“สำหรับผู้ที่เคยกระทำความผิดรุนแรง เมื่อพ้นโทษแล้ว เมื่อชดใช้ความผิดที่ได้กระทำลงไปตามคำพิพากษาแล้ว แต่ได้รับการประเมินว่า อาจยังมีโอกาสที่จะกลับไปกระทำความผิดอีก ... พวกเขาควรไปอยู่ที่ไหน”
เมื่อมีบางกรณี ออกจากเรือนจำแล้วมาก่อเหตุซ้ำ สร้างความหวาดกลัวให้กับคนในสังคม ... เพราะคนทั่วไป ไม่มีโอกาสได้รับรู้ถึงเบื้องหลังที่คนเหล่านี้ หันมาใช้ “ความรุนแรง”
******
สถานคุมขังที่ไม่ใช่ "เรือนจำ"
หลายคนมีปัญหาทางจิตเวชรุนแรงมาตั้งแต่ต้น
บางคนไม่เคยได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์
บางคนถูกทอดทิ้งจากครอบครัวมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก
ระบบของรัฐไม่เคยช่วยรักษาพวกเขาอย่างถูกต้อง
ดังนั้น “ความรุนแรง” กลายเป็นวิธีที่พวกเขาคิดว่าดีที่สุดที่จะนำมาใช้ได้
ดร.ขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เสนอกฎหมายที่มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 อธิบายถึงข้อเท็จจริงทางวิชาการที่ค้นพบจากกลุ่มผู้ต้องขังที่กระทำความผิดในคดีที่มีความรุนแรงและพ้นโทษออกมาก่อเหตุซ้ำในรูปแบบคล้าย ๆ เดิม
“เมื่อคนกลุ่มนี้พ้นโทษแล้วออกมากระทำความผิดซ้ำ จึงมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนให้รัฐต้องมีมาตรการบางอย่างออกมาป้องกัน เราจึงต้องไปทำการศึกษาและพบว่า หากคนกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มที่จะกลับมาก่อเหตุอีกหลังพ้นโทษ ก็ต้องมีแนวทางที่เราจะต้องควบคุมตัวไว้ต่อไป โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นสถานที่ที่อยู่ภายใต้การรักษาความปลอดภัยขั้นสูง แต่สถานที่นั้นก็ต้องไม่ใช่เรือนจำ”
“ในอีกแง่หนึ่ง เราก็มีข้อมูลแล้วว่า สาเหตุที่พวกเขาหันมาเลือกใช้ความรุนแรง เป็นเพราะเคยมีประวัติถูกกระทำรุนแรงมาก่อนทั้งสิ้น ... ดังนั้น เราจึงต้องออกแบบสถานที่ควบคุมตัวคนกลุ่มนี้หลังพ้นโทษ ให้เป็นสถานที่ที่สามารถบำบัดรักษาให้พวกเขาได้”
********
สถาปัตยกรรมกับเรือนจำ ... ออกแบบ “สถานคุมขังหลังพ้นโทษ”
เหตุผลข้างต้นเป็นที่มาของโครงการ Walls to Welcome: Designing with Justice and Reintegration ซึ่งสำนักงานกิจการยุติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นำนักศึกษาชั้นปีที่ 2 จำนวน 50 คน มาออกแบบ “สถานคุมขังหลังพ้นโทษ” สำหรับคนกลุ่มนี้ 50 ผลงาน โดยมีสถานที่จริง 5 แห่ง เป็นสารตั้งต้นสำหรับการออกแบบ คือ
- แดน 13 เรือนจำคลองเปรม ซึ่งเป็นสถานที่ปิด ตัดขาดจากโลกภายนอก ต้องถูกนำมาเปลี่ยนเป็นสถานที่ปิดที่เหมาะสมกับการบำบัดรักษา
- CBT ราชทัณฑ์ (Cognitive Behavioral Therapy) หรือ โรงพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชของกรมราชทัณฑ์ ถูกเปลี่ยนความหมายเป็น Care ห่วงใย Belove ให้ความรัก ความอบอุ่น และ Trust ความไว้วางใจ
- เรือนจำเปิดเขาไม้แก้ว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ถูกนำมาออกแบบเป็นสถานที่คืนคนดีสู่สังคม
- บ้านระยะผ่าน ชุมชนคลองบางแพรก ใกล้เรือนจำบางขวาง พื้นที่การทดลองอยู่ร่วมกันระหว่างผู้พ้นโทษกับชุมชน เพื่อบำบัดการควบคุมตนเองจากสิ่งเร้า ถูกนำมาออกแบบใหม่ให้กลายเป็นสถานบำบัดที่อบอุ่นมากขึ้น
- บ้านกึ่งวิถี ปูลา รายอ จ.นราธิวาส จากสถานที่พักชั่วคราวหลังพ้นโทษของผู้พ้นโทษชาวมุสลิม ซึ่งมีสภาพเป็นเกาะห่างจากแผ่นดินเพียงไม่กี่เมตร ถูกนำมาออกแบบใหม่ให้ชุมชนกับผู้พ้นโทษสามารถอยู่ร่วมกันได้มากขึ้น
