กว่า 10 ปีที่ข้อกำหนดแมนเดลาได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ แต่ทั่วโลกก็ยังคงเผชิญกับปัญหาท้าทายในการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้โทษเกินขอบเขต ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และคุณภาพชีวิตอันเลวร้ายของผู้ต้องขัง ที่สำคัญ วันนี้ทั่วโลกมีผู้ต้องขังกว่า 11.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ พบว่าจำนวนของผู้ต้องขังหญิงเพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อ 20 ปีก่อนถึง 57%
“ระบบยุติธรรมส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการเฉพาะของผู้หญิง ระบบนี้ไม่ปลอดภัยและไร้ซึ่งมนุษยธรรม” กาดา วาลี ผู้อำนวยการ UNODC กล่าว ในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ข้อกำหนดแมนเดลา และ 15 ปีข้อกำหนดกรุงเทพ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2568
“เราต้องการวิสัยทัศน์ที่เข้มแข็ง ที่สามารถทลายความแข็งกร้าวของระบบราชทัณฑ์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้คนและศักยภาพของพวกเขา” วาลี กล่าว พร้อมย้ำด้วยว่า การปฏิรูปเรือนจำและการลงโทษ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในปี 2026–2030 ของ UNODC
ในที่ประชุม ยังได้มีการเรียกร้องให้สมาชิกประเทศร่วมกันปกป้องคุ้มครองสังคมของเราด้วยการส่งเสริมการฟื้นฟูผู้ต้องขังและสนับสนุนการคืนสู่สังคมของผู้พ้นโทษด้วยวิธีการที่ดีกว่าเดิมด้วย
เสริมความเท่าเทียม ด้วย ”ความร่วมมือทางสังคม”
การแก้ปัญหาในระบบยุติธรรม โดยเฉพาะกรณีของผู้หญิง ไม่สามารถอาศัยแค่หน่วยงานภาครัฐได้ เพราะปัญหาที่ผู้หญิงเผชิญมักมีความซับซ้อน เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และความรุนแรงในครอบครัวที่หลายครั้งมีส่วนผลักดันให้พวกเธอก้าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การลงโทษเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้ผู้หญิงหลุดพ้นจากวงจรปัญหา หรือกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงมีการเสนอให้เปลี่ยนแนวทางจาก “การลงโทษ” เป็น “การฟื้นฟูและคืนสู่สังคม”
แนวทางนี้เริ่มจากการเข้าใจต้นเหตุ เช่น ความเสี่ยงหรือความจำเป็นที่นำพาผู้หญิงเข้าสู่ระบบยุติธรรม ไม่ว่าจะในฐานะผู้กระทำผิดหรือผู้ถูกกระทำ เมื่อเรามองเห็นภาพรวมได้ชัดเจน ก็จะสามารถออกแบบการช่วยเหลือที่เหมาะสม มีมนุษยธรรม และครอบคลุมกลุ่มเปราะบางได้ดียิ่งขึ้น
การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ระบบยุติธรรมเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
หัวใจสำคัญของแนวทางนี้คือการสร้าง “นวัตกรรมต้นแบบ” ที่เอื้อต่อการสร้างเครือข่ายพันธมิตรจากหลากหลายภาคส่วน และนี่คือสิ่งที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้ดำเนินการ กระทั่งประสบความสำเร็จในการสร้างระบบเพื่อการฟื้นฟูและคืนผู้หญิงที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญากลับสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สร้าง “ทุนมนุษย์” ลดกระทำผิดซ้ำ-เพิ่มโอกาสกลับสู่สังคม
ในการประชุมคู่ขนาน หัวข้อ “Innovation in Criminal Justice Responses: Digitally and Socially” ที่ TIJ ได้ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม สถาบันอาชญวิทยาและยุติธรรมเกาหลี (KICJ) กรมตำรวจนอร์เวย์ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) จัดขึ้นในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 นายนพพล ชูกลิ่น ผู้แทนเอกชนคนไทยคนแรกที่ได้เข้าร่วมการประชุม คณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (CCPCJ) พร้อมด้วย ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ ได้ร่วมกันนำเสนอนวัตกรรมการคืนสู่สังคมผ่านความร่วมมือทางสังคม ตามแนวคิดความร่วมมือทางสังคม (Social Partnership Model)
