ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

“ในวงจรการก่ออาชญากรรม คนที่ออกไปแล้วไม่ทำผิดซ้ำ จะต้องมีเงิน มีงาน มีคนรัก ยอมรับและเห็นคุณค่าตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นครอบครัว แต่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ส่วนคนที่กลับเข้ามาก็คือตรงกันข้าม” ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

 

คำบอกเล่าของ ชลธิช เผยให้เห็นภาพสะท้อนของสังคมของผู้พ้นโทษ ที่ต้องเผชิญความท้าทายในการกลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคมภายนอก โอกาสที่พวกเขาจะได้ก้าวข้ามการถูกตีตราว่าเป็น “คนคุก” จริงๆ แล้ว แทบไม่แตกต่างจากความต้องการในชีวิตของคนทั่วไป นั่นก็คือการได้รับการยอมรับจากสังคม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง โดยมี “เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ” ไม่ว่าจะเป็นจากคนรอบข้างอย่างครอบครัว เพื่อน เจ้านาย มีงานที่ได้เงินเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการเอาชีวิตรอด และพ้นจากความยากลำบากในการใช้ชีวิต

 

ทว่า หากฟังจากเสียงของผู้พ้นโทษจะพบว่า กว่าที่พวกเขาจะได้รับโอกาสเหล่านั้นได้ ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ ข้อที่เห็นได้ชัดคือการถูกสังคมผลักไส ตั้งแต่ก้าวเท้าออกจากเรือนจำ ทั้งที่ความผิดนั้นได้รับโทษทัณฑ์ไปแล้ว

 

เครื่องยึดเหนี่ยวที่ช่วยให้ผู้พ้นโทษตั้งตัวได้อีกครั้งก็คือ “ผู้ให้โอกาส”

 

ครอบครัวของ พี่หนึ่ง (นามสมมติ) เป็นหนึ่งในผู้ให้โอกาสนั้น เมื่อต้องออกจากเรือนจำ พี่หนึ่งได้ คุณป้า ที่ขาดการติดต่อกันมาถึง 10 ปี ที่มารับตัวออกจากเรือนจำ หลังจากเธอต้องรับโทษในคดีเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด

 

“ถึงผู้ต้องขังคนอื่นถ้าออกมาแล้วก็กลับไปตั้งตัวที่ครอบครัวเถอะ”

 

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางผู้พ้นโทษที่ได้รับโอกาสจำนวนมาก สิ่งที่สังคมส่วนใหญ่มองเห็น กลับเป็นเรื่องราวของผู้พ้นโทษที่ไม่อาจก้าวข้ามความผิดของตนเองได้ หลายคนหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำจากการขาดโอกาส โดยจากสถิติผู้พ้นโทษของกรมราชทัณฑ์ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่าผู้พ้นโทษ ร้อยละ 30 มีการกระทำผิดซ้ำภายใน 3 ปี 

 

ส่วนผู้พ้นโทษอีกร้อยละ 70 คือผู้ที่สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ แม้ในแต่ละวันจะต้องประสบกับการถูกกีดกัน และเผชิญความยากลำบากในการปรับตัว การหาเลี้ยงชีพที่สุจริต ควบคู่ไปกับการหลบหลีกการถูกตีตรา ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ส่วนหนึ่งมีปัจจัยมาจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ตอกย้ำความผิดพลาดของอดีตผู้ต้องขัง ซึ่งนั่นทำให้ผู้พ้นโทษที่ต้องการจะกลับตัวเป็นคนปกติในสังคม ติดร่างแหแห่งข้อมูลที่สร้างความหวาดกลัวในสังคม และฉุดให้ “ผู้ให้โอกาส” หดหายตามไปด้วย

 

ผู้ต้องขัง - บางส่วนเป็นเหยื่อของสังคมอยุติธรรม

 

