เปิดตัวหนังสือคำแปลฉบับภาษาไทย “ยุทธศาสตร์ต้นแบบเพื่อขจัดความรุนแรงต่อเด็ก” แนวทางปกป้องและแก้ไขปัญหาเด็กจากความรุนแรง
ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความซับซ้อนมากกว่าที่เราเห็น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระบวนการยุติธรรม จะได้รับการพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพ และสร้างความตระหนักในเรื่องความอ่อนไหวของเด็กเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ จึงเป็นที่มาของ “ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา” (United Nations Model Strategies and Practical Measures on the Elimination of Violence against Children in the Field of Crime Prevention and Criminal Justice) หรือ UN Model Strategies on VAC
เพื่อผลักดันให้ “ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา” หรือ UN Model Strategies on VAC ฉบับภาษาไทย ถูกนำไปปฏิบัติใช้อย่างเป็นรูปธรรม ในฐานะเครื่องมือที่จะช่วยเสริมศักยภาพบุคลากรในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้สามารถจัดการและรับมือกับการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงร่วมกับ สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการ จัดงานเสวนาออนไลน์ “เครื่องมือขจัดความรุนแรงต่อเด็ก: ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติฯ” ควบคู่ไปกับการเปิดตัวหนังสือคำแปล UN Model Strategies ฉบับภาษาไทย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา
หม่อมหลวงศุภกิตต์ จรูญโรจน์ เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ กล่าวว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเปราะบางที่หน่วยงานด้านความยุติธรรม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ TIJ และสถาบันนิติวัชร์ จึงได้ร่วมกันแปลยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ เป็นภาษาไทย เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกันได้สะดวกขึ้น และเป็นที่น่ายินดีว่าองค์การสหประชาชาติได้นำหนังสือคำแปลฉบับภาษาไทยไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์ขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย
“ผมหวังว่าหนังสือคำแปลฉบับภาษาไทย “ยุทธศาสตร์ต้นแบบว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กฯ” จะเป็นประโยชน์ ให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองและขจัดความรุนแรงต่อเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงสิทธิและประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลักสำคัญ”
Valerie Lebaux ผู้อำนวยการส่วนงานยุติธรรม สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ต้นแบบสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากประเทศไทยตั้งแต่กระบวนการยกร่างยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ตลอดจนการจัดประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ บทบาทนำที่เข้มแข็งของประเทศไทยทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศได้แสดงให้เห็นอีกครั้งในวันนี้ ด้วยการเปิดตัวยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับภาษาไทย
“ดิฉันมีความเชื่อมั่นว่ายุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับภาษาไทยนี้ จะเป็นแนวปฏิบัติอันทรงคุณค่าสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในการปกป้องเด็กจากความรุนแรงทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่างกฎหมาย ผู้กำหนดนโยบาย ผู้พิพากษา อัยการ เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ผู้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก หรือ ผู้ที่ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็ก”
งานเสวนาเริ่มต้นด้วย นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษา TIJ และอดีตรองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาสังคมและวัฒนธรรม ได้ร่วมพูดคุยถึงที่มาและประเด็นสำคัญของยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ โดยสรุปว่า ยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับนี้เป็นมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่แต่ละประเทศสามารถที่จะนำไปปฏิบัติใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ไม่ได้มีลักษณะเป็นกฎหมายหรืออนุสัญญาที่มีพันธะ ทั้งนี้ นับเป็นพัฒนาการของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 ที่ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญ ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice - CCPCJ) ซึ่งเป็นปีเดียวกับการประชุมด้านการขจัดความรุนแรงในเด็กในกรอบของสหประชาชาติ
“ในปีนั้นมีการเจรจาเรื่องของหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมในภาพใหญ่ และมีการส่งข้อเสนอแนะจากที่ประชุมไปยังสำนักงานใหญ่สหประชาชาติที่กรุงเวียนนา ซึ่งขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทย ประจำสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา และในกรอบการเจรจาของสหประชาชาติก็มีการกล่าวถึงแนวปฏิบัติในด้านมนุษยชนในการอำนวยความยุติธรรม (Human Rights in the Administration of Justice) กระทั่งนำไปสู่การเจรจาในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่ได้ข้อมติเชิญชวนให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาจัดทำยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ นี้” นายวงศ์เทพ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ
