ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ เปิดอบรมหลักสูตร TIJ-IGLP International Workshop ปีที่ 5

 

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้โลกและคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน และทิ้งให้เกิดปัญหาหลากหลายทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ขณะเดียวกันความท้าทายเหล่านี้ยังเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้นำรุ่นใหม่ได้ร่วมกันพินิจ วิเคราะห์ และสร้าง ‘โลกที่ดีกว่าเดิม’ สังคมที่เท่าเทียม เข้าถึง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังร่วมกัน” ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานหลักสูตรอบรมผู้บริหารว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน และที่ปรึกษาพิเศษของ TIJ กล่าว ระหว่างเปิดการอบรมหลักสูตร TIJ-IGLP International Workshop on the Rule of Law in Policy Making and Development Discourses

 

 

ด้วยความเชื่อของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ว่าการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจะช่วยให้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาสังคมตามความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาได้อย่างครอบคลุม (broad-based stakeholders approach) และนำไปสู่แนวคิดใหม่ในการแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมและในสาขาการพัฒนาต่าง ๆ (Innovation for Justice) โดยอาศัยมุมมองหลักนิติธรรมที่สอดแทรกอยู่ในทุกมิติของสังคม กระทั่งนำไปสู่การสร้างสังคมที่มีหลักนิติธรรมและทำให้สังคมเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 

TIJ จึงได้จัดการอบรมหลักสูตร TIJ-IGLP International Workshop on the Rule of Law in Policy Making and Development Discourses ซึ่งเป็นการอบรมหลักสูตรนานาชาติสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ด้านหลักนิติธรรมและนโยบาย ประจำปี พ.ศ. 2565 ขึ้น โดยหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่ TIJ พัฒนาร่วมกับ Institute for Global Law and Policy (IGLP) แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำรุ่นใหม่จากทั่วโลกได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสังคมในปัจจุบันและอนาคต ผ่านเทคนิคการเรียนการสอนระดับโลกจากคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิทั่วโลกในเครือข่าย IGLP ของ Harvard Law School และในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรดังกล่าวจำนวน 46 คน เป็นผู้หญิงและผู้ชาย ในสัดส่วนเท่ากันที่ 23 คน จากทั้งหมด 11 ประเทศ

 

 

ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กล่าวถึงความสำคัญของหลักนิติธรรมด้วยว่า “หลักนิติธรรม เปรียบเสมือนสำนึกในการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน การไม่แบ่งแยก การตระหนักถึงผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งประสิทธิภาพ และกระบวนการทางกฎหมายที่ทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินการ เพื่อใช้อำนาจนี้สร้างสรรค์ให้สังคมมีหลักนิติธรรม หลักนิติธรรมนั้นส่งเสริมให้เกิดเงื่อนไขที่นำไปสู่การมีโครงสร้างและกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของทุกภาคส่วนในสังคม การจะส่งเสริมหลักนิติธรรมยังรวมถึงการที่รัฐต้องสร้างเสริมวัฒนธรรมแห่งการเคารพกฎหมาย เพื่อให้สมาชิกในสังคมเชื่อมั่นและเคารพกฎหมายด้วย”

 

 

ด้าน นิโคลัส บูท ผู้แทนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme (UNDP) ได้ร่วมบรรยายพิเศษออนไลน์ ในหัวข้อ “ความสำคัญของหลักนิติธรรม และแนวทางในอนาคตเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยอธิบายถึงหลักนิติธรรมว่า หลักนิติธรรมตามนิยามของสหประชาชาติ จะต้องเติมเต็มสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยกฎหมายต้องไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน

 

 

“หลักนิติธรรมมีนิยามอยู่ คือ หนึ่ง กฎหมายมีภาระรับผิดชอบของทุกคน สอง กฎหมายต้องความโปร่งใส ต้องประกาศในที่สาธารณะและมีการบังคับใช้เท่าเทียมกัน ผู้ใช้กฎหมายสามารถตัดสินได้โดยอิสระ สาม กฎหมายต้องเป็นหลักสากล ได้มาตรฐานนานาชาติ อย่างน้อยให้มีมาตรฐานเดียวกัน บนพื้นฐานของการปกป้องสิทธิมนุษยชน และองค์ประกอบสุดท้ายคือกฎหมายต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมโดยไม่กีดกันผู้ใด ให้เป็นสิทธิที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม เป็นพื้นที่ของประชาสังคม” นิโคลัส บูท กล่าว

 

 

พร้อมทั้งระบุด้วยว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนต่อรัฐ เพราะการออกกฎหมายหรือนโยบายที่ไม่สอดคล้องต่อหลักนิติธรรม เช่น การใช้กฎอัยการศึกโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การให้ข้อมูลที่ไม่ทั่วถึงเท่าเทียม และไม่ถูกต้องที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเข้ารับหรือไม่เข้ารับวัคซีน การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีเพียงประชาชนบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ เป็นต้น

 

 

สำหรับรายละเอียดของหลักสูตร TIJ-IGLP International Workshop on the Rule of Law in Policy Making and Development Discourses ดร.เดวิด เคนเนดี้ ผู้อำนวยการ IGLP แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเข้าร่วมในการเปิดงานครั้งนี้ด้วย เผยว่า สถาบัน IGLP ก่อตั้งขึ้นโดยมุ่งหวังจะส่งต่อองค์ความรู้ในมิติสากล สร้างแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างจากเดิม และเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมการอบรม เพื่อให้เกิดการใช้กฎหมาย และหลักนิติธรรมในแนวทางใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้น ส่วนการอบรมหลักสูตร TIJ-IGLP International Workshop ที่ได้พัฒนาร่วมกับ TIJ นี้ หวังว่าผู้เข้าร่วมรับการอบรมจะได้ประสบการณ์ที่เยี่ยมยอด จากเครือข่ายคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ

 

 

ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรเข้มข้นระยะสั้น ประกอบด้วยการสร้างสนามทดลอง (Problem Labs) จากการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงและกรณีศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ การอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในสังคมที่น่าสนใจ และจะเป็นประโยชน์ในอนาคต เช่น ภัยคุกคามทางไซเบอร์ การเข้าถึงความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การต่อต้านคอร์รัปชั่น การส่งเสริมพลังสตรีในสังคม เป็นต้น ตลอดจนการสอนหลักการวิเคราะห์เชิงนโยบาย (Policy Analytical Tool) เพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์ และกำหนดทางเลือกในการแก้ไขปัญหา โดยการอบรมหลักสูตรฯ จัดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565

Back