ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เสนอทางออก ปฏิรูปอำนาจเชิงโครงสร้างในกระบวนการยุติธรรม สร้างช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ใช้เทคโนโลยีติดตามการทำงาน

 

“ตำรวจญี่ปุ่นมีคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการตำรวจท้องถิ่นที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการ สะท้อนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในแต่ละท้องที่ได้ หรือ ฝรั่งเศส ให้หลักกระจายอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งต่าง ๆ ด้วยคณะกรรมการ หากเป็นฝ่ายตุลาการ จะมีคณะกรรมการตุลาการ และในคณะฯ นี้ยังประกอบไปด้วยคนจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษา ศาลปกครอง สภาทนาย คนที่ได้รับการเลือกจากประธานาธิบดี รวมทั้งสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา กลไกเหล่านี้ทำให้อำนาจเชิงโครงสร้างในกระบวนการยุติธรรมของประเทศดังกล่าวมีความยึดโยงกับประชาชน”

 

 

รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ้างอิงตัวอย่างการออกแบบอำนาจของกระบวนการยุติธรรมในบางประเทศ ที่ทำให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ในเวทีเสวนา TIJ Forum : Way Out อำนาจเชิงโครงสร้างในกระบวนการอำนวยความยุติธรรม” จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564

 

 

รศ.ดร.ปกป้อง อธิบายว่า อำนาจเชิงโครงสร้างในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ การใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินการตามหน้าที่เกี่ยวกับคดี ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความเกี่ยวข้องกับประชาชน และการใช้อำนาจเชิงโครงสร้างภายในองค์กรที่มีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้าย ให้คุณให้โทษในองค์กรอย่าง ตำรวจ อัยการ และศาล ซึ่งอำนาจทั้งสองส่วนมีความเกี่ยวข้องกัน จึงควรมีความสอดคล้องกับหลักการสากล คือ บรรลุวัตถุประสงค์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน

 

 

ประเด็นแรก การใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับคดี เมื่อยกตัวอย่างการทำงานของตำรวจ รศ.ดร.ปกป้อง เห็นว่า การทำงานในชั้นจับกุม สืบสวน สอบสวน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจ แต่การใช้อำนาจของตำรวจต้องเป็นไปตามหลักการสากลพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม คือ รักษาสมดุลระหว่างการคุ้มครองสังคมกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น การรักษาความสงบ หาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี ต้องควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในทุกขั้นตอนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย ถ้ากระทำผิดจริงต้องให้มีการลงโทษที่เหมาะสม แต่ถ้าไม่มีหลักฐานการทำผิด ก็ต้องคืนความบริสุทธิ์ พนักงานสอบสวนก็ต้องยุติคดี

 

 

การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยังรวมถึง สิทธิในการให้มีทนาย ให้สิทธิสู้คดีอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาคดีอาญาที่เป็นหลักสากลอยู่แล้ว รวมทั้งมีหลักการสำคัญที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนห้ามทำ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คือ การซ้อมทรมาน การบังคับสูญหาย และการฆาตกรรมด้วยกฎหมาย เพราะถือเป็น “สิทธิเด็ดขาด” ตามหลักสากล

 

 

ส่วนตัวอย่างการมีส่วนร่วมของประชาชนในชั้นอัยการ รศ.ดร.ปกป้อง ยกตัวอย่าง ระบบอัยการของประเทศญี่ปุ่น ที่จัดให้มี “คณะกรรมการประชาชน” ซึ่งมาจากการเลือกของประชาชน ทำหน้าที่ตรวจสอบในคดีที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสว่า ไม่มีความพยายามในการปกป้องผู้กระทำความผิด หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้มีอิทธิพล

 

“ในประเด็นนี้มีข้อถกเถียงว่า หากอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ระบบของไทยอาจจะดีกว่า เพราะเปิดช่องให้ผู้เสียหายยื่นฟ้องตรงต่อศาลเองได้ แต่เมื่อไปดูข้อเท็จจริง จะพบว่า มีหลายคดีที่ไม่มีผู้เสียหายมาฟ้องตรงต่อศาล ทำให้คดีจบไปเลยทั้งที่ยังมีข้อสงสัย เช่น คดีต่อรัฐ เป็นคดีที่ไม่มีผู้เสียหาย หรือคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งมีช่วงที่ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และผู้เสียหายไม่ฟ้อง ดังนั้นการเปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในชั้นอัยการ จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้” รศ.ปกป้อง กล่าว

