ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เดิมพันอนาคตประเทศไทย...หลักนิติธรรมกับการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ตอนที่ 3

 

 

จากที่ TIJ ดำเนินงานด้านการสนับสนุนและส่งเสริมหลักนิติธรรมมาตลอด ทำให้เราค้นพบเมื่อเริ่มทำแพลตฟอร์ม RoLD Xcelerate ว่า ผู้คนหลากหลายพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่า แต่อาจจะยังไม่พบกลไกที่จะช่วยให้ความคิดนั้นเป็นรูปเป็นร่างและนำไปสู่การนำไปปฏิบัติ ที่ RoLD Xcelerate เราจึงเริ่มจากการนำคนที่มีวิสัยทัศน์เพื่อประโยชน์ของประชาชนมารวมตัวกัน และหวังว่าในท้ายที่สุดแล้ว การก้าวไปด้วยกันจะทำให้ประเทศของเราก้าวไปได้ไกลกว่าเดิม

 

แพลตฟอร์ม RoLD Xcelerate ได้รวมกลุ่มผู้มีทัศนคติ แรงกาย และแรงใจที่จะร่วมกันพัฒนาหลักนิติธรรม หรือคือหลักการที่สังคมยอมรับและเคารพต่อการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยกฎหมายที่ว่านั้นมีที่มาที่ชอบธรรม มีกระบวนการที่ถูกต้อง เป็นประชาธิปไตย มีรูปแบบที่เข้าถึงและเข้าใจได้ และต้องมุ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของประชาชน

 

สำหรับประเด็นที่แลกเปลี่ยนกันใน RoLD Xcelerate ซึ่งจัดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน พ.ศ. 2567[1] นั้นมีทั้งด้าน การปฏิรูปรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐและการคอร์รัปชัน หลักนิติธรรมกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และการพัฒนาที่ยั่งยืนและความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม โดยอาจสรุปได้ดังนี้

 

การปฏิรูปรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

เรามีกฎหมายแสนกว่าฉบับ แต่ถึงเวลาที่สินค้าจีนเข้ามาถล่มตลาดไทย กฎหมายที่มีอยู่มากมายกลับใช้ไม่ได้ หรือใช้แค่กฎหมายตอบโต้การทุ่มตลาด ทั้งที่โลกเปลี่ยนไปเยอะมาก การทำธุรกิจมีความยืดหยุ่น ซิกแซกเยอะไปหมด ถ้ากฎหมายไม่มีประโยชน์ก็ควรตัดทิ้ง ของเราถ้าหั่นครึ่งหนึ่ง ก็ยังเหลือหลายหมื่นฉบับ มากกว่าตอนที่เกาหลีใต้ทำ ยังไม่ได้ทำเลย เพราะฉะนั้น คิดง่าย ๆ ถ้าจะให้เศรษฐกิจเราพุ่งได้อย่างเกาหลี ต้องหั่น 97%” เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 

 

สถานการณ์ในภาพรวม

 

  • ประเทศไทย เป็นประเทศตัวอย่างของคำกล่าวที่ว่า “ประเทศใดมีกฎหมายมาก ประเทศนั้นมักมีปัญหา” ด้วยกฎหมายที่มีอยู่กว่าแสนฉบับ
  • รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่นั้นร่างขึ้นจากการรัฐประหารที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เนื้อหาขาดความชอบธรรมและไม่รัดกุม ส่วนที่ชัดเจนคือการเพิ่มขึ้นของอำนาจรัฐเพื่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  • อารัมภบทของรัฐธรรมนูญสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ร่างที่พยายามออกแบบเพื่อถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร แต่ไม่ได้นำศาลและองค์กรอิสระมาอยู่ในการถ่วงดุล ยิ่งกว่านั้นคือ มีการขยายอำนาจสถาบันการเมืองที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน เช่น สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับมีอำนาจรับรองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังมีศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกขาดอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องจริยธรรม และมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นวาระซ่อนเร้นที่กลายเป็นข้อจำกัดของรัฐบาลที่หาเสียงไว้กับประชาชน
  • เป็นรัฐธรรมนูญในเชิงเทคนิคทางกฎหมาย ที่มีเนื้อหาพัวพันกันในรายมาตรา ทำให้เกิดความซับซ้อนในการนำไปใช้ นอกจากนี้ยังพยายามใส่รายละเอียดต่าง ๆ มากเกินไป ไม่กระชับ และเข้าใจได้ยาก
  • กฎหมายจำนวนมากเป็นภาระต้นทุนโดยตรงต่อการประกอบอาชีพของประชาชนและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน และเอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  

