หลักนิติธรรม – หลักนิติรัฐ คือ อะไร
ในหลายช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หลักนิติธรรม ได้ถูกนำมาเผยแพร่ ทำซ้ำ และส่งต่อในแวดวงของนักกฎหมาย นักวิชาการ นักการเมือง ผู้มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย การพัฒนาสังคมเป็นวงกว้าง แต่ก็ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่ว่า แท้จริงแล้วหลักนิติธรรมคืออะไร มีสาระสำคัญอย่างไร ทำไมการสร้างสังคมที่ยั่งยืนต้องยึดหลักนิติธรรม แล้วหลักนิติธรรมแตกต่างหรือเหมือนกับหลักนิติรัฐอย่างไร
นิยามของหลักนิติธรรม อาจกล่าวได้ว่าปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในหนังสือ Introduction to the study of the Law of the Constitution[1] ที่เขียนโดย A.V. Dicey ในปี ค.ศ. 1885 ซึ่งอธิบายองค์ประกอบของหลักนิติธรรม (Rule of Law) ว่าเป็นหลักพื้นฐานของรัฐธรรมนูญอังกฤษ โดยมีความหมายสำคัญ 3 ประการ
ประการแรก อำนาจของรัฐต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และการลงโทษบุคคลใดต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายปกติ ไม่มีการใช้อำนาจโดยพลการ
ประการที่สอง ความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย ทุกคนรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่มีบุคคลใดได้รับการยกเว้นจากการปฏิบัติตามกฎหมาย
ประการที่สาม สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไม่ได้เกิดจากการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ แต่เป็นผลจากการตีความและบังคับใช้กฎหมายโดยศาล
ในขณะที่หลักนิติธรรมพัฒนามาจากระบบกฎหมาย Common Law ของอังกฤษ หลักนิติรัฐ (Rechtsstaat) เกิดขึ้นในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมาย Civil Law โดยแนวคิดนี้เริ่มต้นจากนักคิดชาวเยอรมัน เช่น Robert von Mohl และ Hans Kelsen ซึ่งเน้นการควบคุมอำนาจของรัฐให้อยู่ภายใต้ลำดับชั้นของกฎหมาย โดยกฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐประกอบด้วยแนวทางสำคัญ เช่น การแบ่งแยกอำนาจ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายตุลาการและฝ่ายปกครอง และการเคารพในรัฐธรรมนูญ[2]
อย่างไรก็ดี แม้หลักนิติธรรมและนิติรัฐจะมีรายละเอียดที่ต่างกัน แต่ทั้งสองแนวคิดมีจุดร่วมสำคัญคือ การส่งเสริมความเสมอภาคและการจำกัดอำนาจของรัฐเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน หลักนิติรัฐนั้นเพิ่มความซับซ้อนด้วยการกำหนดลำดับชั้นของกฎหมายและการแยกอำนาจ เพื่อให้การปกครองเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่ว่าอย่างไร แนวคิดเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญในสังคมประชาธิปไตย ผู้ร่างกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายควรตระหนักถึงหลักนิติธรรมและนิติรัฐ เพื่อให้กฎหมายเป็นเครื่องมือที่สร้างความยุติธรรมและความสงบสุขในสังคม พร้อมทั้งเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และปกป้องสิทธิของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
พัฒนาการหลักนิติธรรมในกฎหมายสูงสุดของประเทศไทย
ในส่วนของประเทศไทยได้เผชิญกับความท้าทายในการสร้างหลักนิติธรรมตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแรกของไทย แม้ยังไม่มีการกล่าวถึง "หลักนิติธรรม" โดยตรง แต่ได้วางรากฐานการแบ่งอำนาจอธิปไตยระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ พร้อมทั้งยืนยันความเสมอภาคของประชาชนภายใต้กฎหมาย
หลักนิติธรรมในไทยถูกกล่าวถึงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 โดยระบุในอารัมภบทถึงการยึดมั่นในหลักการนี้เพื่อสร้างความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ เช่น ฉบับชั่วคราวปี 2549 และ 2557 หลักนิติธรรมได้รับการเน้นย้ำว่าเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศ แต่ก็ยังเป็นการบัญญัติในลักษณะที่กว้างขวางและไม่ชัดเจน ทำให้เป็นความท้าทายในการนำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริง
ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน พ.ศ. 2560 หลักนิติธรรมถูกบัญญัติไว้อย่างในมาตรา 3 และมาตรา 26 โดยกำหนดให้ทุกองค์กรของรัฐ รวมถึงรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม พร้อมคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและความผาสุกของประชาชน การตรากฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนจะต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม และไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยบทบาทของหลักนิติธรรมครอบคลุมการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรากฎหมาย ฝ่ายตุลาการในการบังคับใช้กฎหมาย และฝ่ายบริหารในการบริหารประเทศ โดยต้องดำเนินการอยู่ในกรอบกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขณะเดียวกันประชาชนเองก็มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
โดยสรุป หลักนิติธรรมในรัฐธรรมนูญไทยถือเป็นหลักการพื้นฐานที่ช่วยส่งเสริมความยุติธรรม ความสงบสุข และสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการกำกับการบริหารประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
[1] A.V. Dicey, Introduction to the study of the Law of the Constitution (1885), London: Macmillan, 1959
[2] บรรหาร จงเจริญประเสริฐ, ความสัมพันธ์ระหว่างหลักนิติธรรมและนิติรัฐ, เอกสารวิชาการส่วนบุคคล (Individual Study), หลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย, วิทยาลัยรัฐธรรมนูญ, สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา, สถาบันศาลรัฐธรรมนูญ. เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567. ที่ https://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/ewt_dl_link.php?nid=1266