ลงทุน “หลักนิติธรรม” เพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ
“การลงทุนในหลักนิติธรรมไม่ใช่แค่เรื่องของหลักการประชาธิปไตย แต่คือ ความจำเป็นเชิงกลยุทธ์ทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ” แมรี เบธ กูดแมน รองเลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
รองเลขาธิการ OECD กล่าวในพิธีเปิดการประชุม World Justice Forum ครั้งที่ 8 ที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ว่า สถาบันยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพคือหัวใจของเศรษฐกิจที่ทำงานได้ดี และได้อ้างถึงข้อมูลจาก White Paper ของ OECD ที่จัดทำร่วมกับ World Justice Project ในปี 2019 ว่าหากปัญหาทางกฎหมายไม่ได้รับการแก้ไขจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ 0.5 – 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) นี่คือราคาที่แต่ละประเทศต้องจ่าย หากไม่ลงทุนในระบบยุติธรรม โดยเน้นด้วยว่าจำเป็นต้องแก้ไขระบบยุติธรรมจากเดิมที่เน้นสถาบันเป็นกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People-Centered Justice)
นอกจาก OECD แล้ว ยังมีหน่วยงานมาตรฐานระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับ “หลักนิติธรรม” ว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป (European Union) องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินโลก (International Monetary Fund) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่หลักนิติธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่ง และมีผลกระทบต่อประชาชนตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมมหภาค แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ห้วงเวลานี้คือช่วงที่หลักนิติธรรมทั่วโลกกำลังสั่นคลอนอย่างถึงที่สุด
รายงานดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมโลก ปี 2024 จาก World Justice Project (WJP Rule of Law Index 2024) ซึ่งมีวิธีการวัดหลักนิติธรรมตามตัวชี้วัด 8 ประการ สะท้อนว่ามากกว่าครึ่งของ 142 ประเทศที่มีการสำรวจประสบวิกฤตหลักนิติธรรมถดถอย เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่เจ็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความถดถอยในด้านการจำกัดอำนาจรัฐอย่างเหมาะสมที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญใน 59% ของประเทศที่สำรวจ และจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องมีการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านกฎหมายและสถาบันเพื่อต่อต้านการใช้อำนาจที่เกินขอบเขต
ปรากฏการณ์การลดทอนการจำกัดอำนาจรัฐนี้ สะท้อนคำกล่าวของ มาเรีย เรสซา ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2021 ในพิธีเปิดการประชุมฯ ที่ว่า "กฎหมายจะดีก็ต่อเมื่อผู้บัญญัติกฎหมาย ผู้พิพากษา และนักข่าวต่อสู้กับ 3 สิ่ง คือ การบังคับ การทุจริต และการครอบงำ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับอำนาจและเงินตรา" การใช้อำนาจเกินขอบเขตที่เกิดขึ้นในหลายประเทศจึงเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายรากฐานของหลักนิติธรรมโดยตรง และจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นธรรม และในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสารมวลชน มาเรีย กล่าวสุนทรพจน์ที่ทรงพลังไว้ด้วยว่า "หากปราศจากข้อเท็จจริงก็จะไม่มีความจริง หากไม่มีความจริง ก็จะไม่มีความไว้วางใจ และหากขาดทั้งสองอย่าง เราก็จะไม่มีความเป็นจริงร่วมกัน ไม่มีสื่อมวลชน และไม่มีประชาธิปไตย"
นอกจากนี้ รายงานยังเผยว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งในรูปแบบของการชุมนุม การสมาคม และสิทธิส่วนบุคคล ลดลงในเกือบ 2 ใน 3 ของประเทศที่ทำการสำรวจ ซึ่งถือเป็นการถดถอยครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่มีการสำรวจมา การเข้าถึงความยุติธรรมก็อยู่ในสภาวะถดถอยเช่นกันในหลายประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินคดีความที่ล่าช้า การถูกอิทธิพลภาครัฐแทรกแซง ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และข้อจำกัดด้านแหล่งเงินทุนและบุคลากร อย่างไรก็ดี ในหลายประเทศกลับมีความก้าวหน้าในด้านการต่อต้านการคอร์รัปชัน เมื่อเทียบกับผลสำรวจในปี 2566
ทวนกระแสเพื่ออนาคต เปิด “10 หลักการแห่งวอร์ซอ”
ตัวเลขสถานการณ์หลักนิติธรรมโลกที่น่าตกใจดังกล่าวเป็นแรงขับเคลื่อนให้ในการประชุม World Justice Forum 2025 ที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ มีเป้าหมายสำคัญในการประกาศ ‘หลักการแห่งวอร์ซอว่าด้วยหลักนิติธรรม (Warsaw Principles for the Rule of Law)’ เพื่อเป็นกรอบการทำงานร่วมกันของทุกประเทศเพื่อเสริมหลักนิติธรรมให้แข็งแกร่งในอนาคต
จากเวทีระดมสมองของนักกฎหมาย นักวิชาการ ภาคประชาสังคม นักสิทธิมนุษยชน องค์กรระหว่างประเทศ และสื่อมวลชน รวมกว่า 600 คน จาก 87 ประเทศ “หลักการแห่งวอร์ซอ” ได้รับการประกาศขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2568
หลักการที่ 1 : เสริมสร้างกลไกถ่วงดุลอำนาจระหว่างองค์กรภาครัฐ เพื่อให้มีการแยกอำนาจอย่างชัดเจน มีระบบตรวจสอบที่เหมาะสม และทำให้ผู้มีอำนาจต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน (Strengthen institutional checks and balances to maintain the separation of powers, provide appropriate oversight, and ensure accountability.)
