ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

สรุปงานเสวนาเนื่องในโอกาสวันแมนเดลาสากล เรื่อง "การบริหารจัดการเรือนจำในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการอนุวัติข้อกำหนดแมนเดลา

 

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสำนักงานป้องกันอาชญากรรมและปราบปรามยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (UNODC) จัดงานเสวนาออนไลน์ เรื่อง “การบริหารจัดการเรือนจำในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 และการอนุวัติข้อกำหนดเนลสันแมนเดลา” เนื่องในโอกาสครบรอบวันเนลสันแมนเดลาสากล (Nelson Mandela International Day) ในวันที่ 18 กรกฎาคม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ภายในเรือนจำ และเปิดตัวหลักสูตรการฝึกอบรมระบบอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยการอนุวัติข้อกำหนดเนลสันแมนเดลา (Nelson Mandela Rules E-Learning Course) ฉบับภาษาไทย ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จำลอง โดยในงานเสวนาครั้งนี้ได้มีผู้ร่วมเสวนาทางออนไลน์จากหลากหลายหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และมีผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาออนไลน์กว่า 200 คน จากทั่วมุมโลก โดยมี สลิลา นรัตถรักษา นักรณรงค์เชิงนโยบาย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

ก่อนเริ่มการเสวนา Mr. Jeremy Douglas ผู้แทนสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมฟังเสวนา โดยกล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่าเป็นการสร้างความตระหนักรู้ถึงข้อกำหนดเนลสันแมนเดลลา และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรับใช้ข้อกำหนดเนลสันแมนเดลาที่มีต่องานราชทัณฑ์โดยเฉพาะในด้านการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองคือ การป้องกันสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำ และยังได้ย้ำว่า การบริหารงานเรือนจำต้องคำนึงถึงข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานต่าง ๆ เช่น ข้อกำหนดแมนเดลลา ข้อกำหนดกรุงเทพ และมาตรการอื่นที่ไม่ใช่การคุมขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และได้เสริมว่า ทางสำนักงาน UNODC ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เเละแปซิฟิกได้สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันให้แก่เจ้าหน้าที่เรือนจำต่าง ๆ ในหลายประเทศ

 

ในโอกาสนี้ คุณพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวเปิดงานเสวนาว่า ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังควรคำนึงถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยผู้ต้องขังนั้นเป็นกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในสถานที่คุมขังของรัฐ ซึ่งรัฐต้องให้การดูแล โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ต้องขังพึงได้รับการป้องกันและดูแลรักษาโรคตามมาตรฐานเช่นเดียวกับที่รัฐจัดให้กับประชาชนทั่วไป และควรมีมาตรการให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการบริการทางสาธารณสุข อันเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน

 

การเสวนาในครั้งนี้ได้เริ่มต้นแลกเปลี่ยนกันในหัวข้อ “โครงการราชทัณฑ์ ปันสุข และการบริหารจัดการเรือนจำในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” โดย นายแพทย์วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการราชทัณฑ์ปันสุขที่เป็นส่วนสำคัญในการจัดหาทรัพยากรการแพทย์ให้เรือนจำที่ขาดแคลน อีกทั้งยังได้รายงานสถานการณ์และนโยบายของเรือนจำไทยระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงรายงานข้อมูลการฉีดวัคซีนของผู้ต้องขังที่ครอบคลุมไปมากกว่าร้อยละ 20 ของผู้ต้องขังทั้งหมด ตลอดจนมีการจัดสรรวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในเรือนจำอีกด้วย ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์นั้น ได้มีหลักการยึดถือในการเตรียมความพร้อม การจัดการดูแลความมั่นคงและความปลอดภัยในการรับผู้ต้องขัง ภายใต้การสื่อสารและความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ รวมถึงหลักสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง

 

ในมิติระหว่างประเทศ Piera Barzano ที่ปรึกษาโครงการ และ ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอในหัวข้อ “มิติระหว่างประเทศด้านสาธารณสุขในเรือนจำ และนโยบายราชทัณฑ์ในการรับมือกับโรคโควิด-19” โดยร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล โครงการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ต่อระบบสาธารณสุขในเรือนจำทั่วโลก

 

Piera Barzano ได้บรรยายว่า ผลกระทบของโรคโควิด-19 นั้นได้ขยายวงกว้างออกไปทั่วโลก ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้งานด้านสาธารณสุขในเรือนจำกลายเป็นสิ่งแรกที่ควรได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาความหนาแน่นในเรือนจำ เช่น การลดความแออัดในเรือนจำด้วยการชะลอการตัดสินพิพากษา การปล่อยผู้ต้องขังที่มีความเปราะบางให้พ้นโทษก่อนกำหนด หรือการจำกัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เป็นต้น สถานการณ์เหล่านี้ได้บีบให้ระบบเรือนจำต้องปรับตัวและเปิดรับการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้น และในหลายเรือนจำทั่วโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านสาธารณสุขอย่างกว้างขวาง โดยเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 

