ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

ประเทศไทยเริ่มแคมเปญ “กีฬา” ฟื้นฟูเยียวยาเยาวชนผู้กระทำผิด

 

เมื่อยังเป็นเด็ก หลายคนคงได้ผ่านการฝึกกีฬาตามที่บรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนทุกระดับมาบ้าง และยังคงจดจำได้ดีถึงความเหนื่อยยาก ความลำบากในการฝึกตีลูกวอลเล่ย์บอล ฝึกวิ่ง ฝึกว่ายน้ำ และอีกมากมายเพื่อให้ผ่านหลักสูตร กีฬาหนึ่งที่ไม่ยากไม่ง่ายตอนทื่เรียนก็คือ ปิงปอง โจทก์แรกๆ ของครูฝึกสอนมักจะเป็นการหัดวิธีจับไม้ จะจับแบบจีน แบบไทย หรือจะถนัดท่าที่ต่างออกไปก็แล้วแต่บุคคล และสิ่งหนึ่งที่ต้องสอบให้ผ่านก็คือการเดาะลูกปิงปองอย่างต่อเนื่อง 50 ลูก 100 ลูก ตาก็ต้องจ้อง มือก็ต้องเคลื่อนไหว ใจก็ต้องนิ่ง

มันเป็นเวลาที่สมาธิเข้ามา และความฟุ้งซ่านหายไป

และแน่นอนว่ามันคือหนึ่งในประโยชน์ของกีฬาที่มีต่อจิตใจของผู้เล่นทุกคน

..

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เล็งเห็นความสำคัญของกีฬาที่จะช่วยนำพาให้ผู้ผิดพลั้ง ซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดในจิตใจเพียงชั่วเสี้ยววินาที ให้กลับเข้าสู่สังคมได้อย่างมีความหวังและหนทางที่จะก้าวต่อ จึงได้เสนอข้อมติ “การนำกีฬาไปใช้เพื่อการป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชน” (Integrating Sport into Youth Crime Prevention Strategies) สู่วาระการประชุมคณะกรรมาธิการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ CCPCJ ที่จัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อเดือนเมษายน 2562 และผลปรากฏว่า ที่ประชุมนานาชาติได้ลงฉันทามติสนับสนุนข้อมติดังกล่าว และข้อมตินี้จะได้รับการพิจารณาอีกครั้งบนเวทีการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่จะมีขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น TIJ ได้จัดงานเสวนา “การใช้การกีฬาเพื่อการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาในกลุ่มเยาวชน” เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาร่วมงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนแนวทางการใช้กีฬาเพื่อป้องกันอาชญากรรมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนในประเทศไทย

 

กีฬากับเยาวชน

ป้ามล หรือ คุณทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ผู้คร่ำหวอดในวงการช่วยเหลือฟื้นฟูเยาวชนที่กระทำความผิดทางอาญามานับ 10 ปี กล่าวอยู่เสมอว่า เมื่อประตูโรงเรียนปิด ประตูคุกก็เปิด เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เด็ก ๆ ที่มีเวลาว่างมากเกินไป และไม่อาจหาวิธีการทำให้เวลาว่างนั้นเกิดประโยชน์ได้ จะนำไปสู่เส้นทางที่ผิด และสุดท้าย จบลงที่การกระทำผิดกฎหมายและต้องเดินเข้าสู่รั้วของศูนย์พินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

การเล่นกีฬาถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยจากรายงานการประเมิน “โครงการโอกาสครั้งที่ 2” (the 2nd Chance Project) ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นการใช้กีฬาช่วยฟื้นฟูผู้อยู่ในเรือนจำในสหราชอาณาจักรเผยให้เห็นว่า กีฬาช่วยคลายความเครียด ช่วยในการพัฒนาสังคม และเพิ่มโอกาสในการจ้างงานแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ (Meek, Champion & Killer, 2555)

 

สำหรับงานเสวนาครั้งนี้ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และคณะกรรมการบริหารของ TIJ ให้ความเห็นถึงคุณค่าของกีฬาว่า

“การเล่นกีฬาตามหลักคุณค่าของโอลิมปิกให้ประโยชน์ 3 ข้อ คือ 1 การเคารพ มีการเคารพตนเองและผู้อื่น  เคารพกฎกติกาของสังคม ของการแข่งขัน ไม่ใช้สารต้องห้าม ปฏิบัติตามกติกาอย่างเข้มงวด เคารพผู้ฝึกสอนและเพื่อนในทีม 2 เป็นเลิศ โดยทางโอลิมปิกเชื่อว่ามนุษย์สามารถพัฒนาศักยภาพตนเองได้ สามารถเอาขีดความสามารถของตนเอง และทำทุกอย่างให้ดีขึ้นพัฒนาขึ้นกว่าเดิมได้ และ 3 การให้มิตรภาพต่อผู้อื่น การเล่นกีฬาช่วยสร้างมิตรภาพระหว่างตนเองกับทีม กับผู้ฝึกสอน กับเพื่อนร่วมชาติ และคู่แข่งชาติอื่น ๆ เป็นการได้มิตรภาพจากการแข่งขัน ทำให้คนที่แตกต่างกันรักกันได้ อยู่ร่วมกันได้ด้วยความแตกต่างเหล่านี้”