 

 

ส่วนช่องทางการมีส่วนร่วมกับศาล รศ.ดร.ปกป้อง ยืนยันว่า แม้ในหลักสากล “ศาลจะต้องโปร่งใส เป็นอิสระ ไม่อาจแทรกแซงได้” แต่ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบการทำหน้าที่ของศาลได้ โดยยกตัวอย่างประเทศที่ใช้ระบบ Common Law จะมีคณะลูกขุนซึ่งถูกเลือกมาจากประชาชนทั่วไป เข้าร่วมตัดสินในคดีอาญา โดยศาลต้องตัดสินตามความเห็นของคณะลูกขุน หรือแม้แต่ฝรั่งเศส ที่เป็นต้นแบบของระบบ Civil Law ก็ให้มีคณะลูกขุน ในคดีอุกฉกรรจ์ที่มีโทษจำคุก 10 ปีขึ้นไป โดยตัวแทนคณะลูกขุนมีทั้งผู้พิพากษาอาชีพและประชาชน และยังยกตัวอย่าง ศาลของอังกฤษ มีสภาที่ประชาชนเข้าร่วมด้วย เรียกว่า Sentencing Council กำหนดมาตรฐานในการกำหนดโทษของคดีต่าง ๆ ไว้แบบกว้างๆ เมื่อศาลใช้ดุลยพินิจในการลงโทษแต่ละคดี สภาแห่งนี้ก็จะทำประชาพิจารณ์ว่าเห็นชอบกับการลงโทษนั้นหรือไม่ จากนั้นก็จะเปิดเผยต่อสาธารณะให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้  

 

 

“เราต้องแยกประเด็นความเป็นอิสระของศาล ออกจากประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ศาลที่อิสระ ก็คือ ศาลที่อิสระ ส่วนการมีประชาชนร่วมตัดสินคดี คือ การให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม”  

 

 

ประเด็นที่สอง การใช้อำนาจเชิงโครงสร้างภายในองค์กรในกระบวนการยุติธรรม รศ.ดร.ปกป้อง กล่าวถึงตัวอย่าง การจัดให้มีคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการตำรวจท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการ ทำให้ประชาชนสะท้อนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในแต่ละท้องที่ได้ต่างจากประเทศไทยที่ใช้ระบบรวมศูนย์อำนาจในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย

 

 

หรือที่ฝรั่งเศส ใช้ระบบกระจายอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายด้วยรูปแบบคณะกรรมการ เช่นในฝ่ายตุลาการจะมีคณะกรรมการตุลาการ มีประธานศาลฎีกาเป็นประธานคณะฯ ประกอบไปด้วยคนจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษา ศาลปกครอง สภาทนาย คนที่ได้รับการเลือกจากประธานาธิบดี รวมทั้งสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งแต่เดิมประเทศไทยก็ใช้ระบบที่คล้ายกัน คือ ให้สามารถเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนอื่นเข้ามาเป็นคณะกรรมการตุลาการได้ แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 เปลี่ยนให้บุคลากรจากศาลเท่านั้น มาเลือกกันเอง ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป

 

 

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาที่รวดเร็วต่อการใช้อำนาจไปละเมิดสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม รศ.ดร.ปกป้อง เห็นด้วยกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยให้กระบวนการยุติธรรมทันสมัย มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส โดยหากติดกล้องบันทึกการทำหน้าที่ของตำรวจในชั้นสอบสวน ก็อาจช่วยลดการข่มขู่ ลดการซ้อมทรมานได้ และยังถือเป็นการปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาให้พ้นจากการถูกกล่าวหาว่าไปกระทำความผิดได้ด้วย แต่ต้องมีข้อยกเว้น คือ ต้องสงวนสิทธิผู้ถูกกล่าวหาในการปรึกษากับทนายความเป็นส่วนตัว โดยไม่มีการบันทึกใด ๆ

