ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

การประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 3 (The Third ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice หรือ 3rd ACCPCJ) ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม 2565 ที่กรุงเทพฯ  โดยมี สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ ทีไอเจ (TIJ) เป็นตัวแทนประเทศไทยจัดการประชุมเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกันด้วยการบริหารจัดการทางภาครัฐตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน  มุ่งสร้างสังคมที่มีสันติ ไม่แบ่งแยก มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง และมีความกลมเกลียว ซึ่งได้รับการลงมติรับรองจากประเทศสมาชิกอาเซียน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 เมื่อ พ.ศ. 2560

 

สำหรับการประชุมครั้งนี้มุ่งหวัง ไปสู่ข้อเสนอทางด้านนโยบาย เพื่อแก้ไขหรือบรรเทา 3 ปัญหาหลักทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ได้แก่ อาชญากรรมไซเบอร์ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และความร่วมมือระหว่างประเทศ หลังจากช่วงสามปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบลามถึงกระบวนการยุติธรรม ผลของการประชุมจะได้รับการนำเสนอในที่ประชุมที่เกี่ยวข้องระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป

 

เสวนาภาพรวมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

การเสวนาหัวข้อพิเศษ ได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ภายใต้บริบทระหว่างประเทศ ภูมิภาค และประเทศ ซึ่ง การอภิปรายดังกล่าวนี้จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างปะเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ตลอดจนผลการศึกษา เกี่ยวกับบทบาท ที่สำคัญเพื่อการพัฒนาความร่วมมือในมิติต่าง ๆ โดยระบุว่าการประสานความร่วมมือจะเกิดประสิทธิผลได้ก็ต่อเมื่อผู้เกี่ยวข้องมีอิสระในการตัดสินใจ มีความรับผิดชอบร่วมกัน และเป็นพันธมิตรที่สื่อสารกันได้ มีการแลกเปลี่ยนกันได้อย่างเท่าเทียมกัน และเป็นไปด้วยความเคารพและเชื่อใจซึ่งกันและกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องต้องมีวิสัยทัศน์ และมีความเป็นผู้นำที่จะสร้างสังคมที่ดี มีความสุข สามารถประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนได้

 

ขณะที่ประเด็นสำคัญที่จะทำให้การประสานความร่วมมือนี้ประสบความสำเร็จคือ งบลงทุนเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจและสังคมพัฒนา อันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทางสังคม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอาชญากรรม ทั้งยังเสนอด้วยว่า ภาครัฐอาจให้ความร่วมมืออันเป็นประโยชน์แก่ภาคเอกชน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดีในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา  

 

นอกจากนี้ วงเสวนายังได้กล่าวถึงภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งพบว่าร้อยละ 95 เป็นผลจากการกระทำผิดพลาดของมนุษย์ ดังนั้นการแก้ไขจึงควรมุ่งเน้นไปยังการออกแบบนโยบายป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ที่เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับการเสวนาหัวข้อพิเศษ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ในประเด็นของโลกดิจิทัลและนวัตกรรม ขณะที่ผู้ร่วมเสวนาอีกกลุ่มตั้งข้อเสนอแนะว่า ภาครัฐควรจัดตั้งการบริหารจัดการภาครัฐในโลกดิจิทัล โดยร่วมมือกับภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่มีข้อมูลและองค์ความรู้ที่เท่าทันเทคโนโลยี การกำหนดแนวทางและนโยบายต่างๆ ควรเป็นไปตามกรอบแนวทางที่องค์กรระดับนานาชาติยอมรับ

 

ประเด็นสำคัญอีกประการคือ การส่งเสริมและสนับสนุนประชาชนทุกกลุ่มให้มีความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์และโทษจากการใช้เทคโนโลยี เพื่อป้องกันและป้องปรามการกระทำผิดในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์โลกอนาคต เพราะพวกเขาคือประชากรที่ขับเคลื่อนสังคมแห่งอนาคตของโลกดิจิทัล พวกเขาจึงควรได้รับโอกาสในการตระหนักรู้ เรียนรู้ และสร้างเสริมศักยภาพ ผ่านกระบวนการให้คำปรึกษาจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและโลกดิจิทัลต่อไป

