ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ จัดประชุมเตรียมการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 3

 

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จัดการประชุมคณะที่ปรึกษาครั้งที่ 2 (Consultative Group Meeting - CGM) สำหรับการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 3 (The 3rd ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice – ACCPCJ) ระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคม พ.ศ. 2565 ณ จังหวัดภูเก็ต ในรูปแบบผสมกับออนไลน์ (Hybrid) เพื่อยกระดับแนวทางการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาในภูมิภาคอาเซียน และเตรียมการสำหรับการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 3 ที่จะจัดขึ้นในช่วงกลางปี พ.ศ. 2565

 

การประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาเป็นการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM) เจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (SOCA) เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) เจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับการประชุมเจ้าหน้าที่ส่วนกลางว่าด้วยสนธิสัญญาความร่วมมือทางอาญา (SOM-MLAT) และ เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านเยาวชน (SOMY) รวมถึงผู้แทนจากประเทศไทย ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถาบันนิติวัชร์ เข้าร่วมประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือถึงแนวทางการแก้ไขเกี่ยวกับประเด็นท้าทายกระบวนการยุติธรรมในโลกและภูมิภาคอาเซียน

 

การประชุมคณะที่ปรึกษาครั้งที่ 2 นี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอจากการประชุมคณะที่ปรึกษา ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7-8 กันยายน พ.ศ. 2564 ซึ่งสรุปว่า การประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ  “การตอบสนองต่อความท้าทายของอาชญากรรมและความยุติธรรมระหว่างที่การฟื้นตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภูมิภาคอาเซียน” (Responding to Crime and Justice Challenges amidst ASEAN Recovery from the Covid-19 Crisis) โดยให้ความสำคัญกับประเด็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนร่วมกันแสวงหาแนวทางเพื่อส่งเสริมการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่สอดคล้องกับกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน ซึ่งเป็นข้อริเริ่มเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นฟูหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ASEAN Comprehensive Recovery Framework - ACRF)

 
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบกับข้อเสนอหัวข้อการประชุมหลัก 3 หัวข้อ ได้แก่ (1) อาชญากรรมทางไซเบอร์ (2) การปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม และ (3) ความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย

 

Back