มุมมองใหม่ “ระบบยุติธรรมที่มองประชาชนเป็นศูนย์กลาง” แก้ปัญหาหลอกให้โอนเงิน-อดีตผู้ต้องขังจิตเวชกระทำผิด-การกระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติด
“ระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” คือ การออกแบบให้ระบบยุติธรรมสามารถเข้าไปอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนทุกกลุ่มได้อย่างแท้จริง
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 มีงานที่ชื่อว่า TIJ-UNODC Public Forum: People-centered Justice Solutions เวทีสาธารณะเพื่อนำเสนอผลการดำเนินโครงการส่งเสริมความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยผู้เข้าอบรมในหลักสูตร “ผู้บริหารระดับสูงด้านการอนุวัติมาตรฐานและบรรทัดฐานระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรม หรือ iCPCJ” ของ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ซึ่งมีทั้งบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ได้มองเห็นปัญหาบางส่วนที่เกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมไทย และนำไปเปรียบเทียบอ้างอิงกับมาตรฐานและบรรทัดฐานกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อนำมาระดมความคิดจนพัฒนาเป็นข้อเสนอใหม่ๆ เพื่อหาแนวทางอำนวยความยุติธรรมให้สังคมไทย แบ่งออกเป็น 3 ข้อเสนอ คือ
ข้อเสนอที่ 1 ... “โมเดลบะหมี่ถ้วย” แก้ปัญหาหลอกให้โอนเงิน
ภายในเวลาไม่ถึง 1 วัน หลังจากประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ได้คนละ 1 หมื่นบาท ชาวไทยจำนวนหนึ่งก็ได้รับข้อความส่งตรงมาถึงโทรศัพท์มือถือให้ติดตั้ง “แอปพลิเคชันปลอม” เพื่อหลอกดูดเงินทันที นั่นคือ “ความเร็วของคนร้าย” ที่ทำให้เห็นได้ว่า อาชญากรรมในลักษณะนี้ต้องการ “เทคโนโลยี” และ “ความเร็ว” ในการเข้าขัดขวางกระบวนการหลอกลวงนี้
หากมอง “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” เราจะพบว่า สิ่งที่ “เหยื่อ” จากแก๊งหลอกให้โอนเงิน มีความต้องการได้รับความช่วยเหลือจากกลไกของรัฐมากที่สุด ก็คือ ได้เงินคืน หรือ การหยุดยั้งเส้นทางของเงินที่ถูกโอนออกไปผ่านบัญชีม้าจำนวนมากได้อย่างทันท่วงที นั่นเป็นความต้องการที่มากกว่า การจับกุมผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของตำรวจ ดังนั้น การแก้ปัญหาหลอกให้โอนเงิน จึงไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ได้ด้วยตำรวจเท่านั้น
เมื่อประชาชนประสบปัญหาถูกหลอกให้โอนเงินผ่านทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการกดลิงค์ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน พวกเขามักจะต้องเผชิญกับความลำบากในการติดตามเงินของตนเองให้ได้คืน ตั้งแต่ขั้นตอนการอายัดบัญชีธนาคารที่อาจจะมีหลายบัญชีและต้องใช้เวลาในการติดต่อธนาคารแต่ละแห่งด้วยหมายเลขที่แตกต่างกันของแต่ละธนาคาร จากนั้นยังใช้เวลาอีกมากไปกับการพยายามแจ้งความ และอาจจะต้องเสียเวลาไปอีกทั้งวันกับกระบวนการทั้งหมด ซึ่งทำให้ “เงินในบัญชี” หลุดลอยออกจากบัญชีไปหมดแล้ว โดยผ่านบัญชีม้าอีกนับสิบบัญชี