 

 

“เมื่อมีข่าวอื้อฉาวในกระบวนการยุติธรรม จะมีผู้นำองค์กรมาแถลงข่าว บอกว่าทุกองค์กรมีทั้งคนดีและคนชั่ว คนที่เรียนทางอาชญาวิทยามาจะรู้ว่า นี่เป็นทฤษฎี Bad Apple คือ พยายามจะบอกว่า แอปเปิลเน่าผลเดียว แต่เมื่อมีข่าวอื้อฉาวมีออกมาอยู่เรื่อย ๆ ถ้าเราลอง zoom out ออกมา อาจจะเห็นว่า ปัญหาอยู่ที่ต้นแอปเปิล หรือเมื่อมองกว้างออกมาอีก อาจจะเห็นไปถึงสภาพแวดล้อมที่เพาะปลูกเป็นปัญหา ดังนั้น การที่กระบวนการยุติธรรมมีปัญหา อาจต้องมองไปทั้งระบบการเมือง การปกครอง ค่านิยม และวัฒนธรรมของสังคมด้วย”

 

 

คุณวิพล กิติทัศนาสรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยกฎหมายอาญาและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ยกตัวอย่าง ทฤษฎีแอปเปิลเน่า มาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นว่า การแก้ปัญหาการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาได้มองทั้งระบบแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะระบบตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่ประพฤติมิชอบ ยังเป็นระบบปิด ใช้วิธีตรวจสอบกันเองเหมือนแมลงวันตอมแมลงวัน ก็อาจทำให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำได้อีก เพราะยังไม่ได้แก้ปัญหาที่อำนาจเชิงโครงสร้าง ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้ จะต้องขยับไปแตะให้ถึงเพดานความจริงของสังคมไทยอย่างตรงไปตรงมาและซื่อสัตย์ แต่ก็ยอมรับว่า การจะแก้ปัญหาโดยเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เปลี่ยนทัศนคติของสังคม ต้องใช้เวลานาน

 

 

อัยการวิพล ยังให้ความสำคัญกับปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย การเติบโตในหน้าที่การงานของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม โดยเห็นว่า คนทำงานต้องมีแรงจูงใจให้เห็นความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ตามมาตรฐาน คือ มีหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งโยกย้าย สร้าง profile ในการทำงาน ทำให้คนดีมีกำลังใจทำงาน มีระบบตรวจสอบที่โปร่งใส ตรงไปตรงมา และคณะกรรมการสูงสุดของแต่ละองค์กรต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม

 

 

เมื่อมองว่า การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องใช้เวลานาน อัยการวิพล จึงมองถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยอำนวยความสะดวกและความโปร่งใสในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเสนอแก้ระเบียบและกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการดำเนินคดีอาญา ต้องบันทึกทุกกระบวนการทำงานแบบ real-time ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานได้ทันที เช่นเดียวกับ ในการฟุตบอลที่ใช้เทคโนโลยี VAR (VDO Assistant Referee) ช่วยในการตัดสิน ก็สามารถแก้ปัญหานักกีฬาพุ่งล้ม หรือแกล้งเจ็บเพื่อให้ลงโทษฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเห็นผลในเวลาอันสั้น  

 

 

 

“เจ้าหน้าที่รัฐ มักใช้คำที่เลี่ยงกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น “เชิญตัวมาแค่เป็นพยาน ยังไม่ทำบันทึกจับกุม ยังไม่ใช่ผู้ถูกจับกุม มาคุยกัน เซ็นเอกสารให้คดีจบ” เป็นต้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงทนายความ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของกระบวนการยุติธรรม เราจำเป็นต้องทำให้ประชาชนรู้สิทธิของตนเอง และเมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมประชาชนจะต้องมีทนายความโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมต้องเคารพสิทธิของประชาชนที่จะพูดคุยกับทนายได้อย่างอิสระ เป็นความลับ และต้องไม่ถูกบังคับ ข่มขู่ ทำร้าย หรือทรมาน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่รัฐต้องการ”

 

 

คุณศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อ้างอิงจากประสบการณ์ทำงานจริงหลายคดี ซึ่งพบว่า การอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนยังคงมีปัญหา เช่น การให้สิทธิของผู้ต้องหา ตั้งแต่สิทธิในการขอพบทนายตั้งแต่ต้น โดยยกตัวอย่าง “สิทธิ” ที่ตำรวจควรจะแจ้งกับผู้ต้องหา เช่น “คุณมีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้” หรือ “คำพูดของคุณอาจจะถูกใช้พยานหลักฐานได้”  หรือ “คุณมีสิทธิที่จะปรึกษากับทนายความเป็นการเฉพาะตัว และให้ทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวนได้” หรือ “หากไม่มีทนายความ รัฐจะจัดหาทนายความให้” ซึ่งในทางปฏิบัติจริง กลับไม่ได้เป็นไปตามคำกล่าวเหล่านั้น และหลายครั้งพบว่า เจ้าหน้าที่พยายามเลี่ยงกฎหมาย มีความพยายามที่จะทำให้ผู้ต้องหาไม่ได้พบกับทนายตั้งแต่ขั้นการจับกุม ควบคุมตัว ฝากขัง นำตัวเข้าเรือนจำก่อนการสั่งฟ้อง หรือระหว่างพิจารณาคดี โดยมักจะเลี่ยงไปใช้คำว่า “เชิญตัว” หรือ “เรียกมาเป็นแค่พยาน” แทน คำว่า “จับกุม” และเมื่อไม่มีบันทึกจับกุม ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ตำรวจก็มักจะอ้างได้ว่า “ไม่จำเป็นต้องมีทนาย”

 

 

เมื่อกระบวนการเริ่มต้นปราศจากทนายความ ทำให้ผู้ต้องหาถูกละเมิดสิทธิอีกหลายรูปแบบ เช่น ถูกยึดโทรศัพท์ หรือ ถูกบังคับให้เซ็นเอกสาร โดยที่ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงผลทางกฎหมายที่ตามมา รวมถึงไม่ทราบด้วยว่าจะถูกนำไปดำเนินคดีต่อ

 

 

การใช้กฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นอีกประเด็นที่ ทนายศิริกาญจน์ เห็นว่า เป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจละเมิดสิทธิของประชาชน เพราะเมื่อผู้ถูกกล่าวหาถูกควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายพิเศษ จะทำให้ทนายความ หรือแม้แต่ศาลจะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาถูกละเมิดสิทธิหรือไม่ แม้ทนายจะยื่นเรื่องให้ศาลตรวจสอบการควบคุมตัว ศาลก็จะพิจารณาเพียงว่า มีกฎหมายฉบับใดให้อำนาจในการควบคุมตัวหรือไม่ ซึ่งเมื่อเป็นการควบคุมตัวโดยอำนาจตามกฎหมายพิเศษ ศาลก็จะถือว่า การควบคุมตัวดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย โดยที่ไม่ได้พิจารณาว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกละเมิดสิทธิในระหว่างควบคุมตัวหรือไม่

 

 

ปัญหาที่ทนายความ ไม่ได้เข้าพบผู้ถูกกล่าวหาตั้งแต่ต้น ยังนำไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิอื่น ๆ ตามมาได้ เพราะแม้ว่าประชาชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะเป็นคนที่มีความรู้ทางกฎหมายบ้าง แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ มักจะมีความรู้สึกต้องปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่เท่านั้น หรือแม้แต่ในกระบวนการประกันตัว หากไม่มีทนายหรือไม่มีข้อเท็จจริงอื่น ๆ มาประกอบการพิจารณา ศาลก็อาจใช้ดุลพินิจตัดสินว่าให้หรือไม่ให้ประกันตัวก็ได้ ทำให้ผู้ต้องหาอาจถูกละเมิดสิทธิ เช่น ข่มขู่ ซ้อมทรมาน ในระหว่างฝากขังได้

 

 

