ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

ใครบางคนเปรียบเปรยว่าถ้าอยากรู้จักส่วนที่มืดมนที่สุดในสังคม ให้ลองเข้าไปอยู่ในเรือนจำ

ราวกับว่าทั้งหมดที่เป็นอยู่ในนั้นคือท่อน้ำทิ้ง ที่รวมของไม่ดีไหลมารวมกัน

ข้อเท็จจริงก็ส่วนหนึ่ง แต่ใช่หรือไม่ว่าถ้ามองแบบนั้นจริง และคิดว่าโลกนี้สามารถกวาดต้อนผู้คนที่ทำผิดกฎหมายให้ไปรวมอยู่ในเรือนจำได้เสีย สังคมจะศิวิไลซ์ขึ้น

มนุษย์นั้นขาวจัดหรือดำจัดง่ายดายขนาดนั้นเชียวหรือ

พิจารณาให้ถี่ถ้วนก็ย่อมรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ และไม่ง่ายดายขนาดนั้น

กรมราชทัณฑ์ระบุว่าไทยติดอันดับ6 ผู้ต้องขังมากที่สุดในโลก เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน

ไทยมีผู้ต้องขังมากถึง340,000 คน แต่เรือนจำสามารถรองรับผู้ต้องขังจริงๆ ได้ประมาณ 120,000 คน ทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุก

พื้นที่จำกัด แต่ผู้ต้องขังกลับเพิ่มขึ้น ก็เหมือนลูกโป่งที่ถูกอัดลมเข้าไปเกินพอดี ย่อมมีวันแตก

แต่ก่อนจะรอให้ทุกอย่างสายเกินไป ดั่งเช่นที่เรามักเห็นผู้ต้องขังก่อจลาจลในเรือนจำมาแล้วหลายครั้งหลายครา ผู้คุมถูกจับเป็นตัวประกัน บ้างถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ไปจนกระทั่งเรือนจำถูกเผาทำลาย

ใช่หรือไม่ว่า เหตุผลหนึ่งมาจากความเครียดของผู้ต้องขัง ทั้งพื้นที่แออัด และการถูกปฏิบัติจากผู้คุม ราวกับผู้ต้องขังเป็นปีศาจ

แล้วอะไรคือเงื่อนไขที่จะไปปลดล็อกความเครียดที่สุมไฟรอวันระเบิดนั้น

‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures of Women Offenders) ซึ่งริเริ่มโดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 65 ได้ให้การรับรองเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553

หลักใหญ่ใจความคือความพยายามสร้างมาตรการทางสากล เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานในเรือนจำ ตั้งแต่กระบวนการแรกรับ การปรับปรุงสภาพจิตใจและทัศนคติ การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขัง

‘โครงการเรือนจำต้นแบบ’ ที่ขับเคลื่อนโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ถือกำเนิดขึ้นจากหลักการสากลนี้ หลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อิสรภาพที่สูญเสียไปจากการรับโทษทางคดีความ ไม่ได้แปลว่าความเป็นคนต้องสูญสิ้นไป

อิสรภาพที่ถูกจำกัดนั้นไม่ได้แปลว่าโอกาสต้องถูกจำกัดไปด้วย

เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในโครงการเรือนจำต้นแบบที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 เน้นที่แดนผู้ต้องขังหญิง เพื่อพิสูจน์ว่าการสร้างพื้นที่ที่ดีและกิจกรรมที่ดี ทำให้ผู้ต้องขังมีโอกาสกลับคืนสู่สังคมได้เหมือนคนทั่วไป

ไม่ต้องถูกตีตรา!

ตั้งแต่การฝึกอาชีพนวดแผนไทย, ทาเล็บ, ทำผม, เสริมสวย, ทำเบเกอรี่,กาแฟ, กีฬา, โยคะ,ดนตรี มากกว่านั้นยังมีห้องผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์และเด็กอ่อน

ทั้งหมดทั้งปวงคือสิทธิในชีวิตที่ดีกว่า แม้ว่าถูกจำกัดพื้นที่ สิทธิของอนาคตที่มีความหวัง

แม้ที่นี่ยังเป็นเพียงส่วนน้อยของเรือนจำทั่วประเทศ แต่ก็อาจนับเป็นแสงเรื่อเรืองในเรือนจำ ที่ช่วยไล่ความมืดออกไปได้บ้าง

 

 

1. ผู้คุมแดนหญิงในเรือนจำจังหวัดอยุธยา รู้จักการให้เกียรติและปฏิบัติกับผู้ต้องขังเหมือนคนปกติ เพราะที่นี่เป็น ‘บ้านเปลี่ยนชีวิต’ ไม่ใช่เปลี่ยนไปสู่ความเลวร้าย แต่เปลี่ยนไปสู่โอกาสในการคืนกลับสังคมอีกครั้ง

 

 

2. การตรวจร่างกายผู้ต้องขังว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ หรือการตรวจค้นก่อนเข้าเรือนจำเพื่อดูว่ามีสิ่งของต้องห้ามหรือไม่ จะไม่มีการถอดเสื้อผ้า เพราะไม่ใช่การลงโทษ

 

 

3. เมื่อย่างเท้าเข้ามาในเรือนจำ จะพบป้ายบอกทางไปยังโซนต่างๆ ที่เป็นพื้นที่ในการฝึกอาชีพเพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพให้ผู้ต้องขัง

 

 

4. ทักษะอาชีพเสริมสวยเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมในบรรดาผู้ต้องขัง มีผู้ต้องขังที่มาใช้บริการจากผู้ต้องขัง (ช่างเสริมสวย) ที่ได้รับการฝึกมาอย่างชำนาญและต่อเนื่อง

 

 

5. เช่นเดียวกับการเสริมสวย (ทำเล็บทาสี) ที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน

 

 

6. ในแดนหญิงของเรือนจำจังหวัดอยุธยา มีห้องแม่และเด็กไว้รองรับผู้ต้องขังที่ต้องโทษระหว่างตั้งครรภ์และเข้ามาคลอดลูกระหว่างที่รับโทษ

 

 

7. ผู้ต้องขังหญิงที่คลอดลูก ได้โอกาสให้นมลูกด้วยตัวเอง นับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เรือนจำฯ เปิดโอกาสให้แม่และเด็กได้อยู่ร่วมกัน

 

 

8. รวมถึงเรือนนอนของผู้ต้องขังที่มีลูก ก็ถูกแบ่งสัดส่วนไว้ให้แม่กับลูกนอนด้วยกันได้

 

 

9. บรรยากาศหน้าห้องขังภายในแดนหญิงของเรือนจำฯ เป็นที่วางรองเท้าของผู้ต้องขังอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

 

 

10.นอกจากอาชีพนวดแผนไทยจะถูกนำมาฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขังแล้ว เรือนจำฯ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังที่ผ่านการเรียนนวดจนเชี่ยวชาญแล้ว สามารถเปิดบริการกับเพื่อนผู้ต้องขังกันเองได้ เพื่อสร้างรายได้ระหว่างอยู่ในเรือนจำ

 

 

11.ห้องเรียนวิชาคณิตศาสตร์และบัญชี เป็นวิชาที่มีผู้ต้องขังส่วนใหญ่ต้องการเรียนมาก เพราะเป็นอาชีพที่พวกเขาสามารถไปสมัครงานเมื่อถึงวันที่ได้รับอิสรภาพได้

 

 

12.ผู้ต้องขังที่นี่เลือกได้ว่าอยากเรียนทักษะอาชีพอะไร การทำขนมไทย เช่น ลูกชุบ หรือทำเบเกอรี่ เป็นทักษะอาชีพหนึ่งที่พวกเธอบอกว่าช่วยสร้างสมาธิได้ดี

 

 

13.กาแฟลาเต้ คาปูชิโน่ จากฝีมือผู้ต้องขังบาริสต้า ได้รับการวาดตกแต่งเป็นลายตรวนกับลูกกรง เป็นผลงานที่พวกเขาสร้างสรรรค์ขึ้นมาเอง

 

 

14.เสียงร้องเพลงประสานดังก้องไปทั่วเรือนจำ น้ำเสียงแบ่งโทนทุ้ม-แหลม ไล่ตัวโน้ต สร้างอารมณ์ผ่อนคลายให้กับผู้ต้องขังที่อาจกำลังคิดถึงครอบครัว

 

 

15. สนามเปตองริมรั้วแดนหญิง เป็นอีกพื้นที่ที่ผู้ต้องขังใช้ออกกำลังและฝึกสมาธิ

 

16.ประตูทางเข้า-ออกแดนหญิง ได้รับการเพ้นท์รูปให้มีแสงเรื่อเรือง เสมือนเป็นความหวังของชีวิต แม้ว่าเมื่อเข้าไปข้างในแล้วจะถูกจำกัดอิสรภาพก็ตาม

 

ที่มา:  https://www.the101.world/dawn-after-dusk/

Back

Most Viewed