 

การประชุม ACCPCJ  ครั้งที่ 3 นี้ยังได้มีการแบ่งเวทีเสวนาย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อให้ผู้ร่วมเสวนาได้อภิปรายในรายละเอียดถึงสถานการณ์ แนวโน้ม และเสนอแนะแนวทางในการดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่อ 3 ปัญหาหลักทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ได้แก่ อาชญากรรมไซเบอร์ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

เวทีเสวนากลุ่มย่อยว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์

ความท้าทายด้านอาชญากรรมไซเบอร์ที่กลุ่มประเทศอาเซียนเผชิญร่วมกัน คือรูปแบบของอาชญากรรมไซเบอร์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีความรุนแรง สามารถตีเป็นมูลค่าได้มากมายมหาศาล ในการประชุมย่อยว่าด้วยเรื่องของการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ ผู้เสวนาเห็นพ้องกันว่า อาชญากรรมไซเบอร์ที่พบในภูมิภาคอาเซียนมีเพิ่มมากขึ้น จากพฤติกรรมของผู้คนที่ต้องเว้นระยะห่าง และอาศัยเทคโนโลยีในการใช้ชีวิตประจำวัน นำไปสู่การพัฒนาการของกิจกรรมออนไลน์ เช่น ธุรกรรมออนไลน์ การใช้สื่อออนไลน์ และเป็นหนทางไปสู่การกระทำความผิดของผู้ที่มองเห็นช่องโหว่ของกฎหมายที่ยังไม่เท่าทันเทคโนโลยี เช่น การฉ้อโกงออนไลน์ การโทรศัพท์เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล (scammers) การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากกลุ่มเปราะบาง อาชญากรรมที่เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) การล้อเลียนออนไลน์ (cyberbullying) การปลอมแปลงตัวตนออนไลน์ เป็นต้น

 

อาชญากรรมไซเบอร์ เป็นปัญหาท้าทายทุกประเทศ ด้วยความยากในการติดตามตัวตนและข้อมูลของผู้กระทำผิด ความซับซ้อนของเทคโนโลยี การใช้เงินทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพเทคโนโลยีและบุคลากร และลักษณะของการกระทำผิดที่เป็นรูปแบบขององค์กรข้ามชาติ ผู้ร่วมเสวนาเห็นว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชน และประชาสังคมจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในการแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม  การจัดตั้งกลไกหรือกรอบแนวทางสากลเพื่อสร้างเสริมความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับอาชญากรรมไซเบอร์ พร้อมทบทวนกฎหมายและการออกกฎหมายให้เท่าทันสถานการณ์ โดยอาจพิจารณาจากกรอบความร่วมมือของอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมไซเบอร์ และกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework) อีกทั้งควรร่วมมือกันสร้างเสริมศักยภาพของบุคลากรให้สามารถสนองตอบต่อความท้าทายรูปแบบใหม่ ควบคู่กับการสร้างความตระหนักรู้และให้ความรู้ประชาชนทุกภาคส่วนให้เท่าทันภัยออนไลน์ รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าเพื่อรับมือกับอาชญากรรมไซเบอร์ด้วย

 

เวทีเสวนากลุ่มย่อยว่าด้วยข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

สำหรับเวทีเสวนาย่อย ในหัวข้อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ผู้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนถึงข้อมูลเชิงลึกและข้อเสนอต่อการพัฒนาเครื่องมือนวัตกรรมเพื่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในห้วงเวลาหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปัญหาความแออัดในเรือนจำ และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

 

