ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ ร่วมการประชุมคู่ขนาน Rehabilitation and Social Reintegration of Women Prisoners and Offenders และเปิดตัวรายงานการวิจัย

 

“เส้นทางสู่เรือนจำของผู้ต้องขังหญิงมีปัจจัยที่เชื่อมโยงกัน อย่างการมีประสบการณ์ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางกายและใจ ความยากจน และมีภาระดูแลครอบครัว เราจึงจำเป็นต้องมีการดูแลผู้ต้องขังที่สนองตอบความต้องการตามเพศภาวะและประสบการณ์ความรุนแรง เพื่อสนับสนุนการคืนสู่สังคมอย่างปกติสุข”

 

ดร.ซาแมนธา เจฟฟรี่ส์ มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ในโอกาสบรรยายพิเศษ การประชุมคู่ขนาน (Ancillary Meeting) หัวข้อ Rehabilitation and Social Reintegration of Women Prisoners and Offenders วันที่ 8 มีนาคม 2564 ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 (The 14th United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice) ซึ่งจัดขึ้นที่นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

 

 

การประชุมคู่ขนาน (Ancillary Meeting) หัวข้อ Rehabilitation and Social Reintegration of Women Prisoners and Offenders มีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจความต้องการในการฟื้นฟูและการกลับคืนสู่สังคมของผู้ต้องขังหญิง เปิดพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมกันอภิปรายประสบการณ์การทำงานในแวดวงที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีและความท้าทายที่เกี่ยวกับการเยียวยาฟื้นฟูผู้ต้องขังหญิงจากทั่วโลก ภายใต้กรอบของข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ ข้อกำหนดกรุงเทพ

 

เริ่มจาก ดร.ซาแมนธา เจฟฟรี่ย์ จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ซึ่งกล่าวถึงภาพรวมของความต้องการในการฟื้นฟูและการคืนสู่สังคมของผู้ต้องขังหญิง อ้างอิงจากรายงานการวิจัยที่มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)  จัดทำขึ้นในชื่อ “Women's Pathways Into, Through and Out of Prison” เพื่อทำความเข้าใจว่าเหตุใดผู้หญิงไทยจึงถูกคุมขัง โดยศึกษาตั้งแต่รากของปัญหาก่อนที่จะถูกคุมขัง ปัญหาที่ต้องเผชิญระหว่างการคุมขัง และภายหลังได้รับการปล่อยตัวแล้ว

 

โดยสรุป ดร.ซาแมนธา ระบุว่า ภูมิหลังของผู้ต้องขังหญิงในไทยมีประวัติตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวอยู่ในสภาพเลวร้าย มีปัญหาทางสุขภาพจิตหรือติดยาเสพติด ถูกผู้ชายควบคุมข่มเหง ไม่ได้รับการศึกษาหรือมีการศึกษาระดับต่ำ ฐานะยากจน และมีภาระดูแลครอบครัว

 

การฟื้นฟูเยียวยาผู้ต้องขังหญิงระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ ควรจะมีโครงการที่สนองตอบความต้องการตามเพศภาวะ และประสบการณ์ของผู้ต้องขัง เรือนจำหรือสถานคุมขังต้องมีสภาพแวดล้อมที่ดี โดยโครงการที่ควรจะนำมาใช้รวมไปถึงการบำบัดยาเสพติด การบำบัดจิตใจ การให้ทักษะอาชีพและการใช้ชีวิต รวมทั้งเตรียมความพร้อมแก่ชุมชนเพื่อการกลับคืนสู่สังคม

 

เมื่อได้รับการปล่อยตัว ผู้ต้องขังหญิงควรจะมีที่อยู่อาศัยที่ให้ความอบอุ่นทางใจ มีเพื่อนร่วมชีวิต เช่น ครอบครัว เพื่อน หรือคู่ชีวิต และสังเกตได้ว่าผู้ที่มีภาระต้องดูแลบุตรจะประสบความสำเร็จในการคืนสู่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเป็นผู้หาเลี้ยงดูแลบุตร ทว่าก็พบความท้าทายสำคัญ คือหากไม่สามารถหางานทำได้ หรือกลับไปสู่สังคมสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ก่อนจะกระทำความผิด ถูกสังคมตีตรา ก็จะทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ

 

จากรายงานวิจัยพบด้วยว่า ผู้ต้องขังหญิงหลายรายไม่ได้มองว่าการคืนสู่สังคมเป็นความสำเร็จ หลายคนมีเป้าหมาย มีแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงตนเอง มีความต้องการที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างสัมพันธ์กับครอบครัวขึ้นใหม่ เพิ่มความรู้สึกยอมรับในตนเอง หายป่วยหรือสามารถเลิกยาเสพติดได้ มีที่อยู่อาศัยถาวร ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้ เป็นต้น

 

ดร.ซาแมนธา กล่าวด้วยว่า การฟื้นฟูและคืนสู่สังคมของผู้ต้องขังหญิงจะสำเร็จได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และมีแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างองค์รวม (Holistic Approach)

 

