ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

“วิสาหกิจเพื่อสังคม” เครื่องมือพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน เกิดได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

 

วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) คือแนวคิดที่นำหลักการบริหารจัดการทางธุรกิจมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม  แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย รัฐบาลเองก็เล็งเห็นความสำคัญของ SE ที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม” ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาออกเป็นกฎหมายในเวลาอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่า SE จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าแท้จริงแล้ว SE คืออะไร และควรจะมีหลักคิดอย่างไรในการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยังยืนของ SE ในประเทศไทย ดังนั้น การที่กฎหมายและนโยบายของรัฐจะตอบโจทย์ความต้องการของ SE และช่วยให้ SE สามารถเติบโตได้จริง ทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ SE โดยตรง ผู้วางนโยบายและผู้บังคับใช้กฎหมาย จะต้องเข้าใจถึง SE และระบบนิเวศน์ของ SE อย่างแท้จริง

 

เพื่อปิดช่องว่างทางความรู้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับเครือข่าย Rule of Law and Development Program (RoLD) ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง Thailand Social Enterprise: The Way Forward ขึ้นในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 เพื่อเปิดเวทีทางวิชาการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องกับ SE และทิศทางก้าวต่อไปของ SE ซึ่งรวมไปถึงการออกกฎหมายและนโยบาส่งเสริมต่าง ๆ อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live เพื่อกระจายความรู้ ความเข้าใจสู่ภาคประชาชนในวงกว้าง

 

“ในภาพใหญ่นั้น บทบาทของแต่ละภาคส่วนในการพัฒนาสังคมที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ คือภาครัฐกับภาคเอกชน แต่ยังมีอีกภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ และมีศักยภาพสูงในการร่วมพัฒนาสังคม นั่นคือภาค non-profit หรือที่ประเทศอังกฤษเรียกว่า Third Sector ที่ยังสามารถมีบทบาทเชิงรุกได้อีกมากกับการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม ดังนั้นการมีกลไกหรือกระบวนการอย่างเช่น SE มาช่วยให้ภาค non profit สามารถทำหน้าที่ได้ ก็มีโอกาสที่จะไม่ต้องเลือกระหว่างอยู่รอดได้ หรือทำเพื่อสังคม ขณะเดียวกันก็มีความสำคัญมากในการช่วยปลดล็อกพลังแห่งการพัฒนาอีกมหาศาล” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์  ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยกล่าว

 

การเสวนาในช่วงแรก ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิสาหกิจเพื่อสังคมจากหลายภาคส่วน ที่มีส่วนช่วยผลักดันการพัฒนาในมิติต่าง ๆ มาพูดคุยในหัวข้อ “Ecosystem บทบาทเชิงนโยบายและคุณค่าทางสังคมของ Social Enterprise 
สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ ได้พูดถึงหัวใจของการตัดสินว่าใครเป็น SE ว่า อยู่ที่เป้าหมายของการจัดตั้งซึ่งจะต้องมีพันธกิจหลักขององค์กรในการแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่สามารถวัดผลได้ เป็นหลัก แม้จะไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ตาม 

 

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนายังเห็นตรงกันว่า ปัจจัยที่จะทำให้วิสาหกิจเพื่อสังคมดำเนินอยู่ได้อย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืน คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดบทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม และวางมาตรการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนเองก็มีความสำคัญไม่แพ้กันในการให้การสนับสนุน ทั้งในด้านเงินทุน และการถ่ายทอดความรู้และทักษะ ความเชี่ยวชาญ (knowledge transfer) ตั้งแต่ ความรู้ด้านการบริหารจัดการทางธุรกิจ ความรู้ด้านกฎหมาย การบริหารเงินทุน ไปจนถึงการหาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการ 

 

ในประเด็นด้านความท้าทายที่ SE จะต้องเผชิญ ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม อาจารย์ประจำ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงผลการวิจัยที่ตนได้มีส่วนร่วมในการศึกษาว่า การขาดทักษะในการบริหารธุรกิจ (business acumen) เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ SE ในประเทศไทยล้มเหลว ทั้งนี้เพราะการจะบริหาร SE ให้อยู่รอดได้นั้น ไม่ใช่แค่การสร้างโมเดลทางธุรกิจ แต่ผู้ประกอบการยังต้องพยายามเปลี่ยนพฤติกรรม ความเชื่อของผู้ผลิตและผู้บริโภค และสร้างความเชื่อใจไปพร้อม ๆ กันด้วย ด้าน ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ ให้ความเห็นที่สอดคล้องกับงานวิจัยของผศ.ดร.พิชญ์วดี ว่าผู้ประกอบการจำนวนมากมีความต้องการที่จะแก้ปัญหาทางสังคม แต่ขาดทักษะทางธุรกิจ ทำให้ วิสาหกิจสังคมกลายเป็นฝูงปลาตัวเล็กในทะเลเท่านั้น ซึ่งความท้าทายนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากหลากหลายภาคส่วนเพื่อให้ SE สามารถก้าวข้ามอุปสรรคไปได้

