ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

"คนที่ทนไม่ได้จะเป็นคนที่สร้างความเปลี่ยนแปลง" อังคณา นีละไพจิตร คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ นักสิทธิมนุษยชนผู้เป็นภรรยาของ สมชาย นีละไพจิตร ทนายผู้ต่อสู้ด้านความยุติธรรมและเป็นบุคคลถูกบังคับสูญหาย กล่าวไว้ในงานเสวนา “เปิดข้อมูลภาครัฐ ปลดล็อคอำนาจประชาชน” และการเปิดนิทรรศการ “กลางวันแสกๆ” (In Broad Daylight) ที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดขึ้น เพื่อเสริมพลังแก่ประชาชนคนธรรมดาให้ตระหนักและเข้าใจถึงสิทธิที่พึงมีในการเข้าถึง “ข้อมูล” และใช้ “ข้อมูล” เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้แก่สังคม

 

 

คนธรรมดาสามารถเรียกร้องขอคืนสิทธิที่เป็นธรรมได้ นี่เป็นสิ่งที่ อังคณา เน้นย้ำโดยระบุว่า จากประสบการณ์ของการเป็นคนธรรมดา กระทั่งคนในครอบครัวถูกอุ้มหายที่อาจถือเป็นคดีแรกของประเทศไทย จนมาเป็นผู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชน ทำให้เห็นว่าเรื่องของการเรียกร้องสิทธิ การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม เป็นการต่อสู้ของคนธรรมดาในสังคม และสามารถหยิบยกเป็นประเด็นระดับชาติได้

 

 

“คนที่ทนไม่ได้จะเป็นคนสร้างความเปลี่ยนแปลง แม้ต้องตื่นมาตั้งคำถามซ้ำๆ กับตนเองทุกวันว่าเป็นการเอาตัวเองมาเสี่ยง แต่ก็ต้องยืนยันในหลักการ เป็นการยืนหยัดในการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหลักของประชาธิปไตย”

 

 

“ข้อมูล” คืออาวุธ พัฒนาหลักนิติธรรม

 

 

ข้อมูลเป็นอาวุธของผู้ที่ถือข้อมูลไว้ ไม่ว่าฝ่ายนั้นจะเป็นใคร ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศได้ การเปิดเผยข้อมูลจะช่วยสร้างความโปร่งใส การป้องกันการคอร์รัปชัน การติดตามตรวจสอบการทำงาน นี่คือสิ่งที่ผู้ร่วมวงเสวนาเน้นย้ำ

 

ทว่า ข้อมูลภาครัฐไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาง่าย แม้จะมีกฎหมายที่บัญญัติให้ภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูล อย่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2550 โดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ จาก Nation STORY นักข่าวผู้พยายามใช้ข้อมูลภาครัฐในการทำข่าวเชิงสืบสวนเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมาตลอด แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงเสวนาไว้ว่าตั้งแต่ร้องขอการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ พบปัญหาว่าหน่วยงานภาครัฐมักจะมีทัศนคติ “ไม่เปิด” และยึดการปฏิบัติตามกฎระเบียบของหน่วยงานมากกว่ากฎหมายและประชาชน พร้อมกันนี้ยังมองว่าจริงๆ แล้วรัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ต้องร้องขอ และข้อมูลที่ได้มานั้นต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

 

 

นอกจากจะได้มายากแล้ว ข้อมูลยังนำไปใช้งานได้ยากด้วย สุภอรรถ โบสุวรรณ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ HAND Social Enterprise วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชัน ให้แนวคิดไว้ว่าหากมองประชาชนเป็นผู้บริโภค และรัฐบาลเป็นบริษัทที่ต้องบริหารเงินภาษีของประชาชนที่ใช้ “ซื้อ” บริการภาครัฐ รัฐบาลก็ควรต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสว่าเงินที่ได้จากผู้ซื้อนั้นถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง และที่สำคัญคือประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบ มีอำนาจในการจะมีชีวิตที่ดี ปลอดภัย มีความเป็นอยู่ที่ดี แต่ปัจจุบันพบว่ารัฐยังไม่ปรับตัว ยังคงไม่ได้วิเคราะห์ Customer Journey ของประชาชน การเปิดเผยข้อมูลที่มีอยู่ก็ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น บันทึกเข้าคอมพิวเตอร์ไม่ได้ ต้องถ่ายรูปหน้าจอ หรือไม่ใช่ข้อมูลที่นำไปเปรียบเทียบหรือวิเคราะห์ต่อได้ ทำให้อำนาจของประชาชนที่จะติดตามตรวจสอบและได้รับบริการที่ดียังติดล็อคอยู่