แม้แต่ในฝั่งของธนาคาร เมื่อได้รับแจ้งเหตุแล้วอาจจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานเพื่อยืนยันในการอายัดบัญชี และต้องเขียนอีเมลเพื่อแจ้งไปยังธนาคารอื่นๆ เพื่อให้ติดตามเส้นทางของเงินที่ถูกโอนออกไป จากนั้นตำรวจจึงจะมีอำนาจเข้ามาช่วยขอขยายระยะเวลาการอายัดบัญชีจากเดิม 72 ชั่วโมงเป็น 7 วัน หลังได้รับการยืนยันจากธนาคาร ยังมีขั้นตอนที่ต้องติดต่อผู้ให้บริการ SMS ที่ส่งมาหลอกลวง ติดต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อระงับเว็บไซต์ หรือหา IP Address ก่อนออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีผู้รับเงินมาสอบสวน
นี่จึงเป็น “เกม” ที่ผู้เสียหายก็พ่ายแพ้ตั้งแต่การแข่งขันยังไม่เริ่มขึ้น เพราะมันเป็นเกมที่ใช้ “ความเร็ว” เป็นเครื่องมือในการหาผู้ชนะ
แน่นอนว่าภาครัฐเองก็มองเห็นปัญหาเดียวกันนี้ จึงออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2565 มาใช้แก้ปัญหา แต่หากไปดูตัวเลขความเสียหายจากคดีออนไลน์ที่เกิดขึ้นหลังมีพระราชกำหนดฉบับนี้ออกมาแล้วเป็นเวลารวม 15 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 12 สิงหาคม 2566 จะพบว่า ยังมีประชาชนถูกหลอกให้โอนเงินมากถึง 310,000 คดี คิดเป็นความเสียหายรวมมูลค่า 42,000 ล้านบาท เพราะยังคงมีปัญหาที่ไม่สามารถบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนให้มารวมเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการได้
ไม่เป็นไปตามความต้องการของผู้เสียหายคือ “ได้เงินคืนเร็ว แจ้งเหตุได้ไว อายัดบัญชีม้าได้ทันใจ และติดตามเองได้ real-time”
เวทีสาธารณะนี้จึงได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการหลอกให้โอนเงินผ่านทางออนไลน์ ด้วยโมเดล “บะหมี่ถ้วย” ซึ่งจะแก้ปัญหาด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1. ใช้หมายเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุแบบรวมศูนย์ด้วยหมายเลขเดียว 2. อายัดบัญชีก่อน ถามทีหลัง ให้ข้อมูลเพียงครั้งเดียวไม่ต้องถามซ้ำ เพื่อการประหยัดเวลา และ 3. มีช่องทางให้ติดตามบัญชีได้แบบเรียลไทม์ โดยใช้แอปพลิเคชันที่มีอยู่แล้วของรัฐที่เชื่อถือได้ เช่น แอป ThaiD และแอป ทางรัฐ
จาก 3 ขั้นตอนที่ว่ามานั้น พบว่ามีความท้าทายในการจะดำเนินการได้ยากที่สุด คือ ข้อที่ 2 เพราะจำเป็นต้องมีการตั้งศูนย์การปราบปรามอาชญากรรมการหลอกโอนเงิน อย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วในประเทศมาเลเซียหรือสิงคโปร์ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานกลางที่เรียกว่า Anti-Fraud Center (AFC) เป็นหน่วยงานที่ทุกธนาคารมีตัวแทนเจ้าหน้าที่เข้ามานั่งทำงานรับเรื่องจากผู้สียหายพร้อมกันในสำนักงานเดียวกัน หากสามารถตั้งขึ้นได้ก็มีโอกาสที่โมเดลนี้จะประสบความสำเร็จ ในขณะที่ส่วนของการเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้กระทำความผิดด้านการหลอกโอนเงินนั้น ทางสมาคมธนาคารไทยกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการตั้ง Central Fraud Registry ที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเร็วๆ นี้
ข้อเสนอที่ 2 ... โมเดล TOR ส่งต่อต้นแบบป้องกันการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังจิตเวช
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยจิตเวชได้ก่อเหตุรุนแรงอยู่หลายต่อหลายครั้ง โดยสถิติจากกรมสุขภาพจิต เปิดเผยไว้ว่า มีผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุรุนแรงถึง 3,815 คน และในจำนวนนั้น 510 คน เป็นผู้ที่กระทำผิดซ้ำ หรือ เป็นคนที่เคยผ่านการถูกลงโทษในเรือนจำมาก่อนแล้ว ทั้งที่ตอนที่อยู่ในเรือนจำ พวกเขาไม่มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
เพื่อให้ลดปัญหาการกระทำผิดซ้ำจากอดีตผู้ต้องขังจิตเวช โครงการนี้จึงมุ่งเน้นการพิจารณาเหตุที่ทำให้พวกเขากลับมากระทำผิดอีก ซึ่งศึกษาพบว่า ในขณะที่ผู้ต้องขังจิตเวชอยู่ในความดูแลของเรือนจำ จะได้รับการดูแลอย่างเข้มงวด คือ “การกินยาควบคุมอาการต่อหน้า และต่อเนื่อง” แต่เมื่อพ้นโทษออกมา จะมีผู้ต้องขังกลุ่มที่กลับมาอยู่กับครอบครัว แต่ครอบครัวไม่มีศักยภาพในการดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้ไม่ได้รับยาอย่างถูกต้อง ทำให้อาการจิตเวชกลับมา
“อ.เก้าเลี้ยว” จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นที่ที่ถูกนำมาใช้ประกอบการศึกษาในประเด็นนี้ เพราะเป็นจุดที่สามารถบริหารจัดการผู้ป่วยจิตเวชได้เป็นอย่างดี ผ่านกระบวนการสร้างความร่วมมือจากชุมชน ภาครัฐ และภาคเอกชน จนถูกเรียกว่า “เครือข่ายเก้าเลี้ยว” พัฒนาจนเป็นเก้าเลี้ยวโมเดล ซึ่งทำให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมกับรัฐในการดูแลคนของตนเอง โดยมีรัฐเป็นหน่วยงานที่ประคับประคองให้โมเดลนี้เดินหน้าต่อไปได้
ส่วนสำคัญของโมเดลประกอบด้วยกลุ่มที่เรียกว่า 5 กัลยาณมิตร ได้แก่ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ญาติผู้ป่วย และกลุ่มขวัญใจ หรือ คนที่ผู้ป่วยไว้ใจ โดยดำเนินงานตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ ค้นหาผู้ป่วยในชุมชนให้ครบทุกคนผ่านกลไกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ชุมชน สาธารณสุข โรงพยาบาลชุมชน กลางน้ำ ให้สถานพยาบาลของรัฐ หรือสถานบำบัด ช่วยบำบัดผู้ป่วยจิตเวช และปลายน้ำ คือ การฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช ผ่านเครือข่ายทั้ง 5 กัลยาณมิตร
เป้าหมาย คือ ทำให้ผู้ป่วยจิตเวช ต้องมี “การกินยาต่อหน้าและต่อเนื่อง” เช่นเดียวกับที่เคยทำได้ในเรือนจำ
จากความสำเร็จของ “เก้าเลี้ยวโมเดล” เวทีสาธารณะ จึงนำเสนอแนวทางการสานต่อโมเดลนี้ให้ถูกนำไปใช้กับทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยหลัก TOR ซึ่งประกอบด้วย Technology, Organized และ Relations ตั้งแต่การนำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ป่วยจิตเวช ใช้นวัตกรรมมาจัดการดูแลผู้ป่วยจิตเวชอย่างจริงจัง และสานความสัมพันธ์ให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้ลดปัญหาการกระทำผิดซ้ำของอดีตผู้ต้องขังจิตเวชได้จริง
ข้อเสนอที่ 3 ... สานรักษ์โมเดล: พลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำของผู้ติดยาเสพติด