“เหตุปัจจัยของคนทำความผิด เกิดจากอยากได้เงิน รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ช่วยเหลือคนที่บ้าน โดยเฉพาะคนแก่ ก็แก่แล้ว หลานมียาในบ้าน รับแทนหลาน แล้วผู้หญิงกับผู้ชายก็มีเหตุต่างกัน อย่างผู้หญิงอาจมาจากภาระการดูแลลูกหรือครอบครัว หรือจากการเป็นเหยื่อความรุนแรง ถูกสามีซ้อมแล้วลุกขึ้นมาฆ่าสามี ซึ่งเป็นเหตุที่เกิดได้ทั้งในไทยและต่างประเทศ คนที่เป็นเหยื่อแล้วในเสี้ยววินาทีก็ตัดสินใจกระทำการฆ่า เพื่อตอบโต้ต่อผู้ที่ทำร้ายเขามาเป็นสิบปี เมื่อเค้าเป็นเหยื่อมาเป็นสิบปี เหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ สรุปแล้วเค้าเป็นใคร เค้าเป็นเหยื่อหรือผู้กระทำผิด” ชลธิช กล่าวระหว่างอธิบายถึงเหตุแห่งการกระทำความผิด

 

ขณะที่ในส่วนของผู้ต้องโทษในคดี พรบ. ยาเสพติด ที่มีจำนวนประชากรผู้ต้องขังราวร้อยละ 80 สูงที่สุดในจำนวนผู้ต้องขังของประเทศไทย ก็ต้องมาดูกันว่าเป็นคดีประเภทเสพยา หรือค้ายา หากเป็นคดีที่เกี่ยวกับการเสพยา สิ่งที่สังคมต้องพิจารณาคือ ถูกแล้วหรือไม่ที่พวกเขาจะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เพราะการต้องเข้าเรือนจำของผู้กระทำผิดในคดีเสพยา คดีลหุโทษหรือการกระทำผิดครั้งแรก ส่งผลอย่างยิ่งต่อการก่ออาชญากรรมครั้งต่อไปของผู้ต้องโทษ

 

ชลธิช อธิบายว่า เรือนจำมีผลต่อแต่ละคนแตกต่างกันไป ผู้ต้องขังส่วนหนึ่งมองว่าเรือนจำช่วยสอนเรื่องระเบียบวินัย การควบคุมตนเอง ช่วยให้เป็นคนที่ดีขึ้นได้ เพราะก่อนเข้ามาในเรือนจำพวกเขาไม่มีสิ่งนี้ แต่สำหรับผู้ต้องขังอีกกลุ่มมองเรือนจำเป็นสถานที่ที่พวกเขาต้องเอาตัวรอดในการอยู่กับคนหมู่มาก เรียนรู้ที่จะแก่งแย่งทรัพยากร และกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว ดังนั้น สภาพแวดล้อมในเรือนจำจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงคน

 

อีกปัจจัยที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้ที่ต้องโทษ คือระยะเวลา หากระยะจำคุกสั้นอาจเปลี่ยนคนได้ แต่หากระยะยาว อาจจะเปลี่ยนไม่ได้ เพราะผู้ต้องโทษจะไม่คิดถึงอนาคต

 

ด้าน ผศ.นพ.ดร.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า ยาเสพติด อาหาร การมีเพศสัมพันธ์ กีฬา เป็นพฤติกรรมที่ทำให้รู้สึกดี ผู้ที่เสพติดเหล่านี้จึงทำ การเสพยาอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งบริบทของการเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อม เพื่อนฝูง พ่อแม่พี่น้อง รวมทั้งเป็นเรื่องของพฤติกรรมด้วย ไม่ใช่แค่สารเคมี และการเสพติดเป็นปัญหาซับซ้อน ทั้งชีววิทยา จิตวิทยา และสังคม ดังนั้น เวลาพบข่าวเรื่องยาเสพติด อย่าเพิ่งด่วนสรุป แต่ต้องมองหาผลของปัจจัยร่วมอื่น ๆ โดยเฉพาะปัจจัยทางสังคม และครอบครัว

 

ยิ่งไปกว่านั้น ชลธิช บอกด้วยว่า จุดเริ่มต้นของการใช้ยา ยังอาจเกิดขึ้นได้จากความเหงา  เมื่อใช้ยาเสพติดทำให้ความรู้สึกความสุข เหมือนถูกกอด พอฤทธิ์ยาหมดก็โดดเดี่ยวอีก ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เป็นภาพสะท้อนของสิ่งที่ใหญ่กว่าในสังคม นั่นคือ ครอบครัวที่แตกร้าว เด็กถูกทอดทิ้ง การรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของใคร และเป็นปัญหาสุขภาพจิต ที่หลายกรณีก็ไม่ได้รับการพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ไม่ได้รับการดูแล แต่กลับถูกส่งไปเรือนจำ และกลายเป็นผลผลิตที่ออกมาทำร้ายผู้อื่นเพิ่มขึ้น