 

ข้อเสนอแนะทางนโยบาย

 

  • การแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องใช้กระบวนการที่ยาวนาน สิ่งที่ต้องทำคู่ขนานกันไปคือ การแก้บางมาตราที่จำเป็นเร่งด่วน
  • รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการจัดวางโครงสร้างองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้ดีพอ มีการถ่วงดุลอำนาจกันอย่างเหมาะสม มีความชอบธรรมในการกำหนดภารกิจ เพราะการใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้ อาจไปกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้
  • ควรใช้โอกาสที่คนไทยตื่นตัวเรื่องรัฐธรรมนูญในการรับฟังเสียงและสร้างการมีส่วนร่วมในมิติต่าง ๆ
  • ส่วนการปฏิรูปตัดลดกฎหมายที่ล้าสมัย หรือแก้กฎหมาย ดังเช่นประเทศเกาหลีใต้ ในช่วง พ.ศ. 2540 จากที่มีอยู่กว่า 11,125 ฉบับ เหลือ 5,695 ฉบับ ช่วยให้ประเทศก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดมากกว่าการเข้าแทรกแซงตลาดของภาครัฐ และที่ผ่านมาประเทศไทยมีการดำเนินงานไปแล้ว เช่น
    • การตั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ได้มอบหมายให้อดีตผู้อำนวยการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ศึกษาการปฏิรูปกฎหมายในเกาหลีใต้มาศึกษาเรื่องนี้ในประเทศไทย ซึ่งต่อมารัฐบาลได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เข้ามาศึกษาคู่ขนานกัน โดยผลการศึกษาพบว่าหากยกเลิกหรือแก้ไขกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นกว่า 1,000 กระบวนงาน จะสามารถประหยัดเงินได้ปีละกว่า 1.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 0.8% ของจีดีพีในปี 2562
    • คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 1 ฉบับ เพื่อแก้กฎหมาย 5 ฉบับที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ โดยเน้นที่การลดขั้นตอนการขออนุมัติอนุญาตต่าง ๆ และส่งผลให้อันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 20 อันดับ จากที่เคยตกมาอยู่อันดับที่ 49 ในปี 2559 กลับขึ้นไปอยู่อันดับที่ 26 ในปี 2561 และได้อันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศในปี 2563 อินโดนีเซียได้ใช้วิธีเดียวกันนี้ในการเพิ่มอันดับดัชนีดังกล่าวได้แบบก้าวกระโดดเช่นเดียวกัน
    • พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกว่า เป็นอีกตัวอย่างของการนำการปฏิรูปกฎหมายไปใช้ปฏิบัติจริง เพราะเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจสำนักงาน EEC ในการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อลดต้นทุนการประกอบกิจการสำหรับนักลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการ โดยเลขาธิการ EEC และคณะกรรมการนโยบาย สามารถออกใบอนุญาตได้ถึง 14 ใบอนุญาต
  • การปฏิรูปกฎหมายยังต้องให้ความสำคัญกับตัวกฎหมายและการนำกฎหมายไปปฏิบัติใช้ โดยกฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติหรือกฎหมายแม่นั้น ควรระบุเจตนารมณ์ให้ชัดเจน ส่วนวิธีการควรกำหนดไว้ในพระราชกำหนดหรือกฎหมายในลำดับรองลงมา และควรมีคู่มือการใช้เพื่อกำกับการตีความ ลดปัญหาการตีความกฎหมายตามตัวอักษรหรือตามดุลยพินิจ