ข้อมูลผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำของไทยในเดือนสิงหาคม ปี 2566 มีผู้ต้องขังเด็ดขาด หรือ คนที่ถูกตัดสินแล้วว่ามีความผิดจริง ทั้งหมด 212,640 คน ในจำนวนนี้ มีถึงร้อยละ 78 ที่เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด และจากสถิติที่ผ่านมา ในทุกๆ 3 ปี ผู้พ้นโทษจากคดียาเสพติดราวร้อยละ 30 ปี จะถูกส่งกลับมาที่เรือนจำอีก เพราะแม้ว่าพวกเขาจะพ้นโทษออกมาแล้ว แต่ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายที่จะกลับคืนสู่สังคม ตั้งแต่การมีประวัติอาชญากรรม บางส่วนไม่มีครอบครัวดูแล ไม่สามารถหางานสุจริตทำได้เพราะไม่มีใครรับเข้าทำงาน จนต้องขาดปัจจัยสี่ ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ จึงกลับไปหารายได้จากขบวนการยาเสพติด และหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำในที่สุด
“โมเดลบ้านกึ่งวิถี” คือ สถานที่ที่เปิดรับให้ผู้พ้นโทษเข้ามาพักอาศัย มีที่พักให้ มีระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ช่วยฝึกอาชีพ รวมถึงเปิดทางให้ประกอบอาชีพที่ทำให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้จริง เป็นแนวทางที่ถูกนำมาขยายผลในการศึกษานี้
SANRAK Model คือข้อเสนอใหม่ที่จะแก้ปัญหาการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังจากคดียาเสพติด โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ตั้งแต่ การสร้างระบบป้องกัน การบำบัด และการฟื้นฟู
- ระบบป้องกันการเข้าถึงยาเสพติดเชิงรุก โดยนำเทคโนโลยี เช่น AI Monitoring มาเสริมการตรวจจับการเข้าถึงยาเสพติดทางออนไลน์ เช่นการนำระบบ Social Listening Platform มาใช้ โดยยกตัวอย่างการค้นหาคำว่า “ตู้เย็น” จะพบว่า เป็นศัพท์ที่ใช้ในการซื้อขายยาเสพติด และสามารถค้นหาว่าใครเป็นผู้ขายหรือผู้ซื้อได้
- การบำบัดยาเสพติดด้วยเข็มขนาดเล็กมากที่เรียกว่า Microneedle ซึ่งผลิตขึ้นมาเพื่อให้ยาเข้าสู่ร่างกายได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ถูกเสนอให้นำมาใช้ร่วมกับวิธีการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ กระบวนการลดอันตรายจากการใช้ยา (Harm Reduction) ซึ่งปัจจุบันจะใช้สาร “เมทาโดน” ในปริมาณ 3.5-10 มิลลิกรัมช่วยบำบัดอยู่ แต่ก็ยังมีโอกาสทำให้ผู้รับสารเปลี่ยนไปเสพติดเมทาโดนแทน ต้องไปรับยาจากแพทย์เท่านั้น รวมทั้งยังมีข้อจำกัดว่าไม่สามารถใช้ได้กับคนที่โรคประจำตัวบางโรค
- จัดตั้งบ้านกึ่งวิถีประจำจังหวัดหรือชุมชน ในชื่อ “บ้านสานรักษ์” โดยเสนอในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม มีรูปแบบการหารายได้เพื่อคืนทุนและเลี้ยงดูตัวเองได้ในระยะยาว คือ ผู้ที่เข้ามารับบริการจะต้องส่งคืนให้ประโยชน์ให้บ้านสานรักษ์ ด้วยการฝึกอาชีพแบบ on the job training สร้างอาชีพตามภูมิสังคม เช่น ช่างซ่อมต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้รับการฟื้นฟูสามารถมีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชุมชนได้ มีผู้มีส่วนได้เสียสำคัญคือ ผู้ติดยา ภาครัฐ ภาคเอกชน ครอบครัว ชุมชน
บ้านสานรักษ์ ซึ่งพัฒนามาจากบ้านกึ่งวิถีนี้ มุ่งเน้นที่การเป็นสถานที่ฟื้นฟูให้ผู้พ้นโทษจากคดียาเสพติดสามารถกลับคืนสู่สังคมได้จริง สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ โดยจากการศึกษาโมเดลนี้ จะระดมทุนให้บ้านสานรักษ์แต่ละแห่งต้องการใช้เงินทุนตั้งต้นเพียง 6 ล้านบาท และจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 8.5 ปี หากรองรับผู้เข้าพักที่ 30 คน โดยมีรายได้หลักจากจำหน่ายสินค้าและบริการ และอาจขยายผลได้ด้วยการรับบริจาคหรือทำ Crowdfunding