แนวโน้มผู้ต้องขังหญิง

ทั่วโลกมีจำนวนผู้ต้องขังทั้งสิ้น 11.5 ล้านคน 1 ใน 3 เป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีที่คาดว่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์ เหตุที่ทำให้พวกเขาต้องมาอยู่ในเรือนจำ 1. ก่ออาชญากรรมเพราะความยากจน 2. การถูกแบ่งแยกหรือเหยียดชนชาติอย่างเป็นระบบ 2. ความนิยมในมาตรการการลงโทษขั้นรุนแรงอย่างนโยบายยาเสพติด การใช้มาตรการจำคุกระหว่างพิจารณาคดี ขาดมาตรการการลงโทษทางเลือก และการลงโทษเกินกว่าเหตุ
นอกจากนี้ จำนวนผู้ต้องขังหญิง ซึ่งแม้จะเป็นส่วนน้อยในเรือนจำ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยหากนับตั้งแต่ปี 2543 ถึงปี 2565 ผู้ต้องขังหญิงมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ในขณะที่ผู้ต้องขังชายมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 22
เส้นทางสู่เรือนจำของผู้ต้องขังหญิง
เรือนจำนั้นเดิมไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้ต้องขังเพศหญิง ทำให้พวกเธอต้องเผชิญกับความยากลำบากในสถานที่คุมขัง และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อจำนวนผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำเพิ่มสูงขึ้น โดยจากรายงานสถานการณ์เรือนจำโลก ปี 2024 พบว่า ทั่วโลกมีผู้ต้องขังหญิงถึง 741,000 คน โดยสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเธอต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ได้แก่
-
นโยบายยาเสพติดที่มีการลงโทษรุนแรง
-
อาชญากรรมที่เกิดจากสถานะทางสังคมและความยากจน
-
การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางเพศทั้งทางตรงและทางอ้อม
-
ความเหลื่อมล้ำทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม
-
การพิจารณาคดีที่ไม่สนองตอบต่อเพศภาวะ
การคัดแยกผู้ต้องขังหญิงตามข้อกำหนดกรุงเทพ
จำนวนผู้ต้องขังหญิงที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ยังผลให้เกิดข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือข้อกำหนดกรุงเทพ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่นำมาใช้เพื่อสนองตอบต่อเพศภาวะของผู้ต้องขังหญิง โดยได้รับการประกาศให้เป็นข้อกำหนดสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553
ภายใต้ข้อกำหนดกรุงเทพทั้งหมด 70 ข้อ มีสาระสำคัญในการบริหารจัดการเรือนจำเพื่อให้สอดคล้องกับเพศภาวะของผู้ต้องขังครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่การรับตัวผู้ต้องขัง การลงทะเบียน และการจัดสรรสถานที่คุมขัง และมีการจำแนกผู้ต้องขังและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเป็นรายบุคคล
ตัวอย่างการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงเมื่อแรกรับตัวเข้าเรือนจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของผู้ต้องขังหญิงที่มีบุตร ซึ่งผู้ต้องขังกลุ่มหญิงนี้จะมีความเครียด วิตกกังวลต่อความเป็นอยู่ของบุตรที่ต้องอยู่ภายนอกเรือนจำ ข้อกำหนดกรุงเทพเสนอแนวทางให้มีกระบวนการตั้งแต่แรกรับว่า ผู้หญิงกลุ่มนี้ควรเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเตรียมทางเลือกในการดูแลบุตร เช่น จัดให้พำนักที่บ้านหรือที่สถานสงเคราะห์ รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวจากการเตรียมการดูแลดังกล่าว รวมทั้งวิธีติดต่อกับบุตรและการเข้าเยี่ยมด้วย
การดูแลสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพ
สำหรับผู้ต้องขังหญิงแล้ว การดูแลสุขอนามัยและสุขภาพย่อมมีความแตกต่างจากผู้ต้องขังชาย ในเมื่อสถานที่คุมขังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ทั้งหมด การมีข้อกำหนดกรุงเทพที่สนองตอบความต้องการด้านสุขอนามัยและสุขภาพจึงมีส่วนเข้ามาช่วยเติมเต็มได้ โดยในข้อกำหนดกรุงเทพได้ระบุหลักการไว้ว่า ต้องจัดให้มีการดูแลสุขภาพตามเพศภาวะ (gender-specific) รวมถึงการดูแลสุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์ และการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน อีกทั้งพิจารณาถึงผู้มีปัญหาสารเสพติดและสุขภาพจิต รวมไปถึงต้องดูแลให้ครอบคลุมถึงเด็กที่พักอาศัยในเรือนจำกับผู้ต้องขังด้วย
ความปลอดภัยและความมั่นคง
ความปลอดภัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน แม้กระทั่งผู้ที่ถูกควบคุมตัวในสถานที่คุมขัง โดยเฉพาะส่วนของผู้ต้องขังหญิง ที่มีความต้องการด้านความปลอดภัยและความมั่นคงต่างจากผู้ต้องขังชาย ข้อกำหนดกรุงเทพจึงได้มีข้อกำหนดตั้งแต่กระบวนการตรวจค้นและระบบการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง การแยกผู้ต้องขังหญิง รวมไปถึงการกำกับดูแลผู้ต้องขังหญิงโดยเจ้าหน้าที่หญิงเท่านั้น
ตัวอย่างของการใช้มาตรการด้านความปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ต้องขังหญิง ในประเทศไทย กรมราชทัณฑ์ได้นำเทคโนโลยีการแสกนร่างกายแบบเต็มตัวมาใช้กับการตรวจค้นผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำกลาง เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เพื่อแทนที่การตรวจค้นที่รุกล้ำเข้าไปในร่างกาย โดยเป็นเครื่องแสกนแบบเต็มตัวคล้ายกับที่นำไปใช้ในสนามบิน
การปฏิบัติและดูแลผู้ต้องขังพิเศษอย่างผู้ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณคดี เด็กผู้หญิงในเรือนจำ ชาวต่างชาติ ชนกลุ่มน้อยและชนพื้นเมือง
ผู้ต้องขังพิเศษอย่างผู้ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณคดี
1 ใน 3 ของผู้ต้องขังทั่วโลกเป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี และเป็นไปได้ว่าพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ในข้อกำหนดกรุงเทพมีข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกลุ่มนี้ ด้วยตระหนักว่าพวกเขามีความเสี่ยงเป็นพิเศษเมื่อถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี เพราะอาจถูกกดดันหรือบีบบังคับให้รับสารภาพความผิดที่ไม่ได้ก่อ หากเป็นผู้หญิงก็มีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำทารุณ โดยเฉพาะจากการล่วงละเมิดทางเพศและการบีบบังคับอันเป็นผลมาจากเพศภาวะ และความเปราะบางอื่นๆ เช่น ขาดการศึกษา ความรู้ด้านกฎหมาย จึงควรมีการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมไว้ในนโยบายและแนวทางการปฏิบัติเพื่อประกันความปลอดภัยให้กับผู้หญิงในช่วงดังกล่าว เช่น ควรทำการตรวจสุขภาพเมื่อบุคคลหนึ่งถูกพิพากษาว่ามีความผิดและส่งต่อไปยังเรือนจำเพื่อตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติอย่างโหดร้ายเกิดขึ้นระหว่างการคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีหรือไม่ และหากพบว่าเกิดเหตุเช่นนั้นจริง ควรดำเนินการที่เหมาะสมเป็นลำดับต่อไป
เด็กผู้หญิงที่กระทำผิด
เด็กและเยาวชนหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นกลุ่มผู้ต้องขังที่มีความเปราะบางสูงกลุ่มหนึ่ง แม้จะมีอยู่จำนวนน้อย แต่ก็มีบางประเทศที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ระบบเรือนจำทั่วโลกขาดแคลนนโยบายและโครงการพื้นฟูหลักๆ ที่ตอบสนองเฉพาะความต้องการของผู้ต้องขังกลุ่มนี้ ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะสูง จากภูมิหลังที่ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน อาจกระทำผิดจากฐานค้าบริการทางเพศ และอาจติดสารเสพติดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต
ข้อกำหนดกรุงเทพกำหนดการดูแลเด็กผู้หญิงที่กระทำผิดไว้ว่า การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กและเยาวชนในเรือนจำ สภาพแวดล้อมในเรือนจำต้องมีความปลอดภัยและสนับสนุนให้ได้พัฒนาได้อย่างสอดคล้องกับอายุและวุฒิภาวะ โดยเสนอแนวทางเช่นเจ้าหน้าที่เรือนจำควรร่วมมือกับหน่วยงานคุ้มครองเด็กในด้านต่างๆ ในการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อกำกับดูแลและปฏิบัติต่อเด็กหญิงที่ถูกควบคุมตัวโดยเฉพาะ และจัดทำแนวทางสำหรับเจ้าหน้าที่ในเรือนจำเพื่อตอบสนองความต้องการของเด็กหญิง เป็นต้น
ผู้ต้องขังชาวต่างประเทศ
ชาวต่างประเทศที่ถูกคุมขัง มักเป็นผู้กระทำความผิดในฐานการเข้าเมืองผิดกฎหมาย อาชญากรรมข้ามชาติ และยาเสพติด พวกเขาอาจมีสถานะเป็นทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ถูกจำคุกหรือไม่ได้อยู่อาศัย แต่เข้ามากระทำความผิด และมีสิทธิที่จะมีความเครียดและวิตกกังวลมากกว่าผู้กระทำผิดที่เป็นคนในประเทศ โดยเฉพาะหากไม่สามารถพูดภาษาที่ใช้กันในเรือนจำได้ มีโอกาสติดต่อครอบครัวน้อย มีวัฒนธรรมแตกต่างจากคนอื่นในเรือนจำ เป็นต้น ดังนั้น ข้อกำหนดกรุงเทพจึงมีบัญญัติไว้ถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกลุ่มนี้ ในด้านการโอนตัวนักโทษเด็ดขาดระหว่างประเทศ ที่ให้มีผลบังคับใช้ในการโอนตัวผู้ต้องขังหญิงชาวต่างชาติกลับไปรับโทษต่อในประเทศของตนเอง หรือหากมีกรณีที่จะต้องนำเด็กติดผู้ต้องขังหญิงชาวต่างชาติออกจากเรือนจำก็ควรพิจารณาส่งตัวเด็กกลับ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กและมีการปรึกษากับมารดาของเด็กด้วย
ผู้ต้องขังที่เป็นชนกลุ่มน้อยและชนพื้นเมือง
เช่นเดียวกับผู้ต้องขังชาวต่างชาติ ผู้ที่เป็นชนกลุ่มน้อยและชนพื้นเมือง มักจะเผชิญกำแพงภาษาและวัฒนธรรมเมื่ออยู่ในเรือนจำ เรือนจำจึงควรตระหนักถึงแนวโน้มที่ผู้ต้องขังกลุ่มนี้จะถูกเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการและโปรแกรมที่สอดคล้องกับเพศภาวะและวัฒนธรรม เช่น เจ้าหน้าที่เรือนจำควรปรึกษากับผู้ต้องขังหญิงกลุ่มนี้ และร่วมกับกลุ่มชนพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อยที่ทำงานกับผู้หญิงเพื่อพัฒนาโครงการที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้หญิงที่เป็นชนกลุ่มน้อยหรือชนพื้นเมือง
การฟื้นฟูเยียวยาในเรือนจำ
จากที่กล่าวมาแล้วว่าผู้ต้องขังหญิง มักเป็นผู้ที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา ประสบสภาวะความรุนแรงในครอบครัวหรือความรุนแรงทางเพศ และมีแนวโน้มติดสารเสพติด เหล่านี้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในโลกภายนอก การฟื้นฟูเยียวยาเมื่อเข้าสู่เรือนจำจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพราะนั่นคือการยื่นโอกาสครั้งใหม่ หรืออาจจะเป็นครั้งแรกในการพัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพ เพื่อสร้างความมั่นคงในการออกไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ต่อไป