 

ระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

 

“โดยหลักเหตุและผลแล้ว ความโปร่งใสของภาครัฐจะเป็นยาต้านที่ดีของปัญหาคอร์รัปชัน ปัจจุบันธนาคารโลกเริ่มเสนอมุมมองว่าการทำเรื่องการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government) น่าจะช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้การทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ยากหรือเกิดขึ้นน้อยลง ช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและพลเมืองดีขึ้น และช่วยส่งเสริมกลไกการแสดงความรับผิดรับชอบต่อสังคมของภาครัฐ จึงเสมือนการยิงกระสุนนัดเดียวได้ผลหลายต่อ” ดร. พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ 

 

ภาพรวมของสถานการณ์

 

  • ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังเดือดร้อนและเข้าไม่ถึงการแก้ไขปัญหาโดยกระบวนการยุติธรรม
  • แนวคิดกระบวนการยุติธรรมที่มองคนเป็นศูนย์กลางเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับ มีพัฒนาการในมิติขององค์ความรู้ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับนานาชาติมากขึ้น โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้นำเสนอองค์ประกอบสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ การออกแบบและการก่อให้เกิดบริการที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อให้เกิดธรรมาภิบาล การเสริมสร้างพลังให้กับประชาชน และการวางแผน ติดตาม รวมไปถึงการรับผิดชอบต่อผลของการปฏิบัติงาน
  • กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมกำหนดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย โดยเน้นที่การชดเชยเยียวยาแก่ผู้เสียหายอย่างเหมาะสม พร้อมกับสร้างความสำนึกผิดและความรับผิดชอบของผู้กระทำผิด
  • ในประเทศไทยมีความคืบหน้าในการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชน อย่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานการประชุมเพื่อแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็ก เยาวชน และครอบครัว
  • การลงทุนในกระบวนการยุติธรรมที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะได้ผลที่คุ้มค่าทั้งในแง่ของการให้บริการที่ดีขึ้นและความเชื่อมั่นต่อกฎกติกาของสังคม แต่ปัจจุบันไม่มีตลาด ไม่มีเงินทุน และไม่มีนวัตกรรมทางสังคมที่เพียงพอ และผู้ให้บริการในกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันมีโครงสร้างการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กรที่ยังไม่เอื้อให้เกิดการปรับตัวได้ง่าย

 

ข้อเสนอแนะด้านนโยบาย

 

  • องค์กรและหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งปรับตัวเพื่อตอบสนองกับระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและสามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ดีได้ เช่น ศาลฎีกาก็มีการปรับตัวในการรับรู้หรือสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ด้วยนโยบายที่เน้นการรับใช้ประชาชน ในโครงการ Justice by Design ให้ประชาชนสะท้อนประสบการณ์การใช้บริการศาล ที่จะช่วยนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์การทำงานที่เป็นมิตรต่อประชาชนมากขึ้น กระทั่งออกมาเป็นการปรับแก้ไขเว็บไซต์ของศาล รวมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์ม “มรดกพลัส” เพื่อการจัดการมรดกง่ายๆ ด้วยตนเอง
  • TIJ ได้นำแนวคิดฯ มาต่อยอดเป็นโครงการ เช่น การจัดทำงานวิจัยเรื่องความต้องการด้านความยุติธรรมของประชาชน (Justice Needs Survey) โครงการพัฒนากิจกรรมบ่มเพาะกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสถานศึกษา โครงการ “White Space Platform” เพิ่มพื้นที่สีขาวให้เด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงได้เข้ามาเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อลดโอกาสการเกิดอาชญกรรม เป็นต้น
  • การพัฒนาระบบนี้จำเป็นต้องมีระบบป้องกันหรือการตรวจจับเบื้องต้น (Leverage point) ซึ่งต้องอาศัยกลไกการจัดการกลางเพื่อสร้างให้เกิดความร่วมมือ Ecosystem (ระบบนิเวศ) ต้องพัฒนาให้สมบูรณ์มากขึ้น

 

การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ

 

ภาพรวมของสถานการณ์

 

  • การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐส่วนใหญ่มีแนวคิดประกอบด้วย
    • ความโปร่งใส” หมายถึงการส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในภาครัฐและเปิดเผยกิจกรรมต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐในทุกระดับ
    • การมีส่วนร่วม” หมายถึงการให้คุณค่ากับการมีส่วนร่วมตัดสินใจและกำหนดนโยบายของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ
    • ความรับผิดชอบ” หมายถึงการสร้างกลไกและกระบวนการต่าง ๆ เพื่อทำให้หน่วยงานของรัฐมีความรับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้น ให้ประชาชนได้รับทราบถึงความก้าวหน้าของการบังคับใช้นโยบายต่าง ๆ
  • การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐมีความสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ได้ดีเพียงใดในการบริหารจัดการประเทศ และเป็นส่วนที่สำคัญในการชี้วัดได้ว่า รัฐบาลนั้น ๆ มีธรรมาภิบาล มีหลักนิติธรรมในการบริหารประเทศหรือไม่ จึงเป็นหนึ่งในเกณฑ์การวัดหลักนิติธรรมของประเทศต่าง ๆ ของ World Justice Project ควบคู่ไปกับเกณฑ์อื่น ๆ เช่น การจำกัดอำนาจรัฐ การบังคับใช้กฎหมาย และความยุติธรรมทางอาญา เป็นต้น
  • การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐในประเทศไทย มีการดำเนินงานมานานตั้งแต่ 
    • พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
    • ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 (ปรับปรุงจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539)
    • มติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2555 ได้กำหนดองค์ประกอบที่สำคัญของหลักธรรมาภิบาลของการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีไว้หลายประการ ซึ่งรวมถึงการเปิดเผย/ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ/ตรวจสอบได้ และหลักนิติธรรม
    • ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคี Open Government Partnership (OGP) คณะรัฐมนตรีมีมติตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งผ่านเกณฑ์มีสิทธิเข้ารับเลือก (Eligibility) มาหลายปี แต่ติดเงื่อนไข Value Check ที่ OGP เริ่มนำมาใช้ประเมินสิทธิการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2560 โดยมี 2 เกณฑ์คือ การยอมให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม และการต่อต้านภาคประชาสังคม ทำให้ได้คะแนนในส่วนนี้ต่ำและทำให้ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิก OGP มาจนถึงปัจจุบัน

 

ข้อเสนอแนะด้านนโยบาย

 

  • ประเทศไทยควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างระบบนิเวศเพื่อความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพัฒนาจากสิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว ทั้งโดยภาครัฐ ภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน และภาคเอกชน
    • การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน ซึ่งดำเนินการโดยภาครัฐเอง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในการทำงานของรัฐ แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูล (Inform) การรับฟังความคิดเห็น (Consult) การเปิดเวทีให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม (Involve) การสร้างความร่วมมือในการดำเนินการกับภาครัฐ (Collaborate) และการเสริมอำนาจและศักยภาพของประชาชนให้เข้มแข็ง (Empower)
      • โครงการสำคัญของ สำนักงาน ก.พ.ร. เช่น ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th) และมีการเปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณภาครัฐผ่านแพลตฟอร์ม “ภาษีไปไหน” (govspending.data.go.th) หรือในด้านการสร้างการมีส่วนร่วมก็ได้ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) พัฒนาแพลตฟอร์ม “บอกเราถึงรัฐ” เป็นช่องทางรับฟังความเห็นเชิงนโยบายจากประชาชน
      • สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (Digital Government Development Agency – DGA) ได้ขับเคลื่อนเรื่องรัฐบาลดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2565 ประเทศไทยได้คะแนนดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ 0.766 คะแนน เป็นอับดับที่ 3 ในอาเซียน และจัดอยู่ในอันดับที่ 55 จาก 193 ประเทศ ขยับขึ้นมากเมื่อเทียบกับอันดับที่ 102 ในปี 2557 ทั้งยังมีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อภาครัฐ อย่างศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ และนวัตกรรมภาครัฐ
    • การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เมื่อข้อมูลภาครัฐอาจจะไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา ก็ต้องอาศัยข้อมูลจากภาคเอกชนร่วมด้วย อย่างการสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Open Government & Meaningful Participation Ecosystem) ด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาครัฐและภาคีเครือข่ายความร่วมมือ และการสร้างแรงจูงใจเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เช่นการแก้ประเด็นปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคเกษตร
  • การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐโดยภาคเอกชนที่พยายามจัดทำแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ขึ้นมาให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้ง่ายขึ้นกว่าที่รัฐเปิดไว้ เช่น ข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น การเปิดเผยข้อมูลจากภาคเอกชนจากกลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน “WeVis” แพลตฟอร์ม Policy Watch แพลตฟอร์ม ACTAi ที่บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อสร้างระบบนิเวศใหม่ให้ประชาชนสามารถร่วมตรวจสอบการบริหารจัดการของภาครัฐได้