จากสถิติพบว่าตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เรือนจำหลายแห่งเผชิญกับความยากลำบากในการบริหารจัดการ เห็นได้จากการเกิดเหตุจลาจล และการแพร่ระบาดของโรคในเรือนจำ โดยบทเรียนจากการระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรมในส่วนของการคุมประพฤติและเรือนจำนั้น มีทั้งการจำกัดการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง การระงับหรือเลื่อนการฝึกอบรมและฝึกทักษะอาชีพเพื่อฟื้นฟูเยียวยาผู้ต้องขัง การแยกขังสำหรับผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ ผลกระทบต่อสุขภาพจิตของทั้งบุคลากรเรือนจำ เนื่องจากบุคลากรถูกจำกัดจำนวนลง ด้วยเหตุของการติดเชื้อ ทำให้ต้องทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ยังมีความท้าทายในการเสริมทักษะการกลับคืนสู่สังคม เพราะโครงการฝึกอบรมอาชีพในเรือนจำหลายแห่งไม่สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในสังคมภายนอกที่ถูกกดดันด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมไปถึงคำถามถึงขอบเขตของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในเรือนจำเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการควบคุม การฝึกอบรม และการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง

 

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบการบริหารจัดการเรือนจำ ในปี พ.ศ. 2564 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจึงได้รับรองมติการเสริมสร้างกระบวนการยุติธรรมระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมติดังกล่าวมุ่งเน้นให้ใช้บทเรียนและแนวปฏิบัติที่ดีที่ได้จากประสบการณ์การบริหารจัดการของเรือนจำต่างๆ ทั่วโลก ในภาวะที่เกิดโรคระบาด รวมทั้งมีการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต เพื่อให้มั่นใจได้ว่า มีการกำหนดโทษที่เหมาะสมต่อการกระทำผิดของผู้ต้องหา และส่งเสริมให้มีการใช้แนวทางเลือกแทนการจำคุกในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เพื่อบรรเทาปัญหาความแออัดและการแพร่ระบาดของโรคในเรือนจำ

 

วงเสวนาขยายประเด็นดังกล่าวไปสู่ข้อเสนอแนะ โดยผู้ร่วมเสวนายกตัวอย่างจากประเทศฟิลิปปินส์ว่า รัฐบาลได้ร่วมมือกับภาคประชาสังคม อย่างองค์กรไม่แสวงผลกำไร เพื่อจัดทำแผนการรับมือกับโรคระบาดที่สอดคล้องกับแนวทางทางสาธารณสุขสำหรับการจัดการเรือนจำในประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีแผนและแนวทางที่สามารถปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์

 

ขณะที่ตัวแทนจากประเทศไทยอีกสองท่านในเวทีนี้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า สังคมจำเป็นต้องเริ่มจากให้การศึกษาถึงสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองที่เท่าเทียม มีความรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมต่อการพัฒนา ตั้งแต่ระดับหน่วยสังคมเล็กๆ เช่น โรงเรียน เพื่อสร้างให้พวกเขารู้จักและเข้าใจหลักการของสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เริ่มต้น อันจะช่วยให้พวกเขารู้จักเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้อื่น และไม่เกิดปัญหาเช่นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องขัง

 

หลักการหนึ่งที่อาจจะนำมาใช้เพื่อปลูกฝังเด็กและเยาวชนได้ คือ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่นในหลายประเทศ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้กระทำผิดและผู้เสียหายได้ในทุกระดับขั้นของความขัดแย้ง ช่วยเยียวยาแผลใจให้ทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำผิด ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไปจนถึงห้วงหลังการปล่อยตัว ซึ่งหากกระทำได้ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็จะช่วยบรรเทาปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ คดีล้นศาล และปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาจากเหตุที่ผู้ต้องขังถูกตีตราจากสังคมได้ ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มีแนวทางการดำเนินงานทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น การมีสภาผู้อาวุโสหมู่บ้าน การประชุมครอบครัว หรือการเข้าสู่กระบวนการผ่านผู้ประสานงานที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว

 

อย่างไรก็ดี เมื่อสังคมยังคงเชื่อมั่นในการกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดในรูปแบบของการแก้แค้นทดแทน มากกว่ารูปแบบของการสมานฉันท์ จึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในสังคมที่จะร่วมมือกันสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจถึงการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และนำไปสู่การปฏิบัติ

 