ข้อกำหนดกรุงเทพตระหนักถึงความจำเป็นในการสนองตอบความต้องการเฉพาะด้านนี้ และเล็งเห็นว่าการฟื้นฟูเยียวยานั้นจะต้องให้อย่างเท่าเทียมต่อทั้งผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีและผู้ต้องขังเด็ดขาด ผู้ต้องขังจำเป็นต้องได้เข้าร่วมในโปรแกรมฟื้นฟูเยียวยาตามความต้องการเฉพาะส่วนตน และสำหรับผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์หรือมีบุตร ที่อาจจะมีโอกาสน้อยในการเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ควรได้รับสิทธิเช่นกัน
แนวทางที่ข้อกำหนดกรุงเทพเสนอแนะให้นำไปใช้นั้นมีความครอบคลุม โดยกำหนดให้เป็นโปรแกรมที่มีกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิง และคำนึงถึงประวัติความเป็นมาและภูมิหลังของผู้ต้องขังหญิง ทั้งด้านการศึกษา ความต้องการเฉพาะรายของผู้ต้องขัง การฝึกอบรมทางวิชาชีพ การทำงานที่มีความหมายและได้ค่าตอบแทน กิจกรรมสันทนาการและกีฬา รวมทั้งโปรแกรมที่มีประโยชน์กับผู้ต้องขังหญิงเฉพาะเช่น การพัฒนาทักษะการเลี้ยงดูบุตร การสอนเรื่องการดูแลสุขภาพตามเพศภาวะ เป็นต้น
โครงการตัวอย่างด้านการฟื้นฟูเยียวยาเพื่อการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในประเทศไทย มีการตั้งเป้าหมายสนับสนุนการคืนสู่สังคมของผู้ต้องขัง โดยพัฒนาทักษะ 5 ด้าน ได้แก่ การเสริมพลังทางจิตใจ ความรู้ด้านการเงิน การวางแผนอาชีพ การวางแผนธุรกิจ และการดูแลหลังการปล่อยตัว
โครงการพิเศษสำหรับผู้ต้องขังหญิงระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ: ห้องแม่และเด็ก
ส่วนสำคัญของข้อกำหนดกรุงเทพคือการให้แนวทางการสนับสนุนผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ มีการให้นมบุตร และมีบุตรเข้ามาอยู่เรือนจำด้วยโดยเฉพาะ โดยเป็นการคำนึงถึงความด้านสุขภาพและโภชนาการของผู้ต้องขัง และความต้องการทางด้านอารมณ์และพัฒนาการของเด็ก นอกจากนี้ ยังมีแนวทางเพิ่มเติมถึงการดูแลผู้ต้องขังหญิงที่อาจเพิ่งจะคลอดบุตรก่อนเข้าเรือนจำ แต่ไม่ได้นำเด็กเข้ามาในเรือนจำด้วย เพราะจะมีความต้องการด้านสุขภาพเฉพาะและอาจถูกมองข้ามไปได้ หากไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของผู้ต้องขังหญิงกลุ่มนี้มาก่อน ดังนั้นผู้ต้องขังหญิงจึงได้รับการสนับสนุนให้ยินยอมให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติอนามัยเจริญพันธุ์ของตน รวมทั้งการตั้งครรภ์ล่าสุด เพื่อให้เรือนจำสามารถดูแลสุขภาพของผู้ต้องขังกลุ่มนี้ได้
ส่วนเด็กในเรือนจำ ข้อกำหนดกรุงเทพระบุไว้ว่าควรได้รับการดูแลสุขภาพ และพัฒนาการด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้เชี่ยวชาญ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขชุมชน และสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูภายในเรือนจำก็ควรจะใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมของเด็กภายนอกเรือนจำเท่าที่จะทำได้ โดยให้ความสำคัญกับการให้เด็กได้ใช้เวลาอยู่กับมารดาให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในที่พักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ถูกสุขอนามัยและถูกหลักสุขาภิบาล