ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ ร่วมกับ UNODC จัดสัมมนาทางวิชาการเร่งหาวิธีบริหารจัดการคริปโตเคอเรนซี่และการต่อต้านอาชญากรรมในยุคดิจิทัล

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ร่วมกับ สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ เชิญผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและกระบวนยุติธรรม เพื่อถกปัญหา เสนอมุมมอง ปิดช่องโหว่ และหาทางออกร่วมที่สร้างสรรค์ในด้านการต่อสู้กับปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยอาศัยเงินดิจิทัล ในหัวข้อ “ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการต่อต้านอาชญากรรมในยุคดิจิทัล: อาชญากรรมกับ Cryptocurrency” ในการนี้ พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและ Mr Julien Garsany รองผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) กล่าวปาฐกถาเปิดงาน

 

งานนี้ได้แบ่งการอภิปรายออกเป็น 3 หัวข้อ ประกอบด้วย

นวัตกรรมทางการเงินและอนาคตของเงิน ที่ฉายให้เห็นถึงระบบการทำงานและเอกลักษณ์พิเศษของคริปโตเคอเรนซี่ที่ทำให้เป็นที่น่าสนใจทั้งภาคการเงินและกลุ่มอาชญากร เพราะมีความเป็นส่วนตัว กระจายศูนย์ไร้การควบคุมจากหน่วยงานกลาง โอนถ่ายเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำ จนมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตคริปโตเคอเรนซี่อาจเข้ามาทดแทนเงิน fiat money

ผู้เชี่ยวชาญด้านคริปโตเคอเรนซี่อย่าง นายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง Zcoin และ TDAX Crypto Currency Exchange และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและการกำกับดูแล ประกอบด้วย นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมกันนำเสนอมุมมองและสะท้อนนโยบายด้านความพร้อมและโอกาสของไทยในเงินดิจิทัล

  1. The Crypto Crime Wave กระแสอาชญากรรมคริปโต ด้วยการออกแบบให้คริปโตเคอเรนซี่มีความแตกต่างจากเงินตราทั่วไป คือ เป็นเงินดิจิทัลที่อยู่บนบล็อคเชน ไม่มีลักษณะทางกายภาพ (digital matter) มีการเข้ารหัส (encryption) ซึ่งแม้จะมีร่องรอยเส้นทางการซื้อขายเงินดิจิทัลในทางออนไลน์ แต่ภาครัฐก็ยังติดตามการเคลื่อนไหวของธุรกรรมเหล่านั้นได้ยากกว่าธุรกรรมปกติในระบบธนาคารพาณิชย์ อาชญากรเองก็เล็งเห็นถึงจุดเด่นของเงินดิจิทัลนี้ จึงได้หันมาใช้คริปโตเคอเรนซี่มากขึ้น ไม่ว่าจะใช้ในการฟอกเงิน การสนับสนุนการก่อการร้าย การจ่ายค่าไถ่สำหรับ ransomware และในการทำธุรกรรมในตลาดมืดบน Darknet เพื่อซื้อขายสิ่งของผิดกฎหมาย เช่น สื่อลามกอนาจารเด็ก โปรแกรมผิดกฎหมาย ยาเสพติด อาวุธ และการค้ามนุษย์ ด้วยความเป็นเงินดิจิทัลที่ไร้พรมแดน อาชญากรรมที่อาศัยคริปโตเคอเรนซี่จึงมีแนวโน้มจะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระดับภูมิภาคและระดับสากลทั้งในแง่การป้องกัน ตรวจสอบ สืบสวนสอบสวน และดำเนินคดีกับอาชญากรและเครือข่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ การอภิปรายได้มีการยกตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อใช้ถอดรหัสความร่วมมือ และหยิบยกข้อท้าทายเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยและต่างประเทศมาเพื่อขบคิดทางออกเพื่อที่จะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันและปราบปรามอาชญากรและเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการก่ออาชญากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมที่กระทำผ่านระบบออนไลน์

    ผู้อภิปรายประกอบด้วยผู้ปฏิบัติการที่เปี่ยมประสบการณ์อย่าง Mr Alexandru Caciuloiu ผู้ประสานงานโครงการอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก พ.ต.ท. ดร. นรินทร์ เพชรทอง เจ้าหน้าที่ชำนาญการพิเศษด้านอาชญากรมไซเบอร์ INTERPOL และอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ Mr Joseph Thorn ผู้จัดการโครงการด้านเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ และเจ้าหน้าที่ประสานงานสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และ Mr Dian Ediana Rea รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์และรายงานธุรกรรมทางการเงินแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

  2. กระบวนการยุติธรรมไทยกับการตอบสนองต่ออาชญากรรมที่อาศัย Cryptocurrency เป็นการอภิปรายระหว่างหน่วยงานในกระบวนยุติธรรมของประเทศไทย ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในประเด็นที่ท้าทายเกี่ยวกับ คริปโตเคอเรนซี่ เช่น การระบุตัวตนของผู้ใช้ การสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดี รวมไปถึงการวิเคราะห์กฎหมายในปัจจุบันเพื่อหาแนวทางในการป้องกันอาชญากรรมที่อาศัยคริปโตเคอเรนซี่ นอกจากนี้ ยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ และความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ตลอดจนความพร้อมในแต่ละหน่วยงานและการสนับสนุนกันและกัน ทั้งในด้านเครื่องมือที่ทันสมัย การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้ก้าวทันความล้ำหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล วิธีการรวบรวมและตรวจสอบหลักฐานดิจิทัล และโอกาสในการใช้ประโยชน์ของบล็อคเชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในกลุ่มนี้ประกอบด้วยนายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด พ.ต.ท. พัฒนะ ศุกรสุต ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นายวิทยา นีติธรรม เลขานุการกรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และร้อยตำรวจเอก เอกคณิต เนตรทอง รองสารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนฯ กองบังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

    การเปลี่ยนแปลงของโลกสู่ยุคดิจิทัลนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการปรับตัว เตรียมพร้อม และพัฒนาตนเองให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างเหมาะสมและทันเหตุการณ์ แสวงหาวิธีการบริหารจัดการ โดยที่ยังคงอีโคซิสเท็มที่เหมาะสมและไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่สามารถป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่อาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างเช่น คริปโตเคอเรนซี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เรียนรู้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อให้ทันต่อสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลที่ไร้พรมแดนในเกือบทุกด้าน เฉกเช่นโลกปัจจุบันและในอนาคตที่กำลังจะมาถึง

 

 

ดาวน์โหลดเอกสารการสรุปสัมมนา

VDO Playlist: Cryptocurrency and Crime

 

Back