ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เป้าหมายใช้มาตรการลงโทษแทนการคุมขังไม่คืบ ทั่วโลกเร่งสร้างคุกเพิ่ม รับมือนักโทษล้น


จากเสวนาออนไลน์เพื่อเปิดตัว "รายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลก ค.ศ. 2022 (Global Prison Trends 2022) ซึ่งนำเสนอแนวโน้มการใช้โทษจำคุก สถานการณ์ในเรือนจำ ตลอดจนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานต่อกระบวนการยุติธรรมทั่วโลก พร้อมด้วยรายงานพิเศษเกี่ยวกับเรือนจำในภาวะวิกฤตรูปแบบต่างๆ เมื่อวันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2565 จัดโดยองค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากล (PRI) และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) สะท้อนว่า ปัจจุบันทั่วโลกยังคงให้ความสำคัญกับการใช้โทษคุมขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุมขังก่อนการพิจารณาคดี ขณะที่การรณรงค์ให้ใช้โทษทางเลือกแทนการจำคุกในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ช่วยให้จำนวนผู้ต้องขังลดลง ทั้งยังพบด้วยว่า หลายประเทศกำลังเร่งสร้างเรือนจำเพิ่มเพื่อรองรับจำนวนผู้ต้องขังอีกด้วย

 

 

ข้อค้นพบและแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลก ค.ศ. 2022

 

“ฉันคิดว่ามาตรการทางเลือกแทนการคุมขังระหว่างเกิดสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำให้จำนวนผู้ต้องขังลดลง แต่ตัวเลขกลับเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ” ทริโอน่า เลนิฮาน ผู้จัดการด้านการรณรงค์นโยบายและการดำเนินงานระหว่างประเทศ องค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากล กล่าว “ตัวเลขล่าสุดพบว่าจำนวนผู้ต้องขังทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น โดยในอเมริกาใต้มีจำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า (เปรียบเทียบกับสถิติในปี ค.ศ. 2000)”

 

จากรายงานพบว่า ในปีนี้มีจำนวนผู้ต้องขังสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประมาณการว่าทั่วโลกมีจำนวนผู้ต้องขังกว่า 11.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24 จากสถิติปี ค.ศ. 2000 โดยสภาวะผู้ต้องขังล้นเรือนจำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เกิดจากปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งคือ การคุมขังก่อนการพิจารณาคดี สอดคล้องกับคำกล่าวของ ผู้พิพากษา อิมานี ดาอูด อะบูด ประธานศาลสิทธิมนุษยชนและสิทธิมนุษยชนแห่งแอฟริกา ซึ่งกล่าวเปิดการเสวนาว่า ในวันนี้ประชากรในเรือนจำมีเพิ่มขึ้น เห็นได้ว่าต้นเหตุสำคัญคือ การคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี มีการใช้การคุมตัวก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดีมากเกินไป แม้จะละเมิดหลักมนุษยธรรม
โดยพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ต้องขังถูกคุมขังก่อนที่จะมีการพิจารณาคดี และในแอฟริกาก็มีผู้ต้องขังอยู่ในสถานะนี้จำนวนมาก

 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นทั่วโลก นอกจากการคุมขังก่อนการพิจารณาคดีแล้ว ยังรวมถึงนโยบายยาเสพติด โดยพบว่า ผู้ต้องขัง 1 ใน 5 คน ถูกจำคุกในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และ 1 ใน 4 คนเป็นคดีการใช้ยาเสพติด อย่างไรก็ดี เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่า กว่า 30 ประเทศที่มีการยกเลิกการลงโทษทางอาญาสำหรับการใช้และครอบครองยาเสพติดแล้ว ในขณะที่บางพื้นที่กลับทำให้ความยากจน การขอทาน หรือการเป็นคนชายขอบ ให้เป็นความผิดทางอาญา ยกตัวอย่างเช่น การค้านอกระบบที่ทำให้ต้องจ่ายค่าปรับ หากไม่สามารถจ่ายได้ก็จะถูกจำคุก ถือเป็นกฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ก็พบด้วยว่า มีการพัฒนาที่จะรับมือในประเด็นนี้อยู่ในบางประเทศ

