ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม
“หัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา (Restorative Justice - RJ) คือการเยียวยาความเสียหายจากความขัดแย้ง โดยยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง และให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรม”
 
 
ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ผู้แทน TIJ สะท้อนความเห็นระหว่างร่วมเป็นวิทยากรใน “การฝึกอบรมและการประชุมว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา 2025” ซึ่งจัดขึ้นโดย กรมการบริหารจัดการเรือนจำและทัณฑวิทยา (Bureau of Jail Management and Penology – BJMP) และองค์กร Climate Conflict Action Asia (CCAA) ระหว่างวันที่ 8–10 กรกฎาคม 2568 ณ เมืองเกซอนซิตี้ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อส่งเสริมการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาในบริบทราชทัณฑ์
 
 
ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ของฟิลิปปินส์ และอธิบดี BJMP ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่ก้าวข้ามรูปแบบการลงโทษเชิงตอบโต้ (Retributive Justice) ซึ่งมักก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบและการใช้โทษจำคุกอย่างเกินความจำเป็น สู่กระบวนการยุติธรรมที่เปิดกว้าง ครอบคลุม และส่งเสริมการเยียวยา ฟื้นฟู และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
 
 
 
ชลธิช ยังได้ย้ำด้วยว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยานี้จะสร้างความสมานฉันท์ได้ในระยะยาว ทั้งยังนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบกระบวนการดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้ต้องขังแสดงความรับผิดชอบ และฟื้นฟูความสัมพันธ์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของตนได้อีกด้วย กล่าวคือ
 
 
  • ผู้เสียหาย: กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เกิดการสร้างความเข้าใจและการเยียวยาทางจิตใจโดยสมัครใจระหว่างผู้เสียหายและผู้ต้องขัง
  • ครอบครัวของผู้ต้องขัง: มุ่งเน้นการซ่อมแซมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และสนับสนุนบทบาทของครอบครัวในการฟื้นฟูผู้ต้องขังเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ
  • ผู้ต้องขังด้วยกันเอง: สนับสนุนให้เกิดการแก้ไขความขัดแย้ง ลดความตึงเครียดและความรุนแรงภายในเรือนจำ
  • เจ้าหน้าที่เรือนจำ: มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจระหว่างผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งส่งเสริมการสื่อสารและความร่วมมือในการพัฒนาสภาพแวดล้อมในเรือนจำ
  • ชุมชน: เปิดพื้นที่ให้ผู้ต้องขังมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อเยียวยาความเสียหาย ส่งเสริมการให้อภัย และสนับสนุนการคืนคนดีสู่สังคม
 
 
การประชุมครั้งนี้สะท้อนความสำคัญของแนวคิด RJ ในมิติต่าง ๆ ของกระบวนการยุติธรรม และความมุ่งมั่นในการนำแนวคิด RJ ไปสู่การปฏิบัติจริงภายในเรือนจำในสาธารณรัฐฟิลิปปินส์
Back
chat