ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม
“การป้องกันเยาวชนจากการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ควรรอจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ควรเริ่มต้นที่โรงเรียน”
 
 
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นย้ำถึงความสำคัญของ “กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา” (Restorative Justice - RJ) ในสถานศึกษา โดยชี้ว่า RJ สามารถช่วยแก้ปัญหาความรุนแรง เช่นความรุนแรงที่เกิดจากการขาดทักษะการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว ซึ่งมักนำไปสู่การสะสมความรุนแรงในเด็กและเยาวชน
 
 
คำกล่าวนี้เกิดขึ้นในงานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยความยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาในสถานศึกษา จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, Life Education Thailand และ Peace Academy
 
 
ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า หัวใจสำคัญของความยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา หรือ RJ คือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่แตกร้าว ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทเล็กน้อยไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย เหตุผลที่ต้องผลักดันแนวคิดนี้คือ ทุกคนในสังคมล้วนมีส่วนทำให้เด็กและเยาวชนคุ้นชินกับความรุนแรงและความเกลียดชัง เช่น การแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงบนสื่อออนไลน์ ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในเด็กได้
 
 
“ครูหรือครอบครัวบางครั้งก็ใช้ความรุนแรงกับนักเรียนหรือลูกหลานโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรยอมให้เป็นเรื่องปกติ พวกเราต้องมีส่วนร่วมในการหยุดความผิดปกตินี้ และปลูกฝังดูแลเด็กและเยาวชน ทำให้เห็นความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา ให้เกิดความยุติธรรมในโรงเรียน โดยให้รู้ว่าความโกรธแค้นและการทำร้ายกันไม่ใช่ทางออกของความขัดแย้งในสังคม” 
 
 
 
ด้าน ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ เน้นว่าการอบรมครั้งนี้จะเอื้อประโยชน์ต่อการผลักดันกระบวนการ RJ ในโรงเรียนและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมในภาพรวม เพราะโรงเรียนมีความสำคัญต่อความก้าวหน้าของประเทศ โรงเรียนมีความรับผิดชอบต่อเด็กและนักเรียน โดยครูจะเป็นหุ้นส่วนที่เข้ามาร่วมวิเคราะห์และพัฒนาให้กระบวนการส่งเสริมความยุติธรรมในโรงเรียนนี้มีประสิทธิภาพขึ้น ทำให้เข้าใจต้นตอของปัญหา เกิดการเยียวยาบาดแผล และมีวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการความขัดแย้งในโรงเรียน 
 
 
“TIJ เชื่อว่าการอบรมในครั้งนี้จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เกิดความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันระหว่างเด็ก โรงเรียน ชุมชน และครอบครัว นำไปสู่การเกิดสุขภาวะที่ดีและอนาคตที่ดีทั้งต่อเด็กและสภาพแวดล้อม และหวังว่ากระบวนการนี้จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่เพียงเฉพาะแค่ในกระบวนการทดแทนการลงโทษคนทำผิด แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโรงเรียน สังคม และประเทศเราได้ต่อไป” 
 
 
ทั้งนี้ กระบวนการ RJ เป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นให้ผู้กระทำผิด ผู้เสียหาย ผู้ได้รับผลกระทบ ตลอดจนชุมชน และครอบครัว ได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเยียวยา โดยคำนึงถึงการสร้างความเข้าใจกันผ่านการสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจ ทำให้เข้าใจถึงต้นเหตุของความขัดแย้ง สร้างความสำนึกผิด และเยียวยาความเสียหายอย่างแท้จริง โดยสามารถนำไปใช้เสริมสร้างความยุติธรรมได้ โดยปราศจากการบังคับและปรับให้เหมาะสมต่อแต่ละกรณี
 
 
 
สำหรับการอบรมครูและเจ้าหน้าที่ศึกษานิเทศก์ โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครในโครงการการอบรมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยความยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาในสถานศึกษานี้ จะมีการดำเนินการอบรมทั้งหมด 8 ครั้ง ตลอดเดือนกรกฎาคม รวมจำนวนคุณครูทั้งสิ้น 335 คน จาก 109 โรงเรียน


อ่านเพิ่มเติม ความยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา (ชื่อเดิม - ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์) 
Back
chat