ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

"จากหลักปรัชญาพอเพียง สู่หลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชน"

 


พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จมาเป็นองค์ประธานการประชุมเชิงวิชาการ “ปรัชญาพอเพียงสู่หลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน” น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ภายในงานมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการขับเคลื่อน “ปรัชญาพอเพียงสู่หลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน” ระหว่าง 4 องค์กรเครือข่าย ประกอบด้วย สำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานอัยการสูงสุด มูลนิธิยุวสถิรคุณ มูลนิธิมั่นพัฒนา และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในการนี้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ประทานพระดำรัสปาฐกถาพิเศษในหัวข้อดังกล่าว โดยมีใจความโดยสรุปว่า “ทั้งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักนิติธรรมนั้น ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”


สาระสำคัญของหลักนิติธรรม คือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขโดยมีการเคารพกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายอย่างทั่วถึงและไม่เลือกปฏิบัติ ในขณะที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักการในการดำรงชีวิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเพี่อชี้แนะแนวทางดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย หลักดังกล่าวตั้งอยู่บนการใช้ความรู้และคุณธรรมเพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยคำนึงถึงความพอประมาณความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง โดยการปลูกฝังความพอเพียงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมจะสร้างทัศนคติในการเคารพกฎหมายหรือกติกาของสังคมและทำให้เกิดสังคมที่มีหลักนิติธรรมขึ้นได้ ในทางกลับกัน ความพอประมาณความมีเหตุผลและการสร้างภูมิคุ้มกันนั้น ก็สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยการปลูกฝังทัศนคติในการเคารพกฎหมายและกติกาของสังคมเช่นเดียวกัน เพราะกฎหมายและกติกาของสังคมนั้นล้วนแต่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ในกรอบที่เหมาะสมของสังคม ไม่ถูกดึงไปทางที่ไม่เหมาะสมหรือเบียดเบียนผู้อื่น จึงอาจกล่าวได้ว่า ปรัชญาหลักเศรษฐกิจพอเพียงและหลักนิติธรรมเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน


ในช่วงการเสวนา เรื่อง “ปรัชญาพอเพียงสู่หลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน” น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เมื่อพิจารณาจาก พระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และการดำรงพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตลอดจนการทรงงานตลอดพระชนม์ชีพ ซึ่งรวมถึงโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ จะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงยึดหลักนิติธรรมเป็นหลักการในการปกครองประเทศ และทรงนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นพื้นฐานในการสร้างสังคมที่มีดุลยภาพให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดมา”


จากการเล็งเห็นว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณ สมเหตุสมผล เป็นหลักการที่เชื่อมโยงกับแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินซึ่งเป็นปัญหาที่มีความสำคัญระดับชาติ ในงานประชุมเชิงวิชาการ”ปรัชญาพอเพียงสู่หลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน” TIJ จึงได้ร่วมกับ ศูนย์ลูกหนี้และประชาชนผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม นำเสนอนิทรรศการ “รู้ทันหนี้ ด้วย The Choice เกมทางเลือก - ทางรอด” ซึ่งเป็นเป็นนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและตระหนักคิดเรื่องการใช้จ่ายเงิน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเนื้อหาของเกมได้จำลองชีวิตของคนที่ตกเป็นเหยื่อหนี้นอกระบบในสังคมชนบทและสังคมเมือง โดยผู้เล่นจะได้เรียนรู้ “ทางเลือก” และ “ทางรอด” ในการใช้ชีวิตให้หลุดพ้นจากวังวนหนี้ รวมทั้งได้รับความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้นอกระบบ ความรู้เกี่ยวกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ช่วยเหลืออำนวยความยุติธรรม และการดำเนินชีวิตตามแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากผู้ที่มาเข้าชมงาน

สำหรับหน่วยงานหรือชุมชนที่สนใจจัดกิจกรรม The Choice เกมทางเลือก - ทางรอด เพื่อเรียนรู้กฎหมาย การเงิน และการวางแผนชีวิตบนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถติดต่อเพื่อขอรับบริการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ โทร. 02 575 3344 หรือ Facebook ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้

Back