ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ จัดประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทบทวนเนื้อหาปรับปรุงคู่มือ “ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์”

 

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแนวทางและความท้าทายของการขับเคลื่อนความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เพื่อเตรียมประเด็นเชิงสารัตถะและวางกรอบการหารือในการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อทบทวนเนื้อหาและลงมติ การปรับปรุงคู่มือเกี่ยวกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ตลอดจนหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวภายในประเทศ โดยมีผู้แทนเข้าร่วมจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สำนักงานอัยการคดีศาลแขวง และ TIJ

 

ที่มาของการประชุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ได้มีบทบาทนำในการผลักดันแนวคิดเรื่องความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งมีต้นแบบจากการระงับข้อพิพาทที่ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง และมีเป้าหมายสำคัญคือการหันเหผู้กระทำผิดออกจากกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้เสียหายและชุมชนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยที่เผชิญกับปัญหาด้านระบบยุติธรรมในมิติต่างๆ รวมถึงปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก จึงพยายามนำหลักการดังกล่าวมาใช้ในบริบทของประเทศไทยเพื่อเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ อีกทั้ง ประเทศไทยยังมีบทบาทสำคัญในความร่วมมือกับนานาประเทศและสหประชาชาติ ในการผลักดันให้มีการนำหลักการของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปฏิบัติอย่างแพร่หลาย ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยให้มากขึ้น

 

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงรายละเอียดของการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อทบทวนเนื้อหาและปรับปรุงคู่มือเรื่องความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Handbook on Restorative Justice Programme)  ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 19 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นความร่วมมือของสำนักงาน UNODC และ TIJ เพื่อปรับปรุงเนื้อหาของคู่มือดังกล่าวให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และผลักดันการนำมาตรการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปฏิบัติใช้มากขึ้น โดยในปี 2563 จะมีการนำคู่มือฉบับปรับปรุงนี้มาพัฒนาหลักสูตรเพื่อใช้ในการจัดฝึกอบรมระดับภูมิภาคว่าด้วยเรื่องความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ นอกจากนี้ มีการแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงกิจกรรมต่อเนื่อง 2 กิจกรรม ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญฯ ดังกล่าวเพื่อสร้างความตระหนักรู้และเสริมสร้างศักยภาพของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยเกี่ยวกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ 

Back