ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม
ประเทศไทย ประกาศตัวจะเป็น “ครัวของโลก” แต่อาจจะได้เป็น “ถังขยะของโลก” แทน จากการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ การขยายตัวของโรงงานกลุ่มรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมทั้งจากในประเทศและกลุ่มทุนข้ามชาติ ซึ่งล้วนพบการละเมิดกฎหมายในทุกขั้นตอน ทำให้เกิดการปนเปื้อนอย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่ ... และไม่มีความยุติธรรมสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
 
 
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ป้องกันได้หรือไม่ และจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร?
 
 
ชุมชนหนองพะวา อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงาน วิน โพรเสส จุดลักลอบทิ้งของเสียอันตรายที่เลวร้ายที่สุดจุดหนึ่งของประเทศไทย และเกิดไฟไหม้ทำให้สารพิษยิ่งกระจายออกมามากขึ้น แต่ผ่านเหตุเพลิงไหม้ไปราว 8 เดือนแล้ว ก็ยังไม่มีกระบวนการนำของเสียอันตรายออกไปกำจัดแม้แต่น้อย ถือเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการจัดการกับกลุ่มขบวนการผู้ก่ออาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมด้วยการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมซึ่งมีค่ากำจัดราคาแพง และยังถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่สะท้อนให้เห็น “ช่องว่าง” ที่กระบวนการยุติธรรม ยังไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบได้ เพราะชาวหนองพะวา 15 คน ฟ้องร้องจนมีคำพิพากษาให้ชนะคดีความทางแพ่งต่อโรงงานนี้มาเกือบ 2 ปีแล้ว ... แต่ยังไม่มีใครได้รับเงินชดเชยตามคำพิพากษาของศาลแม้แต่บาทเดียว
 
 
 
TIJ ในฐานะองค์กรที่ผลักดันเรื่องการยกระดับหลักนิติธรรม จับมือกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในประเด็น “ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม” หัวข้อ การรายงานข่าวเชิงสืบสวนกรณีลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 15 – วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2567 โดยนำผู้ร่วมอบรมซึ่งมีทั้งสื่อมวลชน นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคมด้านการติดตามปัญหาคอร์รัปชัน ลงพื้นที่ชุมชนหนองพะวา เพื่อรับทราบถึงปัญหาและผลกระทบของกากอุตสาหกรรมที่มีต่อชุมชนและสังคมในพื้นที่จริง พร้อมการบรรยายข้อมูลเชิงลึกจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ และ NGOs รวมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน workshop เพื่อสร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจ และเพิ่มทักษะการสื่อสารเกี่ยวกับความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม
 
 
“หลายพื้นที่ในประเทศไทย เต็มไปด้วยสารเคมีที่ฝังอยู่หลายปี นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว...พวกนี้รอเพียงการแก้ปัญหา เราไม่รู้ว่ายาที่ใช้ในปัจจุบันนี้ได้ผลแค่ไหน ถ้าไม่ใช้ยาแรงในการแก้ปัญหา” ... มนตรี อุดมพงษ์ ผู้สื่อข่าวทีมข่าวสามมิติ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อมวลชนที่ติดตามปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ร่วมบรรยายถึงอันตรายจากสารพิษที่ล้วนส่งผลร้ายต่อสุขภาพของทั้งประชาชนและทำลายสิ่งแวดล้อม
 
 
 
ข้อสรุปบางส่วนจากการอบรม ทำให้พบปัญหาที่สำคัญ คือ การเข้าถึงข้อมูลการปล่อยหรือการเคลื่อนย้ายสารมลพิษยังคงเป็นเรื่องยาก เพราะข้อมูลที่ถูกเปิดเผยจากหน่วยงานรัฐเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐาน ส่วนข้อมูลที่ภาคประชาชนหรือชาวบ้านในพื้นที่เสียงได้รับผลกระทบต้องการรับรู้ เช่น มีสารเคมีใดบ้างถูกนำเข้ามา ปริมาณเท่าไหร่ มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่โรงงานทำได้หรือทำไม่ได้ กลับเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถเข้าถึงได้เลย
 
 
ด้าน ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ รองผู้อำนวยการ TIJ กล่าวถึงการอบรมครั้งนี้ว่า การให้ความรู้ และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง เปิดเผย โปร่งใส เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้สังคมสามารถติดตามตรวจสอบความเป็นไปในสังคม และเข้าถึงความยุติธรรมได้มากขึ้น และหวังว่าการอบรมครั้งนี้จะช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชน นักศึกษา นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญในการเฝ้าระวังและร่วมกันขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรมต่อไป
 
 
 
การอบรมเชิงปฏิบัติการในประเด็นความยุติธรรมสิ่งแวดล้อมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากการอบรมฯ ครั้งแรกที่จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567
Back
chat