ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ ร่วมกับ UNODC และองค์การปฏิรูปการลงโทษสากล (PRI) จัดเสวนาออนไลน์ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ

 

 

 

ข้อกำหนดกรุงเทพ หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง ได้รับมติรับรองเป็นข้อกำหนดสหประชาชาติ จากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งนับเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ที่ข้อกำหนดกรุงเทพที่มีหลักการสำคัญในการไม่เลือกปฏิบัติ (principle of non-discrimination) โดยคำนึงถึงความต้องการเฉพาะเชิงเพศภาวะและการบำบัดฟื้นฟูที่สอดรับกับลักษณะเฉพาะของผู้ต้องขังหญิง ได้ถูกนำมาใช้ในประเทศต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ต้องขังหญิงได้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องขังหญิงยังต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมด้านคุณภาพชีวิต เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ต้องขังชาย เนื่องจากโครงสร้างของเรือนจำหรือสถานคุมขังมักจะออกแบบโดยผู้ชายเพื่อผู้ต้องขังชาย และในขณะเดียวกัน รายงานสถานการณ์เรือนจำโลกพบว่า ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนผู้ต้องขังหญิงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก โดยเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 50 และเส้นทางสู่เรือนจำของผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่มาจากการกระทำผิดในคดีเกี่ยวกับสารเสพติด จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั่วโลกในการดำเนินงานด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้สอดคล้องเหมาะสมกับจำนวนและความต้องการทางเพศภาวะของผู้ต้องขังหญิงในปัจจุบัน

 

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสำนักงานป้องกันยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drug and Crime – UNODC) และองค์การปฏิรูปการลงโทษสากล (Penal Reform International – PRI) ได้ถือโอกาสในเดือนครบรอบ 10 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ จัดงานประชุมระดับสูงผ่านช่องทางออนไลน์ ในหัวข้อ “10 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ : มุมมองระหว่างประเทศ และทิศทางในอนาคต” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงอดีตและอนาคตของข้อกำหนดกรุงเทพ


 

ในการนี้ ศ. (พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวเปิดงานเสวนา ใจความสำคัญว่า

“ในอนาคต เราจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่ที่จะช่วยให้ผู้หญิงได้เล่าถึงเรื่องราว และเสริมพลังให้พวกเธอ เพราะเสียงของพวกเธอนั้นมีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายที่สนองตอบความต้องการทางเพศภาวะ”

 

“เมื่อมองไปถึงอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจำเป็นต้องทำงานร่วมกันทั้งในระดับรัฐบาล ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงผลกำไร ชุมชน และตัวผู้หญิงเอง เพื่อให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยมองไปถึงมาตรการที่มิใช่การคุมขังและมาตรการทางเลือกอื่น ๆ ที่จะมีประสิทธิภาพในการช่วยบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังหญิง และนำพวกเธอกลับคืนสู่สังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

 

งานประชุมระดับสูงผ่านช่องทางออนไลน์ในครั้งนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและนโยบายยาเสพติด ร่วมบรรยายด้วย ได้แก่ กาดา ฟาติ วาลี ผู้อำนวยการ UNODC สำนักงานใหญ่ ประจำกรุงเวียนนา ออสเตรีย โอลิเวีย โรป ผู้อำนวยการ PRI แคทเธอรีน เฮิร์ด ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายด้านอาชญากรรมและการยุติธรรม และคลอเดีย บาโรนี เจ้าหน้าที่ด้านการควบคุมสารเสพติดและป้องกันอาชญากรรมจาก UNODC ซึ่งดำเนินรายการโดย ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ

 


Presentation download
Dr. Catherine Heard's PowerPoint

 

Back