หลักการที่ 2 : ปกป้องกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติและถูกต้องตามกฎหมาย โดยผ่านการเลือกตั้งที่โปร่งใส เสรี และเป็นธรรม หรือขั้นตอนอื่นที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประเทศ (Safeguarding the peaceful and lawful transfer of power through open, free, and fair elections or other constitutionally established procedures, in full accordance with national legal frameworks.)
หลักการที่ 3 : ปกป้องพื้นที่ของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมือง โดยรับรองเสรีภาพของสื่อ การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง (Protect civic space by ensuring media freedom, civil society engagement, and meaningful public participation Protect civic space by ensuring media freedom, civil society engagement, and meaningful public participation.)
หลักการที่ 4 : คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม (Protect human rights and safeguard fundamental freedoms in line with international standards.)
หลักการที่ 5 : ส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริตและความรับผิดชอบเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน (Promote integrity and accountability to eliminate corruption in both the public and private sectors.)
หลักการที่ 6 : ผลักดันกระบวนการยุติธรรมที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยพัฒนาระบบยุติธรรมให้เป็นอิสระ เปิดเผย และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนและชุมชนได้อย่างแท้จริง (Advance people-centered justice by strengthening independent, open, and effective justice systems that meet the needs of individuals and communities.)
หลักการที่ 7: ปกป้องความเป็นอิสระ ความซื่อสัตย์ และความปลอดภัยของทนายความและองค์กรวิชาชีพด้านกฎหมาย เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ถูกคุกคาม กลั่นแกล้ง หรือแทรกแซงโดยไม่เหมาะสม (Safeguard the independence, integrity, and safety of lawyers and legal professional associations, ensuring they can perform their duties free from harassment, retaliation, or improper interference.)
หลักการที่ 8 : พัฒนาหลักนิติธรรมโดยยึดโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Advance the rule of law as a driver of sustainable development, environmental protection, and technological innovation.)
หลักการที่ 9 : ส่งเสริมระบบนิเวศธุรกิจที่มีรากฐานบนหลักนิติธรรม (Promote an enabling business environment grounded in the rule of law.)
หลักการที่ 10 : สนับสนุนความร่วมมือในการเรียนรู้และพัฒนาหลักนิติธรรมร่วมกันในบริบทระหว่างประเทศและภาคส่วนต่าง ๆ (Foster collaboration, partnerships, and collective action to advance the rule of law.)
คะแนนหลักนิติธรรมประเทศไทยในปีนี้เป็นอย่างไร?
