ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

ที่มาความสำคัญ

การรายงานเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ถือเป็นขั้นตอนแรกในการเรียกร้องความยุติธรรมที่ประชาชนสามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีประชาชนจำนวนไม่น้อยเลือกจะไม่รายงาน เนื่องด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการไม่เห็นประโยชน์ที่จะดำเนินการเพราะความเสียหายไม่สูง ความกังวลเกี่ยวกับความยุ่งยาก ล่าช้า หรือกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิด รวมไปถึงการขาดความเชื่อมั่นในระบบหรือในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทีjเกี่ยวข้อง สถิติการแจ้งเหตุอาชญากรรมต่อเจ้าหน้าที่แม้ว่าจะครบถ้วนสมบูรณ์แต่ก็ไม่สามารถสะท้อนภาพของสถานการณ์อาชญากรรมที่แท้จริงได้ 

การสำรวจข้อมูลสถิติอาชญากรรมภาคประชาชน (Crime Victimization Surveys) เป็นวิธีสำคัญที่ใช้ศึกษาข้อมูลอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่ได้มีการายงานต่อเจ้าหน้าที่ โดยใช้วิธีการลงพื้นที่สอบถามกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศว่าเคยมีประสบการณ์ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมหรือไม่ และนำเอาตัวเลขที่ได้มาคำนวนหาอัตราการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเทียบเป็นสัดส่วนต่อประชากรเพื่อให้ทราบถึงสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ ว่ามีอาชญากรรมเกิดขึ้นจริงมากน้อยเพียงใด ซึ่งจากผลการสำรวจของสำนักงานกิจการยุติธรรมพบว่า มีตัวเลขผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมากกว่าสถิติการรับแจ้งเหตุอาชญากรรมของตำรวจอย่างมีนัยสำคัญ โดยกลุ่มประชากรตัวอย่างที่เคยตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเพียงร้อยละ 7.8 ที่ให้ข้อมูลว่าได้แจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งกลุ่มคดีอาชญากรรมที่มีการแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมากที่สุดคือกลุ่มความผิดประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ นั้น ประชาชนแทบไม่ให้ความสนใจแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ [1]

ส่วนข้อมูลในระดับสากล จากรายงานของ International Crime Victimization Survey (ICVS) [2] ได้ระบุสถิติข้อมูลทั้งจากประเทศที่ ICVS ดำเนินการสำรวจเองและจาก European Survey of Crime And Safety (EU ICS) ประกอบกัน ระบุว่า ในภาพรวมอาชญากรรมความรุนแรงต่อร่างกายรวมถึงการข่มขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย เพียง 1 ใน 3 ที่มีการแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ และสำหรับอาชญากรรมที่เกี่ยวกับเพศอัตราการแจ้งเหตุยิ่งน้อยลง

วาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยังยืน (The 2030 Agenda for Sustainable Development: SDGs) ซึ่งที่ประชุมสหประชาชาติลงมติร่วมกันให้เป็นเป้าหมายการพัฒนาร่วมกันของทุกประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับอัตราการรายงานเหตุอาชญากรรมเช่นกัน โดยมองว่าการที่ประชาชนรายงานการประสบความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ หรือหน่วยงาน หรือกลไกจัดการความรุนแรงที่มีการรับรองทางการ เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สะท้อนความเชื่อมั่นและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมสังคมสงบสุขอันจำเป็นสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกด้าน ทั้งยังเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ช่วยเสริมความสมบูรณ์ของสถิติอาชญากรรมจากภาครัฐ สามารถใช้ในการกำหนดนโยบายป้องกันอาชญากรรมได้

เป้าประสงค์ที่ 16.3 การส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติ และระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึง ความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมแก่ทุกคน

ตัวชี้วัดที่ 16.3.1 ร้อยละของเหยื่อความรุนแรงใน 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้ถูกรายงานการกระทำอันรุนแรงนั้นต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ หรือหน่วยงาน/กลไกการจัดการความรุนแรงที่เป็นมีการรับรองทางการ

 

ตัวชี้วัด 16.3.1 เป็นการเก็บข้อมูลสัดส่วนการแจ้งอาชญากรรมความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ วิธีคำนวณคือ

โดยเป้าประสงค์นี้กำหนดให้ใช้ข้อมูลจากการสำรวจอาชญากรรมภาคประชาชน โดยมีแนวทางการเก็บข้อมูลและข้อเสนอแนะต่างๆ ปรากฎตาม Manual on victimization survey 2009 [3]