 

นอกจากนั้น การลงโทษที่รุนแรงและยาวนาน การขาดแคลนบุคลากรในการปฏิบัติหน้าที่ก่อนและระหว่างการตัดสินคดี ก็ทำให้จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน โดยจะเห็นว่า ผู้ถูกคุมขังบางคนต้องจำคุกนานเกินกว่าโทษที่จะได้รับ เนื่องจากการพิจารณาและตัดสินคดีที่ล่าช้า และประเด็นสุดท้ายคือ ไม่มีการใช้มาตรการแทนการคุมขังอย่างเพียงพอ

 

ด้วยสภาวะผู้ต้องขังล้นเรือนจำที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานหลายปี ล่าสุดพบว่า ประเทศต่างๆ ได้พยายามก่อสร้างเรือนจำเพิ่มเติม แทนที่จะใช้มาตรการแทนการคุมขัง ดังที่คณะกรรมาธิการยุโรปออกมาเรียกร้องให้ดำเนินการ

 

ทริโอน่า เล่าว่า ขณะนี้มีอย่างน้อย 24 ประเทศที่มีแผนสร้างเรือนจำใหม่ หรือมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นสำหรับจุผู้ต้องขังได้ถึงราว 437,000 คน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นตัวเลขประมาณการ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า การเข้าถึงตัวเลขเหล่านี้อย่างเป็นทางการเป็นเรื่องยาก
จึงคาดว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้ ทั้งยังเป็นเพียงสถิติการสร้างเรือนจำใหม่ที่ไม่รวมการปรับปรุงหรือขยายพื้นที่เดิม

 

นอกจากการสร้างเรือนจำเพิ่มเติมแล้ว ยังมีแนวโน้มด้วยว่าเรือนจำที่สร้างใหม่จะตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเมืองหรือชุมชนมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง ในอังกฤษและเวลส์มีแผนที่จะสร้างเรือนจำเพิ่มที่มีความจุอีกราว 18,000 คน โดยจะสร้างเรือนจำเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ รวมทั้งมีโอกาสที่รัฐจะร่วมบริหารเรือนจำกับเอกชน ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การดำเนินงานในรูปแบบดังกล่าวเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติที่ไม่ดีต่อผู้ต้องขัง

 

ส่วนการวิเคราะห์สภาพเรือนจำ ในปีนี้เป็นครั้งแรกที่รายงานฯ มีส่วนที่รายงานเกี่ยวกับน้ำสะอาดและสุขาภิบาลในเรือนจำต่างๆ น้ำปนเปื้อน น้ำถังเดียวใช้ร่วมกัน ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อต่างๆ เนื่องจากขาดหลักสุขาภิบาลที่ดี ขาดการลงทุน โดยเฉพาะในบริบทที่มีประชากรผู้ต้องขังจำนวนมาก ขาดทรัพยากรและโครงสร้าง แม้แต่ในประเทศที่รายได้สูง อาคารเรือนจำมีสภาพทรุดโทรม ไม่ได้รับการปรับปรุงและไม่ได้มาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน

 

ในประเด็นนี้ เปโดร อาโรโจ อะกูโด ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนด้านน้ำดื่มที่ปลอดภัยและการสุขาภิบาล เสริมว่า การเข้าถึงน้ำดื่มและสุขอนามัยเป็นสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การรับประกันสิทธิของผู้ถูกคุมขังเป็นพันธะกรณีของรัฐที่จะต้องตอบสนองและดำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชน โดยนอกจากคนชายขอบ คนยากจนแล้ว เรือนจำก็เป็นพื้นที่ที่มีคนเปราะบางและถูกกีดกันอีกกลุ่ม จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการอย่างเหมาะสม

 