ขณะที่ ผู้เสวนาที่เป็นตัวแทนจากผู้พ้นโทษ ได้กล่าวปิดท้ายไว้ว่า ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามต่อตัวผู้ต้องขังก็ต้องเริ่มจากตัวผู้ต้องขังเองด้วยว่ามีความปรารถนาที่จะเปลี่ยนตัวเองหรือไม่ เพราะหากมีแรงปรารถนาที่จะก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ พวกเขาก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้

 

ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมยังมีอีกมิติหนึ่งคือกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ อัยการ และศาล โดยผู้แทนจากเกาหลีใต้ เผยถึงการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมไว้อย่างน่าสนใจว่า เกาหลีใต้ส่งเสริมให้ผู้คนเข้าถึงและเข้าใจกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น ผ่านการฉายภาพของกระบวนการยุติธรรมในอุตสาหกรรมบันเทิง เช่น ซีรี่ย์ และภาพยนตร์ ขณะเดียวกันการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในประเทศที่ผ่านมาก็มีการนำระบบลูกขุนมาใช้ในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งระบบนี้ผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายอาจร้องขอไม่ใช้ระบบลูกขุนก็ได้ โดยในกรณีของผู้เสียหายจะพบว่าหากเป็นคดีที่เกี่ยวกับการกระทำผิดทางเพศ ผู้เสียหายจะร้องขอไม่ใช่ระบบลูกขุน เนื่องจากไม่ต้องการถูกกระทำซ้ำจากคำซักถามของคณะลูกขุน

 

นอกจากนี้ เกาหลีใต้เพิ่งจะมีกฎหมายฉบับใหม่ที่ปฏิรูปอำนาจของอัยการ เพื่อจำกัดอำนาจของอัยการ แต่ก็มีความท้าทายว่า หลังจากอัยการไม่อาจเข้าไปมีบทบาทในการสืบสวนคดีของตำรวจได้ในบางคดี ก็ทำให้การทำคดีล่าช้าไป ส่วนการใช้เทคโนโลยีในแวดวงกฎหมายนั้นก็เหมือนหลายประเทศที่มีการส่งฟ้องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การไต่สวนหรือพิพากษาคดีผ่านวิดีทัศน์ และมีการฟื้นฟูเยียวยากลุ่มเปราะบางที่เป็นเหยื่อของอาชญากรรม

 

ส่วนสิงคโปร์ มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ ของศาลและผู้ปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยมีการไต่สวนคดีความผ่านทางออนไลน์ถึงร้อยละ 90 ทำให้ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยนอกจากเทคโนโลยีแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการคือการมีนโยบายและมาตรการที่รัดกุมในการนำเทคโนโลยีมาใช้

 

ผู้แทนจากฟิลิปปินส์ ยังได้เสริมในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีด้วยว่ามีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยจะช่วยลดการใช้อำนาจจากส่วนกลาง ทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดการใช้บทลงโทษการคุมขังก่อนพิจารณาคดี ดังจะเห็นได้จากกรณีของระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์ ส่วนกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงโควิด-19 ยังมีเรื่องของการปล่อยตัวผู้ต้องขังก่อนครบกำหนด และการส่งเสริมการใช้มาตรการทางเลือกแทนการคุมขัง รวมทั้งการลดโทษในคดีความผิดบางคดีด้วย

 

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมยังรวมถึงการปฏิรูปกฎหมายด้วย โดยนักวิชาการทางด้านกฎหมายจากประเทศไทยให้ความเห็นว่า กฎหมายมีส่วนในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พบว่ามีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายที่มีข้อจำกัดอยู่เพียงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลในสังคมเท่านั้น และการจะทำให้กฎหมายมีประสิทธิภาพ ธนาคารโลกได้แนะนำไว้ว่า จะต้องลดขอบเขตการใช้กฎหมาย ทำให้กฎหมายมีความเข้าใจง่าย และให้ประโยชน์ที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

 

ทั้งยังให้แนะด้วยว่าการปฏิรูปกฎหมายควรจะมีความสมดุลว่าจะใช้แนวทางใดระหว่าง top-down หรือ bottom-up และควรเป็นแนวทางที่ outside-in ให้มุมมองจากคนนอกวงการกฎหมายเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้การปฏิรูปนั้นประสบความสำเร็จ

 

