การลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ
ระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการเสริมสร้างศักยภาพประเทศไทยในการรับมือกับอาชญากรรมไซเบอร์
วันที่ 9 กันยายน 2563 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice: TIJ) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสององค์กร สำหรับการเสริมสร้างศักยภาพประเทศไทยในการรับมือกับอาชญากรรมไซเบอร์ ณ ห้องประชุม UNODC อาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ โดยกรอบความร่วมมือประกอบไปด้วยการส่งเสริมเวทีสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสีย ในการหารือเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ของประเทศไทยในปัจจุบัน และร่วมกันหาทางออกสำหรับภาครัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์อย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
ศ. (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ ได้เน้นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ นอกจากนั้น เรายังสามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการป้องกันอาชญากรรมและส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญา ในขณะเดียวกัน การใช้ชีวิตออนไลน์ก็ย่อมมี ความเสี่ยงต่อภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ ของอาชญากรรมไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ซึ่งเป็นผลให้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ จึงเห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์
นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ได้กล่าวถึงถึง กลุ่มอาชญากรรมที่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในการก่ออาชญากรรมข้ามชาติการซื้อสินค้าต่าง ๆ ตลอดจนอาชญากรรมทางการเงิน ทั้งนี้ นายเจเรมียังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทูต ที่ควรดำเนินการพร้อมกับคำแนะนำด้านนโยบาย การเสริมสร้างขีดความสามารถ และการอภิปรายเกี่ยวกับภัยคุกคามและความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ TIJ จึงจะช่วยให้เจ้าหน้าที่และสถาบันต่าง ๆ ในประเทศไทยเตรียมพร้อมสำหรับความท้าทายที่เผชิญทั้งในปัจจุบันและอนาคต
TIJ และ UNODC ตระหนักถึงความจำเป็นของประเทศไทยในการปรับใช้กลยุทธ์ที่ครอบคลุมเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในปัจจุบันและอนาคต ความรู้ความเข้าใจในประเด็นอาชญากรรมไซเบอร์และศักยภาพในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์จึงมีความสำคัญอย่างมากในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยทั้งสององค์กรได้ร่วมมือกันเพื่อผลักดันและส่งเสริมประสิทธิภาพในการรับมือของภาครัฐประเทศไทยต่ออาชญากรรมไซเบอร์ผ่านการดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ 1. การจัดการประชุมและหารือกับผู้มีส่วนได้เสียในภาคส่วนต่างๆประเมินสถานการณ์อาชญากรรมไซเบอร์ในประเทศไทย 2. การประชุมของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย และ 3. การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติการเพื่อสร้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอาชญากรรมไซเบอร์ เพื่อเป็น “ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่จะขับเคลื่อนการดำเนินการต่อไปในอนาคต
ความร่วมมือในครั้งนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของโครงการในระยะยาวที่มุ่งเน้นในดำเนินการจัดการกับภัยคุกคามทาง ไซเบอร์ของประเทศไทย ตั้งแต่ส่งเสริมกระบวนการหารือและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าภาครัฐมีศักยภาพในการรับมือ ความรู้ความเข้าใจในปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ ยกระดับกระบวนการดำเนินงาน ริเริ่มการสร้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ และเสริมสร้าง “ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง” หรือ “agents of change” ที่จะสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานการต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน