ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

 

การประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรม
และความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 30

ระเบียบวาระ 6(e) "กิจกรรมอื่น ๆ ที่สนับสนุนงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ รวมถึง กิจกรรมโดยเครือข่ายสถาบันสมทบของสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมอาญา องค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาล และองค์กรอื่นๆ”

ถ้อยแถลงของ ดร. พิเศษ สอาดเย็น

ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

 

 

เรียน ท่านประธานแห่งที่ประชุม

 

1. สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เป็นสถาบันวิจัยและผลักดันนโยบายที่รัฐบาลไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.2011 เพื่อส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานและบรรทัดฐานระหว่างประเทศไปปรับใช้ โดยอาศัยการศึกษาหาข้อมูลเชิงประจักษ์ การสร้างสรรค์นวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือเป็นกลไกสำคัญ สถาบันฯ มีความยินดีที่ได้มีโอกาสกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการฯ ในระเบียบวาระการประชุมหัวข้อนี้

 

2. ในฐานะสมาชิกเครือข่ายสถาบันสมทบของสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมอาญา (UN-PNI) TIJ ทำงานร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และสมาชิกอื่น ๆ ของเครือข่าย PNI อย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกในด้านต่าง ๆ เช่น งานยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ การเก็บรวบรวมข้อมูลและสถิติ การลดการกระทำผิดซ้ำ และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับกลุ่มสตรีและเด็ก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมความร่วมมือในห้วงเวลาไม่นานมานี้  

 

3. ปีนี้ถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญของ TIJ เนื่องจากเป็นโอกาสครบรอบ 10 ปีแห่งการก่อตั้งสถาบันฯ อีกทั้งก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสถาบันฯ  ได้มีมติแต่งตั้งให้ผม ดร.พิเศษ สอาดเย็น เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน ซึ่งผมจะได้มุ่งมั่นนำพา TIJ ให้เจริญรุดหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง สู่อนาคตที่ยั่งยืนท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนนานัปการ

 

4. ด้วยตระหนักดีว่าในการรับมือกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในทุกระดับ TIJ จะมุ่งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อส่งเสริมระบบยุติธรรมทางอาญาของประเทศในภูมิภาคนี้ให้สามารถรับมือกับความท้าทายได้ดียิ่งขึ้น  โดยใช้เวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (ACCPCJ) ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือข้ามสาขา ที่ TIJ ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2559  

 

5. ส่วนการดำเนินงานภายในประเทศ TIJ จะแสวงหาแนวทางใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อความร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อเป็นกลไกสำหรับใช้เลือกเฟ้นและต่อยอดแนวคิดที่สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาท้าทายในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างครอบคลุมและสร้างสรรค์  ผลจากการนำร่องพัฒนาต้นแบบในเบื้องต้น ทำให้เราเชื่อมั่นว่าแนวทางดังกล่าวสามารถทำให้เห็นผลได้จริง เช่น     แชทบอท “มายซิส” (“Mysis”) ซึ่งนำเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (machine learning) ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาใช้ เพื่อช่วยเหลือเหยื่อผู้ถูกระทำความรุนแรงทางเพศ หรือโครงการ "ดาต้าตอน" ที่แปลงข้อมูลการจัดซื้อภาครัฐและคำพิพากษาของศาลให้อยู่ในรูปข้อมูลดิจิทัลที่เครื่องจักรประมวลผลได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม และทำให้หลักนิติธรรมมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

 

6. ปีนี้ยังถือได้ว่าเป็นปีแห่งหมุดหมายสำคัญสำหรับคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นปีที่เราได้รับรองปฏิญญาเกียวโต  TIJ จะร่วมมือกับประเทศสมาชิก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ สมาชิกอื่น ๆ ของเครือข่ายสถาบันสมทบของสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและยุติธรรมอาญา(UN-PNI) ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป ในการดำเนินการเพื่อให้บังเกิดผลตามพันธกิจร่วมกันในระดับนานาชาติอันมีความสำคัญยิ่งดังกล่าว

 

7. ขอขอบคุณท่านประธาน

 

Back