เวทีเสวนากลุ่มย่อยว่าด้วยข้อเสนอด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ

สืบเนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางช่วงเกิดโรคระบาด  ส่งผลให้การดำเนินการตามคำร้องขอความช่วยเหลือ เช่น ขั้นตอนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน การติดตามทรัพย์สิน เป็นไปด้วยความยากลำบาก และปัญหาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้น การเสวนากลุ่มย่อยด้านความร่วมมือระหว่างประเทศจึงมีขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับการประสานความร่วมมือทั้งในระดับที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการระหว่างประเทศสมาชิก

 

สำหรับการประสานความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนนั้น มีกลไกทางการประการหนึ่งที่นำมาใช้คือสนธิสัญญาความร่วมมือทางอาญา (Treaty on Mutual Legal Assistance in Criminal Matters หรือ MLAT) ซึ่งเป็นกรอบในการดำเนินความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ ที่อาจทำได้ผ่านการลงนามในสนธิสัญญาร่วมกัน การดำเนินงานต่างตอบแทน (reciprocity) และกฎหมายภายในประเทศ

 

นอกจากนี้ ยังมีช่องทางการส่งเสริมความร่วมมือที่ไม่เป็นทางการเพื่อสนับสนุน MLAT ด้วย เช่น The South East Asia Justice Network หรือ SEAJust ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations on Drugs and Crime หรือ UNODC) และ Criminal Justice Forum for Asia and the Pacific หรือ Crim-AP จัดขึ้นโดยกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นร่วมกับ UNODC เป็นการต่อยอดมาจากปฏิญญาเกียวโต (Kyoto Declaration) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา และความร่วมมือด้านการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด และการฟื้นฟูผู้กระทำผิด

 

กลไกระหว่างประเทศทั้งสองแห่งนี้จัดตั้งขึ้นระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเป็นเวทีในการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้ง และมุ่งเน้นที่การแบ่งปันข้อมูลและเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนสร้างความเข้าใจกระบวนการทำงานของ MLAT ขณะเดียวกันก็ยังมีกลไกอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องและก่อให้เกิดประโยชน์ในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้แก่ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASEAN Senior Law Officials Meeting หรือ ASLOM) และ ACCPCJ

 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศมีการใช้ระบบกฎหมาย ทั้งระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร (Civil Law) และระบบกฎหมายแบบจารีตประเพณี (Common Law) ทำให้มีการตีความแตกต่างกัน ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีข้อเสนอแนะว่า ASEAN MLAT เป็นสนธิสัญญาที่ลงนามกันตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับปรุงให้เท่าทันกับสถานการณ์ในปัจจุบันด้วย ในขณะที่ช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงานของ MLAT อยู่ในส่วนของการอนุญาตที่ให้ดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะด้วยว่า อาเซียนควรมีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการส่งเสริมให้เกิดเขตอำนาจศาลที่ใช้ได้เป็นสากล (Universal Jurisdiction) สำหรับใช้ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องใช้กระบวนการระหว่างประเทศเพื่อพิจารณาคดี โดยการจัดตั้งความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้การดำเนินงานของ MLAT เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ส่วนข้อเสนอแนะอื่นๆ ยังรวมถึงความท้าทายทางด้านอาชญากรรมไซเบอร์ที่ประเทศสมาชิกควรจะเสริมสร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่ บุคลากร และประชาชน เกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ และทำการประเมินขีดความสามารถของตนเพื่อให้ทราบถึงความต้องการความช่วยเหลือด้านเทคนิค โดยมุ่งผลักดันให้เกิดความร่วมมือจากระบบนิเวศระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่ไม่จำกัดขอบเขตเฉพาะประเทศสมาชิกเท่านั้น อันจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ได้ในมิติที่หลากหลายยิ่งขึ้น

 