จะเห็นว่า ข้อมูลอัตราส่วนของผู้แจ้งเหตุอาชญากรรมนั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมแต่การได้มาซึ่งข้อมูลนั้นต้องอาศัยการสำรวจอาชญากรรมภาคประชาชน ซึ่งเป็นการสำรวจที่ต้องมีกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ ใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก จากการทดลองสำรวจของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยในปี 2561 [4]  ซึ่งสำรวจกลุ่มตัวอย่างถึง 8000 คน พบเหยื่ออาชญากรรมเพียงแค่ 336 คน และมีผู้ที่แจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ก็ยิ่งน้อย การคำนวนอัตราส่วนจึงอาจเกิดความคลาดเคลื่อนสูง ทั้งหากได้ตัวเลขก็จะเป็นเพียงค่าเฉลี่ยของประเทศ ไม่สามารถคำนวนออกมาในระดับพื้นที่ได้ สถาบันฯ จึงเสนอแนวคิดการคำนวนอัตราส่วนการรายงานเหตุอาชญากรรมต่อเจ้าหน้าที่เพื่อหาจำนวนอาชญากรรมจริง โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลสถิติอาชญากรรมที่มีการบันทึกไว้แล้วในแต่ละพื้นที่ เพื่อมองกลับว่าจากจำนวนอาชญากรรมที่อยู่ในระบบนี้ แท้จริงแล้วอาจจะมีอาชญากรรมจริงที่ไม่ได้มีการบันทึกอีกเท่าไร เพื่อกำหนดนโยบายป้องกันและปราบปรามได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น  

 

แนวทางการศึกษา

การคำนวนอัตราส่วนการรายงานเหตุอาชญากรรมต่อเจ้าหน้าที่เพื่อหาจำนวนอาชญากรรมจริง แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ (1) การคาดคะเนจำนวนอาชญากรรมที่รายงานต่อเจ้าหน้าที่ และ (2) การประมาณการตัวเลขอาชญากรรมจริงโดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้หน่วยงานสามารถมีตัวเลขโดยประมาณของอาชญากรรมที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับการวางแผนภารกิจจัดการกับอาชญากรรมได้

(1) การคาดคะเนจำนวนอาชญากรรมที่รายงานต่อเจ้าหน้าที่ อาศัยข้อมูลจากโครงการตรวจสอบเครื่องมือการสำรวจตามตัวชี้วัดเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน [5]  ในพื้นที่เทศบาลเมืองหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จากกลุ่มตัวอย่าง 410 ครัวเรือน ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ในรอบ 12 เดือน (1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2561) ที่ผ่านมา มีผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมรุนแรงทางร่างกายและเพศ ทั้งหมด 29 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 และในจำนวนนี้ มีผู้ที่รายงานเหตุต่อเจ้าหน้าที่จำนวน 10 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 34.5

ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวของจังหวัดชลบุรี นักวิจัยได้เสนอโมเดลการประมาณค่า (estimation) เพื่อคาดคะเนหาจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมที่จะมาแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ในอนาคต โดยประยุกต์ใช้วิธีการประมาณค่าแบบการวิเคราะห์แนวโน้มจากข้อมูลในอดีต (Trend analysis) ร่วมกับเทคนิควิเคราะห์ทางด้านคณิตศาสตร์ ด้วยแบบจำลองการประมาณค่าประเภท Logistic growth model ซึ่งแบบจำลองนี้มีข้อได้เปรียบแบบจำลองการประมาณค่าอื่นๆ ในส่วนที่มีการกำหนดค่าขีดความสามารถสูงสุด (Carrying capacity) เพื่อเป็นค่าเพดาน (Ceiling) ที่ทำให้ค่าประมาณการที่ได้จากแบบจำลองไม่เกินค่า Carrying capacity ที่ได้กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ค่า Carrying capacity นี้ สามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้ตามกรอบแนวคิดของการวิเคราะห์ โดยการทดลองครั้งนี้ ได้กำหนดไว้ที่ร้อยละ 7 ของจำนวนครัวเรือน ตามผลการสำรวจที่กล่าวไปข้างต้น และจะใช้ข้อมูลสถิติการรับแจ้งเหตุคดีอาชญากรรมทางกายภาพ ทรัพย์ และเพศ ตามการรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาช่วย
จะทำให้ได้แบบจำลองการประมาณค่าประเภท Logistic growth model ในรูปแบบดังนี้

กำหนดให้    
P (t)   =    จำนวนการรายงานเหตุการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ในปีที่ t

K      =    จำนวนการรายงานเหตุการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมที่สูงที่สุด (Carrying capacity)
กำหนดไว้ที่ร้อยละ 7 ของจำนวนครัวเรือนจังหวัดชลบุรี ในปีล่าสุด

A       =    ค่าพารามิเตอร์ ที่มีค่าเท่ากับ (K - P0)/ P0

โดยที่ P0 = จำนวนการรายงานเหตุการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมจากข้อมูลสถิติการรับแจ้งเหตุคดีอาชญากรรมทางกายภาพ ทรัพย์ และเพศ ตามการรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ในปีเริ่มต้นของการวิเคราะห์

e       =    อัตราการเปลี่ยนแปลงแบบ exponential ในช่วงเวลาที่ทำการวิเคราะห์

k       =    ค่าพารามิเตอร์ ที่มีค่าเท่ากับ (ln Pend – ln P0)/ ช่วงเวลาที่ทำการวิเคราะห์)

โดยที่ Pend = จำนวนการรายงานเหตุการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมจากข้อมูลสถิติการรับแจ้งเหตุคดีอาชญากรรมทางกายภาพ ทรัพย์ และเพศ ตามการรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ในปีล่าสุด

t        =    ปีที่ t

อย่างไรก็ตาม การทดลองสร้างโมเดลคาดคะเนจำนวนอาชญากรรมที่รายงานต่อเจ้าหน้าที่ เป็นเพียงข้อเสนอทางทฤษฎีซึ่งยังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประยุกต์ใช้สมการดังกล่าวในพื้นที่อื่นๆ อาจจะต้องคำนึงถึงความรุนแรงหรือความชุกของการเกิดเหตุอาชญากรรมของแต่ละพื้นที่เพื่อกำหนดค่า Carrying capacity ด้วย เช่น ในจังหวัดที่มีความรุนแรงหรือความชุกของการเกิดเหตุอาชญากรรมที่สูงจำนวนร้อยละของการพบเหตุอาชญากรรม อาจจะมากกว่าร้อยละ 7 จึงต้องปรับค่า Carrying capacity ในสมการ เพื่อให้ได้ผลการวิเคราะห์ที่เป็นไปได้มากที่สุด

การตรวจสอบว่าค่าประมาณการที่ได้จากแบบจำลองดังกล่าวมีความเที่ยงตรง (Validity) เมื่อเทียบกับค่าจริงหรือไม่นั้น สามารถที่จะตรวจสอบได้โดยการเปรียบเทียบค่าประมาณจากแบบจำลองกับค่าสถิติจริงที่ได้จากการเก็บรวบรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปีเดียวกัน ถ้าทั้งสองค่าดังกล่าวมีความห่างกันไม่เกิน ± ร้อยละ 5 (error value ≤ 5%) ให้ถือว่ามีความน่าเชื่อถืออยู่ที่ร้อยละ 95 แต่ถ้ามีความห่างกันไม่เกิน ± ร้อยละ 10 (error value ≤ 10%) ให้ถือว่ามีความน่าเชื่อถืออยู่ที่ร้อยละ 90

(2) การประมาณการตัวเลขอาชญากรรมจริงโดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจที่ผ่านมา  ในส่วนนี้อาศัยข้อมูลจากโครงสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ ปี 2560 [6] ซึ่งเป็นโครงการสำรวจการประสบอาชญากรรมที่มีกลุ่มตัวอย่างใหญ่ที่สุดของสถาบันฯ ดำเนินการเก็บข้อมูลใน 10 จังหวัดในประเทศไทย ผลการสำรวจพบว่า จากกลุ่มตัวอย่าง 8,179 ครัวเรือน มีผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางร่างกายและเพศ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา จำนวน 336 คน คิดเป็นร้อยละ 4.11 หรือคิดเป็น 4,108 คน ต่อประชากรแสนคน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ด้วยอัตรานี้ หากนำจำนวนประชากรปี 2560 ของทั้ง 10 จังหวัด ซึ่งมีจำนวนรวม 16,370,533 คน [7] มาประมาณการจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมที่แท้จริง โดยใช้ข้อมูลร้อยละการประสบเหตุจากงานวิจัยข้างต้น จะได้จำนวนผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางร่างกายและเพศ ในรอบ 12 เดือน ประมาณ  672,514.87 คน อย่างไรก็ดี เนื่องจากระเบียบวิธีวิจัยของโครงการได้กำหนดวิธีการสุ่มตัวอย่างผู้ตอบให้เป็นตัวแทนของประชากรทั้งประเทศ ในทางทฤษฎีอัตราอาชญากรรมจึงสามารถสะท้อนภาพรวมของประเทศ ในระดับความเชื่อมั่น 80%  จึงมีความเป็นไปได้ว่าในปีที่ทำการสำรวจ อาจมีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่า 2 ล้านครั้ง ตามรายละเอียดดังนี้    