 

การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน

 

ภาพรวมของสถานการณ์

 

  • การเปิดเผยข้อมูลไปปฏิบัติใช้มีหลักสากลอยู่ 6 ประการ ได้แก่ 1) เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น (Open by Default) 2) เปิดเผยทันเวลาและครอบคลุม (Timely and Comprehensive) 3) เข้าถึงได้และใช้งานได้จริง (Accessible and Usable) 4) มีคุณภาพและมีโครงสร้างที่ชัดเจน (Comparable and Interoperable) 5) เสริมสร้างธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของประชาชน (For Improved Governance & Citizen Engagement) 6) เสริมสร้างการพัฒนาและนวัตกรรม (For Inclusive Development and Innovation)
  • การเปิดเผยข้อมูลแบ่งเป็น 5 ระดับ ต่ำสุดระดับ 1 ดาว เป็นการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบไฟล์ PDF ที่ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างข้อมูลได้ และนำไปใช้งานซ้ำไม่ได้ ระดับ 2 ดาว เปิดเผยข้อมูลในรูปแบบ Excel sheet ที่เครื่องสามารถอ่านได้ (Machine-readable) สามารถนำไปใช้งานซ้ำได้ แต่อาจต้องจ่ายเงินซื้อโปรแกรมไมโครซอฟท์ออฟฟิศเพื่อใช้งาน ระดับ 3 ดาว เปิดเผยข้อมูลในรูปแบบที่ปลอดกรรมสิทธิ์ (Non-proprietary format) สามารถดาวน์โหลดและใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระดับ 4 ดาว เปิดเผยข้อมูลในรูปแบบไฟล์ RDF ที่ได้รับการออกแบบให้คอมพิวเตอร์สามารถอ่านและเข้าใจได้ และระดับ 5 ดาว เปิดเผยข้อมูลในรูปแบบไฟล์ LOD ที่มีการเชื่อมโยงไปสู่แหล่งข้อมูลอื่น ๆ ในบริบทที่เกี่ยวข้องกันได้
  • สำหรับชุดข้อมูลเปิดเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันที่สามารถนำไปใช้เป็นมาตรฐานและแนวทางในการส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะมีอยู่ 30 ชุดข้อมูล ซึ่งโดยหลักแล้วจะเกี่ยวข้องกับบุคคลและองค์กร ทรัพยากรสาธารณะ กฎหมายและนโยบาย และทรัพย์สินและผลประโยชน์
  • สถานการณ์ในไทย ปัจจุบันสื่อมวลชนและภาคประชาชนในไทยมีความตื่นตัวสูง และมีแนวโน้มไม่ยอมรับพฤติกรรมการคอร์รัปชันมากขึ้น และมีบางช่วงเวลาที่คนไทยรู้สึกว่ามีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ เมื่อผู้นำแสดงออกถึงความมุ่งมั่นจริงจังที่จะแก้ไขปัญหา และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม
  • แต่การแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันในประเทศไทยยังคงมีความท้าทายตรงที่หลักนิติธรรมไทยยังอยู่ไม่เข้มแข็ง การเปิดเผยข้อมูลในครอบครองของรัฐมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ หลายข้อมูลเปิดเผยแต่ไม่เพียงพอในการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบนิเวศทั้งด้านกฎหมายนโยบาย เครื่องมือ งบประมาณ และบุคลากร ในการจัดการข้อมูลภาครัฐยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ

 

ข้อเสนอแนะ

 

  • ภาคเอกชนไทยเป็นความหวังของประเทศไทยในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน  เช่น เมื่อ พ.ศ. 2553 มีการจัดตั้งโครงการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย เรียกว่า CAC เริ่มจากสมาชิก 8 องค์กร ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 600 องค์กร โดยแต่ละองค์กรที่เข้าร่วมต้องประกาศเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันโดยความสมัครใจและต้องประเมินตนเองตามมาตรฐาน 71 ข้อ ที่อ้างอิงตามแบบประเมิน Transparency International ที่มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับภาคเอกชนไทย
  • ควรมีการเปิดเผยข้อมูลที่ควรเปิดแต่ยังไม่ได้เปิด และทำให้ข้อมูลที่เปิดเผยแล้วมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะนำไปใช้ต่อต้านคอร์รัปชันและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้ โดยนำชุดข้อมูลมาเชื่อมโยงกัน และสามารถใช้แพลตฟอร์มอย่างระบบ AI มาช่วยวิเคราะห์สถานการณ์

 

หลักนิติธรรมกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

 

ภาพรวมของสถานการณ์

 

  • ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ทั้งจากการใช้บทลงโทษคุมขังเป็นหลักในการแก้ไขคนทำผิด แนวโน้มการเพิ่มโทษอาญาเกี่ยวกับยาเสพติด และกฎหมายให้กักขังแทนการจ่ายค่าปรับได้ ทำให้เรือนจำในประเทศไทยมีผู้ต้องขังเป็นจำนวนมาก โดยมีจำนวนผู้ต้องขังมากเป็นอันดับ 8 ของโลก อันดับ 3 ของอาเซียน และมีสภาพแออัดด้วยความหนาแน่น 1 คนต่อพื้นที่ 1.2 ตารางเมตร
  • จากสถานการณ์ที่มีจำนวนผู้ต้องขังที่หนาแน่น การขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณ นำไปสู่ข้อจำกัดในการแก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง และแม้จะมีการพัฒนาทักษะอาชีพให้เลี้ยงชีพได้หลังพ้นโทษ แต่พวกเขาก็ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาหลากหลายด้านทั้งความเข้มแข็งภายในตนเอง ความรู้ความสามารถ ทักษะอาชีพ และที่สำคัญคือการที่ครอบครัวหรือสังคมไม่ให้โอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่
  • สุดท้าย ผู้พ้นโทษถึง 60 เปอร์เซ็นต์จะกระทำผิดซ้ำและกลับเข้าสู่เรือนจำอีกครั้ง ภายใน 3 ปี หรือกล่าวได้ว่า หากในปีนี้มีผู้พ้นโทษ 100 คน ในอีก 3 ปีข้างหน้า ใน 100 คนนั้นจะมีผู้ที่สามารถกลับมาอยู่ในสังคมได้อย่างปกติได้เพียง 40 คนเท่านั้น

 

ข้อเสนอแนะด้านนโยบาย

 

  • วงจรของการคืนคนสู่สังคมได้สำเร็จประกอบด้วย ราชทัณฑ์ สังคม กฎหมาย และผู้ประกอบการ ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เอื้อต่อการคืนคนดีสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน 
  • กรมราชทัณฑ์ปรับปรุงชั่วโมงการทำงานของผู้ต้องขังให้สามารถฝึกทักษะได้เหมือนคนภายนอก ยืดหยุ่นเรื่องชั่วโมงทำงาน มีลักษณะการทำงานที่หลากหลาย และมีการบำบัดฟื้นฟูทางจิตใจ ที่สำคัญคือสังคมต้องให้โอกาสและไม่มองว่าผู้พ้นโทษเป็นปัญหาของสังคม
  • สังคมไม่ควรมองว่าการกระทำผิดซ้ำเป็นมาตรวัดเดียวในการวัดคนดีหรือไม่ดี เพราะความสำเร็จของคนมีหลายมิติ ทั้งด้านความสัมพันธ์กับครอบครัว ความภาคภูมิใจในการหาเลี้ยงชีพ หรือการมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อตนเองและคนรอบข้าง ถือเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่สำเร็จแล้วก่อนถึงเป้าหมายใหญ่ ๆ ในชีวิต