 

ในประเด็นด้านกฎหมาย โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม ผู้ซึ่งมีบทบาทใกล้ชิดในการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กล่าวถึงเจตนารมณ์ 3 ประการของกฎหมายว่าประกอบไปด้วย 1.ทำให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคมเกิดขึ้นแล้วอยู่รอด 2.ภาคเอกชนขนาดใหญ่เข้ามาทำงานเรื่องการพัฒนาสังคมมากขึ้น และ3.ให้ SE เป็นหนึ่งในกลไกที่ทำให้ระบบบริการสาธารณะมีทางเลือกและตอบสนองได้รวดเร็วมากขึ้น

 

การเสวนาในช่วงที่สอง ผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ พร้อมตัวแทนจากวิสาหกิจสังคม ร่วมให้ความเห็นหัวข้อ “กฎหมายวิสาหกิจเพื่อสังคมและทิศทางในอนาคต” โดยผู้ร่วมเสวนาทุกท่านเห็นพ้องกันว่า กฎหมายจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำพาให้ SE ก้าวข้ามความท้าทายในหลาย ๆ มิติไปได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ SE สามารถเติบโตอย่างมั่นคงได้ แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนผสานกันให้เกิดเป็นระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เอื้อต่อการเติบโตของ SE 

 

ที่ผ่านมามีหน่วยงานจากหลายภาคส่วนที่เข้ามามีบทบาทในการผลักดันการพัฒนา SE ในหลากหลายมิติ นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเพื่อสังคมและสื่อสารองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เล่าว่าตลาดหลักทรัพย์ ส่งเสริมให้มีการลงทุนเพื่อสังคม (Social Impact Investment) ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคม มีการมอบรางวัลการลงทุนในกิจการเพื่อสังคม: SET Social Enterprise Investment Awards 2015 แก่ภาคเอกชน สามารถกระตุ้นให้ภาคเอกชนจำนวนไม่น้อย หันมาทำวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสนับสนุนทางด้านเงินทุนแก่วิสาหกิจเพื่อสังคม มีการจัดหลักสูตรให้ความรู้ทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ SE และยังทำหน้าที่เป็นประตูในการเชื่อมสินค้าและบริการของ SE สู่ตลาดผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ยังมีองค์กรอย่างสถาบัน ChangeFusion ที่ทำหน้าที่เป็น incubator ให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคม สนับสนุนด้านความรู้และด้านการเงิน อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมเสวนาให้ความเห็นว่า ประเทศไทยยังต้องการความร่วมมือจากภาคส่วน เพื่อมาเติมเต็มระบบนิเวศน์ของ SE ในทุก ๆ มิติ  

 

อีกภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าภาคส่วนอื่น ๆ ในการเติบโตของ SE ก็คือ กลุ่มผู้บริโภค “การสร้างวัฒนธรรมและปลูกฝังความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างธุรกิจที่ดี และธุรกิจที่ไม่ดีนัก ของภาคประชาชน จะเป็นแรงกดดันที่สำคัญมากในการผลักดันให้ภาคส่วนต่าง ๆ หันมาร่วมพัฒนาสังคมอย่างจริงจัง เพราะประชาชนทุกคนสวมหมวกผู้บริโภค ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง” กิตติพงษ์เน้นย้ำ

 

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจของผู้บริโภคที่พร้อมจะแบกภาระของ social cost ที่เป็นผลข้างเคียงจากการดำเนินการของ SE ด้วยตระหนักว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ต้องมาพร้อมกับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และสังคมด้วย 

 

กิตติพงษ์กล่าวสรุปการเสวนาว่า อย่างไรก็ตาม SE ไม่ใช่ยาวิเศษ SE เป็นแต่เพียงเครื่องมือที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิต และมุมมองของคนในสังคม ให้เราหันมา doing well by doing good ร่วมกันแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน เพราะทุกฝ่ายล้วนมีบทบาทในการรักษาโลกร่วมกัน         
“ประเด็นความท้าทายเกี่ยวกับ SE ในสังคมไทยตอนนี้ คงไม่ได้อยู่ที่การมีหรือไม่มีกฎหมาย แต่อยู่ที่ว่ามีกฎหมายแล้ว จะทำอย่างไรให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือการต่อกรกับคำถามท้าทายที่ว่า เราทุกคนที่เป็นภาคประชาชน เป็นผู้บริโภค จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้เกิดระบบนิเวศที่ดีได้อย่างไร” กิตติพงษ์ กล่าวปิดท้าย

 

Back