ประเทศที่มีความก้าวหน้าในการส่งเสริมหลักนิติธรรมมากที่สุดจากรายงานในปีนี้ ได้แก่ โปแลนด์ (3.2%) เวียดนาม (2.1%) และศรีลังกา (1.6%) ส่วนประเทศไทยเองก็อยู่ในกลุ่มที่มีคะแนนภาพรวมหลักนิติธรรมดีขึ้นที่ 1.5% แม้จะยังคงมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ 0.05 คะแนน โดยเป็นอันดับที่ 78 จาก 142 ประเทศ ด้วยคะแนน 0.50 ส่วนคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกนั้นอยู่ที่ 0.55
ทว่านั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ไว้วางใจได้ว่า ประเทศไทยจะอยู่บนเส้นทางของการพัฒนาหลักนิติธรรมและ “ดีขึ้น” อย่างยั่งยืน ซึ่ง ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้ให้ความเห็นไว้ระหว่างการสัมภาษณ์กับ ณัฐฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว The Standard ระหว่างร่วมประชุมในครั้งนี้ว่า “มันเป็นความรู้สึกเชิงเปรียบเทียบ” เพราะแม้แต่ผู้พิพากษาจากเกาหลีใต้ที่อันดับอยู่ต้น ๆ ก็ยังรู้สึกว่าหลักนิติธรรมในประเทศของเขากำลังถดถอย ดังนั้น ประเด็นสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข แต่อยู่ที่ว่า สังคมไทยเรา ‘ไว’ ต่อตัวเลขนี้แค่ไหน การตระหนักรู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง”
TIJ พร้อมผลักดันหลักการวอร์ซอสู่ “ประเทศไทย”
ที่ผ่านมา TIJ ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูหลักนิติธรรมในประเทศไทย โดยมีหลักการที่ดำเนินการไปแล้วและมีความสอดคล้องกับ The Warsaw Principles ทั้งในด้านการเสริมสร้างการตรวจสอบและถ่วงดุล การปกป้องพื้นที่ของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมือง การส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริตและความรับผิดชอบเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้ง่าย ครอบคลุม อย่างเป็นมิตรและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม
ในโอกาสการจัดประชุมเวทีหลักนิติธรรมระดับโลก หน่วยงานพันธมิตรทั้ง OECD และ WJP ได้เชิญ TIJ เข้าร่วมประชุม โดย ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ พร้อมด้วย ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานกรรมการ และเจ้าหน้าที่ ได้รับเกียรติร่วมนำเสนอความคืบหน้าประเทศไทยในด้านการขับเคลื่อนหลักนิติธรรมระดับชาติ โดยการขับเคลื่อนของคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนหลักนิติธรรม (กขนช.)
ศ.(พิเศษ) กิตติพงษ์ ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญหลังจากเวทีนี้คือการสร้างความเชื่อถือศรัทธาในระบบยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนเชื่อถือ โดยต้องอาศัยองค์ประกอบเช่นความอิสระขององค์กรตุลาการ ความรับผิดชอบตามระบอบประชาธิปไตย การถูกตรวจสอบได้และไม่เลือกปฏิบัติ และประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยง่าย พร้อมทั้งย้ำถึงความร่วมมือทั้งจากนักกฎหมาย ศาล ตำรวจ อัยการ ในการร่วมกันยกระดับหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมเพื่อประชาชน และให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม
ในเวที World Justice Forum ครั้งนี้ TIJ ยังได้รายงานถึงการร่วมมือครั้งแรกกับ OECD ในการนำนวัตกรรมและหลักฐานเชิงประจักษ์มาใช้เป็นรากฐานสู่การฟื้นฟูหลักนิติธรรมในประเทศเป็นแห่งแรกในโลก ด้วยการสนับสนุนการจัดทำรายงาน ผลการศึกษาที่ใช้โมเดลทางเศรษฐศาสตร์ประเมิน ‘ต้นทุนของอาชญากรรม’ ที่ทำให้พบว่าผลกระทบจากอาชญากรรมในปี 2565 สามารถคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 5.6% ของ GDP ของประเทศ
ด้าน ดร.พิเศษ กล่าวถึงรายงานดังกล่าวว่าเป็นการสะท้อนถึงความสำคัญในการนำเครื่องมือ ข้อมูล และนวัตกรรมยุคใหม่เข้ามาใช้ประกอบการสร้างหลักนิติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data and Open Government) ที่จะเป็น “จุดเริ่มต้นที่ดีและเห็นผลเร็ว” ในการจุดกระแสการขับเคลื่อนให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ ต่อต้านการคอร์รัปชัน ก่อนที่จะขยายผลสู่การแก้ไขปัญหาอื่นต่อไป
ในที่ประชุมครั้งนี้ ผู้แทนจาก TIJ ยังได้เข้าร่วมในการปาฐกถาพิเศษ และการประชุมคู่ขนานอื่น ๆ โดยเน้นย้ำถึงการสร้างความน่าเชื่อถือของหน่วยงานตุลาการ การสนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม รวมทั้งเด็กและเยาวชนในการสร้างสังคมที่มีหลักนิติธรรม ด้วยกระบวนการที่ยึดโยงประชาชนเป็นศูนย์กลางด้วย
การประชุมนานาชาติ The World Justice Forum 2025 จัดโดย World Justice Project ในหัวข้อหลัก “การยืนหยัดเพื่อหลักนิติธรรมภายใต้สถานการณ์ที่หลักนิติธรรมอยู่ในสภาวะถดถอยทั่วโลก (Standing Up for the Rule of Law) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 มิถุนายน 2568 ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง The Warsaw Principles for the Rule of Law ได้ที่: https://worldjusticeproject.org/rule-of-law-principles