อาเซียนย้ำสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เร่งหารือความร่วมมือแก้ปัญหา
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงรุนแรง ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาวะ ของประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะผลกระทบที่ต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งในระดับประเทศ และภูมิภาคอาเซียน
ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้แสดงความกังวลว่าปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบในทุกมิติ หลายประเทศต้องประสบกับปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ และความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ ตอกย้ำให้ปัญหาคนล้นคุกที่มีอยู่เดิมหนักขึ้น และเป็นสัญญาณเตือนให้หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและสุขภาพของผู้ต้องขัง
ส่วนหนึ่งจากคำกล่าวในที่ประชุมคณะที่ปรึกษา (Consultative Group Meeting – CGM) ครั้งที่ 1
เมื่อวันที่ 7-8 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice หรือ ACCPCJ) ครั้งที่ 3 ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ภายใต้การรับรองของที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASEAN Senior Law Officials Meeting : ASLOM)
ขณะที่ นางสาวชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ ได้นำเสนอข้อมูลต่อที่ประชุม เกี่ยวกับภาพรวมปัญหาความแออัดและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำและสถานกักกันในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยอ้างอิงข้อมูลในเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า มีผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 มากถึง 575,884 คน จาก 122 ประเทศ และมีรายงานผู้ต้องขังเสียชีวิตมากกว่า 4,082 คน จาก 47 ประเทศ ซึ่งสะท้อนว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อสิทธิมนุษยชนและสุขภาพของผู้ต้องขัง ทั้งในประเทศภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก
ที่ประชุมจึงเห็นว่า การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องอาศัยการประสานงานร่วมกันระหว่าง 3 เสาหลัก ทั้งประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และการดำเนินงานร่วมกับภาคีองค์กรหลายภาคส่วน
ที่ผ่านมาประเทศไทย และ TIJ ได้สร้างและพัฒนาความร่วมมือกับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพื่อผลักดันประเด็นต่าง ๆ ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาร่วมกัน ผ่านการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้น โดยมีหัวข้อหลัก คือ “Enhancing Crime Prevention and Criminal Justice Institutions for Sustainable Development of the ASEAN Community” และ “Promoting the ASEAN Culture of Prevention for a Collaborative and Innovative Justice for All, with a particular focus of Cybercrime” การประชุมทั้งสองครั้ง ได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนเยาวชน จากประเทศสมาชิกเข้าร่วม เพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมของภูมิภาคอาเซียนด้วย
ทั้งนี้ ข้อเสนอสำคัญของผู้แทนเยาวชน เห็นว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดวิกฤติระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในภูมิภาค แม้จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางบวกมากขึ้น เช่น การติดตามความเคลื่อนไหว (contact tracing) และการใช้ระบบออนไลน์กระตุ้นระบบเศรษฐกิจ แต่การนำเทคโนโลยีมาใช้ก็ส่งผลกระทบด้านลบ เห็นได้จากการแพร่ระบาดของข้อมูลหรือข่าวปลอม (fake news) และอาชญากรรมไซเบอร์ (cybercrime) ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น กลุ่มเยาวชนจึงเสนอให้มีการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์
นอกจากนี้ตัวแทนกลุ่มเยาวชนอาเซียน ยังมองว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชากรกลุ่มเปาะบาง ทั้งผู้หญิง เด็ก และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ จึงเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นถึงความสำคัญของกิจกรรมจิตอาสา เช่น การให้ความรู้ด้านดิจิทัลสำหรับผู้ด้อยโอกาสที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การให้ความช่วยเหลือด้านภาษาอังกฤษเบื้องต้น รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการศึกษาและการเงิน
ข้อสรุปที่ได้จากการอภิปรายร่วมกันในครั้งนี้จะถูกรวบรวมและนำไปอภิปรายเพื่อหารือความร่วมมือในการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 3 ต่อไป