ในการประชุมดังกล่าว ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวย้ำถึงความจำเป็นในการก้าวข้ามมาตรการลงโทษในรูปแบบดั้งเดิม ที่มุ่งเน้นถึงการให้ความร่วมมือภายในระบบยุติธรรมทางอาญา เป็นการเสริมศักยภาพจากหน่วยงานภายนอกกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วย เช่น ภาคประชาสังคม และบริษัทเอกชน โดยได้ยกตัวอย่างถึงโครงการโรงเรียนตั้งต้นดี หรือ Restart Academy ของ TIJ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลากหลายประเภทและนำไปสู่การสร้างเครือข่ายรูปแบบใหม่ที่เอื้อให้เกิดการแก้ปัญหาโดยมี “คนเป็นศูนย์กลาง” อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและคืนคนที่เคยต้องโทษจำคุกกลับสู่สังคม
“ภาคเอกชนไม่อาจคิดว่าการให้โอกาสผู้ต้องโทษหรือผู้พ้นโทษเป็นงานบุญงานกุศล แต่ต้องคิดไปถึงว่าเป็นการลงทุนใน “มนุษย์” และแนวทางนี้ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการผลักดันของภาคเอกชนเพียงฝ่ายเดียว แต่เราต้องร่วมมือกัน โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุน อย่างการมีเงื่อนไขหรือนโยบายที่เอื้อให้ภาคเอกชนได้รับประโยชน์จากแนวทางนี้ด้วย เราต้องการสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อให้เกิดความร่วมมือทั้งภาคเอกชน รัฐบาล และประชาสังคม” นายนพพล สะท้อนความเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการเป็นผู้ประกอบการที่ได้ให้โอกาสผู้ต้องโทษและผู้พ้นโทษกว่าร้อยคนกลับเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมและร่วมทำงาน
“ความยุติธรรมนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากเรามุ่งแต่การลงโทษอย่างเดียว โดยไม่คืนการใช้ชีวิตให้แก่พวกเขา” นายนพพล สรุป
ทำความเข้าใจกลุ่มเปราะบาง เปิดทางกลับบ้านอย่างยั่งยืน
นอกจากการประชุมดังกล่าวแล้ว TIJ ยังได้ร่วมประชุมคู่ขนาน ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ในหัวข้อ “Fostering Resilience among Women, Children and Youths in the Criminal Justice Context” โดยจัดขึ้นร่วมกับสถาบันการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดของสหประชาชาติภาคพื้นเอเชียและตะวันออกไกล (UNAFEI) และมีผู้แทนจาก TIJ, UNAFEI, UNODC, European Institute for Crime Prevention and Control (HEUNI) และ Tithandizane Comfort Home เข้าร่วม
การเสวนาในครั้งนี้มุ่งประเด็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบยุติธรรม ที่ต้องใช้วิธีการที่หลากหลายและความร่วมมือกันจากหลายฝ่าย เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของผู้หญิง เด็ก และเยาวชนได้อย่างเหมาะสม ผู้ร่วมเสวนาได้ให้ความสำคัญต่อการลดความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิง เด็กและเยาวชน ด้วยวิธีการที่เปิดกว้างและยึดหลักฐานที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์