 

การปฏิรูปตำรวจ

 

ภาพรวมของสถานการณ์

 

  • ตำรวจเป็นเหมือนหน้าด่านของกระบวนการยุติธรรมสำหรับประชาชน เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎหมาย ตำรวจจะเป็นคนแรก ๆ ที่ประชาชนต้องการ
  • ภาพลักษณ์ของตำรวจและความเชื่อมั่นต่อตำรวจไทยในความรู้สึกของประชาชนตกต่ำอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำรวจทั้งที่มีตำแหน่งสูงระดับบริหาร และตำรวจระดับปฏิบัติการมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับคดีอาญาหลากหลายรูปแบบ
  • ข้าราชการตำรวจยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในด้านโครงสร้างการบริหารจัดการภายใน การขาดแคลนบุคลากร และการขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินงาน
  • ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน 1,597 ตัวอย่าง ที่จัดทำโดยซูเปอร์โพลในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ตอกย้ำความรู้สึกดังกล่าว ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 93.9 ต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ ส่วนในการสำรวจฝั่งของข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ 2,000 นาย โดยซูเปอร์โพลเช่นกันก็พบว่า ตำรวจ ร้อยละ 96.5 ต้องการปฏิรูปเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ร้อยละ 96.1 ขอให้ปลอดการแทรกแซงจากการเมือง ร้อยละ 93.4ขอให้เพิ่มตำรวจสายตรวจ และสายป้องกันและปราบปรามเพื่อให้ดูแลประชาชนได้ทั่วถึง และร้อยละ 92.6 ขอให้ตำรวจที่เชี่ยวชาญเติบโตในหน่วยงานของตนเอง เป็นต้น

 

ข้อเสนอแนะด้านนโยบาย

 

  • การจะปฏิรูปตำรวจให้บรรลุผลสำเร็จ ต้องประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ตำรวจ (Police) ประชาชน (People) และเจตน์จำนงทางการเมือง (Political Will) ของผู้นำหรือผู้มีอำนาจ ที่ต้องมีความมุ่งมั่นจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา
  • เรื่องที่ต้องเร่งปฏิรูปคือการปรับโครงสร้างการบริหารให้ตำรวจให้สามารถเลือกตั้งประธานกรรมการข้าราชการตำรวจได้ และผู้มีสิทธิต้องเป็นอดีตตำรวจที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) จากเดิมให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากฝ่ายการเมืองเป็นประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ ก.ตร. ให้มีคณะกรรมการโดยตำแหน่งกับคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งในสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและความโปร่งใสมากขึ้น 
  • ปรับปรุงระบบการเลื่อนขั้นของตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวน หรือเรียกว่าการคืนแท่งพนักงานสอบสวน เพื่อให้สามารถเติบโตในระบบงานสืบสวนสอบสวน และได้รับการประเมินพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งจะช่วยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน และให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง มีประสิทธิภาพและทำให้มีความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ ส่งผลให้มีกำลังใจในการทำงาน

 

การพัฒนาที่ยั่งยืนและความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม

 

สถานการณ์ภาพรวม

 