 

ชลธิช ชื่นอุระ ได้นำเสนอแนวทางในการเตรียมตัวรับมือกับวิกฤตในเรือนจำในอนาคต โดยได้เสนอแนวทางลดความแออัดของเรือนจำที่เป็นการสร้างพันธมิตรในกระบวนการยุติธรรมในการทำงานร่วมกัน อีกทั้งยังต้องส่งเสริมการพัฒนาระบบสาธารณสุขในเรือนจำไปพร้อมกับการปรับใช้ข้อกำหนดเนลสันแมนเดลาและข้อกำหนดกรุงเทพ และควรประสานงานกับหน่วยงานบริการสาธารณสุขอย่างเข้มแข็ง ตลอดจนควรมีการจัดทำเอกสารวิธีการจัดการกับวิกฤตในเรือนจำ สำหรับเรือนจำที่กำลังควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น มีข้อแนะนำว่า ควรนำมาตรการลดความหนาแน่นของผู้ต้องขังในเรือนจำมาใช้ ควรจัดเก็บข้อมูลผู้ต้องขังทั้งข้อมูลทั่วไปและเชิงลึก ควรสื่อสารข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเรือนจำยังสามารถนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในเรือนจำ และคำนึงถึงประเด็นสุขภาพจิต สภาวะความเครียดที่อาจเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมเข้มงวด ตลอดจนยังได้เสนอการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมแก่ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ 

 

ลำดับถัดมา Naoki Sugano เจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรม (UNODC) ได้เล่าถึงภารกิจของ UNODC ในการสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ใช้โอกาสนี้ในการเปิดตัว หลักสูตรการฝึกอบรมระบบอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยข้อกำหนดเนลสันแมนเดลาฉบับภาษาไทย ที่เป็นหลักสูตรเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่เรือนจำเข้าใจ และสามารถนำข้อกำหนดเนลสันแมนเดลามาปฏิบัติได้ ซึ่ง TIJ ได้สนับสนุนการแปลหลักสูตรดังกล่าวเป็นภาษาไทย ในแต่ละบทเรียนประกอบด้วยส่วนเนื้อหาข้อกำหนดและการนำข้อกำหนดไปใช้ โดยมีสถานการณ์จำลองเพื่อให้ผู้เรียนศึกษาการปรับใช้ข้อกำหนดเนลสันแมนเดลาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ นอกจากนี้ ท้ายบทเรียนยังมีการทดสอบประเมินความรู้ความเข้าใจอีกด้วย หลักสูตรดังกล่าวไม่มีค่าใช้จ่ายและผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง

 

จากนั้นในช่วงถาม-ตอบ ผู้ร่วมเสวนาได้ตอบคำถามเกี่ยวกับมาตรการดูแลผู้ติดเชื้อ การแบ่งกลุ่มดูแลผู้ติดเชื้อ ซึ่งถือเป็นแนวทางบริหารจัดการเรือนจำในช่วงระบาดของโรคโควิด-19 อีกคำถามหนึ่งคือ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนกับจัดการควบคุมโรคระบาด เช่น การเลือกฉีดวัคซีนของผู้ต้องขัง รวมถึงข้อจำกัดในการเยี่ยมญาติ เป็นต้น การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเหล่านี้เป็นการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมและประเด็นทางสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังไปอย่างควบคู่กัน

 

ในตอนท้ายของงานเสวนา ดร. พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวปิดการเสวนาโดยกล่าวถึง ความเชื่อมโยงระหว่างการบริหารจัดการเรือนจำในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 กับข้อกำหนดเนลสันแมนเดลาที่ให้ความสำคัญกับการบริการสาธารณสุขในเรือนจำ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทำให้เห็นถึงความเปราะบางของเรือนจำ เนื่องจากผู้ต้องขังมีภูมิหลังและความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่าคนทั่วไป และย้ำเตือนให้ทุกฝ่ายประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไป โดยไม่ละเลยหรือทอดทิ้งกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดไว้เบื้องหลัง โดยกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การนำข้อกำหนดเนลสันแมนเดลารวมทั้งข้อกำหนดกรุงเทพมาปรับใช้ในการบริหารจัดการเรือนจำจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของงานราชทัณฑ์ และธำรงไว้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลระหว่างการคุมขัง ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นหัวใจสำคัญทั้งในการบริหารเรือนจำในสภาวะปกติ และสำคัญมากยิ่งขึ้นในภาวะวิกฤตเช่นนี้

 

 

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

 

 

Back
chat