สำหรับเด็กและเยาวชน ผู้ร่วมเสวนาเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางสังคมที่เหลื่อมล้ำและป้องกันพวกเขาจากการถูกแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ ส่วนกลุ่มผู้หญิง ต้องมุ่งไปที่นโยบายที่สนองความต้องการตามเพศภาวะ โดยพิจารณาถึงผลกระทบจากความรุนแรง บทบาทของการเป็นผู้ดูแลครอบครัว และเส้นทางที่ทำให้ต้องก้าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งการจะช่วยเหลือให้ทั้งผู้หญิง เด็กและเยาวชนสามารถคืนสู่สังคมได้สำเร็จอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างแข็งขันจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการให้ที่อยู่อาศัย การจ้างงาน และการให้คำปรึกษา
ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดของ TIJ กล่าวถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ต้องขังหญิงว่า พวกเธอต้องเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนทั้งในด้านความไม่มั่นคงทางการเงิน การประสบเหตุกระทบกระเทือนทางกายและใจ การถูกตีตรา และถูกกีดกั้นโอกาสในการคืนสู่สังคม เพื่อช่วยเหลือพวกเธอจากเหตุเหล่านี้ TIJ ได้ตั้งโรงเรียนตั้งต้นดีขึ้น โดยเป็นโครงการริเริ่มบนพื้นฐานแนวคิดของ “โมเดลความร่วมมือทางสังคม” เพื่อการคืนสู่สังคมที่ครอบคลุมตั้งแต่การให้การฝึกทักษะอาชีพ และการพัฒนาทักษะชีวิตโครงการดังกล่าวเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างพันธมิตรทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเพื่อส่งเสริมศักยภาพของพวกเธอ
หลังจากดำเนินงานมา 2 ปี โครงการนี้เห็นผลลัพธ์อย่างชัดเจน เช่น ผู้เข้าร่วม ซึ่งมีทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีความสามารถในการดูแลการเงินของตัวเองได้ดีขึ้น และใช้สารเสพติดน้อยลง โดยพบด้วยว่า การลงทุนในโครงการนี้ให้ผลตอบแทนทางสังคมถึง 7.7 เท่า ตอกย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการช่วยให้ผู้คนกลับคืนสู่สังคมในระยะยาว และลดโอกาสในการกระทำผิดซ้ำ
“เราต้องสร้างสะพานเพิ่มขึ้นเพื่อเชื่อมโยงผู้หญิงเข้ากับการให้โอกาสและการสนับสนุนที่พวกเขาต้องการเพื่อให้สามารถเติบโตและใช้ชีวิตต่อไปได้ในสังคมอย่างปกติ ความพยายามเช่นนี้ต้องการมากกว่าความปรารถนาดี แต่ต้องเป็นแนวคิดของสังคมทั้งองคาพยพ ซึ่งรวมตั้งแต่รัฐบาล ประชาสังคม และที่สำคัญอย่างยิ่งคือภาคเอกชน เพื่อสร้างเส้นทางสู่การคืนสู่สังคมที่ครอบคลุม” ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ TIJ และประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวนำเสนอระหว่างการประชุมคู่ขนานครั้งนี้
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงบทบาทที่ขาดไม่ได้ของภาคเอกชนในการสนับสนุนผู้หญิงให้สามารถกลับคืนสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการลงทุนเพื่อสังคมอีกด้วย โดยได้ยกตัวอย่างความร่วมมือระหว่าง ตลท. กับ TIJ ในการสนับสนุนจาก SET SE Co., Ltd. เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่โครงการโรงเรียนตั้งต้นดี อันเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของการร่วมเป็นพันธมิตรกับภาคประชาสังคมในการสร้างค่านิยมและให้โอกาสครั้งใหม่แก่ผู้ก้าวพลาด
การประชุมคู่ขนานครั้งนี้ยังเป็นการเน้นย้ำด้วยว่าการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบยุติธรรมทางอาญานั้นจำเป็นต้องมีการลงทุนใน “ทุนมนุษย์” ไม่ใช่เพียงแต่การกำหนดนโยบายเท่านั้น ด้วยการสร้างความร่วมมือข้ามภาคส่วน จะช่วยพัฒนาระบบยุติธรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิง เด็ก และเยาวชน สามารถกลับคืนสู่สังคมและเติบโตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและยั่งยืน