ขณะที่ ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ รองอธิบดีกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า

“ปัญหาในสังคมทุกวันนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่คนรู้จักสิทธิ แต่ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ กีฬามีกฎกติกา มารยาท เมื่อเด็กเล่นกีฬาก็เป็นการปลูกฝังให้เด็กรู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเองตามกฎกติกานั้น และส่งผลให้รู้จักสิทธิหน้าที่ของตน และรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง เมื่ออยู่ในสังคมทั่วไปในทางหนึ่ง”

กีฬาจึงไม่เพียงแต่ช่วยเสริมทักษะทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้เล่นมีความเข้มแข็งทางจิตใจ มีความอดทนอดกลั้น มีระเบียบวินัย รู้จักคุณค่าตนเอง เคารพตนเองและผู้อื่นควบคู่ไปด้วย

 

ทำไม “กีฬา” ช่วยสร้างโอกาสครั้งที่ 2

“กีฬาช่วยแก้ไขบำบัดพฤติกรรมและจิตใจทีหล่อหลอมมาจากความผิดพลาด”

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวและเสริมด้วยว่า กีฬายังช่วยสร้างอนาคตใหม่ได้ หากเด็กและเยาวชนได้รับการฝึกฝนอย่างมีระบบ และอาจนำไปสู่การประกอบอาชีพได้ต่อไป

 

ตัวอย่างสำคัญที่กีฬาเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมให้ อดีตเยาวชนที่เคยผิดพลาด ต้องรับโทษในศูนย์พินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้โอกาสครั้งใหม่ที่จะก้าวไปสู่อนาคตที่ดีได้ คือ สโมสรกีฬา Bounce Be Good (BBG) จากพระวิสัยทัศน์ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ทรงเล็งเห็นถึงการนำกีฬามาเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิดในประเทศไทย โดยมีกีฬาเป็นสื่อกลางเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการกระทำความผิด

 

นายเอกภพ เดชเกรียงไกรสร ประธานสโมสรกีฬา BBG หรือคุณเอ็กซ์ กล่าวถึง สโมสร BBG ว่า มีจุดเริ่มต้นครั้งแรกในปี 2557 โดยมีการส่งโค้ชเทเบิลเทนนิสมืออาชีพเข้าไปฝึกสอนในสถานพินิจฯ เด็กชาย 1 แห่ง และเด็กหญิง 1 แห่ง หลังจาก 1 ปีผ่านไป พบว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดี สามารถส่งไปฝึกภายนอก และแข่งขันกับคนอื่นได้ ระหว่างนั้นก็ขยายผลไปยังสถานพินิจฯ อื่นๆ รวมทั้งพื้นที่ที่มีเด็กกลุ่มเสี่ยง สถานสงเคราะห์ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี เมื่อเด็กเริ่มพ้นโทษ และเล็งเห็นปัญหาว่าหากเด็กกลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ อาจนำไปสู่การกระทำผิดซ้ำ จึงเกิดเป็นการตั้งสโมสรขึ้น เพื่อให้เป็นบ้านของเด็ก ๆ ที่พ้นโทษแล้ว โดยกระบวนการทำงานของสโมสร BBG คือ จะทำการคัดเยาวชนที่มีศักยภาพทางกีฬา รวมทั้งมีความตั้งใจและมุ่งมั่นเข้าสู่สโมสร เด็กกลุ่มนี้จะได้พัฒนาทักษะทางกีฬา กระทั่งพัฒนาตนเองเป็นนักกีฬาอาชีพได้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต รวมทั้งการเข้ารับการศึกษาด้วย

“เด็กเราต้นทุนต่ำกว่าคนอื่น เล่นยา ดูดบุหรี่ ต้นทุนน้อยกว่าทั้งร่างกายและจิตใจ เด็กอื่น ๆ ที่ฝึกเป็นนักกีฬาอาชีพจะฝึกตั้งแต่อายุยังน้อย แต่เด็กของเราอายุ 15-16 ปี แต่ก็ให้ได้ฝึก และส่งเสริมให้เรียนหนังสือ ในด้านกีฬา บางคนฝึกแล้วพัฒนากระทั่งติดอันดับ 25 ของประเทศ และหลายคนก็เรียนหนังสือเก่ง”

นายเอกภพ กล่าว และย้ำด้วยว่า

“เด็กทุกคนไม่ได้เก่งกีฬา ใน 100 คน ไม่สามารถติดทีมชาติได้ทุกคน แต่อาจจะสามารถนำทักษะกีฬาที่ได้รับการฝึกไปประกอบอาชีพเกี่ยวกับกีฬาได้”

ผลสำเร็จของสโมสร BBG คือการที่เด็กที่เข้าร่วมโครงการฟื้นฟูและพัฒนาตนเองด้วยกีฬาของสโมสร ซึ่งคิดเป็นเฉลี่ยร้อยละ 17 ของเด็กและเยาวชนทั้งประเทศที่พ้นโทษได้ประมาณ 1 ปี มีอัตราการกระทำผิดซ้ำน้อยกว่าร้อยละ 1 