ด้าน ธีโอดอร์ เล็กเก็ตต์ จาก UNODC ซึ่งได้ร่วมทำรายงานวิจัย เรื่อง Research on the Causes of Recidivism in Thailand ร่วมกับ TIJ กล่าวถึงข้อค้นพบจากรายงานว่า สิ่งที่ทำให้ผู้ต้องขังต้องเข้าสู่เรือนจำนั้นส่วนใหญ่มีเหตุผลเดียวกันในแต่ละประเทศ แต่แตกต่างกันเมื่อเทียบระหว่างประเทศ กล่าวคืออย่างในประเทศอัลเบเนีย ความยากจนเป็นเหตุปัจจัยสำคัญ ส่วนในสาธารณรัฐเช็ก เป็นเรื่องของหนี้ ขณะที่ประเทศไทย คือนโยบายยาเสพติด

 

อีกทั้งตั้งข้อสังเกตได้ว่า ในประเทศไทย แม้จะเป็นประเทศที่ค่อนข้างปลอดภัยในมิติของการก่ออาชญากรรม ทว่าจำนวนของผู้ต้องขังกลับอยู่ในระดับสูง โดยจำนวนผู้ต้องขังยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด โดยผู้ต้องขังในไทยร้อยละ 80 เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด และร้อยละ 78 เป็นผู้ต้องขังที่เกี่ยวกับยาบ้า อีกร้อยละ 10 เป็นยาไอซ์ ทั้งยังพบด้วยว่าผู้ต้องขังร้อยละ 76 กระทำผิดในข้อหาครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย

 

ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ต้องขังหญิงกระทำผิดซ้ำ คือ การกลับไปสู่วังวนเดิมหรือสิ่งแวดล้อมทางสังคมเดิม การถูกแยกจากครอบครัวหรือสังคม ไม่มีงานรองรับ หรือไม่ได้รับเข้าทำงาน การค้ายาเสพติดทำรายได้ได้มากกว่าสำหรับผู้ที่ขาดทักษะ ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด และความผิดปกติทางจิต ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ ผู้หญิงไทยจะกลับเข้าสู่เรือนจำจากเหตุที่เกี่ยวกับการกลับไปสู่สิ่งแวดล้อมเดิมมากกว่าเหตุอื่นๆ รองลงมาคือไม่มีงานทำ และมีปัญหาทางด้านจิตใจ รายงานวิจัยยังพบด้วยว่า ผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่ยอมรับว่า พวกเธอกระทำผิดและสมควรได้รับโทษแล้ว โดยไม่อ้างว่าระบบหรือสังคมผิด

 

ในทางหนึ่ง ผู้ต้องขังจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในการคืนสู่สังคม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวดดังที่ ซาแมนธ่าได้กล่าวไว้ โดยทำการประเมินผู้ต้องขังตั้งแต่ก่อนเข้าสู่เรือนจำ ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ และก่อนปล่อยตัวเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข โดยไม่กลับไปอยู่ในวังวนสิ่งแวดล้อมเดิมๆ อีก

 

อีกด้านหนึ่งคือ รัฐบาลไทยควรทบทวนมาตรการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องนี้กับยาเสพติดใหม่ ให้สอดคล้องกับหลักฐานเชิงประจักษ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของระดับหรือจำนวนของยาเสพติดที่ผู้กระทำผิดครอบครองก่อนจะตัดสินว่าผู้กระทำผิดเป็นผู้ขายหรือผู้เสพยาเสพติด เมื่อกฎหมายยาเสพติดที่บัญญัติขึ้นเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ไม่สามารถสนองตอบต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ยาบ้าหรือเมตาแอมเฟตามีนมีราคาถูกลงอย่างมาก โดยมีราคาเพียง 10 บาท ทำให้ผู้ซื้อยาเสพติดเพื่อการเสพส่วนตัว ซื้อยาบ้าในจำนวนมากขึ้นในแต่ละครั้งเพื่อเลี่ยงการติดต่อกับผู้ขาย แต่กลับถูกเข้าใจว่าเป็นผู้ขายและถูกตัดสินโทษจำคุกในที่สุด

 

ในการประชุมคู่ขนานครั้งนี้ ยังมีผู้ร่วมบรรยายที่ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากหลายประเทศด้วย ได้แก่ นายจูลิโอ ซีซาร์ เซเปดา อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโส กรมราชทัณฑ์กลาง จากประเทศอาร์เจนตินา นายทาเคชิ โมริคาว่า ผู้แทนจากสถาบันเอเชียและตะวันออกไกลว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Asia and Far East Institute for the Prevention of Crime and the Treatment of Offenders – UNAFEI) และ นางสาว ทสิรา จันทาเรีย ผู้อำนวยการภาคพื้นคอเคซัสใต้ ขององค์การปฏิรูปการลงโทษสากล (Penal Reform International – PRI) โดยมี นางสาวชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดของ TIJ เป็นผู้ดำเนินรายการ


A full research report is available at:

Women's Pathways Into, Through and Out of Prison

https://knowledge.tijthailand.org/en/publication/detail/women-s-pathways-into-through-and-out-of-prison#book/

Research on the Causes of Recidivism in Thailand

https://knowledge.tijthailand.org/en/publication/detail/research-on-the-causes-of-recidivism-in-thailand#book/

#TIJ #CrimeCongress #UNODC

 

 

 

 
Back