นางสันทนี ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ สถาบันนิติวัชร์ กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญากับผลกระทบต่อเด็กว่า กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก ยิ่งสร้างบาดแผลให้แก่เด็ก มากกว่าที่จะเยียวยาเด็ก จึงต้องมีมาตรการและแนวการปฏิบัติในการคุ้มครองเด็กอย่างบูรณาการ โดยกระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการในชั้นใด
นอกจากนี้ ยังได้พูดถึงการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูล พยาน หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว อย่างในประเทศไทยที่มีการแหล่งเก็บข้อมูลที่ไม่เพียงพอ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้จะช่วยสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือเมื่อประสบกับความรุนแรงมากขึ้น โดยยกตัวอย่างถึงมายซิส (MySis Bot) แชทบอทอัจฉริยะ ของไทย ที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นช่องทางหนึ่งสำหรับการแจ้งความผ่านแชทบอตได้ พร้อมเน้นย้ำว่า แม้ว่าระบบยุติธรรมจะดีแค่ไหน แต่สังคมจะได้ความยุติธรรมจริง ๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับคนที่อยู่ในระบบด้วย
“ยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ นี้มุ่งให้ความคุ้มครองทั้งเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงและเด็กที่เป็นผู้กระทำความรุนแรง โดยให้แนวทางที่มุ่งเน้นการเบี่ยงเบนคดี การใช้ทางเลือกแทนการคุมขัง และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เพื่อให้เด็กที่ถูกกระทำรุนแรงหรือเป็นผู้กระทำความรุนแรงไม่ต้องเข้ามาในกระบวนการยุติธรรม แต่หากเข้ามาแล้วก็จะต้องมีเครื่องมือที่โปร่งใสให้สามารถร้องเรียนได้” นางสันทนี กล่าว
ต่อมา นางวรภัทร แสงแก้ว หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลปทุมธานี และ ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ เลขานุการศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ในหัวข้อ “ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กในปัจจุบัน และภาพรวมของกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนในไทย”
นางวรภัทร กล่าวว่า ที่ศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรง หรือ ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) ได้มีการทำงานอย่างบูรณาการของสหวิชาชีพ กล่าวคือ ในการดำเนินงานสำหรับเด็กเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ มีความยุติธรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กนั้น มีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ไม่เพียงแต่เฉพาะของสาธารณสุข เพราะปัญหาเด็กกับความรุนแรงในหลายกรณี เด็กเป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำความรุนแรง จึงต้องอาศัยองค์ความรู้ในทิศทางเดียวกันในการปรับเปลี่ยนและเยียวยาพฤติกรรม ซึ่งเป็นหลักการทำงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับนี้
นางวรภัทร อธิบายต่อด้วยว่า การทำงานของศูนย์พึ่งได้เน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หาว่าเด็กมีที่มาที่ไปอย่างไร มีการรวบรวมข้อมูล เพื่อเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาช่วยเหลือ โดยมีโรงพยาบาลเป็นฐานในการประสานความร่วมมือระหว่างสหวิชาชีพ เพื่อคุ้มครองเด็กที่ประสบปัญหา ผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งตำรวจ อัยการ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก รวมทั้งองค์ความรู้ทางวิชาการจากแต่ละวิชาชีพ และเกิดความชัดเจนว่าต้องเก็บหลักฐานอะไรบ้างและอย่างไร
“แม้เด็กจะกระทำความผิด ก็อยากให้ปฏิบัติกับเขาอย่างประณีต” ดร.สุนทรียา ยอมรับว่าเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทยยังมีบางส่วนที่ถูกกระทำความรุนแรงแม้จะอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ทั้งจากครู ตำรวจ ผู้พิพากษา รุ่นพี่ หรือแม้แต่เพื่อนในศูนย์ฝึกและอบรมเด็ก และยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับนี้ ได้ระบุถึงกลุ่มเด็กเหล่านี้ด้วย
“ยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ แนะนำให้เบี่ยงเบนคดี ไม่ให้เด็กที่กระทำผิดต้องเข้ามาอยู่ในกระบวนการตั้งแต่ต้นทาง แต่หากเข้ามาแล้ว ก็ต้องมีกลไกฟื้นฟูเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ และหากเกิดเหตุถูกกระทำรุนแรงระหว่างที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็ต้องมีสปอตไลท์ให้ได้แจ้งเหตุเพื่อทำความจริงให้ปรากฏ” ดร.สุนทรียา กล่าว
เลขานุการศาลอุทธรณ์ภาค 1 กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หลักนิติธรรมก็ต้องมีต่อเด็ก แม้เด็กกระทำผิดในรูปแบบใดก็ตามและต้องเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา คนในกระบวนการยุติธรรมต้องไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็กในรูปแบบใดก็ตาม แม้เด็กจะกระทำความผิดก็อยากให้ปฏิบัติต่อเขาอย่างละเอียดอ่อน อย่างไรก็ตาม คนในกระบวนการยุติธรรมก็ต้องรู้เท่าทัน เด็กที่มีภูมิหลังที่ซับซ้อน ซึ่งต้องได้รับการแกะปม ต้องเยียวยาฟื้นฟู ต้องไม่ปล่อยเขาออกไปง่าย ๆ จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู เพราะออกไปแล้วอาจเป็นภัยทั้งต่อสังคมและตัวเด็กเอง
อ่านคำแปลฉบับเต็ม >> ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา
หากท่านมีคำแนะนำและความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์ต้นแบบว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กฯ” สามารถแบ่งปันกับเราได้ที่ academy@tijthailand.org