แม้ว่า ตัวเลขนี้จะดูว่าค่อนข้างสูง แต่เมื่อแยกพิจารณาแต่ละประเภทถือเป็นอัตราอาชญากรรมที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับตัวเลขในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การนำตัวเลขนี้มาใช้ประโยชน์จำเป็นต้องสามารถเปรียบเทียบกับอาชญากรรมที่บันทึกได้ในสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีการกำหนดนิยามแตกต่างกัน เนื่องจากโครงการสำรวจของสถาบันฯ จัดกลุ่มอาชญากรรมโดยอ้างอิง Manual on Victimization Survey [8] และ มาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการจำแนกประเภทอาชญากรรมเพื่อประโยชน์ทางสถิติ (ICCS) [9] ซึ่งเป็นมาตรฐาน
ที่สหประชาชาติกำหนดขึ้นและเผยแพร่ให้ประเทศสมาชิกนำไปปรับใช้ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2015 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อกำหนดนิยามสถิติที่เกี่ยวข้องกับการติดตามและรายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น เพื่อความเที่ยงตรงในการเปรียบเทียบ จึงจะพิจารณาเฉพาะ 2 ประเภทฐานความผิดที่มีความใกล้เคียงกัน ได้แก่ ฐานความผิดเกี่ยวกับเกี่ยวร่างกาย [10] และฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ [11] โดยเมื่อนำสถิติการรับแจ้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเปรียบเทียบกับประมาณการผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมในปี 2560 จะพบว่าจำนวนผู้แจ้งเหตุคิดเป็นเพียงร้อยละ 4.44 และ ร้อยละ 2.57 ตามลำดับ

ถ้าสันนิษฐานว่า ในแต่ละปี ร้อยละของผู้แจ้งเหตุอาชญากรรมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจน่าจะมีความใกล้เคียงกัน เราจะสามารถหาค่าประมาณการอาชญากรรมที่น่าจะเกิดขึ้นจริงในปีต่อๆไปได้ โดยใช้ตัวเลขสถิติคดีที่รับแจ้งในปีนั้น และสัดส่วนร้อยละของผู้แจ้งเหตุ เป็นฐานในการคำนวน

ประมาณการจำนวนอาชญากรรมที่น่าจะเกิดขึ้นจริง (หน่วย : ครั้ง)

     

สรุป

การเก็บบันทึกและประมวลผลสถิติอาชญากรรม โดยทั่วไปมีวัตถุประสงค์หลักในการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นเพื่อจัดสรรทรัพยากรและกำหนดแนวทางป้องกันอย่างเหมาะสม ดังนั้น แนวคิดเกี่ยวกับการคำนวนอัตราส่วนการรายงานเหตุอาชญากรรมต่อเจ้าหน้าที่เพื่อหาจำนวนอาชญากรรมจริง จึงมุ่งหาตัวเลขของอาชญากรรมจริงที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัยโมเดลการคำนวนสถิติคดีที่ได้รับแจ้งประกอบกับข้อมูลอัตราการแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ของปี 2560 เป็นปีฐาน เพื่อคำนวนตัวเลขคาดการณ์ 

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ยังมีปัญหาอยู่มากในทางปฏิบัติ เนื่องจากข้อมูลที่ใช้เป็นฐานในการคำนวนนั้นไม่สมบูรณ์ หลายประการ

ประการแรก การจัดประเภทอาชญกรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับประเภทอาชญากรรมในงานสำรวจอาชญากรรมภาคประชาขนมักใช้นิยามไม่ตรงกัน ทำให้การเปรียบเทียบให้แม่นยำทำได้ยาก แต่เนื่องจากสถิติคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นนำเสนอโดยแบ่งแยกลักษณะความผิดในรายละเอียดพอสมควร จึงสามารถเลือกเปรียบเทียบได้บ้างบางส่วน หากมีการออกแบบการจัดกลุ่มอาชญากรรมทั้งในโครงการสำรวจและการรายงานสถิติคดีของตำรวจให้สอดคล้องกันมากขึ้น ก็จะสามารถเปรียบเทียบข้อมูลได้สะดวกและครบถ้วน