ประชุมเวทีคู่ขนานเยาวชนอาเซียนว่าด้วยอนาคตของความยุติธรรมในโลกดิจิทัล

ด้านตัวแทนเยาวชนอาเซียนได้เข้าร่วมการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 3 ในเวทีคู่ขนานเยาวชน เพื่อนำเสนอแนวคิดหรือไอเดียรูปแบบใหม่ ในหัวข้อ อนาคตของความยุติธรรมในโลกดิจิทัล (Future of Justice in the Digitized World) โดยมีแบ่งการนำเสนอเป็น 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ อัตลักษณ์ในโลกเมตาเวิร์ส (Identity in the Metaverse) ความน่าเชื่อถือทางกฎหมายในโลกเมตาเวิร์ส (Legal Liability in the Metaverse) สิทธิมนุษยชนในโลกเมตาเวิร์ส (Human Rights and the Metaverse) การคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์ในโลกเมตาเวิร์ส (Safeguarding Creativity in the Metaverse) การผูกขาดตลาดในโลกเมตาเวิร์ส (The Metaverse Monopoly)

ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาเสนอ ได้แก่ การก่ออาชญากรรมบนโลกดิจิทัล เช่น การขโมยอัตลักษณ์หรือผลงานบนโลกออนไลน์ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล การแสวงประโยชน์จากกลุ่มเปราะบาง อันเกิดจากความไม่เท่าเทียมทางฐานะ และความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยี เป็นต้น

 

เยาวชนอาเซียนได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจไว้ว่า หากตัวตนของเราในโลกดิจิทัลถูกละเมิดสิทธิ อย่างการถูกละเมิดทางเพศในเกม จะสามารถระบุได้หรือไม่ว่า อัตลักษณ์ของเราในโลกดิจิทัลมีอยู่จริง และจะมีแนวทางดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างไร โดยปัญหานี้ได้เกิดขึ้นจริงแล้วใน Metaverse Platform ของบริษัท Meta แต่ผู้เสียหายก็ไม่ได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ เยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งได้ตั้งประเด็นคำถามถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในคดีหลอกลวงเอาข้อมูลทางโทรศัพท์ (Scammer) เมื่อสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่าหลายประเทศในอาเซียนเผชิญกับปัญหาดังกล่าวอย่างรุนแรง ในกรณีนี้ อาจยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นจริงที่ผ่านมา โดยประเทศไทยร่วมกับประเทศกัมพูชาทลายกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ และใช้ความร่วมมือในกรอบของ MLAT เพื่อส่งตัวผู้ต้องหาข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย แต่ผู้กระทำผิดมักจะเป็นกลุ่มเปราะบาง ด้วยฐานะทางสังคมที่ไม่เท่าเทียม หรือขาดความรู้ ทำให้ถูกหลอกไปร่วมเครือข่ายอาชญากรรมเช่นกัน  จึงมองว่าการแก้ไขปัญหากรณีเช่นนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการจัดการกับปัญหาอย่างจริงจัง

 

ความท้าทายเหล่านี้ กลุ่มเยาวชนอาเซียนนำเสนอแนวทางแก้ไขไว้หลากหลายรูปแบบ โดยรวมถึงการปลูกฝัง สร้างความตระหนักรู้ และให้ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้องเหมาะสมแก่กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและเยาวชน และผู้สูงอายุ อีกทั้งเรียกร้องให้ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อสนองตอบต่อความท้าทายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการออกกฎหมายและนโยบายเพื่อกำหนดบทลงโทษต่อผู้กระทำผิดในโลกออนไลน์ ถึงแม้ว่าหลายประเทศจะมีการออกกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางเทคโนโลยีและโลกเมตาเวิร์สแล้ว หากยังต้องมีการปรับปรุงกฎหมายและนโยบายให้เท่าทันสถานการณ์ต่อไป และสุดท้ายคือแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนควรให้ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มีกลไกที่เป็นทางการในการจัดการกับความท้าทายดังกล่าวด้วย

 

ทั้งนี้ ผลการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 3 จะได้รับการนำเสนอในที่ประชุมนานาชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากลต่อไป

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
อาเซียนถกประเด็นเสริมแกร่ง ‘ยุติธรรมทางอาญา’ หลังฟื้นตัวโควิด-19 พร้อมดันเยาวชนเสนอแนวทางสู่โลกเมตาเวิร์ส ในเวที ACCPCJ ครั้งที่ 3

Back

Most Viewed