“การจัดหาน้ำดื่มและสุขอนามัยเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกับอากาศที่สะอาด รวมถึงความเป็นส่วนตัวในการใช้ห้องน้ำและสิทธิในการเข้าถึงสุขอนามัยที่เพียงพอ” พร้อมทั้งได้เรียกร้องให้รัฐบาลตอบสนองสิทธิมนุษยชน และกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นต่ำขึ้นมาตามข้อกำหนดแมนเดลา ที่ระบุว่า เรือนจำต้องจัดหาน้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภคให้ผู้ถูกคุมขัง และผู้ถูกคุมขังต้องมีสิทธิได้รักษาความสะอาดของตนเอง และเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดหาเครื่องใช้ในห้องน้ำที่เหมาะสมและจำเป็นต่อสุขภาพของผู้คุมขัง

 

ด้าน อะเดล ดับวัล หัวหน้าองค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากลในเยเมนและสมาชิกคณะกรรมการแห่ง Together for Human Rights ผู้ร่วมอภิปรายให้ความเห็นว่า เรื่องน้ำสะอาด พบว่าในบางสถานการณ์เกิดจากเรือนจำไม่ได้ดูแลรักษาท่อส่งน้ำต่างๆ เพราะมีค่าใช้จ่าย เมื่อขาดแคลนงบประมาณ ท่อเหล่านั้นก็เสื่อมสภาพ โดยที่เยเมนก็ประสบกับการขาดแคลนงบประมาณ และจะเห็นว่าเยเมนให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาและสาธารณสุขในเรือนจำมากกว่าระบบสาธารณูปโภค

 

รายงานฯ ยังได้เผยถึง ผลกระทบของภาวะการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยว่า แต่ละประเทศมีการพบการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ และปีที่ผ่านมา มีมาตรการป้องกันที่เคร่งครัดขึ้น มีการติดเชื้อน้อยลง แต่ยังคงส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนในเรือนจำ ทั้งผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ ด้วยข้อจำกัดในหลายประเทศและทรัพยากรในการรับมือ เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่ เช่น นักจิตวิทยา จิตแพทย์มาดูแล ขณะที่เจ้าหน้าที่ในเรือนจำก็ต้องเผชิญกับข้อท้าทายคล้ายกันคือ สภาพการทำงานไม่ดี ไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามสภาพงาน ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 สถานการณ์ก็ย่ำแย่มากขึ้น หากมีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ เจ้าหน้าที่คนอื่นก็ต้องทำงานหนักขึ้น
มีความเครียดสูง เหนื่อยล้ามากขึ้น อีกทั้ง ยังเสี่ยงต่อการเกิดจลาจลในเรือนจำมากขึ้น อย่างไรก็ดี มีโครงการใหม่ๆ ที่ช่วยสนับสนุนเจ้าหน้าที่ด้านจิตวิทยา เช่น การนั่งสมาธิ โยคะ เพื่อลดความเครียด

 

“ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในเรือนจำที่อินเดีย พบว่า มีการเพิ่มจำนวนคนถูกคุมขัง และจะเห็นว่าผู้คุมและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการก็ทำงานหนักมาก และมีการละเมิดเกิดขึ้นทั่วไป ต้องเข้าใจว่า โรคระบาดนั้นก็ส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องออกมาทำงาน ในขณะที่คนอื่นอยู่บ้าน” มาดูริมา ดานูก้า หัวหน้าโรงการปฏิรูปเรือนจำ Commonwealth Human Rights Initiative กล่าวในวงเสวนา

 

การเสวนาในครั้งนี้ยังได้สะท้อนถึงประเด็นท้าทายอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการเรือนจำ เช่น ภัยธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน ความรุนแรงในเรือนจำจากความไม่พอใจระหว่างกลุ่มผู้ต้องขังที่มีความเปราะบาง อย่างคนชายขอบ ผู้หญิง เด็ก และผู้ต้องขัง LGBTQ+ รวมไปถึงผู้ต้องขังในรัฐที่กำลังประสบปัญหาทางการเมือง สงคราม ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีและไม่เป็นไปตามหลักการเคารพสิทธิมนุษยชน

 