 

“เรือนจำ” จึงไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง

 

“คนในเรือนจำเราส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว ผู้ต้องขังจะเป็นคดีความผิดร้ายแรง อย่างข่มขืน ทำร้ายร่างกาย จะเห็นได้ว่าในประเทศพัฒนาแล้ว คุกควรเป็นทางออกสุดท้าย แต่ของบ้านเราเป็นคนทำผิดครั้งแรก เด็กเดินยา มียาในครอบครอง ซึ่งตรงนี้ภาพของไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คล้ายกัน การทำสงครามยาเสพติดจะสะท้อนจากเรือนจำ” ชลธิช กล่าว

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังโทษเด็ดขาด ทั้งสิ้น 210,801 คน เป็นผู้ต้องโทษคดี พรบ. ยาเสพติด ทั้งสิ้น 170,881 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 81 ของจำนวนผู้ต้องขังโทษเด็ดขาดทั้งหมด หากแยกตามประเภทของคดี จะพบว่า ผู้ต้องขังราวร้อยละ 13 ของนักโทษเด็ดขาดตาม พรบ. ยาเสพติด เป็นผู้ต้องขังในคดีเสพและครอบครอง (รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ คดีพรบ. ยาเสพติดทั่วประเทศ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566) ถือเป็นสถิติผู้ต้องโทษคดี พรบ. ยาเสพติด ที่ลดลงจากก่อนการบังคับใช้ พรบ. ยาเสพติด พ.ศ. 2564 (บังคับใช้ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2564) เมื่อเทียบกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ที่มีจำนวนผู้ต้องขังเด็ดขาดอยู่ที่ 281,964 คน เป็นผู้ต้องขังคดี พรบ. ยาเสพติด จำนวน 231,170 คน โดย พรบ. ยาเสพติดใหม่ดังกล่าวได้ปรับเปลี่ยนการกำหนดบทลงโทษ ด้วยการให้ความสำคัญกับการมองผู้เสพยาเป็นผู้ป่วย มากกว่าการเป็นอาชญากร และให้เน้นที่การบำบัดรักษามากกว่าการลงโทษทางอาญา รวมทั้งมีการปรับบทลงโทษผู้กระทำผิดให้สมเหตุผลกับลักษณะการกระทำผิดมากขึ้น

 

จากการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ จะเห็นได้ว่าการปรับปรุงกฎหมายและนโยบายการลงโทษ เป็นหนึ่งในแนวทางที่แก้ไขปัญหา “ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ” ปัญหาที่เรือนจำหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ อีกทั้งยังลดปัญหาที่ตามมาจากการที่ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ เช่น การขาดแคลนทรัพยากรในการดูแลทั้งบุคลากรของเรือนจำและผู้ต้องขัง การขาดแคลนงบประมาณในการจัดทำโครงการฟื้นฟูเยียวยาผู้ต้องขังให้มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดการใช้โทษจำคุกเกินความจำเป็น และนำไปสู่การลดการตีตราผู้ต้องขังอีกด้วย

 

นอกจากการปรับปรุงกฎหมายใหม่ แนวทางเลือกที่มิใช่การคุมขังเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ระบบยุติธรรมทั่วโลกกำลังนำมาใช้ ซึ่งรวมถึงการปล่อยตัวอย่างมีเงื่อนไข การบริการชุมชน แนวทางการไกล่เกลี่ย การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ด้วยการทำงานร่วมระหว่างสหวิชาชีพ โดยมีบางประเทศที่เริ่มดำเนินการไปแล้วกับกลุ่มเยาวชนในสถานพินิจ และกลุ่มผู้ต้องขังหญิง และหวังจะขยายผลต่อไป ทั้งยังรวมถึงการลดการจับกุมโดยไม่มีฐานความผิดและการคุมขัง ระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งในทางหลักสากลแล้ว ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และที่สำคัญคือ รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ต้องให้ความร่วมมือและดำเนินงานบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมอย่างโปร่งใสและเปิดเผยมากขึ้น

 