ทนายศิริกาญจน์ ย้ำว่า หากผู้ต้องหาได้พบกับทนายตั้งแต่เริ่มกระบวนการ ผู้ต้องหาก็จะสามารถแต่งตั้งทนายให้คัดค้านการฝากขัง เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีปัญหา คือ ศาลมักจะตัดสินให้ฝากขังไว้ก่อน แต่ในหลายกรณี พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่า ไม่จำเป็นต้องฝากขังก็สามารถสอบสวนได้ หรือในกรณีที่มักอ้างว่า ขอฝากขังในระหว่างรอการจัดทำสำนวน แต่แท้จริงพนักงานอัยการทำสำนวนสอบสวนเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงแค่ขั้นตอนตามระเบียบภายในเพื่อส่งสำนวนให้สำนักอัยการสูงสุดทำคำสั่งเท่านั้น ดังนั้น จึงเสนอว่า ต้องมีกระบวนการตรวจสอบขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อลดช่องทางการละเมิดสิทธิผู้ถูกกล่าวหา

 

“คำถามสำคัญ คือ ในเมื่อเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่ ทราบถึงสิทธิของผู้ต้องหา โดยเฉพาะการที่ผู้ต้องหามีสิทธิในการพบและปรึกษากับทนายความเป็นการเฉพาะตัวและเป็นความลับ ก็ควรเริ่มกระบวนการด้วยความเคารพสิทธิของผู้ต้องหา แต่เหตุใดจึงยังใช้คำพูด คำกล่าวอ้าง ซึ่งเป็นความพยายามในการเลี่ยงกฎหมาย นำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหา” ทนายศิริกาญจน์ กล่าว

 

 

ทนายศิริกาญจน์ ยังมองว่า สถานการณ์ทางการเมือง มีผลต่อความเป็นอิสระของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม โดยยกตัวอย่าง คดีเยาวชนที่ถูกจับจากการชุมนุม คดีที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้สิทธิ เสรีภาพ ตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น หากจะพูดถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญในประเด็นนี้ด้วย

 

ส่วนข้อเสนอในการแก้ปัญหาโดยการใช้เทคโนโลยี ทนายศิริกาญจน์ มองว่า แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยงานสอบสวนโปร่งใสขึ้น แต่มีข้อกังวลเดิมคือ “เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเคารพสิทธิผู้ต้องหาตั้งแต่ต้น” โดยเฉพาะสิทธิในการปรึกษาทนายเป็นความลับ เพราะเคยมีหลายกรณี โดยเฉพาะคดีชุมนุมทางการเมือง เจ้าหน้าที่จะใช้กล้องขนาดเล็กบันทึกทุกอย่างแบบ real time ทั้งบันทึกภาพและเสียงในห้องสอบสวน บันทึกการหารือกับทนายความ หรือขยายภาพให้เห็นข้อความที่ทนายเขียนส่งให้ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิ หรือแม้ว่าผู้ต้องหาจะแจ้งว่าไม่สบายใจที่ถูกกระทำเช่นนี้ แต่พนักงานสอบสวนก็จะยืนยันว่า “ต้องทำตามที่นายสั่ง”

 

 

 

“การสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของเจ้าหน้าที่เป็นสิ่งสำคัญ หากระบบไม่เอื้อ เราจะได้คนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญมาทำงานในตำแหน่งที่ต้องการความเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะระดับปฏิบัติการหรือระดับบริหาร เช่น สายงานพนักงานสอบสวน ควรสามารถเติบโตและพัฒนาทักษะเฉพาะทางได้ในระยะยาว เป็นต้น อุปสรรคอีกประการหนึ่ง คือ การเติบโตที่อาศัยความใกล้ชิดผู้มีอำนาจ ดังนั้น เราต้องมีความเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขเชิงระบบได้ แม้ว่าต้องใช้ระยะเวลานานในการปฏิรูปโครงสร้างขององค์กรตำรวจและกระบวนการยุติธรรมโดยรวมก็ตาม”

 

 

ร.ต.อ.พีระพัฒน์ มังคละศิริ อาจารย์ประจำคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ  สะท้อนถึงปัญหาโครงสร้างขององค์กรตำรวจและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม โดยมองว่า การใช้อำนาจแบบรวมศูนย์เป็นปัญหาใหญ่ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถสั่งการกองบัญชาการได้ทั่วประเทศ แม้ว่าจะทำให้ทำงานได้ด้วยความรวดเร็ว แต่ก็ทำให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ยาก โดยเฉพาะ “อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย”