ในกระบวนการออกแบบครั้งนี้มุ่งเน้นการออกแบบที่มี “ผู้ใช้งาน” เป็นศูนย์กลาง โดยได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบยุติธรรม เช่น กรมราชทัณฑ์ ผู้พ้นโทษ เป็นต้น
งานสถาปัตยกรรมมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเรือนจำอย่างแนบแน่นตลอดมาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และสถาปัตยกรรมของเรือนจำในยุคต่าง ๆ ยังเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงแนวคิดในการใช้ประโยชน์จากเรือนจำได้เป็นอย่างดีด้วย
อาจารย์รางวัล สนิทเธอ อาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ อธิบายเรื่องนี้ โดยแบ่งรูปแบบการออกแบบเรือนจำออกเป็น 3 ยุค
1. กระบวนการยุติธรรมที่ต้องการ “แก้แค้นทดแทน”
สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในยุคนี้ เริ่มตั้งแต่การออกแบบการลงโทษผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดในรูปแบบการใช้พื้นที่ชุมนุมของเมืองให้กลายเป็น “ลานประหาร” เปิดให้ประชาชนเข้ามาดูการประหารเพื่อให้รับรู้ถึงความรุนแรงในเชิงการแก้แค้นทดแทน เป็นลักษณะที่เรียกว่า Theater of Punishment
ต่อมาในยุคกลาง (ยุคมืด) จึงเริ่มใช้รูปแบบ “อาคาร” ในการคุมขัง โดยมีเป้าหมายการควบคุมตัวกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “แม่มด” ดังนั้นในอาคารจึงมีจารึกที่คล้ายเป็นเวทย์มนตร์คาถาปรากฎอยู่ด้วย
2. กระบวนการยุติธรรมที่ต้องการ “แก้ไขฟื้นฟู”
เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมการออกแบบเรือนจำที่เริ่มตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการมาจนถึงปัจจุบัน คือ ใช้แนวคิด From Prison to House of Correction เปลี่ยนจากสถานที่คุมขังให้เป็นสถานที่สำหรับการฝึกอาชีพเพื่อกลับสู่สังคม พื้นที่บางส่วนที่ใช้ในการออกแบบเรือนจำจึงเปลี่ยนไปมีลักษณะคล้ายเป็นโรงงานหรือสถานที่ทำงานรวมอยู่ด้วย
3. กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
เป็นแนวคิดกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่เน้นไปที่การจัดการกับข้อพิพาทให้เกิดประโยชน์ที่มากกว่ากับทั้ง 2 ฝ่าย มากกว่าที่จะเน้นการลงโทษ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การทำให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเหมาะสมจนเป็นที่พอใจและทำให้ผู้กระทำความผิดยอมรับ สำนึกผิด และยินดีจะชดเชยเยียวยาอย่างเต็มใจ ซึ่งเป็นรูปแบบที่จำเป็นต้องใช้การออกแบบทางสถาปัตยกรรมเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีทั้งในขั้นตอนการไกล่เกลี่ยเจรจา สร้างความมีส่วนร่วมกับชุมชน สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และมีรูปแบบการลงโทษที่เหมาะสมกับความผิด
งานนิทรรศการ Walls to Welcome ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบทั้ง 50 ชิ้น จาก 5 พื้นที่ ของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาสถาปัตยกรรม ม.กรุงเทพ จะถูกจัดแสดงอยู่ในพื้นที่ชั้น 1 TIJ Common Ground อาคารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ถ.แจ้งวัฒนะ จนถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2568 จากนั้นจะนำไปจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งในงานนิทรรศการ “เลือนจำ” โซนมันส์ มันส์ศูนย์การค้าซีคอน สแควร์ ศรีนครินทร์ ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน ถึง 10 สิงหาคม 2568