ปัญหาท้าทายของการคืนสู่สังคมของผู้พ้นโทษ คือทัศนคติที่ดีในการใช้ชีวิต มีคนสนับสนุน มีทักษะอาชีพ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีงานทำ และมีรายได้ที่มั่นคง ปัจจัยเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะชี้ได้ว่าผู้พ้นโทษจะสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ หรือจะต้องกลับสู่วังวนแห่งการกระทำผิดซ้ำและกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง
TIJ ตระหนักถึงความท้าทายนี้ จึงได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ จัดทำโครงการพัฒนาต้นแบบการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย (Pre-Release Model) ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพลิกฟื้นการบริหารจัดการเรือนจำตามแนวทางมาตรฐานระหว่างประเทศ กับเรือนจำกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการคัดเลือก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้พ้นโทษจะได้รับการแก้ไขฟื้นฟูและพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในปัจจุบัน และผู้ประกอบการร่วมสนับสนุนการรองรับผู้ต้องขังหลังพ้นโทษให้มีอาชีพ รายได้ และลดโอกาสในการกระทำผิดซ้ำ
ในปีนี้มีเรือนจำที่ได้รับการคัดเลือกร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 13 แห่ง ได้แก่ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง เรือนจำจังหวัดสระบุรี เรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา เรือนจำชั่วคราวคลองโพธิ์ เรือนจำจังหวัดอ่างทอง เรือนจำกลางราชบุรี เรือนจำอำเภอไชยา เรือนจำกลางกำแพงเพชร ทัณฑสถานหญิงสงขลา ทัณฑสถานหญิงธนบุรี และเรือนจำสุพรรณบุรี
ภายใต้โครงการดังกล่าว TIJ จะให้การสนับสนุนเรือนจำ/ทัณฑสถานที่เข้าร่วมโครงการ โดยจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เรือนจำ สนับสนุนการจำแนกเพื่อการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย จัดวิทยากรเข้าจัดกิจกรรมทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและการฝึกวิชาชีพต่าง ๆ สนับสนุนอุปกรณ์และสื่อในการอบรม ตลอดจนประสานเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้พ้นโทษในด้านการจ้างงาน ที่อยู่อาศัย เงินทุนตั้งต้น การศึกษา เป็นต้น
ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษา TIJ กล่าวในพิธีเปิดโครงการฯ ร่วมกับการสัมมนาสำหรับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ในหัวข้อ “เทคนิคการบริหารจัดการเรือนจำและการดูแลผู้ต้องขัง” ว่า โครงการนี้เป็นโครงการส่วนหนึ่งของข้อกำหนดกรุงเทพ เกี่ยวข้องกับการดูแลสิทธิผู้ต้องขังในเชิงลึก โดยมุ่งการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยผู้พ้นโทษคืนสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดตามมาตรฐานสากล รวมทั้งพรบ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 64 เรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย
“งานราชทัณฑ์งานหลักคือควบคุมดูแลและป้องกัน การจะไปสู่การแก้ไขบำบัดฟื้นฟูได้ พื้นฐานการควบคุมต้องดีก่อน หากเรือนจำไหนจะก้าวสู่ระดับสูงขึ้น คือการแก้ไข จะมีความยากขึ้นไปอีก...กระบวนการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังมีอยู่ 4 ขั้นตอน คือ จำแนก อบรมแก้ไข เตรียมปล่อย และการดูแลหลังปล่อยตัว สำหรับหลักสูตรอบรมครั้งนี้ จะเน้นที่การแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังในเชิงลึก เพื่อให้การกลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”
ด้าน ดร.ชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์เป็นเกียรติและยินดีที่ได้ร่วมมือกับ TIJ วันนี้เรือนจำ 13 แห่ง แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่จะก้าวไปสู่การพัฒนากระบวนการดูแลผู้ต้องขัง เป็นการ Training the Trainers สู่การเป็นเรือนจำต้นแบบ คนต้นแบบ โดยหวังว่าหลักสูตรนี้จะช่วยเสริมศักยภาพผู้ร่วมรับการอบรม และนำไปสู่การขับเคลื่อนและผลักดันการพัฒนาเรือนจำ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยได้ตามมาตรฐานสากลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
การสัมมนาสำหรับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยในหัวข้อ “เทคนิคการบริหารจัดการเรือนจำและการดูแลผู้ต้องขัง” ครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 พฤษภาคม 2568 ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ และโรงแรมโกลเด้นซิตี้ จังหวัดระยอง โดยระหว่างการสัมมนาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะได้รับฟังการบรรยายในหัวข้อการเสริมพลังและภาวะการเป็น แนวปฏิบัติที่ดีในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขัง เป็นต้น และการศึกษาดูงาน “การบริหารจัดการเรือนจำด้านการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ตามแนวปฏิบัติที่ปีในปี 2567” ที่เรือนจำกลางระยอง จากนั้นระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2568 TIJ และเครือข่ายจะมีการลงพื้นที่เพื่อสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานของเรือนจำกลุ่มเป้าหมายต่อไป