“เราไม่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องได้จนกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบนั้น ต้องถามว่าเราต้องการบรรลุเป้าหมายอะไรในการลงโทษจำคุกแบบนี้ และได้ผลอะไรบ้าง” มาวิน มัช นักเคลื่อนไหวปฏิรูปเรือนจำและผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Humane Prison Hospice และอดีตผู้ต้องขังที่ถูกจำคุกเป็นเวลา 41 ปี ในเรือนจำสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการตัดสินคดีผิดพลาด ผู้ร่วมอภิปรายในวงเสวนา กล่าว โดยยกตัวอย่างว่า ในสหรัฐอเมริกามีการใช้โทษคุมขังมาเกือบ 200 ปี ถือเป็นเรื่องผิดพลาดอย่างยิ่ง และส่วนตัวคุณมาวินได้ศึกษาเรื่องคนไร้บ้าน พบว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของคนไร้บ้านเคยเป็นผู้ถูกคุมขังมาก่อนที่จะไร้บ้าน และครึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่ไร้บ้านเคยติดคุกในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดและมีปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้น นอกจากการแก้ปัญหาเรื่องการใช้โทษจำคุก เราต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาด้วย

 

“คนญี่ปุ่นมีการนำภาชนะต่างๆ ที่แตกร้าวแล้วเอาทองมาประสานกันให้ใช้ได้อีกครั้งและสวยงาม รอยแตกนั้นมีค่ากว่าภาชนะเสียอีก เราต้องทำอะไรที่ดีกว่านี้ในเรื่องของการลงโทษ” มาวิน กล่าว สอดคล้องกับ เปโดร อาโรโจ อะกูโด ที่ระบุว่า “เรือนจำเป็นการแสดงออกของความยุติธรรมในลักษณะที่รุนแรงที่สุด และความยุติธรรมจะไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากเราไม่เคารพสิทธิมนุษยชน”

 

แนวทางในอนาคตสำหรับการปรับปรุงการบริหารจัดการเรือนจำ วงเสวนาฯ เสนอให้ ลดจำนวนผู้ต้องขังด้วยการใช้มาตรการแทนการคุมขังและการไกล่เกลี่ย โดยมีบางประเทศที่เริ่มดำเนินการไปแล้วกับกลุ่มเยาวชนในสถานพินิจ และกลุ่มผู้ต้องขังหญิง
และหวังจะขยายผลต่อไป รวมไปถึงการลดการจับกุมโดยไม่มีฐานความผิดและการคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และที่สำคัญคือ รัฐบาลของประเทศต่างๆ ต้องให้ความร่วมมือและดำเนินงานบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมอย่างโปร่งใสและเปิดเผยมากขึ้น

 

“รายงานฉบับนี้เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณาและวิเคราะห์กันเพื่อให้มีการดำเนินการที่เป็นธรรมและมีความยุติธรรมที่ดียิ่งขึ้น เรามุ่งหวังว่าการริเริ่มนี้จะดำเนินการต่อไปและมีประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาสิทธิมนุษยชน และมีการส่งเสริมการใช้มาตรการที่มิใช่การลงโทษและพิทักษ์สิทธิของบุคคลที่ถูกคุมขัง” ประธานศาลสิทธิมนุษยชนและสิทธิมนุษยชนแห่งแอฟริกา กล่าว

 

ด้าน ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า รายงานนี้ให้ข้อมูลที่สำคัญอย่างมาก และส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับรู้ภูมิหลังทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมของผู้กระทำผิด ที่จะช่วยกระตุ้นให้ใช้การคุมขังเป็นมาตรการขั้นสุดท้ายในการลงโทษ นอกจากนี้ การใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังจะช่วยให้เกิดการตอบสนองที่เป็นธรรม ลดผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง และลดจำนวนคนชายขอบในเรือนจำ ส่งผลให้ระบบเรือนจำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติไม่อาจจะบรรลุความสำเร็จได้ หากไม่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และทุกฝ่ายมีบทบาทที่ต้องให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูระบบที่ดีต่อกระบวนการยุติธรรม เพื่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมอย่างยั่งยืน”

 

ดาวน์โหลด รายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลก ค.ศ. 2022

Back

Contact :

icon

ส่วนที่รับผิดชอบ ส่วนกลาง

icon

อีเมล : info@tijthailand.org

chat