ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

โอเอซิสกลางซอยสมคิด

โดย สำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด

 

 

ซอยสมคิด หรือที่รู้จักกันในชื่อซอยข้างเซ็นทรัลชิดลม ซอยเล็ก ๆ ที่มีรถราสัญจรไปมาขวักไขว่ มีไซต์ก่อสร้างตึกสูง คอนโดมิเนียม และอาคารออฟฟิศเรียงรายสมกับเป็น prime area ใจกลางเมือง แต่ซอยเล็ก ๆ ที่มีความวุ่นวายแห่งนี้ กลับมีความร่มรื่นจากต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกเป็นแนวยาวอยู่ริมถนนคอยให้ร่มเงา ทำให้ซอยสมคิดนี้เป็นเหมือนโอเอซิสใจกลางกรุงไปโดยปริยาย 

ลึกเข้าไปในซอยประมาณ 500 เมตร มีรถเข็นอาหารจอดอยู่ใต้ร่มไม้ สะดุดตาด้วยตู้กับข้าวตู้ใหญ่ และป้ายชื่อร้านสีดำเขียนว่า ‘ร้านข้าวแกงสมคิด’ เมื่อเดินเข้าไปใกล้ ๆ จะได้ยินเสียงเรียกแว่วมา “ทานข้าวไหมจ้ะ ทานข้าวก่อนไหม” ภาพที่เห็นตรงหน้าคือคุณยายยืนตักข้าวจากหม้อพร้อมเรียกลูกค้า ในขณะที่หญิงวัยกลางคนเจ้าของร้านยิ้มแย้ม คอยตักกับข้าวส่งให้ลูกค้าอย่างอัธยาศัยดี 

“สมคิดนี่เป็นชื่อซอยค่ะ แต่ตัดคำว่าซอยออกเพราะเผื่อเราย้ายไปขายที่อื่น อยากให้ลูกค้าจำชื่อร้านได้” พี่แก่น หญิงสาวเจ้าของร้านวัยกลางคนเล่าให้เราฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เมนูอาหารของร้านข้าวแกงสมคิดเปลี่ยนไปทุกวัน โดยมีไก่ทอด ไก่กระเทียม ไก่เชียง เป็นของทอดยืนพื้น ส่วนแกงที่เป็นกับข้าว จะมีสามอย่างให้เลือกและเปลี่ยนไปในแต่ละวัน แล้วแต่ว่าลูกค้าอยากจะกินเมนูอะไร โดยเมนูพิเศษประจำวันจันทร์ของทางร้านที่ลูกค้าติดใจและพูดถึงกันมากคือแกงเขียวหวานเนื้อ ความพิเศษอยู่ที่ว่าวันจันทร์เป็นวันเดียวที่ร้านข้าวแกงเจ้าอื่นที่อยู่ริมถนนใหญ่ปิด ทำให้ร้านข้าวแกงสมคิดคึกคักและอาหารก็จะขายหมดเร็วเป็นพิเศษ โดยช่วงก่อนหน้าที่จะมีเคอร์ฟิว ทางร้านมีเมนูไข่ที่ทำกันสด ๆ บนรถเข็นอย่างเช่นไข่ดาวและไข่เจียว แต่เมนูไข่จำเป็นจะต้องงดไปเนื่องจากลูกค้าน้อย ซึ่งในอนาคตถ้าสถานการณ์โควิดดีขึ้น หรือไซต์ก่อสร้างในซอยมีคนงานก่อสร้างมาเพิ่ม จำนวนและปริมาณกับข้าวก็จะมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

ลูกค้าขาประจำของร้านข้าวแกงสมคิดเป็นวินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ สามล้อ คนขับรถส่งของ ยาม คนงานก่อสร้าง และพนักงานออฟฟิศในระแวกนั้น จะเริ่มแวะเวียนมาทานอาหารที่ร้านตั้งแต่ยังไม่สิบเอ็ดโมง จนถึงบ่ายสองโมงนิด ๆ นอกจากเมนูอาหารที่หลากหลายและสดอร่อยแล้ว สาเหตุที่ทำให้ลูกค้าประจำติดใจร้านข้าวแกงสมคิด คงจะเป็นราคาอาหารที่ดูจะสวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ข้าวราดแกงอย่างเดียว 25 บาท ถ้าแกงสองอย่าง 30 ถ้าราดสามอย่าง อย่างละหน่อย ก็คิดแค่ 35 บาท... เราก็เผื่อคนที่เค้าไม่มีไง เรามาขายตรงนี้ มันมีคนงานก่อสร้าง มีวินมอเตอร์ไซค์ เงินเค้าก็น้อย ถ้าเราขึ้นราคาเป็น 30 หรือ 35 มันก็แรงอยู่นะ เอา 25 นี่แหล่ะ พี่แก่นอธิบายถึงที่มาที่ไปของการตั้งราคาอาหารแบบเป็นมิตรกับกลุ่มลูกค้า อย่างช่วงโควิด ร้านก็ยังคงเปิดขายอยู่ตลอดในราคาเดิม เพียงแต่ลดปริมาณกับข้าวที่ทำมาขายลง เนื่องจากลูกค้ามาทำงานที่ออฟฟิศน้อยลงตามมาตรการของรัฐ ถ้ามองว่าซอยสมคิดเป็นโอเอซิสของเมืองกรุงอันวุ่นวาย ร้านข้าวแกงสมคิดคงเปรียบได้กับโอเอซิสของเหล่าคนขับรถและคนงานก่อสร้างในละแวกนั้น