  • สถานการณ์ระดับโลกเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมความไม่เท่าเทียมด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลกยังคงรุนแรง โดยคนที่ร่ำรวยที่สุด 10% ปล่อยคาร์บอนถึง 50% ของทั้งโลก ขณะที่คนจนที่สุด 50% ปล่อยเพียง 10% ซึ่งสะท้อนถึงความยากลำบากในการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์
  • ความไม่เท่าเทียมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติปัญหาในประเทศไทยสะท้อนถึงการใช้ทรัพยากรและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นธรรม ระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจน ระหว่างคนรวยและคนจน รวมถึงระหว่างคนรุ่นก่อนและรุ่นหลัง ทั้งนี้ยังมีปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบในการกำหนดนโยบาย
  • ความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของปัญหาสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยแม้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ จะเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น แต่ประเทศไทยยังขาดกลไกที่สร้างความโปร่งใสในการจัดสรรทรัพยากรและการรายงานผลกระทบจากโครงการต่าง ๆ อย่างชัดเจน
  • ตัวอย่างของความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในไทยเห็นได้จากการความโปร่งใสและความรับผิดชอบในอุตสาหกรรมประมงไทย คือการเก็บข้อมูลและการลงทะเบียนแรงงานบนเรือที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งนำไปสู่ความไม่สามารถตรวจสอบแรงงานที่ถูกบังคับใช้แรงงาน ถูกค้ามนุษย์ หรือการใช้แรงงานเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing - IUU) ประเทศไทยเคยเผชิญปัญหา IUU อย่างรุนแรง แต่ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการจัดการ เช่น การสร้างศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง และการเปิดเผยข้อมูลเรือพาณิชย์กว่า 4,000-5,000 ลำผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งช่วยลดการทำประมง IUU และส่งเสริมชาวประมงรายย่อย

 

ข้อเสนอแนะด้านโยบาย

 

  • ความร่วมมือในระดับนานาชาติการส่งเสริมบทบาทของประเทศร่ำรวยในการถ่ายทอดเทคโนโลยี สนับสนุนการเงิน และแบ่งปันความรู้ให้กับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
  • สนับสนุนการออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ เช่น ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชน ที่ไม่เพียงเน้นการลงโทษ แต่ยังสร้างแรงจูงใจให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น การเก็บเงินจากผู้สร้างมลภาวะเพื่อนำไปพัฒนาสิ่งแวดล้อม
  • ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน เช่น มาตรการภาษีและกองทุนสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งช่วยให้ธุรกิจเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นและปรับตัวสู่ความยั่งยืน
  • เน้นการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล เช่น การปกป้องพื้นที่ป่าที่ดูดซับคาร์บอนและสนับสนุนเกษตรกรรมที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในอนาคต
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและคนรุ่นใหม่ การเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชน ชนพื้นเมือง และคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจ เช่น การฟ้องร้องเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
  • ส่งเสริมการเก็บข้อมูลและความโปร่งใส การจัดทำระบบการเก็บข้อมูลแรงงาน การลงทะเบียนแรงงาน และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมประมง เพื่อให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงานได้และลดการทำประมง IUU อย่างต่อเนื่อง

 

 

เกี่ยวกับหลักสูตร RoLD Xcelerate

 

หลักสูตร “RoLD Xcelerate” แพลตฟอร์มสำหรับการปฏิรูปหลักนิติธรรม หรือพื้นที่การเรียนรู้เพื่อสร้างเครือข่าย “Justice Makers” ที่ TIJ มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่สร้างองค์ความรู้และนำมาตรฐานสากลมาปรับใช้เพื่อสร้างหลักนิติธรรมของประเทศไทยให้เข้มแข็ง

 

หัวใจสำคัญของแพลตฟอร์ม RoLD เพื่อสร้างเสริมหลักนิติธรรมคือการมีหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnership) เข้ามาขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน ในสังคมประเทศไทยที่แม้จะมีประชาธิปไตยแต่ก็เป็นประชาธิปไตยที่อ่อนแอและมีความขัดแย้งสูง ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะเป็นกุญแจสำคัญในการปฏิรูปหลักนิติธรรมให้ประสบความสำเร็จได้

 


[1] RoLD 2024 : RoLD Xcelerate, หลักสูตรเครือข่ายผู้นำเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม ปี 2567. เข้าถึงได้ที่ https://tijrold.org/schedule/rold-2024/#2024-25 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567)

Back

Most Viewed

chat