 

ร.ต.อ.พีระพัฒน์ เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น อังกฤษ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา แคนาดา และไอร์แลนด์เหนือ ที่ใช้รูปแบบการกระจายอำนาจในโครงสร้างการทำงานของตำรวจ ทำให้การทำงานของตำรวจในท้องที่ต่าง ๆ ถูกยึดโยงกับประชาชน ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมกับกระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายได้

 

 

ตัวอย่างการรวมศูนย์อำนาจของประเทศไทยในด้านกระบวนการยุติธรรมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ร.ต.อ.พีระพัฒน์ กล่าวถึงช่วงปี 2557 ซึ่งมีการปรับโครงสร้างตำรวจด้วยการ “ทุบแท่ง พนักงานสอบสวน” ออกไป โดยอ้างหลักการว่า เพื่อให้สามารถทำงานข้ามสายงานได้ แต่กลายเป็นว่า ตำแหน่งร้อยเวร ที่ควรจะเติบโตได้ในตำแหน่งรองสารวัตร และ สารวัตร กลับไม่มีเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพที่ชัดเจน และถูกโยกย้ายไปอยู่ในสายงานอื่น ส่วนผู้ที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้บางส่วนไม่มีความเชี่ยวชาญในงานสอบสวนเลย  

 

ผลกระทบสำคัญต่อประชาชน คือ แทนที่ประชาชนจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นรองสารวัตร หรือ สารวัตร มาอยู่ในท้องที่ ประชาชนก็กลับได้คนที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากท้องที่อื่นมาแทน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการดำเนินงานขาดตอนในพื้นที่ ขาดความยึดโยง ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบที่มาของเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ของตนเองได้

 

“ยกตัวอย่างเยอรมัน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลพวงจากยุคฮิตเลอร์ทำให้เกิดปัญหาทางโครงสร้าง อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจมาจากศูนย์กลางอำนาจเหมือนกัน ทำให้ 2 อาชีพที่ประชาชนที่เกลียดที่สุด คือ นักการเมือง กับ ตำรวจ เมื่อเห็นว่าเป็นปัญหา ผู้นำในยุคต่อมาจึงปรับโครงสร้างให้อำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจมีความยึดโยงไว้กับประชาชน กลายเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งการจะทำเช่นนี้ ผู้นำต้องมีความกล้ามากพอที่จะเปิดช่องให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น และให้มีตัวแทนประชาชน องค์กรอิสระ หรือองค์กรยุติธรรมอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการแต่งตั้งโยกย้ายด้วย”

 

 

อีกปัญหาที่สำคัญขององค์กรตำรวจไทย คือ “คนที่เติบโต มักเป็นคนใกล้ชิดของผู้มีอำนาจ แต่ขาดความรู้ความสามารถ” เป็นปัญหาที่ ร.ต.อ.พีระพัฒน์ มองว่า ต้องรีบแก้ไขด้วยการปลูกฝังทัศนคติ เรื่อง “ความถูกต้อง” ให้แก่คนรุ่นใหม่ โดยให้คำนึงถึง “การเลือกคนให้ถูกกับงาน” เลือกคนที่ถูกต้องเหมาะสม มีความสามารถ มากกว่า คนที่ทำตามนายสั่ง ถือเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าจะใช้เวลาแต่ก็หวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้

 

 

ส่วนข้อเสนอการใช้เทคโนโลยีมาบันทึกภาพการสอบสวนเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิ หรือ ทำร้ายผู้ถูกกล่าวหา ร.ต.อ.พีระพัฒน์ เสนอให้หน่วยงานสอบสวนทุกแห่งติดกล้องวงจรปิดทุกที่ และต้องมีระเบียบเปิดช่องให้ประชาชนสามารถขอตรวจสอบได้ทุกกรณี โดยไม่มีข้ออ้างว่า “กล้องชำรุด” และยังเสนอให้ประเทศไทยลงทุนใช้ Blockchain ในการช่วยตรวจสอบข้อมูล เพื่อให้การดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมเป็นไปด้วยความโปร่งใสมากขึ้น

Back