 

 

ด้าน ดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโสและที่ปรึกษาชุมชน มูลนิธิบูรณะนิเวศ ผู้ต่อสู้เรื่องบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เผยถึงความยากลำบากในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐในอดีตว่าจะต้องมีความมุ่งมั่นจริงจังที่จะต่อสู้เพื่อส่วนรวม แล้วจะมีแนวร่วมทั้งจากคนในหน่วยงานภาครัฐ สื่อมวลชน รวมทั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไร เข้ามาช่วยเหลือ ให้ข้อมูลที่จำเป็นในการติดตามตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ทำให้มองเห็นทั้งภาพรวมและช่องโหว่ของปัญหา นำไปสู่การเรียกร้องความยุติธรรมและเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ โดยทิ้งท้ายไว้ว่า เมื่อได้ข้อมูลมาก็ต้องทุ่มตัวลงไปเปิดเผย ไม่ใช่วางข้อมูลไว้เฉยๆ

 

“ถ้าข้อมูลเป็นความจริง ต่อให้หน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบกี่ครั้งก็เป็นความจริง”

 

 

ปลดล็อคอำนาจประชาชน

 

 

วงเสวนาสรุปข้อเสนอ โดยเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐพัฒนามาตรฐานในการเก็บข้อมูลระบบ Open Data ให้ทัดเทียมกับหลักสากล ซึ่งมีองค์กรนานาชาติที่มีความเชี่ยวชาญดูแลอยู่ การเปิดเผยข้อมูลทุจริตคอร์รัปชันต้องมีช่องทางที่ปลอดภัยให้ร้องเรียน โดยไม่เปิดเผยข้อมูลผู้แจ้ง โดยปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่เป็นช่องทางร้องเรียนได้อย่างปลอดภัย เช่น เฟสบุ๊กเพจต้องแฉ เครื่องมือสู้โกงภาคประชาชน หรือ ACT Ai https://actai.co รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะแทนที่จะเป็นอุปสรรคต่อประโยชน์สาธารณะ อย่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ควรจะยกมาอ้างเพื่อปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลได้ หากการกระทำนั้นเป็นโทษต่อคนส่วนใหญ่ในสังคม

 

 

“การเปิดเผยข้อมูลนั้นมีนัยยะไปถึงการเปิดเผยข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามที่ต้องการ นำไปปรับใช้กับการใช้ชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้น ช่วยให้หลักนิติธรรมของประเทศดีขึ้นได้ เพราะหากมีหลักนิติธรรม อำนาจรัฐทำตามกรอบกติกาพื้นฐาน มี Accountability หรือการคิดบัญชีได้ ก็จะสามารถติดตาม วัดผล และประเมินผลการดำเนินงานภาครัฐได้ การจัดเสวนาในครั้งนี้และนิทรรศการ “กลางวันแสกๆ” จะมีส่วนช่วยให้เห็นถึงความสำคัญว่าทุกคนมีส่วนที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการที่ใหญ่และยากนี้ได้ โดยแนวคิดของนิทรรศการคือ ความผิดปกติที่สังคมดูดายว่าเป็นความปกติ ทำอะไรไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัว และหากว่ามีทางเลือกที่จะแก้ไข จะเลือกอย่างไร” ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าว

 

 

เวทีเสวนา “เปิดข้อมูลภาครัฐ ปลดล็อคอำนาจประชาชน” จัดขึ้นวันที่ 28 มีนาคม 2567 ณ ห้อง Common Ground Theater และนิทรรศการ “กลางวันแสกๆ” (In Broad Daylight)  จัดแสดงที่ชั้น 1 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

 

#กลางวันแสกๆ #TIJCommonGround #ExhibitionBKK

Back