยาเสพติด จราจร และความเดือดร้อนที่ไม่ใช่คดีอาญา แต่เป็นร้องเรียนเรื่องต่างๆ ที่หากไม่สามารถตอบสนองได้ ประชาชนก็จะไม่มีความสุข ก็ต้องพยายามลดปัญหาต่างๆ แต่อุปสรรคคือการขาดการเชื่อมโยงข้อมูลและการติดตามผลระหว่างหน่วยงาน

 

 

แนวทางแก้ไขอาจทำได้โดยใช้ระบบ ticketing system รับเรื่องร้องเรียนเป็นระบบไปส่วนกลาง มีการ tracking ระยะเวลาการดำเนินการ ว่าคาดหวังได้ว่าจะเกิดการติดตามผลการร้องเรียน มีระบบ AI Chatbot ช่วยตอบให้ประชาชนที่มีจำนวนมากกว่าเจ้าหน้าที่ และการใช้ social listening ในโลกออนไลน์ เมื่อมีการจัดระบบก็มีการแยกกลุ่มว่า เป็นร้องเรียน ความจำเป็นหรือเรื่องเร่งด่วน ก่อนจะกระจายให้ทีมสหวิชาชีพร่วมกันดำเนินการ และที่สำคัญคือผู้บริหาร หรือผู้ว่าการจังหวัดต้องมองเห็น Single Page Dashboard ที่จะบอกได้ว่าแต่ละวันจังหวัดพบปัญหาอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นปัญหาที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร หากมีระบบนี้มาทำงานควบคู่ไป ในจังหวัดจะเห็นว่าเป็นปัญหาด้านไหน ว่าต้องพัฒนาอะไรต่อเพื่อพัฒนาแก้ปัญหาในอนาคต เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด อย่างไรก็ดี แต่ละหน่วยงานอาจมีการเก็บข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ต้องเริ่มจากมีฐานข้อมูลกระบวนการยุติธรรมที่แม่นยำ ต้องมี cloud big data ในกระบวนการยุติธรรม

 

 

กรณีศึกษาเพื่อเมืองปลอดภัยจากการใช้ประโยชน์ “Data” 

 

 

คุณปฐมา จันทรักษ์ รองประธานกลุ่มอินโดจีนและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงกรณีศึกษาจากทั่วโลกในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Data) ว่า หลายประเทศทั่วโลกได้นำข้อมูลไปใช้เพื่อการป้องกันการก่ออาชญากรรม และใช้ในกระบวนการยุติธรรมมานานแล้ว โดยมีการนำข้อมูลมาใช้คาดการณ์การก่ออาชญากรรม ระบุภัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้ แต่ต้องใช้ข้อมูลจากหลากหลายองค์กรและหลากหลายมิติ และมุ่งเป้าหมายที่การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ โดยยกตัวอย่างเมืองริชมอนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และเมืองเอ็ดมันตัน ประเทศแคนาดา ที่มี dashboard จากแหล่งข้อมูลหลากหลายเพื่อให้สามารถศึกษารูปแบบและคาดการณ์การก่ออาชญากรรมได้

 

 

คุณปฐมา ยังได้ยกตัวอย่างการเชื่อมโยง การใช้ และการแชร์ (แบ่งปัน) ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จากคดี Boston Marathon ปี 2556 ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วย FBI ในการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดจากกล้องวงจรปิดและข้อมูลอื่นๆ จากหน่วยงานต่างๆ แล้วนำมาใช้และแชร์ ทำให้ได้ตัวผู้ต้องสงสัยว่าจะก่อเหตุ ได้อย่างรวดเร็ว เป็นตัวอย่างที่บอกได้ว่า การสร้างเมืองให้ประชาชนมีความสุขได้ สิ่งที่เทคโนโลยีช่วยได้คือการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์

 

 

ข้อมูล ทำให้เมือง Smart และ Happy อย่างไร

 

 

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและคณะกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามเมทริกซ์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า ข้อมูลจะต้องช่วยให้ได้ผลลัพธ์คือ ต้องวัดประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และความไม่เอนเอียง กล่าวคือ ประสิทธิผล ช่วยให้เกิดปัญหาในชีวิตคนเมืองน้อยลง ประสิทธิภาพ ทำให้แก้ปัญหาได้เร็ว มีปัญหาแล้วไม่เสียหายเท่าเดิม และความไม่เอนเอียง คือคุณภาพของการบริการเท่าเทียมทุกท้องที่ทุกชนชั้น

 

 

การทำงานในกรณีศึกษา คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ข้อมูลจากหลายๆ ด้านที่นำมาใช้เป็นข้อมูลร้องเรียน ข้อมูลคดีจราจร ข้อมูลคดีอาญา สามารถนำมาใช้ให้ข้อมูลกลายเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ (Intelligence) ได้ในหลายกรณี เช่น ใช้ข้อมูลเป็นเหมือน KPI เพื่อวัดผลงานตนเองว่าปกครองได้ดีแค่ไหนในห้วงเวลานั้นๆ และมีบางส่วนให้ประชาชนได้เห็นด้วย และสามารถเจาะลงไปในแต่ละประเภทได้ว่ามีปัญหาอะไรบ้างในเมือง จะได้ใช้ทรัพยากรที่จำกัดได้อย่างเป็นประโยชน์คุ้มค่า การนำข้อมูลอื่นๆ มาใช้ประกอบกัน เช่น Hotspot Analysis อย่างอุบัติเหตุทางถนน และการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ พบว่ามีการกระจายในหลายพื้นที่ อาจเพราะแสงสว่างหรือไม่ อาจยังตอบไม่ได้ แต่ก็เป็นคำถามให้ผู้ปฏิบัติต้องสืบต่อไป และการวิเคราะห์แนวโน้มของแต่ละพื้นที่ (predict trend) ว่ามีแนวโน้มอย่างไร เพื่อให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น เช่นกรณีบางพื้นที่มีคดีอยู่มากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเร่งเข้าไปแก้ไข เป็นต้น

 

 

ดร.ณภัทร กล่าวสรุปถึงแนวทางพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยีว่า อาจทำได้ 3 แนวทาง ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีเป็นแพลทฟอร์มร้องทุกข์ของประชาชน ที่สามารถวัดผล KPI ได้ ให้ภาครัฐมีแรงจูงใจแก้ไขปัญหาได้  การใช้เทคโนโลยีเพื่อคาดการณ์แนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุหรืออาชญากรรม เพื่อให้เมืองปลอดภัย และข้อสามที่สำคัญที่สุดคือการใช้เทคโนโลยีเพื่อวัดผลนโยบาย และขยายผลให้เห็นเป็นรูปธรรมจากระดับจังหวัดสู่ระดับประเทศ

 

 

เทคโนโลยีเป็นดาบสองคม

 

 

วงเสวนายังได้ให้ข้อคิดเห็นถึงการนำเทคโนโลยีและข้อมูล Intelligence ไปใช้ด้วยว่า การพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยีต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วน มีการนำไปใช้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ เชื่อมโยงคนเข้ามาและนำข้อมูลไปใช้การพัฒนาเมืองได้ ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถออกแบบระบบการเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องคำนึงถึงความท้าทายใหม่ เช่น อาชญากรรมไซเบอร์ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เป็นต้น

 

Back