ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

สรุปงานเสวนา : เปิดตัว “คู่มือว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ"
 

 

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสำนักงานป้องกันอาชญากรรมและปราบปรามยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (UNODC) จัดงานเสวนาออนไลน์ครั้งแรกในชุดเสวนาออนไลน์ว่าด้วยเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ตอบสนองต่อเพศภาวะและการปฏิรูปเรือนจำ” เปิดตัว “คู่มือว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ"ดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนาผ่านทางออนไลน์ ทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เจ้าหน้าที่จากสหประชาชาติ องค์กรภาคประชาสังคม และผู้เชี่ยวชาญอิสระจากนานาประเทศมากกว่า 200 คน

 

ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ ผู้ดำเนินการเสวนา กล่าวเปิดงานว่า งานเสวนาออนไลน์ครั้งนี้มุ่งให้เห็นความสำคัญของการมีคู่มือการปฏิบัติงานที่ชี้ให้เห็นถึงจำนวนผู้ต้องขังหญิงที่กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก และช่วยแนะนำให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงานได้ใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในการลงโทษผู้กระทำผิดหญิง โดยพิจารณาจากภูมิหลังและความต้องการเฉพาะของพวกเธอ

 

จากนั้น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า แม้จะมีพัฒนาการอย่างยิ่งในแนวทางการปฏิบัติงานในทัณฑสถานและเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิงทั่วโลก แต่แนวทางทางเลือกที่ไม่ใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะกลับไม่ได้รับการส่งเสริมมากนัก

 

“ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 พบว่าทั่วโลกมีจำนวนผู้ต้องขังก่อนการพิจารณาคดีและผู้ต้องคุมประพฤติมีจำนวนเพิ่มขึ้น 30% ขณะที่จำนวนผู้ต้องขังหญิงและเด็กผู้หญิงเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 53% และจากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด และจากสถิติในปี 2560 มีจำนวนผู้ต้องขังก่อนการพิจารณาคดีและผู้ต้องคุมประพฤติเกือบ 3 ล้านคน ผลวิจัยยังพบด้วยว่า ในหลายประเทศ จำนวนผู้ต้องขังหญิงก่อนพิจารณาคดีมีจำนวนเท่ากับหรือสูงกว่าผู้ต้องขังหญิงที่ถูกตัดสินโทษแล้ว และพบว่าจำนวนผู้ต้องขังหญิงในกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ต้องขังชายในบางประเทศอีกด้วย” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าว และเสริมด้วยว่า เราจำเป็นต้องพัฒนาแนวทางทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และต้องมีการเปลี่ยนทิศทางการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยทบทวนถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการลงโทษด้วยการจำคุก

 

ในงานเสวนาครั้งนี้ มิวะ คาโต ผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการ สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้กล่าวถึงภูมิหลังของการอนุวัติข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังต่อผู้กระทำผิดหญิง หรือข้อกำหนดกรุงเทพ เมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้ว่า มีเป้าหมายเพื่อนำมิติทางเพศภาวะมาใช้ในระบบยุติธรรมทางอาญา และสนับสนุนมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

“ผู้ต้องขังหญิงหลายคนกระทำความผิดสถานเบา และส่วนใหญ่มีแนวโน้มไม่เป็นภัยต่อสังคม การลงโทษด้วยการคุมขังจึงเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูและการกลับคืนสู่สังคมของพวกเธอในอนาคต และยิ่งนำไปสู่การแบ่งแยกทางเพศและความเปราะบางของผู้หญิง” นอกจากนี้ ยังได้เสริมด้วยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ยิ่งส่งเสริมให้เห็นถึงความสำคัญของมาตรการที่มิใช่การคุมขังมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มผู้หญิงที่มีบุตร อย่างไรก็ดี เธอยังได้กล่าวด้วยว่า ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการพิจารณาว่าใครควรจะได้รับการปล่อยตัว จากรายงานในช่วงที่ผ่านมาว่าเกิดเหตุรุนแรงทางเพศเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19

 

ด้าน นางซาบรีนา มาห์ตานี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในผู้ร่างคู่มือว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ ร่วมอธิบายถึงคู่มือในรายละเอียดว่า แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่  ส่วนที่ 1. การบ่งชี้ความต้องการเฉพาะของผู้หญิงที่กระทำความผิดและสาเหตุการกระทำความผิด ส่วนที่ 2. มาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้ต้องขังหญิงที่เป็นมาตรฐานและแนวทางในระดับสากลและระดับภูมิภาค ตลอดจนกรณีศึกษาและแนวปฏิบัติที่ดีในประเทศต่างๆ และส่วนที่ 3. แนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้กระทำผิดหญิงในกรณีพิเศษ

 

“จากงานวิจัยพบว่ามีความเสี่ยงสูงที่ผู้หญิงจะฆ่าตัวตายในเรือนจำมากกว่าผู้ชาย โดยการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังจะช่วยลดต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจ ลดจำนวนผู้ต้องขัง และสถิติการกระทำผิดซ้ำ และควรส่งเสริมให้ชุมชนมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้หญิงที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม” นางมาห์ตานี ยังกล่าวด้วยว่า การจำคุกก่อนการพิจารณาคดี ควรเป็นทางออกสุดท้าย โดยยกตัวอย่างกรณีในประเทศออสเตรเลีย ฝั่งตะวันตก ผู้ต้องขังหญิง 1 ใน 3 กระทำผิดในข้อหาไม่จ่ายค่าปรับ เนื่องจากมีฐานะยากจน และเป็นชนกลุ่มน้อย

 

ส่วนในเรื่องของแนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้กระทำผิดหญิงในกรณีพิเศษ นางมาห์ตานีให้ความเห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงกฎหมายและแนวทางการพิจารณาคดี โดยให้พิจารณาถึงประวัติการถูกล่วงละเมิด การไม่แบ่งแยกผู้ต้องขังชาวต่างชาติ และผู้ต้องขังในคดีการใช้ยาเสพติดควรได้รับสิทธิในการรับการบำบัดแทนการคุมขัง

 

นางมาห์ตานี ยังได้ยกตัวอย่างแนวทางที่ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถนำไปใช้ได้จริงที่ระบุไว้ในคู่มือ เช่น การประเมินตนเองและการฝึกอบรม รวมทั้งเสนอให้มีการปฏิรูปแนวทางเพื่อการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่ตอบสนองต่อเพศภาวะด้วย 

 

จากนั้นวงเสวนาได้เข้าสู่ช่วงถามตอบ โดยได้ตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นที่จะต้องมีความคิดริเริ่มเกี่ยวกับมาตรการการลงโทษที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะในการพิจารณาคดีหลายกรณี บทบาทของภาคประชาสังคมและชุมชนในการสนับสนุนให้การใช้มาตรการทางเลือกแทนการคุมขังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ความสำคัญในการรวบรวมความต้องการของผู้กระทำผิดหญิงในกรณีพิเศษ และอำนาจในการร้อยเรื่องราวของผู้ต้องขังเมื่อต้องเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิรูปการพิจารณาคดีและลดการตีตราอดีตผู้ต้องขัง

 

อ่านคู่มือว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะclick here

 

 

 

Back