 

ถ้ามองว่าซอยสมคิดเป็นโอเอซิสของเมืองกรุงอันวุ่นวาย ร้านข้าวแกงสมคิดคงเปรียบได้กับโอเอซิสของเหล่าคนขับรถและคนงานก่อสร้างในละแวกนั้น

พี่แก่นเล่าว่า ชีวิตวัยเด็กของเธออยู่ในครัวอยู่ในร้านอาหารมาตั้งแต่จำความได้ เธอเริ่มทำงานในร้านอาหารของป้าตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เริ่มจับตะหลิวตั้งแต่ประถมต้น จนกระทั่งเข้าเรียน ปวช. เลือกเรียนพาณิชย์ เพื่อนำความรู้มาช่วยกิจการข้าวแกงของที่บ้าน จนเมื่อสายลมแห่งชีวิตพัดพาให้พี่แก่นเข้าไปอยู่ในเรือนจำถึงสองครั้ง เธอก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แม่ครัว ทำอาหารเลี้ยงทั้งผู้ต้องขังและผู้คุมในเรือนจำ จนกระทั่งออกจากเรือนจำมา พี่แก่นก็ยังคงยึดอาชีพค้าขายข้าวแกงต่อจากพ่อเป็นอาชีพหลักที่หาเลี้ยงทั้งครอบครัว และอาชีพแม่ค้าขายอาหารนี่เอง ที่เป็นหลักยึดให้พี่แก่นใช้ชีวิตแบบมองไปข้างหน้า โดยที่ไม่หันกลับไปเสียใจกับอดีตที่ผ่านมาอีกเลย 

หลังออกจากเรือนจำ พี่แก่นได้ช่วยคุณพ่อขายข้าวด้วยรถเข็นคันเก่าที่ทรุดโทรมเพราะใช้งานมาเป็นเวลานาน จนได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ “Hygiene Street Food สร้างโอกาส” ของ TIJ ที่เปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษได้เข้าอบรมหลักสูตรการทำอาหารและการทำธุรกิจอาหารริมทาง ซึ่งหลังจากเรียนจบจากโครงการแล้ว พี่แก่นได้รับรถเข็นขายอาหารคันใหม่ที่ทางโครงการมอบให้เพื่อใช้ประกอบอาชีพต่อไป รถเข็นที่พี่แก่นได้รับแตกต่างจากคนอื่นตรงที่เป็นรถเข็นที่สนับสนุนโดยองค์กร Incarceration Nations Network (INN) ภายใต้โครงการ The Writing on the Wall ซึ่งได้นำข้อความที่เขียนโดยผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษหลากหลายภาษามาจัดแสดงและนำเสนอตามสถานที่ต่าง ๆ ในรูปแบบการสื่อสารแนวใหม่ ซึ่งรถเข็นของร้านข้าวแกงสมคิดก็เป็นหนึ่งในสถานที่เหล่านั้นด้วย “เรานี่ดีใจมากเลยว่าได้ไปอบรมแล้ว จะได้รถเข็นเเล้วนะ ถ้าซื้อเองคงไม่มีโอกาสหรอก ตังค์ไม่มี แล้วก็ขายได้น้อย” พี่แก่นพูดถึงความดีใจที่ได้รับรถเข็นคันนี้ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม “พอเปลี่ยนรถเข็นเเล้ว คนที่เดินผ่านไปผ่านมา ลูกค้าที่มากินก็ชอบมากเลย เค้าบอกว่ามันดีมาก มันดูดี สะอาด น่ากิน และพอเค้ารู้สึกดี เราก็รู้สึกดีมากไปด้วย” พี่แก่นเล่าเพิ่มว่าลูกค้าที่เข้ามาทานอาหารก็ถามถึงที่มาที่ไปของรถเข็นคันนี้กันทุกคน โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เป็นผู้พักอาศัยในคอนโดระแวกนั้น ที่เริ่มแวะเวียนเข้ามาอุดหนุนในช่วงหลังที่ได้รถเข็นคันใหม่มา หน้าตารถและตู้กับข้าวดูสะอาดสะอ้านมากขึ้น ดึงดูดให้ลูกค้ากลุ่มนี้กลายมาเป็นลูกค้าประจำกลุ่มใหม่ของร้านข้าวแกงสมคิด และทำให้กำไรของร้านเพิ่มขึ้นมาถึงสามเท่า จาก 200-300 บาท ต่อวัน เป็น 700-900 บาท ต่อวัน ในช่วงเวลาหนึ่งเดือนหลังจากที่ได้รถคันใหม่

พี่แก่นบอกว่าอาหารร้านของเธออร่อยทุกอย่าง เคล็ดลับความอร่อยของร้านข้าวแกงสมคิด ไม่ได้อยู่ที่สูตรลับหรือตำรับโบราณ แต่อยู่ที่ความใส่ใจ การใช้หัวใจปรุงอาหารโดยคำนึงถึงลูกค้าเป็นหลักสำคัญ สำหรับพี่แก่นแล้วการมองย้อนกลับไปหาอดีตและรู้สึกกับมัน เป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์ การใช้เรี่ยวแรงที่มีอยู่ผลักให้ชีวิตเดินต่อไป โดยใช้หน้าที่เเละความรับผิดชอบมาขับเคลื่อนต่างหากที่ทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้อย่างมีความหมาย
Back