ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เรือนพธำมรงค์ พิพิธภัณฑ์มีชีวิตเพื่อฟื้นสัมพันธ์ระหว่างผู้ต้องขังและชุมชน 
 

การก้าวเท้าออกจากเรือนจำครั้งแรกของผู้ต้องขังที่อยู่หลังกำแพงมานาน มักจะเป็นก้าวที่ไม่มั่นคง จากภาวะไม่รู้ว่าโลกภายนอกเป็นเช่นไรระหว่างที่พวกเขาถูกล้อมไว้ด้วยลวดหนามและผนังปูน ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำความผิดย่อมต้องมีบทลงโทษและการถูกควบคุมตัว แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้รับไปการบำบัดฟื้นฟูเยียวยา เพื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคม ออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเช่นเดียวกับคนทั่วไป 

เพื่อส่งเสริมการกลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุขของผู้พ้นโทษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ จึงร่วมมือกันจัดทำ “โครงการพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์” บนพื้นที่เดิมของเรือนจำชั่วคราวกลางเวียง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด “จากอดีต ถึงปัจจุบัน สู่อนาคต” เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่จากในสมัยอดีตที่เคยเป็นสถานที่แห่งการลงโทษ กระทั่งเปลี่ยนผ่านมาสู่การเป็นสถานที่เพื่อการบำบัดฟื้นฟู ฝึกวิชาชีพที่หลากหลายและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยที่มีประสิทธิภาพร่วมกับชุมชนในการทำกิจกรรมต่างๆ และเมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม พ.ศ. 2565 ได้จัดให้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า โครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์ ถือเป็นความร่วมมือในมิติใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเรือนจำและมหาวิทยาลัย โดยมี TIJ เป็นองค์กรผู้ประสานงานระหว่างกลาง โครงการนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ที่แวะเวียนมาชม ได้เข้าใจเกี่ยวกับที่มาและภูมิหลังของผู้ต้องขังหญิง มิติความเป็นมนุษย์ และมาตรฐานระหว่างประเทศในการดูแลผู้ต้องขัง ดังนั้น TIJ ในฐานะภาคีโครงการนี้จึงเชื่อว่า หัวใจหลักของการนำคนไปรับการลงโทษทางอาญาด้วยการคุมขัง คือ การที่เราเข้าใจผู้ต้องขังในฐานะเพื่อนมนุษย์ และให้โอกาสพวกเขาได้กลับมาเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของสังคมอีกครั้ง

 

ด้านนางอาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่มีโปรแกรมหลายอย่างในการเตรียมความพร้อมแก่ผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ เพื่อสร้างทักษะใหม่ๆ ในการทำงานและค่านิยมในการดำรงชีวิต เพราะงานราชทัณฑ์คือการช่วยให้ผู้ต้องขังได้ปรับเปลี่ยนตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น และเราหวังว่าพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์จะเป็นสถานที่ที่ชุมชนสามารถเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับการฝึกอาชีพผู้ต้องขัง เข้าใจถึงศักยภาพที่ผู้ต้องขังมี และเปิดมุมมองใหม่ๆ ต่อคนกลุ่มนี้   

ในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์ครั้งนี้ นางสาวชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ ยังได้ร่วมกล่าวถึงพัฒนาการของโครงการด้วยว่า “เมื่อพูดถึงเรือนจำเรามักนึกถึงสถานที่แห่งการลงโทษ แต่ในความเป็นจริงแล้วเรือนจำยังมีฟังก์ชั่นสำคัญในการบำบัดฟื้นฟูและพัฒนาทักษะผู้กระทำผิด เนื้อหาหลักในพิพิธภัณฑ์สะท้อนบทบาทเหล่านี้ โดยนำเสนอมุมมองความเป็นมนุษย์ผ่านเรื่องราวเส้นทางชีวิตของผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่โลกหลังกำแพง และมุมมองของประชาคมโลกที่ให้ความสำคัญกับความแตกต่างระหว่างผู้ต้องขังหญิงและผู้ต้องขังชาย ซึ่งนำมาสู่รับรองข้อกำหนดกรุงเทพ  เรือนพธำมรงค์จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งต่อเรื่องราวของผู้ต้องขังหญิง เพื่อต่อยอดไปสู่ความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในชุมชนในอนาคต”

ก่อนจะมาเป็นพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์ TIJ ได้ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้และทำความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักการออกแบบเรือนจำที่มุ่งบำบัดฟื้นฟูและดูแลผู้ต้องขังหญิงตามข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพ) โดยนักศึกษาได้เข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ใช้และผู้ปฏิบัติจริงในเรือนจำ นั่นก็คือผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เรือนจำ เพื่อปลูกฝังทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนและนิติธรรมให้แก่กลุ่มเยาวชน พร้อมไปกับการสร้างโอกาสให้แก่ผู้ต้องขังหญิงใกล้พ้นโทษ

 

ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงแนวคิดการออกแบบ และความรู้สึกของหน่วยงานที่ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาว่า “เรื่องของการออกแบบสิ่งปลูกสร้างในกระบวนการยุติธรรมค่อนข้างจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา การที่นักศึกษาได้รับโอกาสเรียนรู้เรื่องราวของผู้คนในรั้วเรือนจำ ผ่านการออกแบบเรือนพธำมรงค์ ช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาทัศนคติ เปิดมุมมองใหม่ๆ และคำนึงถึงจิตใจของผู้คนได้มากขึ้น ดังนั้น ในฐานะของนักออกแบบเมื่อเรามีโอกาสจะได้ใช้งานออกแบบสถาปัตยกรรมของเราเพื่อช่วยให้ชีวิตของใครสักคนดีขึ้น เราจะไม่ลังเลเลยที่จะพุ่งเข้าหาโอกาสนั้น”

 

ภายในพิธีเปิดฯ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เรือนพธำรงค์ และรับฟังเวทีเสวนาเกี่ยวกับอนาคตของการสร้างความร่วมมือของชุมชนและเรือนจำ โดยในพื้นที่กิจกรรมได้จัดให้มีซุ้มอาหารพื้นเมือง บริการนวดแผนโบราณ การแสดงและจำหน่ายสินค้า หัตถกรรม การแสดงดนตรี จากกลุ่มผู้ต้องขังหญิง ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ด้วย 

Back

Contact :

icon

ส่วนที่รับผิดชอบ ส่วนกลาง

icon

อีเมล : info@tijthailand.org

chat