ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ หนุนใช้มาตรฐาน ICCS จำแนกประเภทอาชญากรรม

 

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการการใช้มาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการจำแนกประเภทอาชญากรรมเพื่อประโยชน์ทางสถิติกับการบูรณาการข้อมูลและการพัฒนางานยุติธรรม โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ

 

ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้โลกกลายเป็นสังคมไร้พรมแดนได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะเมื่อปัญหาอาชญากรรมมีความยุ่งยากและซับซ้อนยิ่งขึ้น แต่ละประเทศจึงต้องกำหนดนโยบายเพื่อการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติอาชญากรรมอย่างละเอียดและครอบคลุม เพื่อให้สามารถออกแบบและกำหนดนโยบายที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

 

 

มาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการจำแนกประเภทอาชญากรรมหรือ ICCS พัฒนาโดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และได้รับการรับรองในปี ค.ศ. 2015 เพื่อเป็นคู่มือการให้รหัสจำแนกประเภทความผิดทางอาญาที่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทุกระดับสามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเก็บข้อมูลสถิติและติดตามตัวชี้วัดตามเป้าประสงค์ของวาระการพัฒนา 2030 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม

 

ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวถึงมาตรฐาน ICCS ว่า TIJ เล็งเห็นว่า ICCS เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมไทย ในฐานะหลักเกณฑ์อ้างอิงการจำแนกประเภทอาชญากรรมให้แต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องกัน โดยไม่อิงตัวบทกฎหมาย ซึ่งจะสะดวกสำหรับผู้ปฏิบัติที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านกฎหมายโดยตรง และมาตรฐาน ICCS ยังนำมาใช้อ้างอิงในการทำวิจัยทางสังคมศาสตร์ การสำรวจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม รวมทั้งใช้อ้างอิงในการเก็บข้อมูลของหน่วยงานเอกชนที่ทำงานช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมหรือหน่วยงานส่งเสริมสิทธิต่างๆ ด้วย

 

“ICCS เหมือนเป็นการกำหนดภาษากลางสำหรับสื่อสารกันระหว่างหน่วยงาน ข้อมูลที่ได้จึงสามารถใช้รวบรวมและแลกเปลี่ยนให้เกิดเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งภาครัฐเองก็สามารถร่วมใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องลงทุนจัดเก็บเองทั้งหมด ปัญหาของไทยขณะนี้คือไม่มีองค์กรกลางจัดเก็บข้อมูล เนื่องจากหน่วยงานจะจัดเก็บข้อมูลตามความสนใจหน้าที่ของตนเอง การจะเก็บข้อมูลได้ครบถ้วนจึงมีข้อจำกัดเชิงโครงสร้างตั้งแต่ต้น ในอีกทางก็มีข้อจำกัดโดยเก็บข้อมูลจากโทษ โดยดูกฎหมายเป็นหลัก ทำให้เสียโอกาสหลายเรื่องที่ทำให้ไม่เข้าใจอาชญากรรมได้ดี เช่นที่อังกฤษมีการเก็บรายละเอียดอาชญากรรมได้ดี ทำให้รู้ว่าสถิติการทำร้ายร่างกายใช้มีดมากกว่า การออกนโยบายลดความรุนแรงด้วยการควบคุมอาวุธปืนจึงไม่ได้ผล การมีข้อมูลทางสถิติที่ลงลึกพอสมควรก็จะนำไปสู่การเข้าใจอาชญากรรมที่เกิดขึ้น นำสู่การป้องกัน ดูแลผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายได้ดีขึ้น และกำหนดนโยบายทางอาญาและวัดผลความสำเร็จของนโยบายทางอาญาได้ดีขึ้น”

 

 

ด้าน ศ. (พิเศษ) วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ กล่าวระหว่างการปาฐกถาว่า ICCS เป็นประโยชน์มากสำหรับการประมวลข้อมูลอาชญากรรมเปรียบเทียบระหว่างแหล่งข้อมูล ทั้งระดับองค์กรและระดับประเทศ ทำให้มีฐานข้อมูลสำหรับการวางแผนกำหนดนโยบายอาชญากรรมและความยุติธรรมของประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

พร้อมกันนี้ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ TIJ ได้มีบทบาทในการริเริ่มพัฒนาแนวทางนำ ICCS มาใช้ในประเทศไทย โดยการจัดแปลมาตรฐาน ICCS และการเผยแพร่ความรู้ให้กับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง และกระทรวงยุติธรรม​มีความพร้อมที่จะส่งเสริมการขับเคลื่อน ICCS และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับกระบวนการยุติธรรม​ของประเทศไทยต่อไป

 

 

ระหว่างกิจกรรมเสวนาวิชาการการใช้มาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการจำแนกประเภทอาชญากรรมเพื่อประโยชน์ทางสถิติกับการบูรณาการข้อมูลและการพัฒนางานยุติธรรม มีผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในหลากหลายหัวข้อ ได้แก่ ประโยชน์ของมาตรฐาน ICCS กับการพัฒนาฐานข้อมูลในกระบวนการยุติธรรมไทย  ความสำคัญของมาตรฐาน ICCS กับการดำเนินนโยบายตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การปรับใช้มาตรฐาน ICCS ในงานวิจัยและภารกิจของหน่วยงานภาคประชาสังคม การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลที่มีคุณภาพ ประโยชน์ของมาตรฐาน ICCS ต่อนักกฎหมายและการพัฒนากฎหมาย รวมทั้งมีการสาธิตการใช้งานมาตรฐาน ICCS ด้วย

 

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด มาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการจำแนกประเภทอาชญากรรมเพื่อประโยชน์ทางสถิติ ฉบับที่ 1.0 ได้ที่ https://knowledge.tijthailand.org/th/publication/detail/th-iccs#book/

 

Back

Contact :

icon

ส่วนที่รับผิดชอบ ส่วนกลาง

icon

อีเมล : info@tijthailand.org

chat