ประการที่สอง การไม่มีข้อมูลฐานมากเพียงพอ เนื่องจากแนวคิดนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า อัตราการรายงานเหตุอาชญากรรมต่อเจ้าหน้าที่ในแต่ละปี น่าจะมีความใกล้เคียงกัน  การมีข้อมูลจากการสำรวจหลายๆ ปี เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและพิสูจน์ว่าสมมุติฐานนั้นเป็นความจริง จึงสำคัญมาก ที่ผ่านมาก สำนักงานกิจการยุติธรรมได้ดำเนินการสำรวจอาชญากรรมภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการสำรวจข้อมูลสถิติอาชญากรรมภาคประชาชน ในปี 2555 2559 หรือ 2561 แต่ระเบียบวิธีการสำรวจ การกำหนดนิยาม และการสุ่มตัวอย่าง ของแต่ละโครงการดังกล่าวไม่สอดคล้องกัน ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูล มาใช้งานเปรียบเทียบกันได้ ในส่วนของสถาบัน TIJ ก็มีการสำรวจระดับประเทศแค่เพียงครั้งเดียว ในปี 2560 ซึ่งนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลหลัก แต่ก็มีระดับความเชื่อมั่นเพียงร้อยละ 80 หากมีการเก็บข้อมูลการสำรวจอาชญากรรมภาคประชาชนด้วยระเบียบวิธีการที่คงที่อย่างต่อเนื่องก็จะช่วยให้เห็นภาพที่ชัดเจนสมบูรณ์ และการคาดการณ์จำนวนอาชญากรรมสามารถทำได้แม่นยำและมีประโยขน์ยิ่งขึ้น   

ทั้งนี้ ยังอาจมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อการประมาณค่าที่ต้องนำมาพิจารณาเพิ่มเติม ซึ่งทำให้อัตราการรายงานอาชญากรรมนั้นแตกต่างกัน เช่น อาชญากรรมทางเพศซึ่งมักมีการรายงานเหตุต่อเจ้าหน้าที่ต่ำที่สุดจึงไม่สามารถนำมาคำนวนได้  ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดเพื่อนำแนวคิดนี้ไปใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติได้ต่อไป

 


[1] โครงการสำรวจข้อมูลสถิติอาชญากรรมภาคประชาชน (Crime Victimization Survey) ปี 2561 โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม

[2] Criminal victimization in international perspective: Key Findings from the 2004-2005 ICVS and EU ICS ปี 2007 โดย Van Dijk, Jan, Van Kesteren John, Smit, Paul, Tilburg University, United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) and United Nations Interregional Crime and Justice Research Institute (UNICRI).

[3] Manual on victimization survey ปี 2009 โดย United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)

[4] โครงสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่องความปลอดภัยสาธารณะปี 2561 โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์

[5] โครงการตรวจสอบเครื่องมือสำรวจตามตัวชี้วัดเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวชี้วัดที่ 16.1.3 การตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางร่างกายและเพศ ตัวชี้วัดที่ 16.1.4 ความรู้สึกปลอดภัยจากอาชญากรรม และตัวชี้วัดที่ 16.3.1 การรายงานเหตุการตกเป็นเหยื่อความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

[6] โครงสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่องความปลอดภัยสาธารณะปี 2561 โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์

[7] จำนวนประชากรจากการทะเบียน จำนวนตามกลุ่มอายุ รายจังหวัด และภาค พ.ศ. 2553 – 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ

[8] Manual on victimization survey ปี 2009 โดย United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)

[9] มาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการจำแนกประเภทอาชญากรรมเพื่อประโยชน์ทางสถิติ (International Classification of Crime for Statistical Purposes : ICCS) ฉบับที่ 1.0 มีนาคม 2015 โดย United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)

[10] ฐานความผิดเกี่ยวกับร่างกายในที่นี้ ไม่รวม ฆ่าผู้อื่น ทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตาย และข่มขืนกระทำชำเรา

[11] ฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ในที่นี้ รวมโจรกรรมรถยนต์และจักรยานยนต์ แต่ไม่รวม รับของโจร และวางเพลิง

Back

Most Viewed