ให้คุกเป็นทางเลือกสุดท้าย แทนการลงโทษอย่างไม่จำเป็น

 

การลงโทษในอดีตคือการกระทำต่อเนื้อตัวร่างกาย เป็นสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อกัน หากกระทำผิดเพื่อให้คนเห็น ให้อับอายและเจ็บปวด ส่วนเรือนจำเป็นพัฒนาการของการลงโทษ ที่มีไว้เพื่อจำกัดเสรีภาพ โดยไม่ได้กระทำต่อเนื้อตัวร่างกาย ต่อมาเรือนจำถูกพัฒนาให้เป็นสถานเยียวยาฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้สามารถออกมาอยู่ในสังคมอย่างปกติสุขได้ แต่ด้วยปัญหาต่าง ๆ ทั้งจากปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ การบริหารจัดการภายในเรือนจำที่ไม่อาจให้บริการฟื้นฟูเยียวยาผู้กระทำผิดได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม  การมีกฎหมายและบทลงโทษที่ไม่สมเหตุสมผล การขาดไร้ซึ่งกำลังใจ ต้นทุน และโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ พันธนาการของโทษจึงยังคงอยู่หลังจากได้รับอิสรภาพแล้ว โดยผู้พ้นโทษหลายคนก็ไม่ได้รับการชำระล้างให้มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น บางคนยังได้เรียนรู้การก่ออาชญากรรมที่รุนแรงกว่าเดิม และท้ายที่สุด เมื่อกลับออกมาสู่สังคมแล้ว ยังถูกสังคมตีตรา พวกเขาก็กลับไปกระทำความผิดซ้ำ

 

ยิ่งถูกตีตรา ยิ่งกล้าจะทำผิด

 

ในเมื่อเรือนจำยังไม่ใช่ทางเลือกสุดท้ายที่จะช่วยฟื้นฟูเยียวยาผู้ต้องขัง การที่สังคมจะให้โอกาสผู้พ้นโทษ และไม่ตีตราพวกเขา โดยยอมรับพวกเขากลับสู่สังคมอย่างปกติก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน

 

ชลธิช ให้แนวทางว่าตามทฤษฎีการตีตรา (Labelling Theory) ผู้ที่รู้สึกจะคิดว่าหากพวกเขาเชื่อแบบนั้น ฉันก็จะเป็นแบบนั้น ยิ่งคนอื่นมองตนเองแบบใด ก็จะยิ่งยอมรับว่าตนเองเป็นแบบนั้น เพื่อที่จะได้เลิกสู้กับคนอื่น

 

หากสังเกตการเสนอรายงานข่าวในสื่อต่างๆ ในสังคม จะพบได้ว่ามีการใช้ “การตีตรา” ผู้ต้องโทษ ผู้ต้องขัง และผู้พ้นโทษ ด้วยถ้อยคำหลากหลาย ที่อาาจสร้างความกลัวแก่สาธารณะ ดังนั้น สังคมจึงควรตั้งคำถามเสมอเมื่อพบกับการให้ค่าคำเหล่านี้ว่า “เราจะสื่อสารให้วัฒนธรรม “การตีตรา” เข้มแข็งไปเรื่อยๆ หรือจะทำอย่างไร”

 

“อยากให้มองผู้กระทำผิดคนหนึ่งให้รอบด้านและลึกซึ้ง ทั้งด้านลบและด้านบวก นอกจากอาชญกรรมที่เขาก่อแล้ว อยากให้ไปดูภูมิหลังที่ไกลกว่านั้นว่าต้นต่อที่หล่อหลอมให้คนทำผิดมาจากอะไร  การที่คนทำผิดมองมุมหนึ่งมันก็เป็นปัญหาเชิงพฤติกรรมระดับบุคคล แต่คนทุกคนก็เป็นผลผลิตของสังคม ดังนั้น สื่อจึงน่าจะเป็นพื้นที่ในการขยายภาพปัญหาสังคมที่ซับซ้อนให้ละเอียดอ่อนขึ้นได้ เราจะสื่อสารในทางใดได้บ้าง เพื่อเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าด้วยกันและลดการตีตราผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่ง” ชลธิช กล่าวสรุป

 

….

บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากการอบรมสื่อ หัวข้อ “การรายงานข่าวเพื่อลดการกระทำความผิดซ้ำ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

Back

Most Viewed