 

กีฬา ไม่ใช่ยาวิเศษ

ถึงกีฬาจะมีประโยชน์หลากหลาย และมีส่วนสำคัญที่จะนำมาใช้ป้องกัน ช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยา ผู้กระทำผิดได้ แต่กีฬา ก็ไม่ใช่ยาวิเศษ การใช้กีฬาในการป้องกันการก่ออาชญากรรมในกลุ่มเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชนที่หลงผิดไปแล้ว เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการเสริมทักษะในการใช้ชีวิตเสมอ โดยสิ่งสำคัญอยู่ที่ “ทัศนคติ” ของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม

 

“จุดที่ยากที่สุดที่จะเปลี่ยนเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดไปแล้ว คือการเปลี่ยนความคิดเก่า ๆ เกี่ยวกับความผิดที่พลาดไปแล้วของพวกเขา”

ศ.(พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวซึ่งสอดคล้องกับที่ นายเอกภพ พูดถึงเด็กในสโมสร BBG ว่า

“เราบอกเด็กและนักกีฬาของเราตลอดเวลา ว่าสังคมได้ให้อะไรพวกเขาบ้าง แต่หากพูดถึงเรื่องการยอมรับทางสังคม เหมือนไก่กับไข่ สังคมต้องยอมรับเค้าก่อน หรือเค้าต้องดีก่อน สังคมถึงจะยอมรับ สโมสร BBG จะสอนให้เด็กและเยาวชนคิดแยก สังคมจะมองอย่างไรไม่สำคัญ ตัวคุณเองต้องดีได้ด้วยตัวเอง จึงเป็นที่มาของสโลแกนของสโมสร Victory is yours คือ ชัยชนะใด ไม่ยิ่งใหญ่เท่าชนะใจตนเอง”

นอกจากเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด จะต้องมีแรงใจและแรงกายที่มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของตนเองแล้ว สังคมก็ต้องมีส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้พวกเขามีความกล้าที่จะเปลี่ยนด้วย

 

ปัจจุบันสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 18 แห่ง มีศูนย์ฝึกกีฬา โดยมีกีฬา 4 ประเภท คือ ปิงปอง แบดมินตัน ฟุตซอล และฟุตบอล และกรมพลศึกษาได้ร่วมมือกับกรมพินิจฯ ในการส่งเจ้าหน้าที่ผู้ฝึกสอนเข้าไปช่วยฝึกสอน เพื่อให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และได้ฝึกทักษะทางกีฬา และกรมพลศึกษายังได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ในการส่งเสริมการเล่นกีฬาในกลุ่มด้อยโอกาสภายในเรือนจำและทัณฑสถานอื่น ๆ การดำเนินงานดังนี้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้กีฬาเพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและพัฒนาประเทศ

 

ในกาลข้างหน้า การส่งเสริมให้ใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชนจะมีความเข้มข้นยิ่งขึ้น

 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

“การเสวนาในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกของความร่วมมือของทุกภาคส่วน แต่นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญยิ่งต่อการผลักดันให้การใช้กีฬาเพื่อการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาในกลุ่มเยาวชนดำเนินไปอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของประชาคมโลก”

ขณะที่ ศ. (พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ เห็นว่า การจุดประเด็นนี้ขึ้นในประเทศจะช่วยกระตุ้นให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งคนในแวดวงกีฬามีโอกาสที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ของประเทศและมาตรฐานสากล ภายใต้การทำงานที่เป็นระบบ

 

ความคืบหน้าสำคัญที่เกิดขึ้น ภายหลังจากที่ TIJ ได้นำเสนอมติการใช้กีฬาเพื่อป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชน คือที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนได้มีมติเห็นชอบร่วมกันให้บรรจุการส่งเสริมการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชนในแผนกีฬาอาเซียน โดยเป็นแผนระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2563 – 2568 และ TIJ จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC ในการจัดประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคมนี้ ว่าด้วยเรื่องการใช้กีฬาในการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในกลุ่มเยาวชน โดยเป็นการประชุมเพื่อวิเคราะห์และรวบรวมมาตรการและแนวปฏิบัติจากนานาชาติในการนำกีฬามาใช้เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรม ตลอดจนเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐในการนำไปบรรจุเป็นนโยบายระดับประเทศและระดับสากลต่อไป

“การส่งเสริมให้กีฬาช่วยป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชนจะประสบความสำเร็จและยั่งยืนได้ จำเป็นต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ ทั้งการที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้การยอมรับมติ การที่มีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชชาสังคมร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุน รวมทั้งการมีแนวปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติ ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอได้ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 ที่เกียวโต ในเดือนเมษายนปีหน้า และที่สำคัญที่สุด คือ การทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในประเทศไทย โดยส่งเสริมให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของกีฬา”

 

ศ. (พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กล่าว และทิ้งท้ายไว้ว่า

“เพื่อให้เด็กกลุ่มเสี่ยงได้รับการป้องกัน และเด็กที่ผิดไปแล้วได้รับการฟื้นฟู”

 

 

Back

Most Viewed